WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

5ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้พักฐานเล็งราคาน้ำมันร่วงกดดันหลังผิดหวังโอเปกไม่ลดกำลังผลิตมากขึ้น

      นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะพักฐาน หลังน่าจะได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ภายหลังจากที่ผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปก ออกมามีการขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน แต่นักลงทุนผิดหวังที่ไม่มีการลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก

       นอกจากนี้ การที่หุ้นไทยปรับขึ้นมา 5 วันติดต่อกันแล้ว ขณะที่วอลุ่มเทรดโดยรวมแผ่วลง ทำให้เห็นว่านักลงทุนอยู่ในโหมดของการระมัดระวังการลงทุน ที่อาจจะมีการพักฐานได้

        ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ ราว 0.1-0.2% โดยให้ติดตามนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจะมีอะไรเพิ่มหรือไม่ และส่วนในประเทศให้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงออกมาในช่วงสิ้นเดือนนี้ด้วย

      พร้อมให้แนวรับ 1,565-1,560 จุด ส่วนแนวต้าน 1,575 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

      - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (25 พ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,082.95 จุด เพิ่มขึ้น 70.53 จุด (+0.34%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,205.26 จุด เพิ่มขึ้น 42.23 จุด (+0.69%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,415.07 จุด เพิ่มขึ้น 10.68 จุด (+0.44%)

     - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 14.64 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.54 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 40.20 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 18.31 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.46 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 6.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.06 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 1.62 จุด

        - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (25 พ.ค.60) 1,569.41 จุด เพิ่มขึ้น 3.26 จุด (+0.21%)

       - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 312.57 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พ.ค.60

      - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (25 พ.ค.60) ปิดที่ 48.90 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 2.46 ดอลลาร์ หรือ 4.8%

      - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (25 พ.ค.60) ที่ 6.26 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

      - เงินบาทเปิด 34.06 แข็งค่าต่อเนื่องในรอบ 22 เดือนจากแรงขายดอลล์-เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร

        - กระทรวงคมนาคมเตรียมนำโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง วงเงินรวม 2.52 แสนล้านบาท เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือนมิ.ย.นี้ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 1.31 แสนล้านบาท

       - เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวในงานสัมมนา "เปลี่ยน...ให้ทันโลก" หัวข้อโรดแมป อีอีซี คลื่นลูกใหม่ลงทุนไทย ว่า หากการขยายตัวเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยยังโตเฉลี่ย 3% เหมือนช่วงปี 2549-2557 ที่โตเฉลี่ยปีละ 3.1% เพราะปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ จะทำให้มูลค่าจีดีพีไทยตกจากอันดับที่ 20 ลงไปอยู่ที่อันดับ 25 โดนเวียดนามและอินโดนีเซียที่โตเฉลี่ยปีละ 5% แซงหน้าแน่

       - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เดือนเม.ย.2560 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนหน้า และ 2.13% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ถือเป็นระดับสูงสุดในปีนี้ ผลจากการเร่งตัวขึ้นของสิสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจในประเทศ และธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็กยังชะลอตัวต่อเนื่อง

     - สนข.เดินหน้าศึกษาระบบโลจิสติกส์ เตรียมแผนพัฒนากว่า 100 โครงการ วงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท  รองรับอุตสาหกรรม 4.0 ซูเปอร์คลัสเตอร์ ในพื้นที่อีอีซี

*หุ้นเด่นวันนี้

      - MTLS (ธนชาต) "ซื้อ" เป้า 38 บาท เร่งขยายสาขา 2 เท่าเป็น 4,000 สาขาภายในปี 63 หนุนการขยายตัวสินเชื่อเฉลี่ย 45% ต่อปีช่วง 60-63 รวมไปถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นที่มาช้ากว่าคาด ทำให้ปรับกำไรขึ้น 2.6% ปีนี้ และ 5% ในปี 61-62 เป็น High growth plays ด้วยการเติบโตกำไร 64-60% ในปี 60-61 ขณะที่ NPL Ratio ต่ำเพียง 1.1%

        - WORK (ธนชาต) "ซื้อ" เป้า 62 บาท รายได้ปีนี้มีแนวโน้มดีกว่าคาดไว้เดิม จาก rating ที่ดีขึ้นหนุนปรับขึ้นค่าโฆษณาเฉลี่ย Q2/60 เป็น 75,000 บาท/นาที +21% q-q และ Utilization rate เพิ่มเป็น 77% และปรับประมาณการค่าโฆษณาทั้งปีเป็น 67,000 บาท/นาที +8% จากคาดการณ์เดิม

     - SVI (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 6.80 บาท มองบวกมากขึ้นต่อการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า กำไรจะฟื้นตัวตั้งแต่ Q2/60 และสดใสเต็มที่ปี 61 หลังขจัดปัญหาสายการผลิตแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใหม่ที่เซ็นสัญญาแล้ว ซึ่งจะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ Q4/60 โดยคงประมาณการกำไรปีนี้ +48.5% Y-Y แต่ปรับปีหน้าขึ้น 7% เป็น +24.6% Y-Y ปรับ PE เพิ่มเป็น 17 เท่า เพราะการเติบโตของกำไรในช่วง 3 ปีนี้สูงกว่าเดิม

       - HANA (ฟินันเซีย ไซรัส) แนวโน้มกำไรปกติ Q2/60 น่าจะสดใสต่อเนื่องเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของการส่งออก บวกกับการปรับ Product Mix ลดสินค้ากลุ่ม Computer (มาร์จิ้นต่ำ และอุตสาหกรรมชะลอ) และเพิ่มกลุ่มอื่นทั้ง Telecom Automotive Medical และ RFID มาทดแทน โดยอยู่ระหว่างปรับเพิ่มกำไรปกติปี 60 ขึ้นราว 10-15% จากปัจจุบันคาดไว้โต +17% Y-Y ภายหลังประชุมนักวิเคราะห์วันที่ 30 พ.ค.นี้ ราคาพื้นฐานอาจปรับจากปัจจุบันที่ 46 บาท เป็นประมาณ 55-60 บาท ชอบ HANA มากสุดในกลุ่ม

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ นักลงทุนผิดหวังผลประชุมโอเปก

      ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ เนื่องจากตลาดผิดหวังที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ตกลงกันที่จะขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีกเพียง 9 เดือน และไม่ปรับลดเพดานการผลิตเพิ่มเติม

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,798.49 จุด ลดลง 14.64 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,101.29 จุด ลดลง 6.54 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,670.98 จุด เพิ่มขึ้น 40.20 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,090.18 จุด ลดลง 18.31 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,344.39 จุด เพิ่มขึ้น 1.46 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,227.38 จุด ลดลง 6.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,773.90 จุด ลดลง 0.06 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,870.03 จุด ลดลง 1.62 จุด

       ที่ประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก มีมติเห็นพ้องให้ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 9 เดือนจนถึงเดือนมี.ค.2561 โดยไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น

      ทั้งนี้ โอเปกและกลุ่มนอกโอเปกจะยังคงผลิตน้ำมันราว 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ต่อไปอีก 9 เดือน

    ส่วนการประชุมโอเปกครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาทบทวนกำลังการผลิตน้ำมัน

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดบวก 2.81 จุด จากอานิสงส์เงินปอนด์อ่อนค่า

       ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (25 พ.ค.) ด้วยอานิสงส์จากการที่เงินสกุลปอนด์อ่อนค่า ซึ่งช่วยสกัดการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ตกลงกันที่จะขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตเพียง 9 เดือน นอกจากนี้ยังไม่ปรับลดเพดานการผลิตให้มากขึ้น

     ดัชนี FTSE 100 เพิ่มขึ้น 2.81 จุด หรือ +0.04% ปิดที่ 7,517.71 จุด

      ภาวะตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงกันถ้วนหน้า จากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ หลังกลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่มโอเปก มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีกเพียง 9 เดือน จากที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายเวลาออกไปอีก 12 เดือน นอกจากนี้ที่ประชุมยังไม่มีการตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นด้วย ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน

      หุ้นบีพี บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ร่วงลง 1.1% ขณะที่หุ้นรอยัล ดัตช์ เชลล์ ขยับลง 0.5%

     นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษซึ่งมีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของอังกฤษ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวช้าลงที่ 0.2% ในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง และยอดการค้าที่ปรับตัวลง โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่ารายงานประมาณการเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.3%

      ข้อมูล GDP ที่น่าผิดหวังของอังกฤษเป็นปัจจัยที่ฉุดค่าเงินสกุลปอนด์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1.3015 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินปอนด์ ได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มบริษัทข้ามชาติปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ เนื่องจากเมื่อเงินปอนด์อ่อนค่าจะช่วยกระตุ้นเงินรายได้ประมาณ 75% ในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นกลุ่มพลังงานร่วง ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ

     ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (25 พ.ค.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมันดิบทรุดตัวลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความผิดหวังต่อมติการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ที่ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีกเพียง 9 เดือน โดยไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น

      ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.1% ปิดที่ 392.14 จุด

      ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,337.16 จุด ลดลง 4.18 จุด หรือ -0.08% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ระดับ 12,621.72 จุด ลดลง 21.15 จุด หรือ -0.17% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,517.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.81 จุด หรือ +0.04%

      หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงเกือบ 5% เมื่อคืนนี้ ภายหลังจากที่ประชุมของกลุ่มโอเปก และประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งรวมถึงรัสเซีย มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 9 เดือน จนถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า โดยไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น

        นักลงทุนผิดหวังต่อมติการประชุมของโอเปกที่ไม่ได้มีการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น และก่อนหน้านี้ก็มีกระแสคาดการณ์ว่า โอเปกจะขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 12 เดือน

      ทั้งนี้ โอเปกและกลุ่มนอกโอเปกจะยังคงผลิตน้ำมันรวมกันราว 1.8 ล้านบาร์เรล/วันต่อไปอีก 9 เดือน

       หุ้น Eni SpA ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของอิตาลี ร่วงลง 1.9% หุ้นบีพี ร่วงลง 1.1% หุ้นโททาล ลดลง 0.9% หุ้นเอเมค ฟอสเตอร์ วีเลอร์ ดิ่งลง 5.6% และหุ้นไซเพม เอสพีเอ ร่วงลง 3.1%

       หุ้นปิโตรแฟค ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของยุโรป ทรุดฮวบลงถึง 30% เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวที่ทางบริษัทประกาศปลดนายมาร์วัน เชดิด ออกจากตำแหน่งซีอีโอชั่วคราว

       หุ้นเดลี เมล แอนด์ เจนเนอรัล ทรัสต์ ดิ่งลง 6.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรสุทธิลดลงในไตรมาสแรกปีนี้

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดบวก 70.53 จุด รับแรงซื้อหุ้นกลุ่มค้าปลีก

      ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (25 พ.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตลาดได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มค้าปลีก หลังจากบริษัทเบสท์ บาย ห้างค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของสหรัฐได้เปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาด นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนขานรับรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำเดือนพ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,082.95 จุด เพิ่มขึ้น 70.53 จุด หรือ +0.34% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,415.07 จุด เพิ่มขึ้น 10.68 จุด หรือ +0.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,205.26 จุด เพิ่มขึ้น 42.23 จุด หรือ +0.69%

       หุ้นกลุ่มค้าปลีกดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังจากบริษัทเบสท์ บาย เปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.53 พันล้านดอลลาร์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 8.44 พันล้านดอลลาร์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8.28 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดขายพุ่งขึ้น 1.6% ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.3%

      ทั้งนี้ หุ้นเบสท์ บาย ปิดตลาดทะยานขึ้นแข็งแกร่งถึง 21.5% และช่วยหนุนหุ้นบริษัทค้าปลีกรายอื่นๆดีดตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นพีวีเอช ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์ดังอย่าง คาลวิน ไคลน์ และทอมมี ฮิลฟิเกอร์ พุ่งขึ้น 4.8% หุ้น Guess ดีดตัวขึ้นกว่า 2% หุ้นอเบอร์ครอมบี แอนด์ ฟิทช์ ปรับตัวขึ้นกว่า 1% และหุ้นอเมซอน พุ่งขึ้น 1.3%

     ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนี Nasdaq ทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยหุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 1.2% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล อิงค์ ปรับตัวขึ้น 1.5% และหุ้นแอปเปิล ปรับตัวขึ้น 0.5%

      นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนขานรับรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของเฟด โดยรายงานระบุว่า ก่อนที่เฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปนั้น กรรมการเฟดจะพิจารณาข้อมูลต่างๆอย่างรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

      ขณะเดียวกันกรรมการเฟดยังได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งกรรมการเฟดเกือบทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า เฟดควรจะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ในปีนี้

       ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากข้อมูลแรงงานที่ออกมาค่อนข้างเป็นบวกของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 1,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 234,000 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 238,000 ราย

     อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง โดยหุ้นชลัมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบ่อน้ำมัน ดิ่งลง 2.8% และหุ้นมาราธอน ออยล์ ร่วงลง 7.1% หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงเกือบ 5% เมื่อคืนนี้ ภายหลังจากที่ประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 9 เดือนจนถึงเดือนมี.ค.2018 โดยไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น

      นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1 (ประมาณการครั้งที่ 2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

 อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!