- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Monday, 26 September 2016 09:57
- Hits: 4367
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งกรอบจำกัดไร้ปัจจัยใหม่หนุน,น้ำมันร่วง-ต่างชาติชะลอลงทุนถ่วง
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยวันนี้น่าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,480-1,500 จุด โดยการรีบาวด์จำกัดไม่เกิน 1,500 จุด ขณะที่ downside อยู่ในกรอบบริเวณแนวรับ 1,480 จุด เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาสู่ตลาด หลังสิ้นสุดการประชุมสำคัญทั้งการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ภาพตลาดหุ้นปลอดจากข่าวดี
ส่วนการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย ในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้เพื่อหารือการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันนั้น เริ่มมีสัญญาณที่ไม่น่าเป็นผลดีส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และอาจจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนี้ด้วย รวมถึงการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยก็เริ่มมีสัญญาณที่ชะลอตัวลง หลังเมื่อวันศุกร์มีแรงขายสุทธิออกมาบ้าง
พร้อมให้แนวต้านที่ระดับ 1,500 จุด และแนวรับ 1,480 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (23 ก.ย.59) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,261.45 จุด ลดลง 131.01 จุดจุด ( -0.71%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,305.75 จุด ลดลง 33.77 จุด (-0.63%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,164.69 จุด ลดลง 12.49 จุด (-0.57%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 46.57 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 5.66 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 131.65 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 55.28 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 1.31 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 5.21 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.47 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (23 ก.ย.59) 1,492.88 จุด ลดลง 13.11 จุด (-0.87%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 624.45 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ก.ย.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (23 ก.ย.59) ปิดที่ 44.48 ดอลลาร์/บาร์เรลลดลง 1.84 ดอลลาร์ หรือ 3.97%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 ก.ย.59) ที่ 7.39 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.64 แข็งค่าเล็กน้อย แนวโน้มแกว่งแคบในกรอบ 34.60-34.70 รอปัจจัยใหม่
- ภาคเอกชนเริ่มกังวลและตั้งประเด็นในเรื่องความคุ้มค่าการลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าคาดการณ์
- กรมบัญชีกลางเผยภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการปีงบประมาณ 59 พุ่ง 6.8 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 6 หมื่นล้านบาท เตรียมนำระบบประกันเข้าบริหารจัดการแทน โฆษกรัฐบาลยันรัฐไม่ตัดสวัสดิการรักษาข้าราชการ ย้ำอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ 2 แนวทาง0
- โบรกเกอร์ระบุสถาบันในประเทศ หันซื้อบิ๊กล็อตอีทีเอฟอ้างอิงดัชนี แทนการเข้าซื้อหุ้นโดยตรง เพราะดัชนีหุ้นส่งสัญญาณผันผวนและหุ้นใหญ่ราคาปรับตัวขึ้นมาสูงเมื่อเทียบพื้นฐาน ด้านผู้บริหารบล.เคจีไอ แจงไม่มีแผนออกกองใหม่ แม้ได้รับความนิยมมากขึ้น หันบริหารสภาพคล่องสร้างกำลังซื้อแทน
- นักลงทุนหวังราคาทองคำไต่ระดับแตะราคาสูงสุดเมื่อปี 54 อีกครั้ง หลังผลประชุมเฟด-บีโอเจส่งสัญญาณชัดว่ายังยืนนโยบายดอกเบี้ยต่ำ-ติดลบ
- นายกฯ สั่งศึกษาตั้งกรมการผังเมืองแยกออกจากกรมโยธาฯ รองรับกฎหมายผังเมืองใหม่ ใช้เป็นหน่วยงานกำกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
- "สมคิด" เผยรัฐบาลเลิกอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่อยากนำเงินอนาคตมาผลาญ แต่เน้นยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง
- นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการรองปลัดกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อตรวจสอบการเสียภาษี โดยเฉพาะธุรกิจบนออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งเพจดัง เน็ตไอดอล หรือธุรกิจกึ่งบันเทิงทางออนไลน์ เช่น แอพพลิเคชั่นไอโชว์ หรือแอพพลิเคชั่นบีโกไลฟ์ ว่ายื่นเสียภาษีถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
- นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งปรับปรุงเนื้อหาของแผนงานใหญ่ 3 ด้าน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ต.ค. 2559 โดยมุ่งตอบสนองการพัฒนาหลัก 3 ด้าน คือ 1.การเติบโตของผลิตภาพ 2.การลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป
*หุ้นเด่นวันนี้
- TOP (ไอร่า) แนวโน้มค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์เริ่มฟื้นตัวมาอยู่ที่ 7-8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากการฟื้นตัวของค่าการกลั่นของน้ำมันเบนซินมาอยู่ที่ประมาณ 14-15 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังจากลงไปอยู่ในระดับต่ำในช่วงต้น 3Q/59 ประกอบกับการที่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและฤดูหนาวในช่วง Q4/59 จะส่งผลให้ความต้องการใช้ทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น ประเมินราคาเป้าหมายปี 59 ที่ 85.00 บาท (อ้างอิง PE 12X)
- GFPT (โกลเบล็ก) คาดกำไรปี 59 ที่ 1.3 - 1.4 พันลบ. (+18%YoY) จากการฟื้นตัวของราคาไก่และการส่งออกที่ดีขึ้น รวมถึงได้ประโยชน์จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์(ถั่วเหลืองและข้าวโพด) ที่ปรับตัวลดลง และบริษัทลูก GFN พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร
ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ หลังราคาน้ำมันร่วง, เยนแข็งฉุดหุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงในเช้าวันนี้ โดยได้รับอิทธิพลจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่อ่อนตัวลงหลังเงินเยนแข็งค่า นอกจากนั้นยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมัน WTI และเบรนท์ ที่ดิ่งลงกว่า 3% เมื่อวันศุกร์
ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.1% สู่ระดับ 141.83 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,707.45 จุด ลดลง 46.57 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,028.24 จุด ลดลง 5.66 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,554.83 จุด ลดลง 131.65 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,229.34 จุด ลดลง 55.28 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,052.76 จุด ลดลง 1.31 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,851.74 จุด ลดลง 5.21 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,669.52 จุด ลดลง 1.47 จุด
ราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักหลังจากที่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของซาอุดิอาระเบียกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เขาไม่คาดว่าการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะบรรลุข้อตกลงใดๆ
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย จะประชุมกันในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ นอกรอบการประชุมพลังงานระหว่างประเทศ (IEF) ที่แอลจีเรีย โดยที่ประชุมจะหารือการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดขยับลงเล็กน้อย หลังบวกติดต่อกันมาตลอดสัปดาห์
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดเกือบทรงตัวเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพักเทรด หลังจากที่ตลาดปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันมาตลอด 4 วันในสัปดาห์นี้
ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลง 1.97 จุด หรือ 0.03% แตะที่ 6,909.43 จุด อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์ ดัชนีพุ่งขึ้น 3%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนวันศุกร์ เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในยุโรป ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชีย หลังจากที่ตลอดสัปดาห์มานี้ ตลาดได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยกระแสดังกล่าวเริ่มแผ่วลง หลังเฟดเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ เฟดยังได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า "ปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้มีน้ำหนักมากขึ้น"
มติคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ช่วยหนุนมุมมองที่เป็นบวกว่า ธนาคารกลางที่สำคัญต่างๆ จะยังคงใช้นโยบายที่กระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง
หุ้นบริษัทเหมืองแร่ โพลีเมทัล ร่วงหนัก 7% หลังจากผู้ถือหุ้นเทขายหุ้น 6% ส่วนหุ้นบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลงเช่นกัน หลังปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี ตามราคาที่ดีดตัวขึ้น เพราะได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
หุ้นเฟรสนิลโลลบ 0.9% หุ้นแรนโกลด์ รีซอร์สเซส ลบ 1.4% และหุ้นอันโตฟากัสตา ลบ 0.3% อย่างไรก็ดี หุ้นแองโกล อเมริกัน พุ่ง 3.3%
หุ้นกลุ่มการเงินลดลงเช่นกัน นำโดยรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ร่วง 2.1% หุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลดลง 1.9%
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นได้ แม้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง หุ้นบีพีบวก 0.5% หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ บวก 0.2%
หุ้นสปอรต์ไดเร็คพุ่ง 5.4% จากข่าวไมค์ แอชลีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอ แทนเดฟ ฟอร์ซีย์ ที่ลาออก
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบหลังพุ่งแรงวันก่อน, ผิดหวังข้อมูล PMI
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) หลังจากพุ่งแรงวันก่อน โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยข้อมูล PMI ที่สะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นยังไม่แข็งแกร่ง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 2.52 จุด หรือ 0.72% ปิดที่ 345.34 จุด อย่างไรก็ดี ทั้งสัปดาห์ ดัชนียังปรับตัวขึ้นได้ 2.2%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสลดลง 21.13 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 4,488.69 จุด ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันลดลง 47.21 จุด หรือ 0.44% ปิดที่ 10,626.97 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนขยับลง 1.97 จุด หรือ 0.03% ปิดที่ 6,909.43 จุด
ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลงในวันศุกร์ หลังจากที่ปิดบวกติดต่อกันมา 4 วัน โดยในวันพฤหัสบดี ดัชนีหุ้นยุโรปพุ่งขึ้นถึง 1.6% หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
เทรดเดอร์ในยุโรปต่างจับตาทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลกและตลาดเงิน
อย่างไรก็ตาม กระแสเกี่ยวกับเฟดเริ่มแผ่วลง ประกอบกับตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานข้อมูล PMI ที่น่าผิดหวัง หลังจากที่มาร์กิตเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือนที่ 52.6 ในเดือนก.ย. จากระดับ 52.9 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 52.8
โดยถึงแม้ว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการของฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นแตะ 53.3 ในเดือนก.ย. จากระดับ 51.9 ในเดือนส.ค. และทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 เดือน เพราะได้แรงหนุนจากกิจกรรมภาคบริการ แต่ดัชนี PMI รวมของเยอรมนี อยู่ที่ระดับ 52.7 ลดลงจาก 53.3 ในเดือนส.ค. และทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 เดือน โดยกิจกรรมภาคบริการที่เข้าใกล้ภาวะซบเซาได้ฉุดกิจกรรมธุรกิจเยอรมนีในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยล่าสุดทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจยูโรโซน
หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลง โดยหุ้นโปปูลาร์ เอสปันญอล ร่วง 2.7% หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ร่วง 2.1% และหุ้นดอนซ์แบงก์ ลดลง 2%
หุ้นคอมเมอร์ซแบงก์ ของเยอรมนี ลบ 0.3% หลังมีข่าวว่าธนาคารเล็งลดพนักงานอย่างน้อย 5,000 ตำแหน่ง เพื่อรับมือกับผลกำไรที่อ่อนแอลง
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 131.01 จุด หลังราคาน้ำมันร่วง
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ย.) หลังจากราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนัก ประกอบนักลงทุนขายทำกำไร หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นติดต่อกันมา 3 วัน ขานรับการตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมครั้งล่าสุด
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 131.01 จุด หรือ 0.71% ปิดที่ 18,261.45 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 12.49 จุด หรือ 0.57% ปิดที่ 2,164.69 ดัชนี Nasdaq ลดลง 33.77 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 5,305.75
สำหรับ ตลอดสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.0%, 1.7% และ 3.5% ตามลำดับ
ตลาดหุ้นนิวยอร์กกลับมาเคลื่อนไหวแดนลบในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นคึกคักในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ภายหลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ร่วงลงยังได้กดดันการซื้อขายในตลาดหุ้นเช่นกัน โดยราคาน้ำมันทั้ง WTI และเบรนท์ดิ่งลงกว่า 3% ในวันศุกร์ หลังซาอุดิอาระเบียไม่คาดว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงในการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในสัปดาห์หน้า
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของซาอุดิอาระเบียกล่าวในวันศุกร์ว่า เขาไม่คาดว่าการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในสัปดาห์หน้าจะบรรลุข้อตกลงใดๆ
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย จะประชุมกันในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ นอกรอบการประชุมพลังงานระหว่างประเทศ (IEF) ที่แอลจีเรีย โดยที่ประชุมจะหารือการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ซาอุดิอาระเบียได้เสนอที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน หากอิหร่านยินยอมที่จะตรึงกำลังการผลิตในปีนี้
ขณะเดียวกัน บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐ รายงานว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เปิดใช้งานในสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 แท่นในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 418 แท่น ซึ่งจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยฉุดราคาน้ำมันเช่นกัน
สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ มาร์กิตเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนก.ย. ของสหรัฐ ลดลงแตะ 51.4 จาก 52.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ บ่งชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงในเดือนนี้
ด้านนายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน กล่าวในวันศุกร์ว่า เขาเชื่อว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในขณะนี้ นอกจากนี้ เขายังเตือนว่า การที่อัตราว่างงานลดลงต่ำกว่าระดับที่ยั่งยืน จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ทั้งนี้ นายโรเซนเกรนเป็นกรรมการคนหนึ่งใน 3 คนของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดที่ได้ลงมติคัดค้านการตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ โดยเห็นว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นายโรเซนเกรนยังกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐสามารถรับมือกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ขณะที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น การชะลอตัวของจีน และการที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
หุ้นทวิตเตอร์ทะยาน 22% หลังจากที่มีข่าวว่า หลายบริษัทแสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ทวิตเตอร์กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับบริษัทกูเกิล และ Salesforce.com รวมทั้งบริษัทอีกหลายแห่ง
หุ้น Salesforce.com ร่วงลง 5.6% ด้านหุ้นอัลฟสเบท อิงค์ บริษัทแม่ของกูเกิล ลบ 0.1%
ด้านหุ้นยาฮู อิงค์ ร่วง 3.1% หลังจากบริษัทเผยว่า ข้อมูลของบัญชีผู้ใช้ยาฮู อาทิ ชื่อ อีเมลแอดเดรส เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด และรหัสผ่านผู้ใช้ที่ผ่านการเข้ารหัสด้วยฟังก์ชั่นแฮช รวมทั้งสิ้น 500 ล้านบัญชีเป็นอย่างน้อย ถูกล้วงข้อมูลจากเครื่องข่ายบริษัทในช่วงปลายปี 2557
หุ้นเฟซบุ๊ก อิงค์ ร่วง 1.6% หลังจากมีรายงานว่า บรรดาผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ไม่พอใจกับการที่เฟซบุ๊กเปิดเผยตัวเลขยอดชมวิดีโอโฆษณาเกินจริง
หุ้นแอปเปิ้ล อิงค์ ลดลง 1.6% จากข่าวที่ว่าหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการกับบริษัท
อินโฟเควสท์