- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Thursday, 04 May 2017 14:39
- Hits: 3563
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งกรอบจำกัด รอสัญญาณบวกใหม่หลังเฟดคงดบ.ตามคาด,จับตาบจ.ประกาศงบฯ Q1/60
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งออกด้านข้างในกรอบจำกัด ในช่วงที่กำลังรอสัญญาณบวกใหม่เข้ามา โดยนักลงทุนคงจะเข้ามาเล่นหุ้นที่มีประเด็นข่าว
ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เปิดมาก็เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยตามคาด และได้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในงวดไตรมาส 1/60 ชะลอตัวแค่ชั่วคราว โดยไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะแย่ อย่างไรก็ดีให้ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในวันศุกร์นี้
ส่วนบ้านเราก็ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดไตรมาส 1/60 ต่อไป และให้รอดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยงวดไตรมาส 1/60 ที่จะประกาศในวันที่ 15 พ.ค.นี้ด้วย
พร้อมให้แนวรับ 1,560-1,553 จุด ส่วนแนวต้าน 1,570-1,573 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (3 พ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,957.90 จุด เพิ่มขึ้น 8.01 จุด (+0.04%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,072.55 จุด ลดลง 22.82 จุด (-0.37%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,388.13 จุด ลดลง 3.04 จุด (-0.13%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 8.24 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 15.68 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 7.40 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5.24 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 1.67 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 4.58 จุด
ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันสีเขียว
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (3 พ.ค.60) 1,564.12 จุด ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 372.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 พ.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (3 พ.ค.60) ปิดที่ 47.82 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 16 เซนต์ หรือ 0.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (3 พ.ค.60) ที่ 5.59 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.58 อ่อนค่าตามภูมิภาค หลังเฟดคงดอกเบี้ย-ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นครั้งหน้า
- ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยยอดการส่งออกของไทยเดือน มี.ค.2560 อยู่ที่ 2.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดรอบ 5 ปี ส่งผลให้การส่งออกของไทยไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 5.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.88%
- รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิด เผยว่า จากการเยือนเขตปกครองพิเศษ ฮ่องกง ร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมานั้น สภาธุรกิจอุตสาหกรรมฮ่องกง พร้อมนักธุรกิจฮ่องกงประมาณ 60 ราย จะเดินทางเข้ามาดูงานในดิจิทัลพาร์กและสมาร์ทซิตี้ วันที่ 8 พ.ค.นี้ จากเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา สภาธุรกิจอุตสาหกรรมฮ่องกงเรียกร้องให้มีการหารือการจับคู่ทางธุรกิจด้วย โดยมีความสนใจการลงทุนใน 2 พื้นที่ดังกล่าวเป็นพิเศษ
- ก.ล.ต. ไฟเขียวตั้งกองทุน "เฮดจ์ฟันด์" ลงทุนได้ ในสินทรัพย์ทุกประเภท ไม่จำกัดสัดส่วนลงทุน ขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่พิเศษ หวังเป็นทางเลือกลงทุน ย้ำห้ามรายย่อยยุ่งเกี่ยว อ้างเสี่ยงสูง-ซับซ้อน ด้านบลจ.ชี้เป็นเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตลงทุนได้
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีเผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาสแรกทรงตัวที่ 40.6 ขณะที่ดัชนีใน 3 เดือนข้างหน้าลดลงอยู่ที่ 49.4 จาก 50.9 ในไตรมาสก่อน เหตุกังวลต้นทุนเพิ่ม ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาสแรกโต 2-3% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 5.7% คาดครึ่งปีหลังดีขึ้นรับแรงส่งจากเศรษฐกิจฟื้น ด้านเอ็นพีแอลสูงสุดไตรมาส 2 แต่ยังทรงตัวจนถึงสิ้นปี
- รฟท.รับเปิดประมูลรถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ไม่ทันในสัปดาห์หน้า หลังพบคำนวณราคากลางผิดพลาด เร่งทบทวนและรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ใหม่อีกครั้งวันที่ 2-5 พ.ค.นี้
- รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ กลุ่มส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจ (D2) นัดแรก โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟัง เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มเติมให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีขนาดเล็กหรือไมโครเอสเอ็มอี ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือมีบุคคลในธุรกิจไม่เกิน 5 คน จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดความช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งมีคำจำกัดความว่าต้องเป็นนิติบุคคลที่มีบุคลากรตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 200 คนเท่านั้น
*หุ้นเด่นวันนี้
- WORK (ธนชาต)"ซื้อ"เป้า 62 บาท จาก 1) Rating ดีปรับขึ้นค่าโฆษณา +35% y-y เป็น 62,000 บาท/นาที ตั้งแต่ต้นปี 2) The Mask Singer S2 สามาตรขึ้นค่าโฆษณาเป็น 380,000 เทียบกับ S1 ที่ 200,000 บาท/นาที 3) คาดรายได้ online เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนที่ 80 ล้านบาท 4) มองกำไรทั้งปีเติบโตสูง 192-41% ในปี 2560-2561 ขณะที่ ROE เร่งตัวจาก 6.9% ปีก่อน เป็น 18.8-24.2% ในปี 2560-2561
- GPSC (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 38 บาท รางานกำไรดีกว่าคาด +79% Q-Q เพราะโรงไฟฟ้า IPP กลับมาจากหยุดซ่อมใน 4Q59 และมีเงินปันผลรับ แต่ -14% Y-Y เพราะลูกค้าหลัก (IRPC) หยุดซ่อม แนวโน้มผลการดำเนินงานหลัก 2Q60 จะดีขึ้นเพราะเป็นหน้าร้อนและได้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า แต่จะไม่มีปันผลรับจาก RPCL ทำให้กำไรสุทธิน่าจะชะลอ Q-Q
- BIG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 6.90 บาท ราคาหุ้นปรับฐานจากที่มี PE สูงกว่า 20 เท่าในช่วงต้นปีเหลือ 18 เท่าในปัจจุบันและลดเหลือ 15.7 เท่าในปีหน้า ต่ำกว่ากลุ่มค้าปลีกสินค้าไอทีที่ 25-30 เท่า ขณะที่คาดกำไรโตเฉลี่ย 16% ในช่วง 2 ปีนี้ การเติบโตมาจากตลาดกล้อง Mirrorless ที่ยังไม่อิ่มตัว การขยายสาขา Big Mobile และธุรกิจพิมพ์ภาพดิจิตอลที่ไปได้ดี สำหรับกำไรสุทธิ 1Q60 คาด -17% Q-Q ตามฤดูกาลและ +7% Y-Y
ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวเล็กน้อยเช้านี้ หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด
ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,127.11 จุด ลดลง 8.24 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,680.45 จุด ลดลง 15.68 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,962.73 จุด เพิ่มขึ้น 7.40 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,224.91 จุด เพิ่มขึ้น 5.24 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,236.14 จุด ลดลง 1.67 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,767.93 จุด ลดลง 4.58 จุด ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันสีเขียว
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ขณะที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้
แถลงการณ์ของคณะกรรมการ FOMC ยังได้ระบุถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยกล่าวว่า "FOMC มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และคาดว่า ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวในระดับปานกลาง"
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในปีนี้
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 15.52 จุด จากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มเหมือง-ค้าปลีก
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) ด้วยแรงฉุดของหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลงกันถ้วนหน้าจากแรงกดดันของราคาแร่โลหะที่ร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังรับปัจจัยลบจากรายงานผลประกอบการที่ย่ำแย่ของห้างซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่หลายแห่ง ซึ่งฉุดหุ้นกลุ่มค้าปลีกร่วงลงอย่างหนัก
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 15.52 จุด หรือ -0.21% ปิดที่ 7,234.53 จุด
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ หุ้นเจ เซนส์บิวรี ร่วงลง 5.7% หลังห้างซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของอังกฤษรายนี้เปิดเผยตัวเลขยอดขายตลอดทั้งปีตกลง 0.6% นอกจากนี้ยังประกาศลดการจ่ายเงินปันผล 16%
ขณะที่หุ้นเทสโก้ ร่วงลง 3.4% และหุ้นดับเบิลยูเอ็ม มอร์ริสัน ลดลง 1.4% หลังแคนตาร์ เวิลด์แพเนล เปิดเผยรายงานว่า ทั้งห้างเซนส์บิวรี, เทสโก้ และดับเบิลยูเอ็ม มอร์ริสัน ต่างก็สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดให้กับ Aldi และ Lidl ห้างขายปลีกต้นทุนต่ำจากเยอรมนี ในช่วงไตรมาส 1/2560 ถึงแม้ยอดขายของห้างทั้ง 3 แห่งจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่ผ่านมาก็ตาม
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลงทั้งกระดานจากแรงกดดันของราคาโลหะที่ร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นอันโตฟากาสต้า ร่วง 2.4% หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ลดลง 2% และหุ้นริโอ ทินโต ร่วงลง 2.7%
หุ้นจดทะเบียนรายใหญ่ที่น่าจับตา หุ้น Sage Group พุ่งขึ้น 3.4% หลังบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ดังกล่าวรายงานผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงินปัจจุบัน นอกจากนี้บริษัทยังประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผล
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดขยับลง หลังศก.ยูโรโซนขยายตัวสอดคล้องคาดการณ์
ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) หลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของยูโรโซนขยายตัวในระดับเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการซื้อก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคณะกรรมการเฟดจะแถลงผลการประชุมภายหลังจากตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการแล้ว
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.09% ปิดที่ 389.37 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,301.00 จุด ลดลง 3.15 จุด หรือ -0.06% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,234.53 จุด ลดลง 15.52 จุด หรือ -0.21% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,527.84 จุด เพิ่มขึ้น 19.94 จุด หรือ +0.16%
สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.5% ในไตรมาส 1 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด
ทั้งนี้ ตลาดยังคงมีความกังวลต่อผลกระทบจากการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงสู่ระดับ 0.3% ในไตรมาส 1 จากระดับ 0.7% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลประชุมของเฟด ซึ่งโดยปกติแล้วคณะกรรมการเฟดจะแถลงผลการประชุมภายหลังจากตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเยอรมนีดีดตัวขึ้น หลังจากสำนักงานแรงงานเยอรมนีเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลขว่างงานในประเทศลดลง 15,000 ราย สู่ระดับ 2.543 ล้านรายในเดือนเม.ย. ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 12,000 ราย
ส่วนอัตราว่างงานของเยอรมนียังคงทรงตัวที่ระดับ 5.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การรวมประเทศเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันในปี 1990
หุ้นเฟรเซเนียส ซึ่งเป็นบริษัทเฮลธ์แคร์รายใหญ่ของเยอรมนี พุ่งขึ้น 2.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้เพิ่มขึ้น 28% พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2560
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดขยับขึ้น 8.01 จุด หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดอ่อนแรงลง เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อผลประกอบการของบริษัทแอปเปิล อิงค์
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,957.90 จุด เพิ่มขึ้น 8.01 จุด หรือ +0.04% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,388.13 จุด ลดลง 3.04 จุด หรือ -0.13% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,072.55 จุด ลดลง 22.82 จุด หรือ -0.37%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ขณะที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้
แถลงการณ์ของคณะกรรมการ FOMC ยังได้ระบุถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยกล่าวว่า "FOMC มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และคาดว่า ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวในระดับปานกลาง"
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในปีนี้
ดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้น 0.6% หลังจากเฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปอาจจะมีขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย.
อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากผลการประชุมของเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดอ่อนแรงลง หลังจากพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดติดต่อกัน 2 วันทำการก่อนหน้านี้ โดยดัชนี Nasdaq ถูกกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทแอปเปิล อิงค์
หุ้นแอปเปิลปิดตลาดลดลง 0.3% หลังจากที่ร่วงลงเกือบ 2% ในระหว่างวัน ภายหลังจากบริษัทเปิดเผยว่า ยอดขายไอโฟนอยู่ที่ 50.8 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ตามปีงบการเงินของบริษัท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 51 ล้านดอลลาร์ และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 52 ล้านดอลลาร์
ส่วนกำไรสุทธิของแอปเปิลอยู่ที่ระดับ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 2.10 ดอลลาร์/หุ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ระดับ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 2.02 ดอลลาร์/หุ้น
หุ้นยัม แบรนด์ส อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของพิซซ่า ฮัท และเคนตั๊กกี ฟรายชิกเก้น (KFC) พุ่งขึ้น 2.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรสุทธิ 280 ล้านดอลลาร์ หรือ 77 เซนต์/หุ้น ส่วนรายได้อยู่ที่ระดับ 1.42 พันล้านดอลลาร์ โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.35 พันล้านดอลลาร์
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน หลังจากออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ รายงานว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 177,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. หลังจากที่พุ่งขึ้นอย่างมากในเดือนมี.ค. โดยตัวเลขจ้างงานเดือนเม.ย.อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 175,000 ตำแหน่ง
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนเม.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.6%
อินโฟเควสท์