WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET38ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งตัว จับตา สนช.ถกร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมวันนี้หวั่นกระทบ PTT

      นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งตัวในระหว่างรอติดตามการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับในวาระที่ 2 เพราะเกี่ยวข้องกับกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) แต่หุ้น PTT น่าจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้บ้าง

        อย่างไรก็ดี วันนี้มี DW หลายตัวครบอายุ ซึ่งทุกครั้งที่ผ่านมามักจะทำให้ตลาดฯเหวี่ยงในช่วงท้าย แต่เชื่อว่าการทำ Window Dressing ก่อนปิดงบฯน่าจะช่วยหนุนตลาดฯได้บ้าง

       ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่ติดลบ หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า

        พร้อมมองวันนี้ตลาดฯคงเป็นลักษณะเทรดดิ้งเลือกเล่นเป็นรายตัว ให้แนวรับ 1,568-1,560 จุด ส่วนแนวต้าน 1,583 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

      - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (29 มี.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,659.32 จุด ลดลง 42.18 จุด (-0.20%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,897.55 เพิ่มขึ้น 22.41 จุด (+0.38%), ดัชนี S&P500 ปิดที่  2,361.13 จุด เพิ่มขึ้น 2.56 จุด (+0.11%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 66.66 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.17 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 37.07 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 13.03 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 3.20 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 0.13 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.28 จุด

     - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (29 มี.ค.60) 1,574.97 จุด ลดลง 1.75 จุด (-0.11%)

      - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 154.41 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มี.ค.60

      - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (29 มี.ค.60) ปิดที่ 49.51 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์ หรือ 2.4%

    - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (29 มี.ค.60) ที่  6.59 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

      - เงินบาทเปิด 34.40 คาดวันนี้แกว่งในกรอบ 34.40-34.55 รอปัจจัยใหม่กำหนดทิศทาง

      - แบงก์ชาติปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้โต 3.4% จากเดิม ที่ 3.2 % ส่วนปีหน้าโตต่อเนื่อง 3.6% หลัง ส่งออกฟื้นตัวดีกว่าคาด และท่องเที่ยวเติบโตสูง แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งนโยบายการค้าสหรัฐและการเมืองในยุโรป ห่วงเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่ง ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเมินแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

     - จับตา สนช.พิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับวันนี้ พลังงานแถลงค้านตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ขณะกลุ่ม คปพ.แจงอีกรอบค้านทั้ง 2 ฉบับ เอกชนเสนอใช้ม.44 แก้ปัญหากลับไปใช้กฎหมายเดิมเร่งเปิดสัมปทาน ขณะที่กระทรวงพลังงานยันยังไม่เห็นความจำเป็นในการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (เอ็นโอซี) เนื่องจากรูปแบบการบริหารพลังงานของประเทศมีความเหมาะสมอยู่แล้ว

       - คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ กล่าวว่า จะหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อตั้งกระดานหุ้นให้ผู้ประกอบการใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ในรูปแบบตลาด Over The Counter (OTC) โดยเปิดให้บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งและยังไม่มีกำไรสามารถเข้าร่วมในตลาดนี้ได้

      - คณะกรรมการ PPP ไฟเขียวดันอีก 6 โครงการลงทุน มูลค่า 6 แสนล้านบาท เข้า Fast Track คาดเริ่มเปิดประมูลได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ "สมคิด" มั่นใจเรียกความเชื่อมั่นฟื้นเต็มพิกัด

*หุ้นเด่นวันนี้

       - ASAP (บมจ. ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์) เทรดวันนี้วันแรก หมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ราคาขาย IPO 3.03 บาท/หุ้น โดยบริษัทฯให้บริการ"asap" ด้วยรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายทั้งรถยนต์ให้เช่าระยะยาว (Operating Lease) สำหรับลูกค้านิติบุคคล รถยนต์ให้เช่าระยะสั้นสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา และรถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับ (Limousine) สำหรับลูกค้านิติบุคคลที่มีความต้องการเช่ารถยนต์พร้อมบริการคนขับรถ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรม

       -  EA (ธนชาต) "ซื้อ"เป้า 34 บาท ส.ป.ก ไม่เพิกถอน 16 โครงการพลังงานลม (ของ EA 5 โครงการ 260 MW) เป็นข่าวดี แม้ COD จะล่าช้าออกไป 3-4 เดือน แต่กำลังผลิตใหม่ที่จะเข้าในเดือน เม.ย. 60 และ 4Q61 จะหนุนกำไรโต 35% ในปี 2559-2562 มองแนวโน้มธุรกิจอุปกรณ์กักเก็บพลังงานจะดีในระยะยาว

     - TU (ยูโอบี เคย์เฮียน) คาดกำไรเติบโต 17% สูงสุดในกลุ่มอาหาร ได้ประโยชน์จากภาพใหญ่ของบาทที่อ่อนค่า อีกทั้งเข้าสู่ช่วง high season ไตรมาส 2-3 รวมทั้งต้นทุนมีผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรน้อยกว่าเนื้อสัตว์บก

ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนเช้านี้ หลังราคาน้ำมันพุ่ง,วิตกการเมืองสหรัฐ

    ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนขานรับราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์กที่ปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืน ขณะที่บางส่วนยังคงวิตกกังวลเรื่องการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

      ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,150.82 จุด ลดลง 66.66 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,235.14 จุด ลดลง 6.17 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,429.12 จุด เพิ่มขึ้น 37.07 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,869.28 จุด เพิ่มขึ้น 13.03 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,170.18 จุด เพิ่มขึ้น 3.20 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,184.44 จุด ลดลง 0.13 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,750.69 จุด เพิ่มขึ้น 0.28 จุด

      ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเอเชียไม่มีปฏิกิริยามากนักหลังจากที่อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการ เนื่องจากนักลงทุนซึมซับข่าวนี้มานานแล้ว

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดบวก 30.30 จุด หลังอังกฤษประกาศมาตรา 50 เริ่มกระบวนการ Brexit

     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนบวกเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค.) ด้วยแรงหนุนจากการที่สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงจากแรงกดดันหลังรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้

       ดัชนี FTSE 100 เพิ่มขึ้น 30.30 จุด หรือ +0.41% ปิดที่ 7,373.72 จุด

       ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้ ได้แรงหนุนจากการที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลง ภายหลังจากที่นายทิม บาร์โรว์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหภาพยุโรป ได้ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงในการประกาศใช้มาตรา 50 ของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ให้กับนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

       หุ้นลอนดอน สต็อก เอ็กซ์เชนจ์ กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 2.7% หลังหน่วยงานป้องกันการผูกขาดของสหหภาพยุโรปได้ขัดขวางแผนการควบรวมกิจการกับ  Deutsche Boerse  ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ต วงเงิน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์

      หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น โดยหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน พุ่งขึ้น 2.7% หลังบริษัทเปิดเผยว่ากำลังพิจารณาแผนลงทุนในธุรกิจแร่เหล็กในออสเตรเลีย ขณะที่หุ้นเกลนคอร์ ขยับขึ้น 0.5% หลังบริษัทเผยว่า เหมืองถ่านหินในออสเตรเลียไม่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนเด็บบี

      สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น ธนาคารกลางของอังกฤษ (BoE) รายงานว่า ยอดกู้ยืมเพื่อการบริโภคในอังกฤษพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนก.พ. ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคครัวเรือนในประเทศยังคงมีการก่อหนี้เพื่อจับจ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดบวก นักลงทุนซึมซับข่าวอังกฤษเริ่มกระบวนการ Brexit

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนซึมซับข่าวอังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะเปิดเผยแนวทางเรื่องการดำเนินการ Brexit ของกลุ่ม EU ในวันพรุ่งนี้

       ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.3% ปิดที่ 378.53 จุด

      ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,203.00 จุด เพิ่มขึ้น 53.58 จุด หรือ +0.44% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,373.72 จุด เพิ่มขึ้น 30.30 จุด หรือ +0.41% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,069.04 จุด เพิ่มขึ้น 22.84 จุด หรือ +0.45%

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดตลาดในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนซึมซับข่าวอังกฤษเริ่มต้นกระบวนการ Brexit อย่างเป็นทางการ โดยนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อเริ่มกระบวนการ Brexit  ณ สภาสามัญชน (House of Commons) เมื่อวานนี้ ภายหลังจากนายทิม บาร์โรว์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหภาพยุโรป ได้ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงดังกล่าวต่อนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

       นายกรัฐมนตรีอังกฤษแถลงต่อสภาสามัญชนว่า "นี่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งไม่มีทางที่จะถอยหลังกลับไป เราตั้งใจที่จะดำเนินข้อตกลงการค้าเสรีที่เด็ดเดี่ยวและเต็มไปด้วยมุ่งมั่นกับ EU และดิฉันมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทำให้ข้อตกลงเหมาะสมสำหรับทุกคนในประเทศนี้ พวกเราคือกลุ่มประชากรและประเทศชาติอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีประวัติศาสตร์น่าภูมิใจและอนาคตที่สดใส"

      หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองรายใหญ่ของยุโรป พุ่งขึ้น 2.7% หลังจากบริษัทประกาศแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมแร่เหล็กในประเทศออสเตรเลีย

     หุ้น London Stock Exchange Group (LSE) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน พุ่งขึ้น 2.7% ขณะที่หุ้น Deutsche Boerse ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ต เพิ่มขึ้น 1.7% หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ได้ขัดขวางข้อเสนอควบรวมกิจการมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านปอนด์ระหว่าง London Stock Exchange Group และ Deutsche หลังจากพิจารณาว่า การควบรวมกิจการของสองบริษัทผู้บริหารตลาดหุ้นรายใหญ่ที่สุดของยุโรป อาจก่อให้เกิดการผูกขาดโดยพฤตินัย (de facto monopoly) ในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน

                นักลงทุนจับตา EU เตรียมเปิดเผยแนวทางเรื่องการดำเนินการ Brexit ของกลุ่ม EU ในวันพรุ่งนี้ โดยนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปได้ประกาศในการแถลงข่าวภายหลังจากที่ได้รับหนังสือแสดงเจตจำนงค์จากนายทิม บาร์โรว์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำ EU ว่า ตนเองจะนำเสนอข้อเสนอเรื่องแนวทางการเจรจาต่อรองให้กับประเทศสมาชิกในวันพรุ่งนี้ ภายหลังจากที่อังกฤษเดินหน้ากระบวนการ Brexit  ซึ่งแนวทางในการเจรจาต่อรองดังกล่าวที่จะนำเสนอแก่ประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศนั้น จะถูกนำมาเจรจาในการประชุมสุดยอดของกลุ่มอีกครั้งในวันที่ 29 เมษายนนี้ ที่กรุงบรัสเซลส์

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 42.18 จุด หลังอังกฤษเริ่มกระบวนการ Brexit

       ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค.) หลังจากอังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการ ซึ่งนักลงทุนติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่บริษัทจดทะเบียนจะเริ่มทยอยเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาสแรกปีนี้ อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P500 ดีดตัวขึ้น และดัชนี NASDAQ ปิดตลาดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า 2%

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,659.32 จุด ลดลง 42.18 จุด หรือ -0.20% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,361.13 จุด เพิ่มขึ้น 2.56 จุด หรือ +0.11% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,897.55 เพิ่มขึ้น 22.41 จุด หรือ +0.38%

       ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดอ่อนแรงลง หลังจากนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อเริ่มกระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ณ สภาสามัญชน (House of Commons) เมื่อวานนี้ ภายหลังจากนายทิม บาร์โรว์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหภาพยุโรป ได้ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงดังกล่าวต่อนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

      นักลงทุนติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการแยกตัวออกจาก EU อาจจะส่งผลให้อังกฤษเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่ภาคธุรกิจของอังกฤษได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวานนี้ เพื่อขอให้รัฐบาลรับประกันในเรื่องสิทธิของพนักงานของกลุ่มประเทศ EU ที่ทำงานอยู่ในอังกฤษในระหว่างที่ได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อถอนตัวจาก EU รวมทั้งการบริหารจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากอังกฤษไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางสหภาพยุโรปได้ภายในระยะเวลา 2 ปี

       นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่บริษัทจดทะเบียนจะเริ่มทยอยรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2560 ในช่วงกลางเดือนหน้า ขณะที่ผลสำรวจของนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดย FactSet ระบุว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 9%

       นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้รับแรงกดดันจากการแสดงความเห็นของนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก ที่ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง และนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ที่ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้

        อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P 500 และ NASDAQ ปิดตลาดดีดตัวขึ้น เพราะได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นกว่า 2% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเฮส คอร์ป พุ่งขึ้น 4.9% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ทะยานขึ้น 7.8% และหุ้นมาราธอน ออยล์ พุ่งขึ้น 4.1%

        ส่วนหุ้นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นนอร์ดสตรอม หุ้นโคลท์ และหุ้นอเมซอน ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 2%

      หุ้นไมแลน ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 3.3% หลังจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายยา Advair Diskus ซึ่งใช้รักษาโรคหอบหืด

      ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน หลังจากสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน และหากเมื่อเทียบรายปี ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6%

     นอกเหนือจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2559 (ประมาณการครั้งสุดท้าย), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.พ., รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนก.พ. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

  อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!