- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Wednesday, 08 March 2017 16:38
- Hits: 3008
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ซึมไร้ปัจจัยใหม่-ต่างชาติขายต่อเนื่อง-บาทอ่อน-ราคาน้ำมันลง
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะซึม เนื่องจากตลาดฯขาดปัจจัยใหม่เข้ามา ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่จะติดลบ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังขายอยู่ทำให้กดดันดัชนีฯและมีโอกาสที่จะลงไปทดสอบแถว 1,540 จุด ซึ่งก็ต้องดูว่าจะยืนได้หรือไม่
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงต่อเนื่อง อันเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ส่งผลให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มพลังงานออกมา ทั้งนี้ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มี.ค.นี้ มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง 6-7 วันที่ผ่านมาแล้ว
ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ ก็คาดว่าจะไม่มีมาตรการใหม่ออกมา ดังนั้นตลาดฯจึงน่าจะปรับฐานลงต่อ โดยคาดว่าจะมีแรงขายจากหุ้นในกลุ่มพลังงาน, กลุ่มแบงก์ และกลุ่มสื่อสาร
พร้อมให้แนวรับ 1,544 จุด ส่วนแนวต้าน 1,556 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (7 มี.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,924.76 จุด ลดลง 29.58 จุด (-0.14%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,833.93 จุด ลดลง 15.25 จุด (-0.26%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,368.39 จุด ลดลง 6.92 จุด (-0.29%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 35.62 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 1.88 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 53.79 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 6.19 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 1.78 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 1.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.88 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (7 มี.ค.60) 1,549.87 จุด ลดลง 3.74 จุด (-0.24%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,423.69 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 มี.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (7 มี.ค.60) ปิดที่ 53.14 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 6 เซนต์ หรือ 0.1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (7 มี.ค.60) ที่ 5.31 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 35.11 อ่อนค่าตามภูมิภาคหลังดอลล์แข็งจากคาดการณ์เฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย
- การประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษี กระทรวงการคลัง เมื่อวานนี้ เพื่อหารือการเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอินทัช) ให้บริษัท เทมาเสกโฮลดิ้งส์ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2549 และไม่ได้แสดงรายได้เสียภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค. 2550 ซึ่งคดีจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค. 2560 นั้น ผลสรุปของการประชุมคือไม่สามารถทำได้
- กบง.สั่งตรึงราคาแอลพีจี งวดเดือน มี.ค.60 ที่ 20.96 บาท/กก. ลดภาระชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
- กรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันจับตาธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 14-15 มี.ค.นี้ เชื่อขึ้นแน่ 0.25 บาท หรืออาจจะถึง 0.50 บาท คาดเงินดอลลาร์จะแข็งค่า ส่งผลดีต่อเงินบาทไทยให้อ่อนลงอีก แต่ผลเสียทำให้เงินทุนไหลออก
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร.มีความเห็นคงกรอบประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2560 ตามเดิมที่ 3.5-4% ส่งออกโต 1-3% และอัตราเงินเฟ้อที่ 1-2% เหตุเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวท่ามกลางปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะความผันผวนของค่าเงินและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและเม็กซิโก
*หุ้นเด่นวันนี้
- TPCH (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 23 บาท คงเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่มี PPA ระดับ 200 MW ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันระดับ 140 MW คาดว่าภาครัฐจะทยอยเปิดประมูลโครงการใหม่ๆใน 2H60 ซึ่งบริษัทมีความได้เปรียบจากประสบการณ์การทำโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะในภาคใต้ แนวโน้มกำไร 1Q60 จะ New high ต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน (9.2MW, TPCH ถือ 65%) ผลิตเต็มไตรมาส ส่วนโรงไฟฟ้าพัทลุงกรีนพาวเวอร์ จะเริ่ม COD กลาง เม.ย.
- SCC (ธนชาต) "ซื้อ"เป้า 580 บาท ซื้อโรงงานผลิตปูนในเวียดนาม ขนาด 3.1 ล้านตัน/ปี มูลค่า US$440 ล้าน มองราคาเข้าซื้อใกล้เคียงกับที่ SCCC ซื้อหุ้น Holcim ในเวียดนาม มองเป็น Strategic move ที่จะขยายฐานธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น ขณะที่ระยะสั้นได้ผลดีจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรฯ สูง หนุนกำไร 1Q60 ออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง
- CK (แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์) "ซื้อ"เป้า 33.5 บาท มั่นใจว่า โครงการภาครัฐจะเดินหน้าไปได้ดี แม้อาจมีความล่าช้าระหว่างทางบ้าง ขณะที่ Backlog ยังแข็งแกร่ง 8.3 หมื่นลบ. รองรับได้ 2.6 ปี และมีโอกาสได้เพิ่มจากบริษัทในกลุ่ม แต่คาดการณ์กำไรปี 60 หดตัวแรงจากรายได้ก่อสร้างลดลงมาก และรายการ One-time ด้านบวกในปีก่อน พร้อมคาดว่าทิศทางกำไรปี 60 จะหดตัวแรง -51%YoY เป็น 987 ลบ.
ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ ตามทิศทางตลาดหุ้นนิวยอร์ก
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงในเช้าวันนี้ ตามทิศทางของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนั้นยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,308.53 จุด ลดลง 35.62 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,240.53 จุด ลดลง 1.88 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,627.28 จุด ลดลง 53.79 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,744.26 จุด เพิ่มขึ้น 6.19 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,092.27 จุด ลดลง 1.78 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,128.45 จุด ลดลง 1.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,725.78 จุด ลดลง 2.88 จุด
ทั้งนี้ นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลต่อการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ หลังจากที่พรรครีพับลิกันได้เปิดเผยร่างกฎหมายใหม่นี้มีชื่อว่า อเมริกัน เฮลธ์แคร์ (American Healthcare Act) เพื่อจะใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพที่เรียกว่า 'โอบามาแคร์' ขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตต่างก็โจมตีการดำเนินการดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจะบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 11.13 จุด ตลาดวิตกข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (7 มี.ค.) จากความวิตกว่าเศรษฐกิจของอังกฤษอาจเผชิญกับภาวะชะลอตัว หลังอังกฤษเผยยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการลงมติในสภาขุนนาง (House of Lords) ของอังกฤษ ที่มีต่อร่างกฎหมายว่าด้วยการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งมีขึ้นหลังตลาดปิดทำการ
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 11.13 จุด หรือ -0.15% ปิดที่ 7,338.99 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้ได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษที่ย่ำแย่หลายรายการโดยสมาคมผู้ค้าปลีกอังกฤษ (BRC) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ปรับตัวลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวอังกฤษเริ่มหันมาควบคุมการใช้จ่าย ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเร็วขึ้น
สมาคมระบุว่า ยอดขายแบบ like-for-like หรือ การกำหนดเป้าการขายแบบขั้นต่ำของแต่ละร้าน ลดลง 0.4% ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. ถึง 25 ก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะที่ยอดค้าปลีกโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ปีที่แล้วซึ่งมีการขยายตัวแข็งแกร่ง 1.1% นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 3 เดือนที่ 0.8% และค่าเฉลี่ยในรอบ 12 เดือนที่ 0.9%
ส่วนราคาบ้านในสหราชอาณาจักรในเดือนก.พ.มีการปรับตัวขึ้น 0.1% จากเดือนม.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.2%
นายโทนี ครอสส์ นักวิเคราะห์ตลาดแห่ง TopTradr กล่าวว่า "นักลงทุนมีความวิตกว่า สภาขุนนางอังกฤษอาจลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมาย Brexit ที่มีการแปรญัตติ ซึ่งอาจทำให้อังกฤษสูญเสียอำนาจต่อรองในการเจรจากระบวนการ Brexit นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังมีปัจจัยลบจากข้อมูลราคาบ้านที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์"
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า สภาขุนนางจะพยายามผลักดันการผ่านร่างกฎหมาย Brexit ที่มีการแปรญัตติ โดยมีเนื้อหาที่จะบังคับรัฐบาลของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้สมาชิกรัฐสภามีสิทธิมีเสียงมากขึ้นเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขของการที่อังกฤษทำการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
หุ้นที่ปรับตัวลงนำโดยหุ้นแอชเทด กรุ๊ป ร่วงลง 2% แม้บริษัทผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์ดังกล่าวเผยว่า ผลประกอบการในปีการเงิน 2017 ยังอยู่ในทิศทางที่สามารถบริหารจัดการได้
หุ้นที่ปรับตัวขึ้นนำโดยหุ้นอินเตอร์เท็ค กรุ๊ป พุ่งขึ้น 4.8% หลังบริษัทเผยว่า บริษัทมีผลกำไรก่อนหักภาษีในปี 2016 จากอานิสงส์การที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ ขณะตลาดจับตาประชุม ECB
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (7 มี.ค.) หลังจากมีรายงานว่า ยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีร่วงลงอย่างหนักในเดือนม.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประชุมนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.3% ปิดที่ 372.27 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,955.00 จุด ลดลง 17.19 จุด หรือ -0.35% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,966.14 จุด เพิ่มขึ้น 7.74 จุด หรือ +0.06% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,338.99 จุด ลดลง 11.13 จุด หรือ -0.15%
ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงหลังจากกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีรายงานว่า ยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ร่วงลง 7.4% จากเดือนธ.ค. ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลงเพียง 2.5%
รายงานระบุว่า คำสั่งซื้อภายในประเทศลดลงจากเดือนก่อนหน้า 10.5% และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง 4.9%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัวในไตรมาส 4 ในระดับเดียวกับในไตรมาส 3 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ยูโรสแตทระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบรายไตรมาส
นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ธนาคารกลางยุโรป ECB จะประชุมนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้ โดยนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายมาริโอ ดรากี ซึ่งคาดว่าจะส่งสัญญาณเรื่องทิศทางการดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงิน
หุ้นสแตนดาร์ดไลฟ์ ร่วงลง 3.8% หลังจากอเบอร์ดีน แอสเส็ท แมเนจเมนท์ได้ตกลงควบรวมกิจการกับสแตนดาร์ด ไลฟ์ พีแอลซี ได้ตกลงควบรวมกิจการกัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านปอนด์ (1.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 29.58 จุด วิตกนโยบายทรัมป์,จับตาจ้างงานสหรัฐ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (7 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่พรรครีพับลิกันได้เปิดเผยแผนฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพที่เรียกว่า "โอบามาแคร์" นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,924.76 จุด ลดลง 29.58 จุด หรือ -0.14% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,833.93 จุด ลดลง 15.25 จุด หรือ -0.26% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,368.39 จุด ลดลง 6.92 จุด หรือ -0.29%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่สอง เนื่องจากนักลงทุนวิตกต่อการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ หลังจากที่พรรครีพับลิกันได้เปิดเผยแผนการยกเลิก และทดแทนกฎหมายประกันสุขภาพที่เรียกว่า "โอบามาแคร์" ขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตต่างก็โจมตีการดำเนินการดังกล่าว
ตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 9.6% ในเดือนม.ค. สู่ระดับ 4.85 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2012
ทั้งนี้ สหรัฐส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับ 1.921 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2014 ขณะที่นำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 2.3% สู่ระดับ 2.406 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2014 เช่นกัน
หุ้นกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพร่วงลง โดยหุ้นคอมมูนิตี้ เฮลธ์ ซิสเต็มส์ ดิ่งลง 9.3% หุ้นทาเน็ท เฮลธ์แคร์ ร่วงลง 7.1%
หุ้นไมเคิลส์ คอร์ พุ่งขึ้น 2.3% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด และยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2560
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หลังจาก นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่
CME Group FedWatch ระบุว่า ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสสูงถึง 86.4% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจะบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.อาจจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าเดือนม.ค.ที่พุ่งขึ้น 227,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนก.พ.จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.7% จาก 4.8% ในเดือนม.ค.
อินโฟเควสท์