WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET17 copyภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์ไร้ปัจจัยใหม่หนุน,วอลุ่มอาจซบเซา-นลท.ขาดความมั่นใจ

       นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคระห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์  เนื่องจากตลาดฯก็ไม่ได้มีปัจจัยใหม่เข้ามา และวอลุ่มเทรดก็อาจจะยังซบเซาต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ที่วอลุ่มเบาบางลงอันเป็นผลจากตลาดต่างประเทศหลายแห่งปิดทำการ และวันนี้ตลาดหุ้นจีนก็ยังคงปิดทำการอยู่ อีกทั้งนักลงทุนยังไม่มั่นใจตลาดฯจึงได้ Wait & See ซึ่งสะท้อนมาที่วอลุ่มเทรดเบาบาง

      ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่จะบวกเล็กน้อย โดยมีตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่บวกได้ต่อเนื่อง หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าลง พร้อมให้แนวรับ 1,477-1,480 จุด ส่วนแนวต้าน 1,500-1,505 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

       - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (3 ต.ค.59) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,253.85 จุด ลดลง 54.30 จุด (-0.30%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,300.87 จุด ลดลง 11.13 จุด (-0.21%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,161.20 จุด ลดลง 7.07 จุด (-0.33%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้  ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 62.84 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 80.92 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 5.54 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 13.31 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 0.33 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 5.81 จุด

      ส่วนตลาดหุ้นจีน ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันหยุดเฉลิมฉลองวันชาติ

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (3 ต.ค.59) 1,490.94 จุด เพิ่มขึ้น 7.73 จุด (+0.52%)

                - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,694.84 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ต.ค.59

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (3 ต.ค.59) ปิดที่ 48.81 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 57 เซนต์ หรือ 1.2%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (3 ต.ค.59) ที่  4.98 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 34.68 อ่อนค่าหลังดอลล์แข็งจากตัวเลขภาคการผลิตสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเกินคาด

                - หุ้นดอยซ์แบงก์กลับมาดิ่งลงวานนี้ หลังจากที่พุ่งขึ้นถึง 6% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันศุกร์ โดยนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่าทางธนาคารจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับทางการสหรัฐในเร็ววัน สำหรับการเจรจาลดการจ่ายค่าปรับ ขณะที่ดอยซ์แบงก์หวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้ ก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.

                - นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า คาดการณ์แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (อีวี) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจน (เอฟซีวี) จะไม่เกิดในเร็วๆ นี้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยียังไม่พร้อม

                - กระทรวงพาณิชย์เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.59 เท่ากับ 106.68 สูงขึ้น 0.38% เทียบกับเดือน ก.ย.58 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 6 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.59 เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.04% สูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.59) เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.02% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีนี้

                - รมว.คลัง เผยกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ปี 2560 จะมีการผ่อนปรนหรือกำหนดระยะเวลาสูงสุดการถือครองที่ดินและสินทรัพย์ แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด โดยเฉพาะสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเอ็นพีเอที่อยู่ระหว่างการขายทอดตลาดของในกรมบังคับคดีด้วย

                - การจัดงานไทยแลนด์โมบายเอ็กซ์โป 2016 โชว์เคสวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นครั้งสุดท้ายของปี 2559 ซึ่งผลตอบรับดีกว่าเมื่อครั้งจัดงานกลางปีที่ผ่านมา โดยมีเงินสะพัดกว่า 1,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากเดิมตั้งเป้าไว้ 1,500 ล้านบาท ส่วนผู้เข้าร่วมงานเพิ่มจาก 6 แสนราย เป็น 7 แสนราย หรือเพิ่ม 15% เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ทั้งสองส่วน

                - ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดจีดีพีปีหน้าโต 3.5% จากการขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นหลัก คาดมีเม็ดเงินโครงการพื้นฐานนำเอกชนตาม และส่งออกพลิกกลับเป็นบวกในรอบ 5 ปีที่ 2.3% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ด้านปัจจัยต่างประเทศรอผลเลือกตั้งสหรัฐฯ พร้อมปรับจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็น 3.3% จาก 2.8% ส่วนภาคธนาคารหวังสินเชื่อปีหน้าดีขึ้นขยายได้ 6.3% จากปีนี้ที่ 3.3% นำโดยสินเชื่อธุรกิจ-บุคคล

                - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.ย. จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทางธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ทั่วประเทศ 671 ราย ที่สอบถามครอบคลุม 6 ด้านสำคัญ คือ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.ย. ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 47.8 จุด มาอยู่ที่ระดับ 50.3 จุด หลังจากปรับลดลงติดต่อกันสองเดือนก่อนหน้านี้

                - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุกรณีธนาคารดอยช์แบงก์ถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ เรียกค่าปรับกรณีซับไพรม์เป็นเงินสูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จากการประเมินในเบื้องต้นมองว่าไม่น่าส่งผล กระทบอะไรที่รุนแรงเกี่ยวเนื่องมาถึงสถาบันการเงินของไทยจนน่ากังวล

*หุ้นเด่นวันนี้

                - SYNTEC (เคทีบี) "ซื้อ"เป้า 4.30 บาท คาดกำไรสุทธิ 3Q16 ชะลอ แต่ดีกว่าที่คาดที่ 167 ล้านบาท (-14.2% QoQ, -28.6% YoY) จากช่วง high season แต่อัตรามาร์จินลดลงกว่าครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดีมองกำไรปีนี้ปรับตัวขึ้นได้ประมาณ +21.0% YoY หลังครึ่งปีแรกทำผลงานดีเกินคาด และจุดเด่นสำคัญ backlog สูงมากที่ 14,077 ล้านบาท โดยมองปีนี้มีโอกาสรับงานได้เยอะที่สุดนับตั้งแต่ที่ตั้งบริษัทมาที่เกือบ 10,000 ล้านบาท

                - PTT (ยูโฮบี เคย์เฮียน) คาดได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่โอเปกบรรลุข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมัน ประกอบกับภาพรวมธุรกิจก๊าซที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วง 2H59 นอกจากนี้ คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงสิ้นปี 59 นี้

                - BJC (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้าปีหน้า 54 บาท แม้ธุรกิจค้าปลีกเผชิญกับ Low season ใน Q3/59 แต่คาดกำไรสุทธิน่าจะใกล้ 2 พันล้านบาทเพราะมีกำไรจาก forex กว่า 1 พันล้านบาทเป็นเงินสดจากค่าเงินยูโรอ่อนช่วงคืนหนี้ซื้อ BIGC และค่าใช้จ่ายดีลซื้อ BIGC บันทึกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ใน Q2/59 ปีหน้าเริ่มเห็น Synergies ควบรวมมากขึ้น คาดกำไรสุทธิปี 60 +104% Y-Y ปัจจุบันมี PE ปีหน้า 25 เท่า ต่ำกว่ากลุ่ม Modern trade ที่มี PE เฉลี่ย 25-30 เท่า

                - ALT (ฟันันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้าปีหน้า 9 บาท แนวโน้มกำไร Q3/59 ไม่โดดเด่นนัก คาดทำได้ 50 ล้านบาท -28% Q-Q เพราะการประมูลคลื่น 900MHz ปลาย พ.ค.ทำให้ ADVANC ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญต้องออกแบบโครงข่ายใหม่ ทำให้รายได้ติดตั้งสถานีฐาน (60-70% ของรายได้รวม) ในไตรมาสนี้ชะลอชั่วคราวแต่จะกลับมาเป็นปกติตั้งแต่ Q4/59 กำไรทั้งปีที่คาด +43% Y-Y น่าจะเป็นไปได้ และคาดกำไรปีหน้า +23.8% Y-Y

       - AP (ไอร่า) เป้า 9 บาท คาดเติบโตโดดเด่นใน Q4/59 และต่อเนื่องในปี 60 คาดแข็งแกร่งสุดเติบโต 29% จาก 5 โครงการแนวสูงร่วมทุน ยอดขายรวมเฉลี่ยสูงถึง 88% ที่รอโอน คาดจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไร JV ในปี 60 สูงถึง 800 ล้านบาท และคอนโด AP เองอีก 10 โครงการ มูลค่ารวม 22,500 ล้านบาท และเน้นเปิดโครงการใหม่ใน H2/59 และคาดช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นโดดเด่น หลัง 7 เดือนทำไปได้แล้ว 13,165 ล้านบาท มีแผนเปิด 13 โครงการใหม่ เป็น 10 โครงการแนวราบ และ 3 โครงการคอนโดมิเนียม มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นเช้านี้ หลังเยนอ่อนหนุนหุ้นญี่ปุ่นบวก

     ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในเช้าวันนี้ โดยการนำของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งได้แรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีรายงานว่าภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะขยายตัว

       ดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้น 0.1% แตะที่ 140.74 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.15 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,661.51 จุด เพิ่มขึ้น 62.84 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,665.35 จุด เพิ่มขึ้น 80.92 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,228.66 จุด ลดลง 5.54 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,056.94 จุด เพิ่มขึ้น 13.31 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,871.17 จุด เพิ่มขึ้น 0.33 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,658.36 จุด เพิ่มขึ้น 5.81 จุด ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันหยุดเฉลิมฉลองวันชาติ

      ทั้งนี้ เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM พุ่งขึ้นแตะระดับ 51.5 ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.4 ในเดือนส.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 50.3 โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัว

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : เงินปอนด์อ่อนหนุนฟุตซี่ปิดพุ่ง 84.19 จุด

     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 16 เดือนเมื่อคืนนี้ (3 ต.ค.) เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของเงินสกุลปอนด์ หลังจากนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศว่าจะเริ่มกระบวนการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) อย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.2560

    ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวขึ้น 84.19 จุด หรือ 1.22% แตะที่ 6,983.52 จุด

     หุ้นกลุ่มส่งออกหนุนตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเงินสกุลปอนด์ร่วงลง 0.77% อยู่ที่ 1.2875 ดอลลาร์ และอ่อนค่าลง 0.47% สู่ระดับ 0.8723 เทียบยูโร อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะแตะที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ

     หุ้นเฮนเดอร์สัน กรุ๊ป พุ่งขึ้น 17% หลังบริษัทประกาศซื้อกิจการของบริษัทเจนัส แคปิตอล กรุ๊ป อิงค์ เพื่อก่อตั้งกองทุนมูลค่า 3.2 แสนล้านดอลลาร์

    การประกาศดังกล่าวส่งผลให้หุ้นเอเบอร์ดีน แอสเสท แมเนจเมนท์ และหุ้นจูปิเตอร์ ฟันด์ แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มผู้จัดการกองทุนต่างก็พุ่งขึ้นมากกว่า 5%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดบวก ขณะตลาดจับตาสถานการณ์ดอยซ์แบงก์

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 ต.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาดูสถานการณ์ของธนาคารดอยซ์แบงก์อย่างใกล้ชิด หลังจากมีรายงานว่า ดอยซ์แบงก์ใกล้บรรลุข้อตกลงการลดค่าปรับกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ

      ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.1% ปิดที่ 342.92 จุด

       ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,453.56 จุด เพิ่มขึ้น 5.30 จุด หรือ +0.12% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,983.52 จุด เพิ่มขึ้น 84.19 จุด หรือ +1.22% *ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดทำการวันจันทร์ที่ 3 ต.ค. เนื่องจากเป็นวันหยุดประจำชาติ

      นักลงทุนยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของธนาคารดอยซ์แบงก์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ดอยซ์แบงก์คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้ ก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.

     ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ดอยซ์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ใกล้บรรลุข้อตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เกี่ยวกับการจ่ายค่าปรับ 5.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อยุติการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

      ทั้งนี้ หากรายงานข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ค่าปรับที่ดอยซ์แบงก์จะต้องจ่ายต่อทางสหรัฐก็จะลดลงเป็นอย่างมากจากระดับ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เรียกร้องในเบื้องต้น

     หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้น นำโดยหุ้นเครดิต อากริโคล ดีดตัวขึ้น 1% หุ้นยูบีเอส กรุ๊ป พุ่งขึ้น 1.5%

      หุ้นแอร์บัส กรุ๊ป ปรับตัวขึ้น 1% หลังจากมีรายงานว่า แอร์บัสเตรียมปรับลดจำนวนพนักงานในฝ่ายบริหารจัดการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างองค์กร

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 54.30 จุด เหตุตลาดยังกังวลสถานการณ์ดอยซ์แบงก์

    ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 ต.ค.) ซึ่งเป็นการซื้อขายวันแรกของไตรมาส 4/2559 โดยตลาดได้รับปัจจัยลบจากการที่นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่าดอยซ์แบงก์จะสามารถบรรลุข้อตกลงการลดเงินค่าปรับกับทางการสหรัฐได้ในเร็ววัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะขยายตัว

     ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,253.85 จุด ลดลง 54.30 จุด หรือ -0.30% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,300.87 จุด ลดลง 11.13 จุด หรือ -0.21% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,161.20 จุด ลดลง 7.07 จุด หรือ -0.33%

     ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดอ่อนแรงลง โดยนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากความไม่มั่นใจว่าธนาคารดอยซ์แบงก์จะสามารถบรรลุข้อตกลงการลดเงินค่าปรับกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ในเร็ววัน ขณะที่ดอยซ์แบงก์คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้ ก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.

     มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า หากดอยซ์แบงก์สามารถเจรจาลดค่าปรับกับทางการสหรัฐเหลือเพียง 3.1 พันล้านดอลลาร์ เรื่องนี้ก็จะเป็นผลบวกต่อผู้ถือหุ้นกู้ของทางธนาคาร แต่ถ้าดอยซ์แบงก์ต้องจ่ายค่าปรับ 5.7 พันล้านดอลลาร์ ก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในปีนี้ แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานเงินทุนของทางธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ

      ขณะที่ข่าวอื้อฉาวของธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารด้วยเช่นกัน โดยรายงานล่าสุดระบุว่า รัฐอิลลินอยส์ประการะงับการทำธุรกรรมการลงทุนวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์กับธนาคารเวลส์ ฟาร์โก หลังจากที่ทางธนาคารถูกปรับเป็นเงินมูลค่า 185 ล้านดอลลาร์ จากการที่พนักงานของธนาคารได้เปิดบัญชีลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านบัญชี เพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ด้านการเงินของธนาคาร

    ทั้งนี้ หุ้นดอยช์แบงก์ปิดตลาดปรับตัวลง 0.8% หลังจากที่ร่วงลงเกือบ 3% ในระหว่างวัน

    ส่วนหุ้นกลุ่มธุรกิจเพื่อผู้บริโภคร่วงลงเช่นกัน นำโดยหุ้นพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ดิ่งลง 1.2%

    หุ้นกลุ่มรถยนต์ปรับตัวลง หลังจากมีรายงานว่ายอดขายรถยนต์ในตลาดสหรัฐอ่อนแรงลง โดยหุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ดิ่งลง 8% หุ้นเจนเนอรัล มอเตอร์ ลดลง 0.6% หุ้นเฟี๊ยต ไคร์สเลอร์ ร่วงลง 1%

      ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะขยายตัว โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM พุ่งขึ้นแตะระดับ 51.5 ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.4 ในเดือนส.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 50.3

    นอกจากนี้ นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอังกฤษที่ประกาศเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เปิดเผยกับบีบีซีว่า เธอจะเริ่มกระบวนการถอนตัวจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนมี.ค. 2560

    ทางด้านนายฟิลิป แฮมมอนด์ รมว.คลังอังกฤษ กล่าวเตือนเมื่อวานนี้ว่า อังกฤษจะเผชิญกับความผันผวนในช่วงหลายปีข้างหน้า ในขณะที่ทำการเจรจาเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU)

      นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลแรงงานซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!