WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

29ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ลุ้นบวกจาก Sentiment ตปท.ที่ยังดี แต่ระวังแรงขายทำกำไรหลังดัชนีฯใกล้เป้า 1,650 จุด

     นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ยังมีโอกาสที่จะบวกได้ต่อ จาก Sentiment จากตลาดต่างประเทศ แต่อาจจะลดช่วงบวกลงในช่วงท้ายตลาดฯได้ เนื่องจากไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ โดยนักลงทุนยังรอดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ขณะที่เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาก็ไม่มากหรือแรงไป และดัชนีฯก็เข้าใกล้ระดับเป้าหมาย 1,650 จุดด้วย ทำให้หุ้นที่มี Upside ต่ำก็มีโอกาสที่จะถูกขายทำกำไร ซึ่งก็จะไปรบกวนตลาดฯได้

      ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่อยู่ในแดนบวก ยังตอบรับเรื่องพายุเฮอร์ริเคนเออร์มาที่อ่อนกำลังลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่า และเงินหยวนอ่อนค่าอยู่ หลังจากที่ทางการจีนได้ลดการสำรองเงินหยวน ซึ่งเงินบาทก็อ่อนตาม Sentiment กระแสเงินในภูมิภาค โดยเงินบาทที่อ่อนค่าก็จะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์

พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,637-1,647 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

       - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (12 ก.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 22,118.86 จุด เพิ่มขึ้น 61.49 จุด (+0.28%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,454.28 จุด เพิ่มขึ้น 22.02 จุด (+0.34%), ดัชนี S&P500 ปิดที่  2,496.48 จุด เพิ่มขึ้น 8.37 จุด (+0.34%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 97.07 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 4.77 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 12.03 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5.07 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 13.99 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 0.85 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.48 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 47.96 จุด

     - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (12 ก.ย.60) 1,643.55 จุด เพิ่มขึ้น 6.01 จุด (+0.37%)

     - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 71.45 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ก.ย.60

      - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (12 ก.ย.60) ปิดที่ 48.23 ดอลลาร์/บาร์เรล  เพิ่มขึ้น 16 เซนต์ หรือ 0.3%

     - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (12 ก.ย.60) ที่ 9.27 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

     - เงินบาทเปิด 33.10 มองกรอบวันนี้ 33.05-33.15 ตลาดรอดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯพรุ่งนี้

      - ครม.เคาะภาษีสรรพสามิตใหม่ 'สุรา-ยาสูบ'เน้นอิงตามหลักผลกระทบต่อสุขภาพ เหล้าคิดตามดีกรี ขณะบุหรี่เก็บสองเด้งจากทั้งราคาขายปลีก-ปริมาณ เผยฝั่งปริมาณเพิ่มมวนละ 1.50 บาท คลังแจงปรับเพื่อสร้างฐานภาษีใหม่ เตรียมประกาศอัตราโครงสร้างใหม่ 15 ก.ย.นี้

      - คลังไม่สามารถบังคับให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายได้ แม้ภาคเอกชนก็เห็นด้วยว่าจะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง อีกทั้งดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ไม่สอดคล้องกับดอกเบี้ยในตลาด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สนใจปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจแต่นำเงินไปฝากกับธปท.

                - คลังจะเดินหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) วงเงิน 1 แสนล้านบาทต่อไป แม้ว่าจะมีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาตลอด โดยล่าสุดทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก็ไปยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองให้ดำเนินการระงับเรื่องนี้

                - ไทย-ญี่ปุ่นชื่นมื่นพร้อมร่วมมือขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ไทยหวังญี่ปุ่นปักหมุดลงทุนสิ้นปีนี้และเป็นนักลงทุนหลักในอีอีซี "สมคิด"ลั่นไทยญี่ปุ่นหุ้นส่วนชีวิตวาง 4 แนวทางร่วมมือ ย้ำไทยศูนย์กลางภูมิภาคเชื่อม One Belt One Road จีบญี่ปุ่นร่วมพัฒนารถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก(East West Corridor) "อุตตม"ยันมีกฎหมายรองรับนโยบายจะไม่เปลี่ยน ลงพื้นที่วันนี้ (13 ก.ย.) ควงญี่ปุ่นดูพื้นที่อีอีซี

*หุ้นเด่นวันนี้

                - GFPT (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) 'ซื้อเก็งกำไร'เป้า 22 บาท คาดกำไร 3Q60 สูงสุดของปี เติบโตทั้ง QoQ และ YoY จากการส่งออกไก่เติบโตเด่นจากทั้งปริมาณและราคาที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาไก่ในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 38-40 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ คือ ข้าวโพด และ กากถั่วเหลือง ลดลง 6% YoY และ 17% YoY ในช่วง ก.ค.-ส.ค. และยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี

                - CK (ไอร่า) "ซื้อ"เป้า 39 บาท แม้ CK ยังไม่สามารถชนะการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ – ระยะที่ 1 ในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา แต่คาดไม่ส่งผลกระทบต่อ CK มากนัก เนื่องจากได้รับการชดเชยจากปริมาณงานใหม่ที่ได้รับ YTD มูลค่ารวมกว่า 48,000 ล้านบาท และทำให้ Backlog (ส.ค.60) ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 86,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ยังมีโครงการเตรียมเปิดประมูลต่อเนื่องนับจาก 2H/60 เป็นต้นไป ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ – ระยะที่ 2 มูลค่ารวมเกือบ 400,000 ล้านบาท และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า เช่น สีม่วง และสีส้ม เป็นต้น

                - TMB (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 2.84 บาท ธีมการลงทุนยังเป็นภาวะ Laggard โดย 1 เดือนที่ผ่านมา SETBANK +6% แต่ TMB +2% ทั้งที่กำไรรายไตรมาสและ ROE ฟื้นตัวแล้วใน 2Q60 (จากที่ชะลอตั้งแต่ 2Q59) และคาดว่าจะเข้าสู่โหมดขาขึ้นตั้งแต่ 3Q60 คาด +3% Q-Q, +30% Y-Y อยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ราคาปัจจุบันซื้อขายบน P/BV เพียง 1.1 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มที่ 1.2 เท่า และถ้าอิงอดีตที่กำไรต่อหุ้นใกล้เคียง 2Q60 ราคา TMB เคยกระชากไกลถึง 3 บาท

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นเช้านี้ ขานรับวอลล์สตรีททำนิวไฮ

     ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์ S&P500 และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮในวันเดียวกันเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มการเงินที่ดีดตัวขึ้น

       ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,873.69 จุด เพิ่มขึ้น 97.07 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,374.72 จุด ลดลง 4.77 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 27,984.27 จุด เพิ่มขึ้น 12.03 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,370.54 จุด เพิ่มขึ้น 5.07 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,596.36 จุด ลดลง 13.99 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,234.84 จุด ลดลง 0.85 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,789.38 จุด ลดลง 0.48 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 8,097.27 จุด เพิ่มขึ้น 47.96 จุด

       ทั้งนี้ นักลงทุนต่างจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค., ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 12.90 จุด เหตุปอนด์แข็งค่ารับข้อมูลเงินเฟ้ออังกฤษ

     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (12 ก.ย.) จากแรงกดดันของสกุลเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น ภายหลังจากอังกฤษเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาด

       ดัชนี FTSE 100 ลดลง 12.90 จุด หรือ -0.17% แตะที่ 7,400.69 จุด

      ภาวะการซื้อขายในตลาดลอนดอนเมื่อคืนนี้ ได้รับปัจจัยจากข้อมูลเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนส.ค. จากระดับ 2.6% ในเดือนก.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.8% และถือเป็นตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค.ที่สูงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี สืบเนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันและเสื้อผ้าที่ปรับตัวขึ้น

       ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นขานรับรายงานดังกล่าว โดยสกุลเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น +0.0602% สู่ระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 1.3288 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3160 ดอลลาร์ที่ตลาดนิวยอร์กในวันจันทร์

      การแข็งค่าของเงินปอนด์ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ โดยหุ้นอเมริกัน โทแบคโก ร่วงลง 2% หุ้นเบอร์เบอร์รี กรุ๊ป ลดลง 1% และหุ้นไชร์ ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ขยับลง 0.1%

       หุ้นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ที่น่าจับตา หุ้นวิธเบรด ลดลง 0.4% หลังซิตี้กรุ๊ปได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนจากระดับ "buy" เป็น "sell"

      หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ปรับตัวลง โดยหุ้นเทย์เลอร์ วิมปีย์ ลดลง 1.4% และหุ้นเพอร์ซิมมอน ร่วงลง 2%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดบวก รับหุ้นกลุ่มการเงิน,กลุ่มประกันพุ่ง

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (12 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มธุรกิจประกันดีดตัวขึ้น หลังจากมีรายงานว่า พายุเออร์มาซึ่งพัดถล่มชายฝั่งรัฐฟลอริดาของสหรัฐ ได้อ่อนกำลังลง และไม่ได้สร้างความเสียหายมากเท่าที่มีการประเมินในเบื้องต้น

       ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.5% ปิดที่ 381.42 จุด

       ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดวันทำการล่าสุดที่ 12,524.77 จุด เพิ่มขึ้น 49.53 จุด, +0.40% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดวันทำการล่าสุดที่ 5,209.01 จุด เพิ่มขึ้น 32.30 จุด, +0.62% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดวันทำการล่าสุดที่ 7,400.69 จุด ลดลง 12.90 จุด, -0.17%

       หุ้นกลุ่มการเงินพุ่งขึ้น นำโดยหุ้นดอยซ์แบงก์ ทะยานขึ้น 3.6% หุ้นคอมเมิร์ซแบงก์ พุ่งขึ้น 2.9% และหุ้นบังโค ซานตานเดร์ ขยับขึ้น 0.9% โดยหุ้นกลุ่มการเงินได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภท 10 ปีของรัฐบาลเยอรมนี ปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อคืนนี้

       หุ้นกลุ่มธุรกิจประกันปรับตัวขึ้นหลังจากมีรายงานว่า พายุเออร์มาได้อ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นโซนร้อนเมื่อวานนี้ โดยหุ้นแอ๊กซ่า พุ่งขึ้น 1.2% หุ้นสวิส รี ดีดตัวขึ้น 1% และหุ้นแอชทีด กรุ๊ป พุ่งขึ้น 4.5%

      อย่างไรก็ตาม ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดตลาดในแดนลบ เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนส.ค. จากระดับ 2.6% ในเดือนก.ค.

      ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค.นับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี จากปัจจัยราคาน้ำมันและเสื้อผ้าที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่เงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ที่อังกฤษทำประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ราคาสินค้าและบริการในสหราชอาณาจักรปรับตัวสูงขึ้น

     นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางอังกฤษในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ รวมทั้งคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ในภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์ ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : แรงซื้อหุ้นการเงิน หนุนดาวโจนส์ปิดบวก 61.49 จุด

     ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (12 ก.ย.) โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ที่ดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮในวันเดียวกัน เนื่องจากหุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้น หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างคึกคัก หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มลดน้อยลง และพายุ "เออร์มา" อ่อนกำลังกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 22,118.86 จุด เพิ่มขึ้น 61.49 จุด หรือ +0.28% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,454.28 จุด เพิ่มขึ้น 22.02 จุด หรือ +0.34% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,496.48 จุด เพิ่มขึ้น 8.37 จุด หรือ +0.34%

        ดัชนี ดาวโจนส์ปิดในแดนบวกติดต่อกัน 3 วันทำการเมื่อคืนนี้ และนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ปีนี้ ที่ดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ปิดตลาดในแดนบวกวันเดียวกัน เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มผ่อนคลายลง โดยนักลงทุนมองว่า มติของสหประชาชาติในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่นั้น มีความรุนแรงไม่มากเท่ากับมาตรการที่สหรัฐได้นำเสนอก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเผชิญหน้ากันทางทหารระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ

       นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนหลังจากพายุเออร์มาได้อ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นโซนร้อนเมื่อวานนี้ โดยมีความเร็วลมเหลือเพียง 35 ไมล์/ชม. หลังจากที่เคยมีความเร็วลมสูงสุดถึง 175 ไมล์/ชม.ในช่วงแรก ขณะที่รัฐฟลอริดาได้อนุญาตให้ประชาชนบางส่วนสามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้ว หลังจากที่มีการอพยพชาวอเมริกันมากถึง 6.5 ล้านคนออกไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการพัดถล่มของพายุเฮอร์ริเคนเออร์มา

       หุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้น นำโดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ พุ่งขึ้น 2.2% ขณะที่หุ้นเจพี มอร์แกน พุ่งขึ้นเช่นกัน หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภท 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.164% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภท 30 ปี พุ่งแตะระดับ 2.77% เมื่อคืนนี้

      หุ้นเทว่า ฟาร์มาซูติคัล อินดัสทรีส์ พุ่งขึ้นเกือบ 7% หลังจากบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่แห่งนี้เปิดเผยแผนการตัดขายธุรกิจผลิตภัณฑ์ Pargard IUD ให้กับบริษัทคูเปอร์ คอส มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นคูเปอร์ร่วงลง 1.1%

      หุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 0.9% แม้นายทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล อิงค์ ประกาศเปิดตัว "ไอโฟน เท็น" (iPhone X) เมื่อวานนี้ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 10 ปีของการผลิตไอโฟน โดยไอโฟน เท็นมีราคาตั้งต้นที่ 999 ดอลลาร์ และจะมีการวางจำหน่ายในวันที่ 3 พ.ย. นอกจากนี้ แอปเปิลยังเปิดตัวแอปเปิลทีวี 4K ซึ่งจะวางจำหน่ายในวันที่ 15 ก.ย. และเปิดตัวแอปเปิล วอทช์ ซีรีส์ 3 ซึ่งจะมีการวางจำหน่ายในวันที่ 22 ก.ย.

     นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค., ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

      อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!