WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET39ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ฟื้นต่อตามแรงไล่ซื้อกลับท้ายตลาดฯวานนี้ แต่บาทอ่อนยังถ่วง

     นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่องจากวานนี้ที่มีแรงไล่ซื้อกลับในช่วงท้ายตลาด ซึ่งน่าจะส่งผลต่อมาถึงวันนี้ด้วย ขณะที่มีปัจจัยถ่วงตลาดฯ คือเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในภูมิภาคเมื่อวานนี้จากการไหลออกของเงินทุน แต่การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าก็ส่งผลต่อประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน

      ทั้งนี้ การที่เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าภูมิภาค เป็นผลจากที่มีการซื้อเก็งกำไรเงินบาทไว้มากในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้แข็งค่าขึ้นไปมากกว่าสกุลอื่น เมื่อตีกลับก็จะมากกว่าสกุลอื่นเช่นกัน รวมทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกก็เข้าไปเก็งเงินดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกัน ขณะที่คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้ก็เป็นเหตุผลหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า แม้ว่าวันศุกร์นี้จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯแต่คงไม่จำเป็นต้องรอแล้ว เพราะน้ำหนักในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตอนนี้สูงไปถึง 100% แล้ว

       ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,550-1,5960 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

      - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (8 มี.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,855.73 จุด ลดลง 69.03 จุด (-0.33%),  ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,837.55 จุด เพิ่มขึ้น 3.62 จุด (+0.06%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,362.98 จุด ลดลง 5.41 จุด (-0.23%)

                - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 89.03 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.97 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 114.50 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 13.40 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 2.88 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 9.58 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.33 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 3.54 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (8 มี.ค.60) 1,551.73 จุด เพิ่มขึ้น 1.86 จุด (+0.12%)

                - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 835.22 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มี.ค.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (8 มี.ค.60) ปิดที่ 50.14 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 2.86 ดอลลาร์ หรือ 5.4%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (8 มี.ค.60) ที่ 5.76 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 35.30/31 แนวโน้มอ่อนค่าต่อ มองกรอบ 35.20-35.40 จับตา Flow ไหลออก-ผลประชุม ECB

                - "สมคิด" คิกออฟใช้เงิน 3.5 หมื่นล้านบาทผ่านกองทุนหมู่บ้านดันเศรษฐกิจฐานราก เตรียมเปิดตลาดทั่วไทย ปิ๊งไอเดียสั่งบีโอไอให้สิทธิประโยชน์เอกชนที่ออกไปลงทุนเปิดร้านขายสินค้าเกษตรเมืองนอกเพื่อเพิ่มช่องทางขายสินค้าเกษตรไทย พร้อมผุดโปรเจกต์ใหม่ดันชุมชนเป็นผู้ประกอบการ 4.0 ที่รู้จักทำมาค้าขายผ่านช่องทางสมัยใหม่ "พาณิชย์"คาดตั้งตลาดสำเร็จตามเป้า มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 1.25 แสนล้าน

                - ก.พลังงาน เตรียมปรับแผนพีดีพีใหม่เน้นผลิตไฟจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นสนองนโยบายบิ๊กตู่ พร้อมโดดลงเวทีทำความเข้าใจโรงไฟฟ้าภาคใต้เร็วๆ นี้หลัง "บิ๊กป้อม"สั่งให้ดำเนินการภายใน 1 เดือน ยันกางแผนทั้งหมดให้เห็นว่าภาคใต้ผลิตไฟไม่พอใช้ พลังงานทดแทนเดินหน้าเต็มสูบแล้ว FSRU ใช้แอลเอ็นจีแทน ศึกษาแล้วแต่ยืนยันค่าไฟแพงกว่าถ่านหิน โยนคลังชี้ขาดกรณีค่าไฟช่วยคนจน

                - นายกรัฐมนตรี วางเป้าหมายการทำงานของภาครัฐไทยภายใน 5 ปีต้องยกระดับสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล บูรณาการระหว่างหน่วยงานในการทำงานแบบอัจฉริยะให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับงานบริการภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่บุคลากรภาครัฐ ขั้นตอนการทำงาน เทคโนโลยีและกฎระเบียบจะได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกัน

                - รฟม.เผยผลการเจรจาว่าจ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้เข้ามาบริการเดินรถ ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระนั้น กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องไปยังเลขาฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป หลังจากนั้นคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ทันที และทางบีอีเอ็มก็พร้อมจะเดินหน้าตามสัญญาได้ทันทีเช่นเดียวกัน

                - 'อุตตม' เตรียมเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตและหุ่นยนต์ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เข้า ครม.ปลาย มี.ค.หนุนผลิตรถยนต์สะอาด ปล่อยมลพิษน้อย ส่งเสริมผลิตแผงวงจรสมองกลจำเป็นต่อโรงงาน ชี้หุ่นยนต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ลงทุนต่ำ เม.ย.ชงเพิ่ม 4 กลุ่ม

*หุ้นเด่นวันนี้

                -  GL (ทรีนีตี้) "ซื้อ"เป้า 72 บาท มองว่าตลาดเข้าใจคลาดเคลื่อนในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่หลายประเด็น อาทิเช่น 1) ความเห็นของผู้ตรวจสอบบัญชีที่ไม่ได้เป็นการไม่รับรองงบการเงินแต่อย่างใด ส่วนประเด็นการให้ข้อสังเกตในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ก็เป็นการให้ความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข 2) ในส่วนของการปล่อยกู้ให้บริษัทย่อยในสิงคโปร์นั้น ก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการทำธุรกิจที่กัมพูชา ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านกฎหมายภาษีที่เข้มงวดมากขึ้น 3) ประเด็นความครอบคลุมของหลักประกันเงินกู้ GL ตีมูลค่าหลักประกันอื่นที่ไม่ใช่หลักทรัพย์เพียงแค่ 50% ของมูลค่าตลาด และยังไม่ได้รวมมูลค่าของสต็อกสินค้า และ 4) อัตราดอกเบี้ยของเงินให้กู้ยืมเฉลี่ยที่ 17% ต่อปีนั้น เป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามมาตรฐานบัญชี ซึ่งมีการรับรวมค่าธรรมเนียมต่างๆเข้าไปด้วย อาทิ Front-end Fee  พร้อมมอง GL มีโอกาสเข้าข่ายการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด

                - BBL (เคจีไอ) เป้า 189 บาท ประเมิน Valuation ยังน่าสนใจด้วย PBV 0.92 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 1.1 เท่า ขณะที่รอ Catalyst เรื่องการปลดล๊อกสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างด้าว (Foreign Limit) จากปัจจุบัน 25% (เทียบกับแบงก์ใหญ่รายอื่นอาทิ SCB และ KBANK Foreign Limit ปัจจุบันอยู่ที่ 45.81% และ 48.98% ตามลำดับ) โดยยังคงแนะนำให้พิจารณาที่แนวราคา 183 บาท หากผ่านได้ ประเมินแนวต้านถัดไปที่ 190 บาท แต่ในกรณีที่ไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ แนะนำ "ซื้อแนวรับ" 180 บาท และ 177.5 บาท (Stop loss 175 บาท)

                - SCB (ยูโอบี เคย์เฮียน) หุ้น Laggard ในกลุ่มธนาคาร เรามองการตั้งสำรองปี 2560 จะลดลง อันเนื่องจากหนี้ SSI พ้นจาก NPL ขณะที่การปรับโครงสร้างของธุรกิจประกันส่งผลบวกต่อการดำเนินงานรวมถึงการปล่อยกู้

ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนเช้านี้ วิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

                ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในช่วงเช้าวันนี้ โดยตลาดหุ้นโตเกียวบวกหลังเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาคได้รับแรงกดจากกระแสคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้

                ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,343.06 จุด เพิ่มขึ้น 89.03 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,233.70 จุด ลดลง 6.97 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,667.77 จุด ลดลง 114.50 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,740.05 จุด ลดลง 13.40 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,098.29 จุด เพิ่มขึ้น 2.88 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,135.71 จุด ลดลง 9.58 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,723.21 จุด ลดลง 2.33 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,298.10 จุด เพิ่มขึ้น 3.54 จุด

                ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐได้เพิ่มน้ำหนักให้กับกระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐประจำเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 298,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 4.38 จุด หลังรบ.อังกฤษเผยแผนงบประมาณงวดสุดท้ายก่อน Brexit

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) ภายหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษได้เปิดเผยแผนงบประมาณสำหรับช่วงฤดูใบไม้ผลิและนโยบายปรับลดภาษี ในขณะที่อังกฤษเตรียมรับมือกับผลกระทบที่ตามมาจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

                ดัชนี FTSE 100 ลดลง 4.38 จุด หรือ -0.06% ปิดที่ 7,334.61 จุด

                บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้ ได้ปัจจัยจากการที่นายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลังอังกฤษได้เปิดเผยแผนงบประมาณงวดสุดท้ายของรัฐบาลก่อนที่อังกฤษจะเริ่มต้นกระบวนการเจรจา Brexit อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน เขาก็ได้เผยแผนปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 19% ตั้งแต่เดือนเม.ย.นี้ จากเดิมที่ระดับ 20% และลดลงอีกสู่ระดับ 17% ในปี 2020 เพื่อดึงดูดภาคเอกชนให้ยังคงอยู่ในอังกฤษ หลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว

                นอกจากนี้ รมว.แฮมมอนด์ ยังปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้ สู่ระดับ 2.0% จากเดิมที่ระดับ 1.4% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยนายแฮมมอนด์กล่าวว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะชะลอตัวสู่ระดับ 1.6% ในปีหน้า ก่อนที่จะแตะระดับ 1.7% ในปี 2019 และ 1.9% ในปี 2020 และพุ่งแตะระดับ 2.0% ในปี 2021

                สำหรับ เงินเฟ้อนั้น นายแฮมมอนด์คาดว่า จะแตะระดับ 2.4% ในปีนี้, 2.3% ในปีหน้า และ 2.0% ในปี 2019

                หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลง จากแรงกดดันของสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาโลหะ โดยหุ้นแองโกล อเมริกัน ลดลง 1.8% หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ลดลง 1.2% และหุ้นริโอ ตินโต ขยับลง 0.9%

                หุ้นจดทะเบียนรายใหญ่ที่น่าจับตา หุ้นลีกัล แอนด์ เจเนอรัล กรุ๊ป ร่วงลง 2.1% แม้บริษัทประกาศปรับเพิ่มเงินปันผล ขณะที่หุ้นแอดมิรัล กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 1.7% หลังบริษัทประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวเผยผลกำไรก่อนหักภาษีในปี 2016 ร่วงลง 24% สืบเนื่องจากการปรับอัตราส่วนลดที่ใช้ในการคำนวณค่าสินไหมสำหรับผู้เอาประกันที่ได้รับบาดเจ็บ

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดบวกรับข้อมูลศก.เยอรมนีสดใส ตลาดจับตาประชุม ECB

                ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) ขานรับรายงานที่ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวขึ้นในกรอบจำกัด เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้

                ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.1% ปิดที่ 372.58 จุด

                ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,960.48 จุด เพิ่มขึ้น 5.48 จุด หรือ +0.11% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,967.31 จุด เพิ่มขึ้น 1.17 จุด หรือ +0.01% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,334.61 จุด ลดลง 4.38 จุด หรือ -0.06%

                ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหนือกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5%

                นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากรายงานของออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐประจำเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 298,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง

                อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการซื้อขาย ก่อนที่ ECB จะประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า แม้ ECB มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆไว้ที่ระดับเดิม แต่การที่เงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2% ในเดือนก.พ.ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ซึ่งกำหนดให้เงินเฟ้ออยู่ที่ใกล้ระดับ 2%นั้น อาจทำให้ ECB เริ่มพิจารณาเรื่องวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

                หุ้นดอยซ์โพสต์ ผู้ให้บริการขนส่งบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของเยอรมนี ดิ่งลง 2.8% แม้ว่าบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาดและประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผล

                ส่วนอาดิดาส พุ่งขึ้น 9.4% หลังจากบริษัทปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ภายหลังจากผลประกอบการในไตรมาส 4/2559 ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด

                หุ้นอินมาร์แซท ผู้ให้บริการดาวเทียมรายใหญ่ของยุโรป พุ่งขึ้น 8.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรเพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาส 4/2559

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 69.03 จุด หลังราคาน้ำมันร่วง,วิตกเฟดขึ้นดบ.

                ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงกว่า 5% ซึ่งฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดจากกระแสคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หลังจากออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.พ.

                ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,855.73 จุด ลดลง 69.03 จุด หรือ -0.33% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,837.55 จุด เพิ่มขึ้น 3.62 จุด หรือ +0.06% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,362.98 จุด ลดลง 5.41 จุด หรือ -0.23%

                ดัชนี ดาวโจนส์ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ โดยปัจจัยล่าสุดมาจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ร่วงลงกว่า 5% หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 9 ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานล้นตลาด

                ทั้งนี้ การร่วงลงของราคาน้ำมันดิบได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย โดยหุ้นเชฟรอน คอร์ป ร่วงลง 1.9% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ปรับตัวลง 1.95% หุ้นมาราธอน ออยล์ ดิ่งลง 8.7% หุ้นเมอร์ฟีย์ ออยล์ ร่วงลง 6.7% หุ้นเดวอน เอนเนอร์จี ร่วงลง 6.5% และหุ้นชาซาพีค เอนเนอร์จี ดิ่งลง 6.1%

                หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมหนัก ร่วงลง 2.8% หลังจากนิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐกำลังตรวจสอบการชำระภาษีของทางบริษัท โดยข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางสหรัฐได้บุกตรวจค้นสำนักงาน 3 แห่งของแคทเธอร์พิลลาร์ ในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งคาดว่าการบุกค้นครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการหาข้อมูลของบริษัท CSARL ซึ่งเป็นบริษัทลูกของแคทเธอร์พิลลาร์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์

                นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐยังได้เพิ่มน้ำหนักให้กับกระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐประจำเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 298,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง

                รายงานของ ADP ยังระบุด้วยว่า ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ส่วนภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 32,000 ตำแหน่ง

                เจย์ มอร์ล็อค นักวิเคราะห์จากเอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียลกล่าวว่า ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนซึ่งรายงานโดย ADP นั้น สามารถบ่งชี้ทิศทางของตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ได้ในระดับหนึ่ง และการที่ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์นั้น นับเป็นแรงจูงใจล่าสุดที่จะผลักดันให้เฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย

                CME Group FedWatch ระบุว่า ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสสูงถึง 91% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

                ก่อนหน้านี้ ตลาดประเมินว่ามีความเป็นไปได้ไม่ถึง 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค.

                นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่สอดคล้องกับการคาดการณ์

                ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.อาจจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าเดือนม.ค.ที่พุ่งขึ้น 227,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนก.พ.จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.7% จาก 4.8% ในเดือนม.ค.

      อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!