WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

27ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์ หลังจีนเผย GDP งวด Q2/60 ออกมาดี,รอดูผลประกอบการบจ.

      นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์ โดยตลาดรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเช้านี้จะมีประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) งวดไตรมาส 2/60 ของจีน ตลาดคาดว่าจะเติบโต 6.8% จากงวดปีก่อน ซึ่งยังนับว่าเป็นการเติบโตในระดับที่ดี ขณะที่งวดไตรมาส 1/60 เติบโต 6.9%

       อนึ่ง เมื่อเช้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 2/60 ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับการขยายตัวในไตรมาสแรก

       นายถนอมศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการในวันนี้ ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้, ตลาดหุ้นไต้หวัน และฮ่องกง ต่างอยู่ในแดนบวกกัน ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ให้ติดตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก โดยสัปดาห์นี้จะมี 68 บริษัทจดทะเบียนใน S&P ประกาศงบฯ ส่วนบ้านเราก็เป็นการทยอยประกาศงบฯของกลุ่มการเงิน

       สำหรับ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ ตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมให้แนวรับ 1,560-1,565 จุด ส่วนแนวต้าน 1,585-1,590 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

       - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (14 ก.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,637.74 จุด เพิ่มขึ้น 84.65 จุด (+0.39%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,312.47 จุด เพิ่มขึ้น 38.03 จุด (+0.61%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,459.27 จุด เพิ่มขึ้น 11.44 จุด (+0.47%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 2.63 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 183.69 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 23.36 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 13.13 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 9.03 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 4.12 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 29.53 จุด

ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันแห่งทะเล

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (14 ก.ค.60) 1,577.79 จุด ลดลง 1.62 จุด (-0.10%)

                - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 403.95 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ก.ค.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (14 ก.ค.60) ปิดที่ 46.54 ดอลลาร์/บาร์เรล  เพิ่มขึ้น 46 เซนต์ หรือ 1%       

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (14 ก.ค.60) ที่ 6.83 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 33.73 แข็งค่าในรอบ 2 ปีจากแรงขายดอลล์หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯต่ำกว่าคาด

                - รัฐเตรียมเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานระบบราง 11 โครงการ วงเงินกว่า 8.44 แสนล้าน นักวิเคราะห์หวังลงทุนรัฐครึ่งปีหลังฟื้น หลัง 5 เดือนแรกหดตัว 3.7% มองโครงการรถไฟความเร็วสูงยังไร้อานิสงส์ดันเศรษฐกิจไทยปีนี้เหตุงบส่วนใหญ่เริ่มทยอยออกปีหน้า ชี้โครงการดังกล่าวหากเชื่อมไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ดึงต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตได้ถือว่าคุ้ม

      - นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้นั่งเป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์) วงเงิน 1 แสนล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประธานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เข้าร่วมหารือถึงปัญหาการทำร่างสัญญาโอนและรับสิทธิโอนในรายได้ (RTA) โครงการทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) เพื่อโอนรายได้ในอนาคตที่ 45% ให้กับกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ เป็นเวลา 30 ปี ได้เป็นที่เรียบร้อย โดย กทพ. จะเสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบในสัปดาห์นี้

       - ผลการรวบรวมหนี้ผิดนัดชำระตั๋วแลกเงินหรือบี/อี ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ครึ่งปีแรกพบว่า มีคดีผิดนัดชำระหนี้ที่กำลังฟ้องร้องและดำเนินการทางกฎหมายกับ 4 บริษัท มูลหนี้ 868 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โซลาริสฟ้องร้อง บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ (KC) ให้ใช้หนี้บี/อี 365 ล้านบาท และวุฒิ-ศักดิ์ คลินิก หรือบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง บริษัทย่อยของบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) 153 ล้านบาท

        - กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ทำการศึกษาโครงสร้างต้นทุนของราคาสินค้า หากมีการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2560 เพิ่มขึ้น 8.87 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย พบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าน้อยมากแค่ 0.0001-0.1886% หรือแทบจะไม่มีผลกระทบเลย จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้า

 

*หุ้นเด่นวันนี้

       - FVC-W2 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบมจ.ฟิลเตอร์ วิชั่น (FVC)) เทรดวันนี้วันแรก มีจำนวน 138,790,207 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ : 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาการใช้สิทธิ 1.00 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 3 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วันที่ 27 มิถุนายน 2560) ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.00 บาทต่อหน่วย กำหนดวันใช้สิทธิครั้งแรก 29 มิ.ย. 2561 ส่วนวันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 26 มิ.ย. 2563

       - FSMART (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 22 บาท คาดกำไร 2Q60 สร้างจุดสูงสุดใหม่ +7% Q-Q, 48% Y-Y เป็น 140 ลบ. ที่น่าสนใจกว่าคือ ลูกค้า AIS บางส่วนหันมาใช้ตู้บุญเติมหลัง 7-11 เลิกขายบัตร/สลิปเติมเงินของ AIS ตั้งแต่ 4Q59 และตู้บุญเติมกว่า 1 แสนตู้ทั่วประเทศ พอเข้าสู่ปีที่ 9 เริ่มมีตู้ที่ตัดค่าเสื่อมหมด ผนวกกับบริการใหม่ที่เข้ามาทดแทนแบงก์ เช่น ชำระและโอนเงิน ทำให้กำไรยิ่งขยายตัวเร็ว คาดทั้งปี +35% Y-Y ที่ 566 ลบ. ด้านราคาหุ้นยังไม่ทะลุจุดสูงสุดเดิมที่ 21.50 บาท ทั้งที่กำไรรายไตรมาสสร้างจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง และซื้อขายบน PE2560 เพียง 27 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่เข้าตลาดที่ 35 เท่า

      - MBAX (ฟินันเซัย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 6.50 บาท กำไรสุทธิ 2Q60 มีโอกาสออกมาดีกว่าคาดการณ์เดิมที่ 20 ลบ. +17% Q-Q, 189% Y-Y เพราะยอดส่งออกถุงซิปล็อคยังขยายตัวทุกตลาด และต้นทุน LDPE ยังลงต่อเนื่อง ขณะที่ คู่ค้าในสหรัฐฯ เร่งขยายการลงทุนรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งล่าสุด MBAX เริ่มสร้างโรงงานใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 15% แล้ว

       - MTLS (ไอร่า) เป้า 37.50 บาท คาดกำไรสุทธิใน 2Q/60 จะสถิติสูงสุดใหม่เป็นไตรมาสที่ 11 ติดต่อกัน ภายใต้ไตรมาส 2 ของทุกปี เป็นช่วง High Season ของสินเชื่อ เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม และเป็นช่วงชาวนาเริ่มปลูกข้าวนาปี ส่งผลให้ความต้องสินเชื่อจะเพิ่มสูงสุดในช่วง Q2 ของทุกปี และคาด MTLS ได้รับประโยชน์จากนโยบายการปราบปรามหนี้นอกระบบของรัฐบาล ภายใต้ MTLS เป็นแหล่งเงินกู้ที่เข้าถึงคนระดับรากหญ้าได้ง่ายที่สุด รองจากหนี้นอกระบบ ปัจจุบัน MTLS มีสาขาทั้งหมด 1,870 สาขา กระจายครอบคลุมถึงระดับชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 30 นาที ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งต้องการเงินด่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึง MTLS ยังชูจุดขายที่คิดดอกเบี้ยถูกกว่าคู่แข่ง พร้อมคาดปี 60 กำไรสุทธิ 2,285 ล้านบาท เติบโต 56%

      - AMA (โกลเบล็ก) "ซื้อ"เป้า 26.80 บาท ราคาปิด 21.5 ซื้อ ราคาเหมาะสม 26.80) จะเห็นผลประกอบการที่เริ่มก้าวกระโดดตั้งแต่งวด 2Q60 เป็นต้นไป โดยคาดจะเติบโต 79% YoY นอกเหนือจากการขยายกำลังการให้บริการ AMA ยังน่าจะได้รับผลบวกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี Baltic Clean Tanker Index โดยมีค่าเฉลี่ย YTD เพิ่มขึ้น 20% YoY โดยรวมพร้อมคาดกำไรปี 60 เติบโต 112.6% YoY มาอยู่ที่ 305 ลบ.

ตลาดหุ้นเอเชียบวกเช้านี้ ขานรับดาวโจนส์ทำนิวไฮ

        ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในเช้าวันนี้ ตามทิศทางของดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (14 ก.ค.) โดยดาวโจนส์ปิดทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกที่ซบเซาของสหรัฐได้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

       ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,219.79 จุด ลดลง 2.63 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 26,572.92 จุด เพิ่มขึ้น 183.69 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,467.27 จุด เพิ่มขึ้น 23.36 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,427.76 จุด เพิ่มขึ้น 13.13 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,296.46 จุด เพิ่มขึ้น 9.03 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,759.12 จุด เพิ่มขึ้น 4.12 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,915.43 จุด เพิ่มขึ้น 29.53 จุด ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันแห่งทะเล

       นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนที่จะมีการเปิดเผยในเช้าวันนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. และยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 35.05 จุด หลังหุ้นกลุ่มธนาคารร่วง,ปอนด์แข็งค่า

      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ (14 ก.ค.) จากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มการก่อสร้าง นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายยังถูกกดดันจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นด้วย

      ดัชนี FTSE 100 ลดลง 35.05 จุด หรือ -0.47% ปิดที่ 7,378.39 จุด

       สำหรับ ภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนี FTSE 100 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% โดยปัจจัยหลักนั้นมาจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

      ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนวันศุกร์ได้รับปัจจัยลบจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลงตามทิศทางเดียวกันกับหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐ หลังการเปิดเผยผลกำไรของเจพีมอร์แกน เชส, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ที่แม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่รายได้จากธุรกิจเทรดดิ้งกลับปรับตัวลดลงผิดไปจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

       ทั้งนี้ ธนาคารรายใหญ่ในยุโรปมีกำหนดการเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์ต่อๆไป ซึ่งการเปิดเผยผลประกอบการที่ค่อนข้างน่าผิดหวังของธนาคารสหรัฐเมื่อคืนนี้ทำให้นักลงทุนหันมาจับตามองธนาคารฝั่งยุโรปมากขึ้น

       หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ลดลง 1.7%, เอชเอสบีซี ลดลง 1.4%, บาร์เคลย์ ลดลง 1.3%, สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลดลง 0.9% และลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ลบ 0.7%

       นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นลอนดอนยังเผชิญแรงขายหุ้นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยหุ้นบาร์รัตต์ ดีเวลล็อปเมนท์ ร่วงลงถึง 2.5% ขณะที่หุ้นเพอร์ซิมม่อนร่วงลง 1.5%

       ด้านหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า ปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 0.29% หลังร่วงลง 3.5% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังมีรายงานว่านายปาสกาล โซริออต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เตรียมก้าวลงจากเก้าอี้และโยกไปดำรงตำแหน่งซีอีโอของเทวา ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตรีส์ บริษัทเวชภัณฑ์ยักษใหญ่ของอิสราเอลและเป็นคู่แข่งของแอสตร้าเซนเนก้า

       หุ้นรอยัลเมลร่วงลง 2.4% หลังบริษัทประกาศเดินหน้าแผนบำนาญฉบับใหม่ ซึ่งเปิดทางให้พนักงานไปรษณีย์เลือกระหว่างแบบกำหนดผลประโยชน์ทดแทน หรือแบบกำหนดเงินสมทบ

        ขณะเดียวกัน เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงในวันศุกร์ เนื่องจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอังกฤษ

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : ดัชนีหุ้นยุโรปปิดลบเป็นส่วนใหญ่ หลังหุ้นกลุ่มธนาคารร่วง

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (14 ก.ค.) หลังหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงตามหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ภายหลังธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐเปิดเผยผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นในรอบสัปดาห์

       ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,631.72 จุด ลดลง 9.61 จุด หรือ -0.08% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,235.31 จุด ลดลง 0.09 จุด หรือ -0.00% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,378.39 จุด ลดลง 35.05 จุด หรือ -0.47%

        อย่างไรก็ดี ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.70 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 386.84 จุด

        ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่สาม โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นกรีซที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดหุ้นหลักๆในภูมิภาค โดยนักลงทุนรอดูท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อตลาดพันธบัตร หลังจากที่ในสัปดาห์ที่แล้วกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ได้อนุมัติเงินกู้งวดใหม่ วงเงิน 8.5 พันล้านยูโร (9.6 พันล้านดอลลาร์) ให้กับกรีซ

      สำหรับ ภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 1.8% นับเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน โดยปัจจัยหลักนั้นมาจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

      ในส่วนของบรรยากาศการซื้อขายวันศุกร์นั้น หุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปปรับตัวลงตามทิศทางเดียวกันกับหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐ หลังการเปิดเผยผลกำไรของเจพีมอร์แกน เชส, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ที่แม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่รายได้จากธุรกิจเทรดดิ้งกลับปรับตัวลดลงผิดไปจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

     ทั้งนี้ ธนาคารรายใหญ่ในยุโรปมีกำหนดการเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์ต่อๆไป ซึ่งการเปิดเผยผลประกอบการที่ค่อนข้างน่าผิดหวังของธนาคารสหรัฐเมื่อคืนนี้ทำให้นักลงทุนหันมาจับตามองธนาคารฝั่งยุโรปมากขึ้น

    หุ้นธนาคารรายใหญ่ในยุโรปอย่างดอยซ์แบงก์ ของเยอรมนี, บังโค ซานตานเดร์ ของสเปน และ บีเอ็นพี พาริบาส์ ของฝรั่งเศส ต่างปรับตัวลงเกือบ 1% และถ่วงดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารในตลาดหุ้นยุโรปลดลง 0.7%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดบวก 84.65 จุด หลังข้อมูลเงินเฟ้อซบเซาหนุนคาดการณ์เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

   ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (14 ก.ค.) โดยดาวโจนส์ปิดทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกที่ซบเซาของสหรัฐได้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคารได้สกัดแรงบวกในตลาด แม้ว่าธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป ได้เปิดเผยผลประกอบการที่สดใสก็ตาม

      ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,637.74 จุด เพิ่มขึ้น 84.65 จุด หรือ +0.39% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,459.27 จุด เพิ่มขึ้น 11.44 จุด หรือ +0.47% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,312.47 จุด เพิ่มขึ้น 38.03 จุด หรือ +0.61%

      ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 1% ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 2.6% และ ดัชนีS&P500 เพิ่มขึ้น 1.4%

     ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกที่ซบเซา โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนมิ.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2016

       ทั้งนี้ ข้อมูล CPI ล่าสุดบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ และอาจส่งผลให้เฟดชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นไปแล้วในเดือนมี.ค. และมิ.ย. ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณในระหว่างการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เฟดพร้อมที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

       นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังรายงานว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.2% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย.

       หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ ปรับตัวขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนบวก โดยหุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 1.1% หุ้น NetApp พุ่งขึ้น 2.26% หุ้นซิมเมอร์ ไบโอเมท โฮลดิ้ง ทะยานขึ้น 2.7%

       อย่างไรก็ตาม แรงบวกในตลาดได้ถูกจำกัดในระหว่างวัน เนื่องจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร แม้ธนาคารรายใหญ่อย่างเจพีมอร์แกน เชส, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ได้เปิดเผยผลประกอบการที่สดใสก็ตาม

      หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ปรับตัวลง 0.9% แม้ธนาคารเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.641 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไร 1.82 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในตอนแรกที่ 2.496 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไร 1.58 ดอลลาร์/หุ้น

     หุ้นซิตี้กรุ๊ป ปรับตัวลง 0.5% แม้ธนาคารเปิดเผยรายได้ 1.790 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไร 1.28 ดอลลาร์/หุ้น ในไตรมาส 2 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ารายได้จะอยู่ที่ระดับ 1.737 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไร 1.21 ดอลลาร์/หุ้น

        หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 1.1% หลังจากธนาคารเปิดเผยรายได้ 2.217 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไร 1.07 ดอลลาร์/หุ้น ในไตรมาส 2 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์รายได้ที่ระดับ 2.247 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไร 1.01 ดอลลาร์/หุ้น

     สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอื่นๆที่มีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค.  ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. หลังจากร่วงลง 0.2% ในเดือนเม.ย. ทางด้านผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 93.1 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 95.0

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!