WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET34ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งตัว-อาจผันผวนแต่ไม่มาก หลังทรัมป์ให้สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลง TPP

     นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งตัวอาจผันผวนแต่ไม่มาก โดยดัชนีฯคงจะปรับตัวขึ้นไปก่อนแล้วค่อยอ่อนตัวลงมา หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) อย่างเป็นทางการ ทำให้มีหลายประเทศได้รับผลกระทบทั้งสหรัฐเอง รวมถึงญี่ปุ่น, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์ เป็นต้น ขณะที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม TPP แต่อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม

      ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ อย่างไรก็ดี ให้ติดตามวันนี้ศาลฎีกาอังกฤษนัดอ่านคำวินิจฉัยประเด็นที่ว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษสามารถประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรป เพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาได้หรือไม่

       ส่วนปัจจัยในประเทศก็มีเรื่องที่จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าตัวเลขส่งออกงวด ธ.ค.59 จะดีขึ้น ทำให้เห็นภาพได้ว่าเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นขึ้น

     พร้อมให้แนวรับ 1,563 จุด ส่วนแนวต้าน 1,577-1,582 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

     - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (23 ม.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 19,799.85 จุด ลดลง 27.40 จุด (-0.14%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,552.94 จุด ลดลง 2.39 จุด (-0.04%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,265.20 จุด ลดลง 6.11 จุด (-0.27%)

     - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 73.61 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 2.19 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 66.73 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 1.00 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 4.23 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 0.81 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 3.06 จุด

     - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (23 ม.ค.60) 1,570.79 จุด เพิ่มขึ้น 7.80 จุด (+0.50%)

                - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 254.88 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ม.ค.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (23 ม.ค.60) ปิดที่ 52.75 ดอลลาร์/บาร์เรล .ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.9%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 ม.ค.60) ที่ 7.40 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 35.23 แข็งค่าตามภูมิภาคจากแรงขายดอลล์หลังกังวลนโยบาย"ทรัมป์"

                - รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอว่าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 24 ม.ค.จะมีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

                - รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) เนื่องจากไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกทีพีพี สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียนและประเทศ คู่เจรจา 6 ประเทศ รวมเป็น 16 ประเทศ ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2560 ตามเป้าหมายที่ผู้นำทั้ง 16 ประเทศได้ประกาศไว้ เพราะไทยจะได้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป เนื่องจากเป็นกรอบเจรจาที่ใหญ่สุดในโลก หากไม่มีทีพีพี

                - นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ในการประชุมได้เชิญตัวแทนธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มาชี้แจงจุดที่ไทยต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้การจัดอันดับการทำธุรกิจของไทยดีขึ้น ให้ทันการประเมินการจัดอันดับรอบใหม่ในเดือน พ.ค.60 ซึ่งมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงหลายอย่าง ทั้งระยะสั้นที่สามารถทำได้ทันทีก่อนเดือน พ.ค. และเรื่องระยะยาว เช่น การแก้ไขกฎหมายที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน

*หุ้นเด่นวันนี้

                - DCC (กสิกรไทย)"ซื้อ"เป้า 5.20 บาท หลังประกาศกำไรไตรมาส 4/59 ที่ 306 ล้านบาท ลดลง 11.6% YoY และ 3.1% QoQ หลักๆ หดตัวจากราคาขายที่ลดลง 5.0% YoY และ 5.5% QoQ ทำให้ทั้งปี 59 กำไร 1.4 พันล้านต่ำกว่าคาด 5.1% และ Bloomberg consensus 3.4% แต่มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวหลังอุปสงค์ถูกกดดันจากช่วงไว้อาลัย ดังนั้นราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่อนคลายลง จะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ และราคากระเบื้องที่สูงขึ้นได้ในปี 2560 จึงคงประมาณการเดิม

                - CPF (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 38 บาท แนวโน้มกำไรปกติ Q4/59 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีจากทั้ง Low Season ราคาเนื้อสัตว์ปรับลงและรับรู้ค่าใช้จ่ายซื้อกิจการ ทำให้คาด -72% Q-Q แต่ด้วยกำไรที่ดีมาก 9 เดือนแรกปี 59 ทั้งปีน่าจะ +714% Y-Y ส่วนปี 60 คาดกำไรปกติโตต่อ +11% Y-Y จากราคาไก่ที่ดีขึ้นเพราะหลายประเทศมีไข้หวัดนก คำสั่งซื้อของญี่ปุ่นแข็งแกร่ง และได้ตลาดใหม่คือเกาหลีใต้-สิงคโปร์ รวมถึงการฟื้นตัวในธุรกิจอื่น สำหรับการรวมกิจการ Bellisio ตั้งแต่ต้นปีนี้อาจไม่ฉุดผลประกอบการหากปรับมาใช้มาตรฐานบัญชีเดียวกัน และคาดปันผล 0.50 บาท/หุ้นสำหรับงวด 2H16

                - COM7 (เคจีไอ) "เก็งกำไร"เป้า Consensus 14.5 บาท Catalyst ระยะสั้น คาดแนวโน้ม Earnings momentum เป็นบวกต่อเนื่อง โดยคาด 4Q59 กำไรจะโต YoY และ QoQ (High season+ช้อบช่วยชาติ + สินค้าใหม่ๆ) ขณะที่แนวโน้มกำไร 1Q60 จะโต YoY (สาขาเพิ่ม + เริ่มรับรู้รายได้ Bangkok Telecom 999 เข้ามาในงบฯ) แต่อาจอ่อนตัว QoQ (พ้นมาตรการช้อบช่วยชาติ) ส่วนระยะกลาง-ยาว คาดแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกไอทีเป็นขาขึ้นใน 1-2 ปีนี้ จากลดสงครามราคาของผู้ประกอบการฯ, การสนับสนุนจากภาครัฐฯ ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คาดจะหนุนความต้องการสินค้าไอที, Valuation ไม่แพงด้วย PEG 0.95 เท่า (CAGR 31.7% 2559 - 61) เทียบกับ PEG เฉลี่ยกลุ่มค้าปลีกที่ 2.2 เท่า

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ วิตกนโยบายทรัมป์ ทรัมป์ ก่อสงครามการค้าทั่วโลก

                ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงการค้าเสรีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) อย่างเป็นทางการ ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์อาจจะนำไปสู่สงครามการค้าทั่วโลก

                ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 18,817.42 จุด ลดลง 73.61 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,134.59 จุด ลดลง 2.19 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 22,965.25 จุด เพิ่มขึ้น 66.73 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,423.05 จุด ลดลง 1.00 จุด

                ส่วนดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,070.22 จุด เพิ่มขึ้น 4.23 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,024.67 จุด ลดลง 0.81 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,674.37 จุด เพิ่มขึ้น 3.06 จุด

                นอกจากนี้ มีรายงานว่านายทรัมป์เตรียมลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อให้สหรัฐทำการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) กับแคนาดาและเม็กซิโกใหม่ เพื่อไม่ให้สหรัฐเสียเปรียบในการทำการค้า

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดร่วง 47.26 จุด วิตกนโยบายทรัมป์, ปอนด์แข็งค่า

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) จากปัจจัยที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักลงทุนวิตกกังวลนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งถูกมองว่ามีลักษณะกีดกันทางการค้าและอาจจุดชนวนสู่สงครามการค้าทั่วโลก

                ดัชนี FTSE 100 ลดลง 47.26 จุด หรือ -0.66% ปิดที่ 7,151.18 จุด

                ตลาดหุ้นลอนดอนรับปัจจัยจากปฏิกิริยาของนักลงทุนที่มีต่อพิธีสาบานตนของนายทรัมป์เป็นครั้งแรก เนื่องจากพิธีดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปได้ปิดทำการลงแล้วในวันศุกร์

                ดัชนี FTSE 100 ปรับตัวลงสู่แดนลบ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับปอนด์ โดยดัชนีดอลลาร์ดิ่งลง 0.5% สู่ระดับ 100.27 ขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.2489 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2376 ดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กช่วงเย็นวันศุกร์

                นักวิเคราะห์จากแอคเซนโด มาร์เก็ตส์ ระบุว่า "การที่ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่วันศุกร์ เป็นเพราะแรงกดดันจากคำกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนของนายทรัมป์ ซึ่งเขาแสดงท่าทีที่จะใช้นโยบายชาตินิยม และนโยบายกีดกันการค้า โดยที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลให้กระบวนการโลกาภิวัตน์ตกอยู่ในความเสี่ยง"

                หุ้นบริษัทข้ามชาติปรับตัวลงจากปัจจัยเงินปอนด์แข็งค่า โดยหุ้นยูนิลีเวอร์ ผู้ผลิตสบู่โดฟ ลดลง 0.4% หุ้นแกล็กโซสมิธไคลน์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ร่วง 1.3% และหุ้นแอสตราเซเนกา ร่วง 1.5%

                อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น ด้วยอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการกำหนดราคาแร่โลหะ โดยหุ้นแรนด์โกลด์ รีซอส เพิ่มขึ้น 1.4% หุ้นแองโกล อเมริกัน พุ่ง 1.5% และหุ้นแอนโตฟากาสตา พุ่งขึ้น 3.6%

                นักลงทุนจับตาศาลฎีกาของอังกฤษซึ่งนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ เวลา 09.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 16.30 น.ตามเวลาไทย โดยศาลจะตัดสินว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สามารถประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรป เพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาได้หรือไม่

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ ตลาดวิตกนโยบายทรัมป์ก่อสงครามการค้า

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (23 ม.ค.) หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้แสดงจุดยืนในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงการค้าเสรีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)

      ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.4% ปิดที่ 361.01 จุด โดยปรับตัวลงติดต่อกัน 3 วันทำการ

     ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,821.41 จุด ลดลง 29.26 จุด หรือ -0.60% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,545.75 จุด ลดลง 84.38 จุด หรือ -0.73% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,151.18 จุด ลดลง 47.26 จุด หรือ -0.66%

                ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์อาจจะนำไปสู่สงครามการค้าทั่วโลก โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น นายทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งทรัมป์มองว่าการดำเนินการดังกล่าว "ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับแรงงานชาวสหรัฐ"

      ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์หลังการสาบานตนรับตำแหน่งในวันศุกร์ ทรัมป์ได้เน้นนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" โดยการตัดสินใจด้านการค้า ภาษี ประเด็นคนเข้าเมือง และกิจการต่างประเทศ จะต้องเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานชาวสหรัฐและครอบครัวชาวอเมริกัน

      หุ้น Assicurazioni Generali SpA ซึ่งเป็นบริษัทประกัน ปรับตัวขึ้น 3.9% หลังจากหนังสือพิมพ์ La Stampa ของอิตาลีรายงานว่า บริษัทอัลไลอันซ์ เอสอี กำลังพิจารณาเข้าซื้อกิจการ Assicurazioni Generali SpA

        หุ้นเครดิต อากริโคล ร่วงลง 2.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 27.40 จุด วิตกทรัมป์รุกมาตรการกีดกันการค้า

      ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (23 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สะท้อนถึงการกีดกันทางการค้า โดยล่าสุดทรัมป์ได้ได้ลงนามถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงการค้าเสรีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นพลังงานปรับตัวลงด้วย

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 19,799.85 จุด ลดลง 27.40 จุด หรือ -0.14% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,552.94 จุด ลดลง 2.39 จุด หรือ -0.04% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,265.20 จุด ลดลง 6.11 จุด หรือ -0.27%

     ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนมองว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์อาจจะนำไปสู่สงครามการค้าทั่วโลก โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น นายทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งทรัมป์มองว่าการดำเนินการดังกล่าว "ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับแรงงานชาวสหรัฐ"

      ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ทรัมป์เตรียมลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อให้สหรัฐทำการเจรจาครั้งใหม่ต่อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) กับแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อไม่ให้สหรัฐเสียเปรียบในการทำการค้า

       ในการกล่าวสุนทรพจน์หลังการสาบานตนรับตำแหน่งในวันศุกร์ ทรัมป์ได้เน้นนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" โดยการตัดสินใจด้านการค้า ภาษี ประเด็นคนเข้าเมือง และกิจการต่างประเทศ จะต้องเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานชาวสหรัฐและครอบครัวชาวอเมริกัน

      นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลง ซึ่งส่งผลให้ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลง 1.1% ขณะที่หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ร่วงลง 2.9% โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงนั้น มาจากที่ระบุว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้น

     หุ้นควอลคอมม์ อิงค์ ร่วงลง 13% หลังจากแอปเปิ้ล อิงค์ ยื่นฟ้องควอลคอมม์ ผู้ผลิตและจำหน่ายชิปรายใหญ่ โดยเรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และระบุว่า ควอลคอมม์จงใช้ขัดขวางการแข่งขันทางการค้า จนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมผลิตชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือ

      หุ้นแมคโดนัลด์ปรับตัวลงเกือบ 1% แม้ว่าทางบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นที่ระดับ 1.44 ดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.41 ดอลลาร์ ส่วนรายได้อยู่ที่ระดับ 6.03 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.99 พันล้านดอลลาร์

       ส่วนหุ้นแอปเปิ้ล อิงค์ ปิดตลาดดีดตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากมีรายงานว่า ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ผู้รับผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกจากไต้หวัน อยู่ในระหว่างการพิจารณาก่อตั้งโรงงานผลิตจอแสดงผลในสหรัฐอเมริกา โดยร่วมมือกับบริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ และคาดว่าการสร้างโรงงานดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 50,000 ตำแหน่ง

       นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐวันนี้ ซึ่งได้แก่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. และสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์จากการปิโตรเลียมสหรัฐ (API)

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!