WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

34ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์-วอลุ่มบาง,ระวังลงทุนมากขึ้นช่วงรอผลประชุมเฟด มิ.ย.

     นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คงแกว่งไซด์เวย์และวอลุ่มเทรดบาง เนื่องจากไม่มีปัจจัยมากนัก ประเด็นที่ต้องจับตาเป็นการปรับน้ำหนักคำนวณดัชนีMSCI ในกลุ่มหุ้น Small Cap  ที่มีการปรับหุ้น 5 ตัวขนาดกลาง-เล็กมีผลวันนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะถูก take profit หลังจากเข้าซื้อเก็งกำไรในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ภาพรวมเชื่อว่าไม่ได้มีผลต่อตลาดฯ

     ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่อยู่ในแดนบวก ระหว่างการรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ซึ่งตลาดฯคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หากจริงก็จะเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ ดังนั้น นักลงทุนก็จะระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ที่คาดว่าจะประกาศความชัดเจนของมาตรการภาษีภายในเดือน มิ.ย.นี้

พร้อมให้แนวรับ 1,564 จุด ส่วนแนวต้าน 1,575 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

                - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (30 พ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,029.47 จุด ลดลง 50.81 จุด (-0.24%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,203.19 จุด ลดลง 7.00 จุด (-0.11%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,412.91 จุด ลดลง 2.91 จุด (-0.12%)

                - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 47.52 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 15.27 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 4.82 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 6.00 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 4.43 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 2.67 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 1.08 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (30 พ.ค.60) 1,568.57 จุด เพิ่มขึ้น 0.40 จุด (+0.03%)

                - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 4,821.72 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 พ.ค.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (30 พ.ค.60) ปิดที่ 49.66 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 14 เซนต์ หรือ 0.3%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (30 พ.ค.60) ที่ 6.37 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 34.13 ทิศทาง sideway รอดูตัวเลขจ้างงานฯสหรัฐ-เงินเฟ้อของไทย

                - ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์) เพื่อการระดมทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยนำรายได้ 45% ของทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทราอาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) มาระดมทุน และนำเงินที่ได้ไปลงทุนทางด่วน 2 เส้นใหม่ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก 3.04 หมื่นล้านบาท และ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท

                - ครม.มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรี 34.5 กม. วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าวสำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้ชนะการประมูลคือ BSR Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

                - "แบงก์ชาติ" ลั่นพร้อมหารือ สรท.เคลียร์ปมบาทแข็ง ย้ำหากมองตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันการเคลื่อนไหวถือว่าสอดคล้องกับภูมิภาค ย้ำ ธปท.ยังเกาะติดค่าเงินใกล้ชิด พร้อมเข้าดูแลหากผันผวนแรง จี้ผู้ส่งออก-นำเข้า เร่งทำเฮดจิ้ง เหตุแนวโน้มตลาดผันผวนมากขึ้น พร้อมยืนยันผลขาดทุนไม่กระทบการทำนโยบายการเงิน เหตุนักลงทุนดูที่ความน่าเชื่อถือของนโยบายเป็นหลัก

                - ครม.มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลาม (ไอแบงก์) โดยให้โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอฟ) ที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) บริหารต่อ พร้อมทั้งลดมูลค่าหุ้นเหลือ 1 สตางค์ เพื่อล้างขาดทุนสะสม จากนั้นจะมีการโอนเงินสำรองตามกฎหมาย 473 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาท

*หุ้นเด่นวันนี้

                - WORK (ธนชาต) แนะนำ"ซื้อ"ปรับราคาพื้นฐานขึ้นเป็น 73 บาท คาดกำไร Q2/60 จะแข็งแกร่งต่อเนื่องจาก Q1/60 จาก rating ที่ดีหนุนการปรับขึ้นค่าโฆษณา และอัตราการใช้เวลาโฆษณาดีขึ้น เป็น 70,000 บาท/นาทีปีนี้ จาก 52,000 บาท/นาทีในปีก่อน หรือ +35% y-y และคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 83,000-90,000 บาท/นาทีในปี 61-62

                - HANA (ฟินันเซีย ไซรัส) แนะนำ"ซื้อ"ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 58 บาท จาก 46 บาท มีมุมมองเชิงบวกต่อภาพธุรกิจในปีนี้มากขึ้น จากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นแทบทุกอุตสาหกรรม บริษัทเห็นคำสั่งซื้อที่แข็งแกร่งทั้งในกลุ่ม PCBA และ IC ในช่วงที่เหลือของปี ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตในโรงงานเดิมเกือบเต็ม โรงงานใหม่ที่ลำพูน 2 และกัมพูชาเพิ่มขึ้น เราปรับกำไรปีนี้ขึ้น 10% เป็น +33% Y-Y โตสูงสุดในกลุ่ม (ไม่นับ SVI ที่ turnaround) แต่ PE ต่ำสุดในกลุ่มคือ 14.6 เท่าและ Dividend yield สูงสุดคือ 5%

                - BIZ (โกลเบล็ก) แนะนำ"ซื้อ"เป้า 4.80 บาท (อยู่ระหว่างปรับเพิ่มประมาณการ) คาด Q2/60 รายได้โตสู่ 210 ล้านบาท +328%QoQ หลังส่งมอบเครื่องฉายรังสีให้เครือ รพ.กรุงเทพมูลค่า 169 ล้านบาท และเริ่มรับรู้ฯ งานสร้างอาคาร รพ.จุฬาฯ หนุนกำไรโตสู่ระดับ 24 ล้านบาท +488%QoQ โดยงานเครื่องฉายรังสีด้วยอนุโปรตอนของ รพ.จุฬาฯ มูลค่า 1.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นก่อสร้างอาคาร 236 ล้านบาท (ทยอยรับรู้รายได้ 20 เดือนตั้งแต่ มิ.ย.60-ม.ค.62) และค่าเครื่องฉายรังสีมูลค่า 964 ล้านบาท (รับรู้ฯเมื่อส่งมอบปี 63) ผู้บริหารมองอัตรากำไรขั้นต้นใกล้เคียงกับงานในอดีตที่ 20% และกำลังเสนองานกับ รพ.รัฐ-เอกชนอีก 8-10 แห่ง มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทรู้ผลปีหน้า

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง

                ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ ตามทิศทางของตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลบเมื่อคืน หลังมีรายงานว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง

                ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,630.33 จุด ลดลง 47.52 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,125.33 จุด เพิ่มขึ้น 15.27 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,706.45 จุด เพิ่มขึ้น 4.82 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,095.95 จุด ลดลง 6.00 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,339.25 จุด ลดลง 4.43 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,202.12 จุด ลดลง 2.67 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,766.42 จุด เพิ่มขึ้น 1.08 จุด

                สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ หลังจากโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมัน WTI ในปีนี้ลงสู่ระดับ 52.39 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับ 54.80 ดอลลาร์/บาร์เรลที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้

                นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันหลังจากเบเกอร์ ฮิวจ์ เปิดเผยรายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันรายสัปดาห์ ซึ่งระบุว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 แท่น สู่ระดับ 722 แท่นในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2558 และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 19 ติดต่อกัน

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 21.12 จุด จากแรงฉุดหุ้นบริษัทแม่บริติช แอร์เวย์

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ (30 พ.ค.) ด้วยแรงฉุดรั้งจากหุ้นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ที่ร่วงลงอย่างหนัก สืบเนื่องจากเหตุการณ์ระบบคอมพิวเตอร์ของสายการบินล่ม จนส่งผลกระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

                ดัชนี FTSE 100 ลดลง 21.12 จุด หรือ -0.28% ปิดที่ 7,526.51 จุด

                ภาวะตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ ได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มสายการบิน โดยหุ้นอินเตอร์เนชั่นแนล คอนโซลิเดเต็ด แอร์ไลน์ส กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ร่วงลง 1.4% สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่บริติช แอร์เวย์ได้ระงับการให้บริการเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮีทโธรว์และแกตวิกในกรุงลอนดอนรวมหลายร้อยเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุขัดข้องในระบบคอมพิวเตอร์ของสายการบิน

                อย่างไรก็ตาม สายการบินบริติช แอร์เวย์ ออกมาเปิดเผยว่า ทางสายการบินสามารถกลับมาให้บริการเที่ยวบินตามตารางเวลาทั้งในสนามบินฮีทโธรว์และแกตวิกแล้ว แต่นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ป ประมาณการว่า ปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ล่มครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับบริติช แอร์เวย์ ประมาณ 100 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 111 ล้านดอลลาร์

                นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มการเงินที่ปรับตัวลงตามทิศทางของหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรป สืบเนื่องจากความวิตกกังวลในสถานการณ์การเมืองในอิตาลี โดยหุ้นบาร์เคลย์ส ลดลง 1.2% หุ้นลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ขยับลง 0.9% และหุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ลดลง 0.4%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ เหตุวิตกการเมืองยุโรป,วิกฤตหนี้กรีซ

                ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (30 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป หลังจากมีรายงานข่าวว่า อิตาลีอาจจะจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด รวมทั้งความกังวลที่ว่า กรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ หากเจ้าหนี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่

                ดัชนี Stoxx Europe 600 index ปรับตัวลง 0.2% ปิดที่ 390.50 จุด

                ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,305.94 จุด ลดลง 26.53 จุด หรือ -0.50% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,598.68 จุด ลดลง 30.27 จุด หรือ -0.24% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,526.51 จุด ลดลง 21.12 จุด หรือ -0.28%

                ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป หลังจากที่นายมัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวว่า มีความเหมาะสมที่อิตาลีจะจัดการเลือกตั้งในวันเดียวกับเยอรมนี ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 24 ก.ย. ขณะที่อิตาลีมีกำหนดเลือกตั้งในเดือนพ.ค.2018

                นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่ากรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ หากเจ้าหนี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่

                ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และรัฐบาลกรีซ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้กรีซ ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเลื่อนการประชุมเพื่อตัดสินใจในเรืองดังกล่าวออกไปเป็นช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้

                นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเลือกตั้งในอังกฤษ หลังผลการสำรวจล่าสุดพบว่า คะแนนนิยมของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง

                หุ้นอินเตอร์เนชันแนล คอนโซลิเดท แอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ส ร่วงลง 1.4% หลังจากบริติช แอร์เวย์สประสบปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้องตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดในสนามบินฮีทโธร์ว และสนามบินแกตวิค หลังจากที่เกิดปัญหากับระบบไฟฟ้า จนทำให้การดำเนินงานของ BA ทั่วโลกหยุดชะงักลง และกระทบต่อระบบคอลล์เซ็นเตอร์ และเว็บไซต์

                อย่างไรก็ตาม สายการบินบริติช แอร์เวย์สได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่า ทางบริษัทสามารถกลับมาให้บริการทุกเที่ยวบินจากสนามบินฮีทโธร์ว และสนามบินแกตวิคเมื่อวานนี้

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 50.81 จุด เหตุราคาน้ำมันร่วงฉุดหุ้นพลังงาน

                ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 พ.ค.) หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลง ซึ่งได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงด้วย ขณะที่หุ้นกลุ่มสายการบินร่วงลงหลังจากมีรายงานว่าสหรัฐอาจจะขยายมาตรการห้ามผู้โดยสารพกพาแล็ปท็อปขึ้นเครื่องบิน  อย่างไรก็ตาม การพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ได้ช่วยสกัดแรงลบของตลาดในระหว่างวัน

                ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,029.47 จุด ลดลง 50.81 จุด หรือ -0.24% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,412.91 จุด ลดลง 2.91 จุด หรือ -0.12% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,203.19 จุด ลดลง 7.00 จุด หรือ -0.11%

                หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงเมื่อคืนนี้ ภายหลังจากที่โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานที่สูงเกินไป โดยหุ้นชลัมเบอร์เกอร์ ร่วงลง 1.2% หุ้นเฮสส์ เอนเนอร์จี ดิ่งลง 3.1%

                ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงเช่นกัน โดยหุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ร่วงลง 1.7% หุ้นโฮป แบงคอร์ป ดิ่งลง 3.7% และหุ้นเฟิร์สท์ ไฟแนนเชียล แบงคอร์ป ร่วงลง 2.9%

                ส่วนหุ้นกลุ่มสายการบินที่มุ่งเน้นเที่ยวบินระหว่างประเทศนั้น ต่างพากันปรับตัวลง หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐประกาศว่าอาจจะขยายมาตรการห้ามผู้โดยสารพกพาแล็ปท็อปขึ้นเครื่องบินครอบคลุมเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดที่เข้าและออกจากสหรัฐ โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ส์ ร่วงลง 3.7% หุ้นยูไนเต็ด คอนติเนนตัล ดิ่งลง 2.5% และหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ส ปรับตัวลง 1.6%

                อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทะยานขึ้น ซึ่งได้ช่วยจำกัดการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยหุ้นอเมซอนพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะปิดตลาดที่ระดับ 996.70 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.1% โดยการพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในครั้งนี้ ส่งผลให้อเมซอนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.78 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 2 เท่าของบริษัทวอล-มาร์ท และมากกว่า 15 เท่าของบริษัททาร์เก็ท

     ส่วนหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มเทคโนโลยีนั้น หุ้นอัลฟาเบท ปรับตัวขึ้น 0.5% หุ้นไมโครซอฟท์ ดีดตัวขึ้น 1%

       นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนในระหว่างวัน จากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.8% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 33 เดือน

     ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 เดือนในเดือนเม.ย. โดยดีดตัวขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. โดยตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

   นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนพ.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!