- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Wednesday, 03 August 2016 13:49
- Hits: 1394
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้พักฐานเช่นเดียวกับตลาดภูมิภาคหลัง Fund Flow ชะลอ-กังวลการลงประชามติร่างรธน.
นายเอกภาวิน สุนทราภิชาติ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะพักฐาน ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่ก็จะติดลบกัน เนื่องจาก Fund Flow ได้ชะลอลง อีกทั้งตลาดบ้านเราก็มีความกังวลเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ด้วย
นอกจากนี้ ตลาดฯกำลังรอดูการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือไม่ หากมีการผ่อนคลายก็จะช่วยหนุนตลาดฯให้รีบาวน์ได้
อย่างไรก็ดี มองแนวรับที่ 1,490 จุด น่าจะทรงตัวหรืออาจมีรีบาวน์กลับได้บ้าง ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,520 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (2 ส.ค.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 18,313.77 จุด ลดลง 90.74 จุด (-0.49%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,137.73 จุด ลดลง 46.47 จุด (-0.90%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,157.03 จุด ลดลง 13.81 จุด (-0.64%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ ลดลง 164.17 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ ลดลง 8.06 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ ลดลง 385.82 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ ลดลง 67.94 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ ลดลง 10.35 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ ลดลง 28.15 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ ลดลง 2.79 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (2 ส.ค.59) 1,497.51 จุด ลดลง 15.11 จุด (-1.00%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 125.74 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 ส.ค.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (2 ส.ค.59) ปิดที่ 39.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 55 เซนต์ หรือ 1.4%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (2 ส.ค.59) ที่ 3.80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.77/79 จับตาประชุมกนง.-ตัวเลขศก.ต่างประเทศ มองกรอบ 34.75-34.90
- ก.พลังงานกำหนดกรอบเวลาบริหาร 2 แหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช ที่จะ สิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 คาดจะเปิดประมูลได้ภายใน มี.ค.-มิ.ย. 2560 เผยตัวเลขค่ารื้อถอนแท่นขุดเจาะ 2 แหล่งสูงถึง 2.45 แสนล้านบาท ด้าน กมธ. ปิโตรเลียม จ่อขอมติ สนช. ขยายเวลาถกกฎหมายปิโตรเลียม ออกไป 60 วัน
- คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ วงเงินรวม 28 ล้านล้านเยน (ราว 9.58 ล้านล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นมาตรการทางการคลัง 13.5 ล้านล้านเยน (ราว 4.62 ล้านล้านบาท) รวมถึงการแจกเงินผู้มีรายได้ต่ำ 22 ล้านคน คนละ 1.5 หมื่นเยน (ราว 5,213 บาท) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังซบเซา
- เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ออกแถลงการณ์ค้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ซึ่งมีกลุ่มกิจการค้าร่วมพาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และ กฟผ.จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลภายใน 3 เดือน
- ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. ยังคงกรอบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3-3.5% ภายใต้การส่งออกที่ไม่ขยายตัว-ติดลบ 2% ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐที่ทยอยฟื้นตัวทำให้ตลาดการเงินกลับมาคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2559 สวนทางกับนโยบายของธนาคารกลางอื่น ที่มีแนวโน้มจะผ่อนคลายเพิ่ม
- เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้ส่งเสริมการผลิตใน 3 ประเภท คือ รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถโดยสารไฟฟ้า พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ไปจัดทำแผนส่งเสริมและมาตรการจูงใจให้เอกชนลงทุน
- ผู้ว่าการฯ ธปท.เผยเพิ่มบทบาทกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน สร้างเครื่องมือและกลไกครบถ้วน แย้มมีการเพิ่มอัตราเงินนำส่ง ยกตัวอย่างต่างประเทศให้ระบบสถาบันการเงินดูแลกันเอง ให้ผู้ถือหุ้นกู้ร่วมรับผิดชอบภาระ แจ้งเม็ดเงิน FDI ยังไหลเข้าไทย แต่ติดลบหนักครึ่งแรกเกิดปัจจัยพิเศษต่างชาติขายหุ้น "บิ๊กซี" นำเงิน ออกไทย
- "โกวิท สัจจวิเศษ" เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ครึ่งแรกปีนี้ กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนรวม 1.46 ล้านล้านบาท มีผลตอบแทนที่รับรู้แล้ว 25,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,949 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลตอบแทน 1.86%
*หุ้นเด่นวันนี้
- BH (เออีซี) "ซื้อ"เป้า 220 บาท ช่วง 2H59 คาดกำไรกลับมาโตเด่นอีกครั้ง หลังปกติช่วง 3Q59 เป็นพีคของกำไรปีนี้ตามฤดูกาลและช่วง 4Q59 ไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษดังเช่นช่วง 4Q58 และเป็นหุ้น Laggard โดยปัจจุบันเทรด PER ปี 59 ที่ 35x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 43x อีกทั้งมี Upside 25% และมีเงินปันผลจ่ายระหว่างกาล 0.95 บาท (XD 15 ส.ค.)
- FPI (โกลเบล็ก) เป้า Consensus 6 บาท แนวโน้มรายได้และกำไร Q2/59 จะขยายตัวขึ้นมากตามการเพิ่มกำลังการผลิตรวมถึง order จาดยุโรปและอินเดียที่เข้ามามากขึ้น และมี Catalyst การสร้างโรงงานในอินเดียงบ 160 ลบ. ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วง Q4/59 (ผู้บริหารคาดคืนทุนใน 3 ปี) ด้านโรงไฟฟ้า Biomass ร่วมกับพันธมิตรในโซนภาคใต้ที่ตั้งเป้า 120 MW ซึ่งกกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติรอบแรกจำนวน 36 MW ใน 5 ส.ค. และประกาศผู้ได้คัดเลือกในวันที่ 25 ส.ค.
- BLA (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อเก็งกำไร"เป้า 43 บาท คาดเบื้องต้น 2Q59 พลิกเป็นกำไรไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท จาก 1Q59 ที่ขาดทุนสุทธิ 6.9 พันล้านบาท จากการกลับรายการเงินสำรองเบี้ยประกันชีวิตส่วนเกินที่มีอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคปภ.เพิ่งอนุมัติให้ใช้เกณฑ์ใหม่ ทำให้การตั้งสำรองน้อยลง การกลับรายการจึงเป็นไปได้ตั้งแต่ 0-1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันผลตอบแทนจากการลงทุนดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ชดเชยยอดขายเบี้ยใหม่ที่ชะลอตามฤดูกาลได้ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มกำไรและราคาพื้นฐาน
- AOT (ดีบีเอส วิคเคอร์ส) เป้า 470 บาท คาดกำไรหลัก 3Q59 (ปิด มิ.ย.59) แกร่งต่อเนื่องเพิ่ม 17% y-o-y เป็น 4.8 พันล้านบาท แรงสนับสนุนมาจากรายได้ที่เติบโตแข็งแกร่งและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับลดลง แม้คาดการณ์กำไรหลัก 3Q59 อ่อนลง 15.6% q-o-q แต่ไม่น่ากังวล เพราะเป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล นอกจากนี้ จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศกลับมาเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก (double digits) ได้อีกครั้งในเดือน ก.ค.59 ที่ผ่านมาเป็น 12.9% y-o-y หลังจากเดือน พ.ค.และมิ.ย.ที่เติบโตหลักเดียวคือ +9.5% และ +7.5% ตามลำดับ
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ หลังเยนแข็งค่าฉุดหุ้นญี่ปุ่นร่วง
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงเช้านี้ โดยการนำของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ร่วงลงหลังเงินเยนแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น
ดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วงลง 0.9% สู่ระดับ 135.71 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.05 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,227.28 จุด ลดลง 164.17 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,963.22 จุด ลดลง 8.06 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,743.32 จุด ลดลง 385.82 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,000.82 จุด ลดลง 67.94 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,008.68 จุด ลดลง 10.35 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,828.52 จุด ลดลง 28.15 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,657.44 จุด ลดลง 2.79 จุด
ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 28 ล้านล้านเยน (2.74 แสนล้านดอลลาร์) เมื่อวานนี้ แต่ได้สร้างความผิดหวังแก่นักลงทุนในตลาด
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 48.55 จุด เหตุหุ้นธนาคาร,เหมืองแร่ร่วง
ตลาดหุ้นลอนดอนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) เนื่องจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร นำโดยหุ้นบาร์เคลย์ที่ร่วงลง 3.6% หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ ดิ่งลง 3.6%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ก็ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ลดลง 2.7% ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานนำโดยหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ลดลง 2.1% เนื่องจากภาวะซบเซาในตลาดน้ำมัน
หุ้นไดเร็ค ไลน์ อินชัวรันซ์ กรุ๊ป พุ่งขึ้น 13% หลังบริษัทประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลพร้อมกับการจ่ายเงินพิเศษ
หุ้นอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเท็ลส์ กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 3% หลังรายงานว่า บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก
นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในวันพรุ่งนี้ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์คาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% พร้อมกับขยายระยะเวลาโครงการให้เงินทุนสำหรับการปล่อยกู้ ซึ่งจะกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อในภาคธนาคาร
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : แรงขายหุ้นแบงก์ ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วง
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มธนาคารกลาง หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะวิกฤต (stress test) ในภาคธนาคาร โดยนักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นมากนักต่อผลการทดสอบในครั้งนี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.3% ปิดที่ 335.47 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,327.99 จุด ลดลง 81.18 จุด หรือ -1.84% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,144.34 จุด ร่วงลง 186.18 จุด หรือ -1.80% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,645.40 จุด ลดลง 48.55 จุด หรือ -0.73%
หุ้นกลุ่มธนาคารยังคงถูกเทขายอย่างหนัก โดยหุ้นดอยช์แบงก์ ร่วงลง 4.8% หุ้นเครดิต สวิส ร่วงลง 6.2% หุ้นคอมเมิร์ซ แบงก์ ร่วงลง 9.2% ส่วนหุ้น Banca Monte dei Paschi di Siena ของอิตาลี ดิ่งลงรุนแรงถึง 16%
นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากไม่ค่อยเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลการทดสอบภาวะวิกฤตภาคธนาคารในยูโรโซนของ ECB ครั้งนี้ โดยนักลงทุนมองว่าไม่มีการทดสอบที่เข้มงวดเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และไม่ได้ทดสอบสถานการณ์การที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หรือภาวะที่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นเวลานาน รวมทั้งธนาคารที่เข้าร่วมในการทดสอบก็มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน 123 แห่งที่เข้าทดสอบในปี 2014 โดยธนาคารจากกรีซและโปรตุเกสไม่ได้เข้าร่วมในการทดสอบครั้งนี้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมัน WTI ที่ร่วงลงหลุดจากระดับ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงด้วย
นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในวันพรุ่งนี้ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์คาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% พร้อมกับขยายระยะเวลาโครงการให้เงินทุนสำหรับการปล่อยกู้ ซึ่งจะกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อในภาคธนาคาร
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 90.74 จุด วิตกการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐซบเซา
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่กระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ฉุดดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติปิดลบติดต่อกัน 7 วันทำการ
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,313.77 จุด ลดลง 90.74 จุด หรือ -0.49% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,137.73 จุด ลดลง 46.47 จุด หรือ -0.90% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,157.03 จุด ลดลง 13.81 จุด หรือ -0.64%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับเดือนพ.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลของชาวสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญนั้น ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ การขยับขึ้นของดัชนี PCE ยังคงห่างจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ของเฟด
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์ก เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
หุ้นกลุ่มสายการบินร่วงลง หลังจากมีรายงานเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในเมืองไมอามี โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ ปรับตัวลง 7.8% หุ้นยูไนเต็ด คอนติเนนตัล โฮลดิ้ง ร่วงลง 6.3% หุ้นเจ็ทบลู ดิ่งลง 6.5% และหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ส ร่วงลง 5.9%
หุ้นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ร่วงลง หลังจากมีรายงานว่ายอดขายของบริษัทรถยนต์สหรัฐซบเซาลงในเดือนก.ค. เนื่องจากอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยหุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ดิ่งลง 4.3% หลังจากฟอร์ด มอเตอร์เปิดเผยว่า ยอดขายปรับตัวลดลง 3% สู่ระดับ 216,479 คัน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่หุ้นเจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ร่วงลง 4.4% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายลดลง 2% สู่ระดับ 267,258 คัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของช่วงคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนก.ค.อาจจะเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่ง
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาไทยนั้น รวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐเดือนก.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.ค.โดยมาร์กิต และดัชนีภาคบริการเดือนก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ในวันที่ 26 ส.ค. ซึ่งนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด จะขึ้นกล่าวในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในปีที่แล้ว โดยอาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
อินโฟเควสท์