WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET7ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์อิงแดนบวก รับผลบาทแข็งหนุนเงินไหลเข้า-Window Dressing

         นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้จะแกว่งตัวไซด์เวย์ ให้น้ำหนักทางแดนบวก แม้ว่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยกเลิกการลงมติการนำร่างกฎหมาย

      "อเมริกันเฮลธ์แคร์"มาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง แต่ข้อดีของกรณีดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ทำให้ Fund Flow จะยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อสุทธิติดต่อกัน 6 วันทำการ

      นอกจากนี้ ยังให้น้ำหนักการทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี (Window Dressing) ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อพิจารณาจากสถิติย้อนหลังจะพบว่าในไตรมาส 1 จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการทำ Window Dressing ทำให้เชื่อว่าน่าจะยังคงเกิดขึ้นในไตรมาสนี้ด้วย อีกทั้งในช่วงก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดงาน SET in the City 2017 ระหว่างวันที่ 23-26 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้ยังมีเม็ดเงินจากฝั่งสถาบันเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน

     สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยในวันนี้ จะมาจากกลุ่มพลังงาน หลังทิศทางราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น และหุ้นกลุ่มสื่อสาร ที่วันนี้ผู้ประกอบการมือถือจะยื่นข้อเสนอแผนธุรกิจคลื่นความถี่ 2300 MHz ให้บมจ.ทีโอที เพื่อคัดเลือกเป็นพันธมิตร

พร้อมมองดัชนีหุ้นไทยมีแนวต้าน 1,580 และแนวรับ 1,565 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

                - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (24 มี.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,596.72 จุด ลดลง 59.86 จุด (-0.29%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,828.74 จุด เพิ่มขึ้น 11.05 จุด (+0.19%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,343.98 จุด ลดลง 1.98 จุด (-0.08%)

                - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 191.34 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 0.53 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 122.58 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 4.62 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 7.78 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 20.85 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.67 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 0.98 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (24 มี.ค.60) 1,573.51 จุด เพิ่มขึ้น 4.79 จุด (+0.31%)

                - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,554.09 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 มี.ค.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (24 มี.ค.60) ปิดที่ 47.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.6%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (24 มี.ค.60) ที่ 6.22 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 34.49 แข็งค่าในรอบเกือบ 6 เดือนจากแรงขายดอลล์ หลังสหรัฐฯยกเลิกลงมติร่างกม."อเมริกันเฮลธ์แคร์"

                - กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) หรือ FIDF ออกรายงานประจำปี 59 ระบุว่า ในปีงบประมาณปี 60 มีภาระหนี้ FIDF ครบกำหนด 280,119 ล้านบาท ซึ่งจะมีภาระหนี้ครบกำหนดในวันเดียว 162,000 ล้านบาท ถือเป็นหนี้ครบกำหนดจำนวนสูงสุดตั้งแต่เริ่มจะไม่สามารถจัดหาสภาพคล่องรองรับได้เพียงพอ จึงวางแผนการทยอยสะสมสภาพคล่องด้วยการกำหนดแผนการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

                - รมว.คมนาคม คาดว่าภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ จะเสนอโครงการรถไฟเส้นทางใหม่ 2 เส้นทาง ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาคือ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย- เชียงของ และโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ ยืนยันโครงการเป็นไปตามแผนและไม่ได้รับผลกระทบจากการทบทวนโครงการเหมือนกับ 5 โครงการรถไฟทางคู่ที่มีการทบทวนเงื่อนไขประกวดราคาหรือ TOR

                - นายกฯเร่งเดินหน้าอีอีซี นัดถกใหญ่ 5 เม.ย. ติดตามความคืบหน้า ขณะ "อุตตม" ชงขออนุมัติเร่งด่วน "อู่ตะเภา-ไฮสปีด" หวังผุด "เมืองการบินภาคตะวันออก" ระบุนักลงทุน ให้ความสนใจคึกคัก  คาดกลางปีเห็นธุรกิจขนาดใหญ่ลงทุนจริง

                - อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะเริ่มปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาในเดือน เม.ย. 2560 เหลือวันละ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากที่ปัจจุบันระบายน้ำวันละ 48 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับต้นฤดูฝน เนื่องจากนักวิชาการด้านสภาวะอากาศโลกคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มของเอลนินโญ หรือฝนน้อยตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.

                - "ทีโอที" เตรียมตั้งโต๊ะเปิดรับคู่ค้ายื่นข้อเสนอให้บริการคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ดีเดย์ 27 มีนาคมนี้ ค่ายมือถือปักธงสู้ไม่ถอยโดยเฉพาะ "ดีแทค" บอร์ดไฟเขียวยื่นเงื่อนไขแล้ว ด้าน "เอไอเอส-ทรู" ชิงเค้ก

*หุ้นเด่นวันนี้

       - APX กลับเข้าซื้อขายใน SET  กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในวันนี้เป็นวันแรก หลังได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของการพ้นเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แล้ว โดยราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2542 ที่ราคา 2.80 บาทต่อหุ้น อาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ตลท.จึงกำหนดให้ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของ APX ในวันที่ 27 มีนาคม 2560 ไม่มีราคาสูงสุดและต่ำสุด

        - MALEE (ไอร่า) แนะ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 130 บาท ประเมินกำไรสุทธิในปี 60 ที่ 607 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อนหน้า หลังธุรกิจรับจ้างผลิต (CMG) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันยอดขายของ MALEE โดยในปี 59 ที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากรับจ้างผลิตน้ำมะพร้าวเพิ่มขึ้นกว่า 60% จากการที่ตลาดน้ำมะพร้าวโลกเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคงวางแผนในการรุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ของบริษัทย่อยในฟิลิปปินส์ที่พร้อมออก 2 สินค้าใหม่ในปี 60 นี้ เพื่อดึงยอดขายที่ต่ำกว่าคาดในปี 59 ให้สูงขึ้น โดยคาดบริษัทย่อยในฟิลิปปินส์จะสามารถ Breakeven ได้ในปี 62

        - ESSO (ธนชาต) แนะ"ซื้อ" ราคาพื้นฐาน 15.50 บาท top picks กลุ่มจากธุรกิจโรงกลั่นมี efficient ดีขึ้น และได้ประโยชน์จาก crude premium ของน้ำมันเบาที่ลดลงมากที่สุด ,ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ที่มี market share ประมาณ 13% ได้ผลดีจากค่าการตลาดในระดับสูง , Valuation ถูกที่สุดในกลุ่มที่ PE 6x ขณะที่คาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานปีนี้จะขยายตัว 60% และคาดล้างขาดทุนสะสมหมดในปีนี้ ด้วยกระแสเงินสดสูงคาดกลับมาจ่ายปันผล 5% ปีนี้ และ 10.2% ในปี 2561

                - TACC (ฟินันเซีย ไซรัส) แนะ"ซื้อ"ราคาพื้นฐาน 11.50 บาท มองแนวโน้มกำไรไตรมาส 1/60 ดีต่อเนื่องเพราะเริ่มรับรู้รายได้จาก Jump start (Energy drink) ที่กัมพูชา ซึ่งทำยอดขายได้ดีตามเป้า ส่วนไตรมาส 2/60 จะรับรู้รายได้จาก Sawasdee เครื่องดื่มผงที่ขายในจีน ธุรกิจอื่นเติบโตตามการขยายร้าน 7-11 และการออกสินค้าใหม่ๆ ปัจจุบันมี PE 30 เท่า แต่เป็น PEG เพียง 0.4 เท่า จากกำไรที่คาดโตสูงถึง 68% Y-Y ในปีนี้

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ หลังสภาผู้แทนฯสหรัฐคว่ำร่างกม.อเมริกันเฮลธ์แคร์

     ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยกเลิกการลงมติเกี่ยวกับการนำร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" มาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" เนื่องจากเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว

        ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,071.19 จุด ลดลง 191.34 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,268.92 จุด ลดลง 0.53 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,235.69 จุด ลดลง 122.58 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,907.60 จุด เพิ่มขึ้น 4.62 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,161.17 จุด ลดลง 7.78 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,122.05 จุด ลดลง 20.85 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,745.08 จุด ลดลง 0.67 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,268.64 จุด ลดลง 0.98 จุด

      ทั้งนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าการโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะสามารถผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่ได้ให้สัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงหรือไม่ โดยความล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ส่งผลให้เกิดความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ อาจต้องล่าช้าออกไปด้วย

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 3.89 จุด ขณะนลท.จับตาสหรัฐโหวตร่างกม.ประกันสุขภาพ

     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพในวันศุกร์ หลังจากที่ได้เลื่อนการโหวตมาจากวันก่อน

     ดัชนี FTSE 100 ปรับตัวลง 3.89 จุด หรือ -0.05% ปิดที่ 7,336.82 จุด ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ดัชนีร่วงลง 1.2%

      สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้มีกำหนดที่จะลงมติว่าด้วยการนำร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" มาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์" ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะสามารถผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่ได้ให้สัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงหรือไม่

     หุ้นเน็กซ์ บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ลบ 1.64% หลังจากที่พุ่งแรงกว่า 8% ในวันพฤหัสบดี ภายหลังเปิดเผยผลการดำเนินงาน โดยบริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขผลประกอบการในปีงบการเงินปีนี้ พร้อมยืนยันการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

      หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ลดลง 0.8% หลังจากที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เปิดเผยว่าจะขายสินทรัพย์บางส่วนในประเทศกาบอง ตามแผนปรับลดหนี้

      หุ้นบีที กรุ๊ป ร่วง 1.74% หลังหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมเสนอให้บริษัทจ่ายเงินคืนลูกค้าที่ไม่พอใจในบริการโทรศัพท์และบรอดแบนด์

     หุ้นสมิธส์ กรุ๊ป บริษัทวิศวกรรม พุ่ง 2.9% ขานรับการรายงานผลกำไรงวดครึ่งปีที่ปรับตัวสูงขึ้น

       หุ้นคิงฟิสเชอร์ดีดขึ้น 0.3% จากที่ร่วงลงในวันพฤหัสบดี หลังบริษัทแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอังกฤษหลังเริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

      อนึ่ง หลังจากที่ตลาดหุ้นลอนดอนปิดทำการในวันศุกร์ มีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยกเลิกการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ตามคำขอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ จับตาสภาผู้แทนฯสหรัฐโหวตร่างกม.อเมริกันเฮลธ์แคร์

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายเพื่อรอดูผลการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เลื่อนกำหนดการลงมติจากวันพฤหัสบดีมาเป็นวันศุกร์ เพราะยังคงขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน

      ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.69 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 376.51 จุด ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ดัชนีลดลง 0.5%

       ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,020.90 จุด ลดลง 11.86 จุด หรือ -0.24% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,064.27 จุด เพิ่มขึ้น 24.59 จุด หรือ +0.20% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,336.82 จุด ลดลง 3.89 จุด หรือ -0.05%

        ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง 4 วันใน 5 วันทำการสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง ขณะที่นักลงทุนจับตาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติต่อร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์"

       สภาผู้แทนราษฎรได้เลื่อนการลงมติต่อร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" เมื่อวันพฤหัสบดี เนื่องจากรัฐบาลประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าวกลุ่มส.ส.แนวอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกันให้เห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานให้สภาผู้แทนราษฎรทำการพิจารณาลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งในวันศุกร์ ถึงแม้ยังไม่มีความแน่ใจว่าจะสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงพอหรือไม่

    โดยปธน.ทรัมป์ได้ยื่นคำขาดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ในวันศุกร์ ซึ่งหากสภาไม่ให้การอนุมัติ ปธน.ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยจะปล่อยให้กฎหมายประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" มีผลบังคับใช้ต่อไป และเขาจะหันไปผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภาษี

       สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 56.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี จากระดับ 56.0 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PMI ดังกล่าวของยูโรโซนจะแตะระดับ 55.8 ในเดือนมี.ค.

    ทั้งนี้ ดัชนีอยู่เหนือกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจในยูโรโซน

     นอกจากนี้ การดีดตัวของของดัชนียังบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจมีการขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 1

      อนึ่ง หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการในวันศุกร์ มีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยกเลิกการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ตามคำขอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้

 ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 59.86 จุดหลังสภาผู้แทนฯสหรัฐคว่ำร่างกม.อเมริกันเฮลธ์แคร์

      ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกันในวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยกเลิกการลงมติเกี่ยวกับการนำร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" มาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" เนื่องจากเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว

        ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,596.72 จุด ลดลง 59.86 จุด หรือ -0.29% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,343.98 จุด ลดลง 1.98 จุด หรือ -0.08% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,828.74 จุด เพิ่มขึ้น 11.05 จุด หรือ +0.19%

     สำหรับทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์, S&P และ Nasdaq ร่วงลง 1.5%, 1.4% และ 1.2% ตามลำดับ

       ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน โดยดัชนีเปิดบวกและปรับตัวขึ้นในระหว่างวัน ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงก่อนปิดตลาด หลังมีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยกเลิกการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์"

        สื่อรายงานว่า นายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เดินทางเข้าไปยังทำเนียบขาว เพื่อรายงานต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ว่า ร่างกฎหมายประกันสุขภาพ "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการลงมติในวันศุกร์นั้น ยังคงขาดเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน

        ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้มีกำหนดการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ในวันพฤหัสบดี แต่ได้ตัดสินใจเลื่อนมาเป็นวันศุกร์ เนื่องจากรัฐบาลประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าวกลุ่มส.ส.แนวอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกันให้เห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่ปธน.ทรัมป์ยืนกรานให้สภาผู้แทนราษฎรทำการพิจารณาลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งในวันศุกร์ ถึงแม้ยังไม่มีความแน่ใจว่าจะสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงพอหรือไม่ โดยมีรายงานว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนอย่างน้อย 32 คนได้แสดงตัวว่าจะไม่ลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว

       ก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์ได้ยื่นคำขาดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งหากสภาไม่ให้การอนุมัติ ปธน.ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยจะปล่อยให้กฎหมายประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" มีผลบังคับใช้ต่อไป และเขาจะหันไปผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภาษี

     ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าการโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ ว่าจะสามารถผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่ได้ให้สัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงหรือไม่ โดยความล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ส่งผลให้เกิดความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ อาจต้องล่าช้าออกไปด้วย

       สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานในวันศุกร์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้น 1.7% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 2.3% ในเดือนม.ค.

        การดีดตัวขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ในภาคการขนส่ง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ที่ทะยานขึ้น 47.6% ขณะที่อุปสงค์สำหรับรถยนต์ร่วงลง 0.8%

       อย่างไรก็ดี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. สวนทางตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค.

       ขณะที่บริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 53.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลังจากแตะระดับ 54.3 ในเดือนก.พ.

                ด้านดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 52.9 ในเดือนมี.ค. หลังจากแตะระดับ 53.8 ในเดือนก.พ.

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!