WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET32ดัชนี SET ภาคเช้าไหลลงต่อไปเป็นกว่า 20 จุด กังวลแรงขายหุ้นใหญ่

       ตลาดหุ้นไทย ภาคเช้าร่วงต่อเนื่องเป็นกว่า 20 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นดาวโจนส์ ขณะที่ปัจจัยลบในประเทศยังกดดันฉุดให้มีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง

       เมื่อเวลา 10.00 น.ดัชนี SET มาอยู่ที่ 1,431.85 จุด ลดลง 10.36 จุด (-0.72%)

       เมื่อเวลา 10.10 น.ดัชนี SET อยู่ที่ 1,427.45 จุด ลดลง 14.76 จุด (-1.02%)

      ล่าสุด เมื่อเวลา 11.01 น. ดัชนี SET อยู่ที่ 1,421.86 จุด ลดลง 20.35 จุด (-1.41%)

       นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงกว่า 10 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่เมื่อคืนที่ผ่านมาร่วงลงไปรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯที่ออกมาไม่ดี

     และนักลงทุนก็รอดูการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยวันนี้จะมีรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ซึ่งขณะนี้มองว่าโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.มีมากขึ้น

       ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อันเป็นผลจากความกังวลปัจจัยในประเทศ ทำให้เป็น Sentiment ตลาดฯเป็นลบ ดังนั้น ให้มองไปที่ Low เดิม 1,410 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,445 จุด

      "วอลุ่มเทรดของตลาดฯ ไม่มาก แม้ดัชนีฯจะปรับตัวลง ก็คงจะเป็นลักษณะซึม ๆ"นายภาดล กล่าว

 ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ หลังตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงหนักเมื่อคืน

    ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันเงินเยนที่แข็งค่าก็ได้กดตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงลง

    ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.4% สู่ระดับ 139.25 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.05 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,850.73 จุด ลดลง 174.03 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,057.32 จุด ลดลง 7.93 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,386.92 จุด ลดลง 162.60 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,201.55 จุด ลดลง 18.27 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,022.97 จุด ลดลง 8.96 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,841.04 จุด ลดลง 15.09 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,665.48 จุด ลดลง 3.24 จุด

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 26.62 จุด จากแรงเทขายทำกำไร

      ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ (11 ต.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการเทขายทำกำไรหลังจากดัชนีปิดเกือบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันก่อน

     ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลง 26.62 จุด หรือ 0.38% แตะที่ 7,070.88 จุด

      แรงเทขายทำกำไรได้ฉุดตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลง หลังจากหุ้นกลุ่มบลูชิปทำสถิติปรับตัวเพิ่มขึ้นในการซื้อขายระหว่างวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินสกุลปอนด์และการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มค้าปลีก

      แต่อย่างไรก็ดี ดัชนี FTSE 100 ปรับตัวลดลงหลังจากนั้น

      นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความไม่แน่นอนที่ว่า การอ่อนค่าของเงินสกุลปอนด์จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอังกฤษหรือไม่นั้น ส่งผลให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นลอนดอนยังไม่มีความยั่งยืน

     หุ้นเบอร์เบอร์รี กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 2.5% เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มสินค้าหรูหรารายอื่นๆของยุโรป หลังจากบริษัทหลุยส์ วิตตอง (LVMH Moet Hennessy Louis Vuitton) ของฝรั่งเศสระบุว่า ยอดขายในตลาดเอเชียส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี

    หุ้นไวท์เบรียด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Costa Coffee และมีจีนเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของบริษัท ปรับตัวขึ้น 3.2% ในขณะที่หุ้นเนกซ์ ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 3.9%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ เหตุราคาน้ำมันร่วงฉุดหุ้นพลังงาน

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (11 ต.ค.) เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานอ่อนแรงลงด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวลงในกรอบจำกัด เนื่องจากนักลงทุนขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทหลุยส์ วิตตอง (LVMH Moet Hennessy Louis Vuitton)

   ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.5% ปิดที่ 340.17 จุด

    ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,471.74 จุด ลดลง 25.52 จุด หรือ -0.57% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,577.16 จุด ลดลง 46.92 จุด หรือ -0.44% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,070.88 จุด ลดลง 26.62 จุด หรือ -0.38%

    หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงหลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ ภายหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันประจำเดือนก.ย.ของกลุ่มโอเปกเพิ่มขึ้น 160,000 บาร์รเล/วัน สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 33.64 ล้านบาร์เรล/วัน

     ทั้งนี้ หุ้นสแตทออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของนอร์เวย์ ร่วงลง 1.9% หุ้น Eni Spa บริษัทน้ำมันของอิตาลี ดิ่งลง 1.8% หุ้นเทคนิป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านบ่อน้ำมันของฝรั่งเศส ปรับตัวลง 1.7%

    อย่างไรก็ตาม หุ้นหลุยส์ วิตตอง พุ่งขึ้น 4.5% และช่วยสกัดแรงลบของตลาดในระหว่างวัน หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อันเนื่องมาจากยอดขายที่ปรับตัวดีขึ้นในตลาดเอเชีย

    ผลประกอบการที่สดใสของหลุยส์ วิตตองได้ช่วยหนุนหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มสินค้าแบรนด์ดังปรับตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นคริสเตียน ดิออร์ พุ่งขึ้น 4.9% หุ้นสวอช กรุ๊ป ปรับตัวขึ้น 4.5% และหุ้น Cie. Financière Richemont S.A. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ คาเทียร์ ทะยานขึ้น 4%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 200.38 จุด เหตุวิตกผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

      ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (11 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงบริษัทอัลโค อิงค์ ผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่ของสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน รวมทั้งกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

     ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,128.66 จุด ร่วงลง 200.38 จุด หรือ -1.09% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,246.79 จุด ลดลง 81.88 จุด หรือ -1.54% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,136.73 จุด ลดลง 26.93 จุด หรือ -1.24%

      ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหลังจากอัลโค อิงค์ เปิดเผยตัวเลขกำไรและรายได้ที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 3 โดยระบุว่า ทางบริษัทมีกำไร 32 เซนต์/หุ้นในไตรมาส 3 ขณะที่มีรายได้ 5.21 พันล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทจะมีกำไร 35 เซนต์/หุ้นในไตรมาส 3 และจะมีรายได้ 5.31 พันล้านดอลลาร์

      ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวได้ฉุดหุ้นอัลโค อิงค์ ร่วงลงอย่างหนักถึง 11%

     ขณะที่หุ้นอิลลูมินา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีภาพรายใหญ่ ร่วงลงรุนแรงถึง 25% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายในไตรมาส 3 ลดลง และยังได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้ลงด้วย

     หุ้นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบปรับตัวลง โดยหุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน ดิ่งลง 3.1% หุ้นอินเตอร์เนชันแนล เปเปอร์ ร่วงลง 2.3% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง โดยหุ้นอินเทล คอร์ป ดิ่งลง 2% หุ้นไมครอน เทคโนโลยี และหุ้นแอพพลายด์ มาทีเรียลส์ ต่างก็ร่วงลงอย่างน้อย 2.5%

     ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงเช่นกัน โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ป และหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ต่างก็ปรับตัวลงกว่า 1.1%

    ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจต่อข้อตกลงปรับลดเพดานการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หลังจากบริษัทรอสเนฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ระบุว่า ทางบริษัทจะไม่ปรับลดกำลังการผลิต หรือตรึงกำลังการผลิตน้ำมัน แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ทำข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม

      นอกจากนี้ กระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเริ่มกลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดอีกครั้ง โดยล่าสุดนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า เฟดมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นสู่ 75% จากเดิมที่ 65% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. โดยได้ปัจจัยหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และโอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งนั้น มีน้อยลง

     อย่างไรก็ตาม หุ้นทวิตเตอร์ ดีดตัวขึ้น 2.5% หลังจากที่ทรุดฮวบลง 12% เมื่อวันจันทร์ อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งรวมถึงกูเกิล, แอปเปิล และดิสนีย์ ยังไม่มีแผนที่จะเสนอราคาประมูลซื้อกิจการของทวิตเตอร์

     ขณะที่หุ้นแอปเปิล ปรับตัวขึ้น 0.3% หลังจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แอปเปิลจะสามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทคู่แข่งอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ประกาศยุติการผลิตสมาร์ทโฟน Galaxy Note 7 เป็นการถาวรแล้ว หลังมีข่าวว่าสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวบางเครื่องยังคงเกิดไฟลุกไหม้

    นักลงทุนจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ซึ่งจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจครั้งที่ 60 ของเฟดสาขาบอสตัน ในวันศุกร์ที่ 14 ต.ค.นี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อจับความเคลื่อนไหวว่าประธานเฟดจะส่งสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้หรือไม่ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "The Elusive Recovery"

    นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนส.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!