- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Wednesday, 16 March 2016 10:03
- Hits: 1656
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งผันผวน น้ำมันยังกดดัน แต่ขยายเวลาซิมดับหนุน ICT
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งผันผวน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังปรับตัวลงยังกดดันอยู่ ขณะที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งขยายเวลา ADVANC ให้บริการ 2G บนคลื่น 900 MHz ออกไป 30 วันถึง 14 เม.ย.59 ถือว่าเป็นปัจจัยที่เข้ามาช่วยหนุนกลุ่ม ICT ได้ จึงถือว่าปัจจัยลบและบวกถ่วงดุลกันได้บ้าง
ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ก็อยู่ในแดนบวกเล็กน้อยไม่ได้มีนัยสำคัญ แต่ตลาดฯคงยังโฟกัสไปที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่าจะมีถ้อยแถลงอย่างไร
พร้อมให้กรอบการแกว่งตัวของดัชนีวันนี้ไว้ที่ 1,375-1,395 จุด แนะนำเมื่อดัชนีฯเข้าใกล้ระดับ 1,400 จุดให้ทยอยลดพอร์ต
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (15 มี.ค.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,251.53 จุด เพิ่มขึ้น 22.40 จุด (+0.13%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,728.67 จุด ลดลง 21.61 จุด (-0.45%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,015.93 จุด ลดลง 3.71 จุด (-0.18%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 135.71 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 5.66 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 51.13 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 26.45 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.61 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 5.65 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 1.24 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (15 มี.ค.59) 1,382.93 จุด ลดลง 11.34 จุด (-0.81%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,602.61 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 มี.ค.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (15 มี.ค.59) ปิดที่ 36.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ลบ 84 เซนต์ หรือ 2.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (15 มี.ค.59) ที่ 5.61 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 35.10 แข็งค่าตามภูมิภาค ตลาดรอดูสัญญาณดอกเบี้ยจาก FED
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงมาตรการการเงินทั้งการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และการซื้อคืนพันธบัตรมูลค่า 80 ล้านล้านเยน โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ยืนยันว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.1% ได้ผล ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวลดลง และกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนและครัวเรือน
- นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีรายจ่ายลงทุนสูง 25 หน่วยงาน เพื่อเร่งรัดการก่อหนี้ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.59 ที่กำหนดให้ต้องก่อหนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.59 หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ส่งคืนงบประมาณ
- ผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 29 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 51.9% ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้แย่ลง จีดีพีโตต่ำแค่ 0.8% กระทบธุรกิจ 57.8% รายได้ต่ำคาดเฉลี่ยสูญเงิน 28.9% หวั่นปัจจัยเสี่ยงกำลังซื้อ ภัยแล้ง การส่งออกต่ำลง กดดันต่อเนื่อง พบบางรายส่อขาดสภาพคล่อง เหลือเงินหมุนเวียนแค่ 15-30 วัน
- สบพ.เผยทั่วโลกประสบปัญหานักบินขาด แนะไทยปรับเพิ่มค่าตอบแทนป้องกันสมองไหล ด้าน"พาณิชย์"เตรียมถก"ทอท." 17 มี.ค.จี้ลดราคาอาหารกล่อง-น้ำดื่มในสนามบิน ส่วนแอร์เอเชียลุยเปิดเส้นทางบินดอนเมือง-โกชิประเทศอินเดียรองรับท่องเที่ยวโต
- นายพิชญา พิสุทธิกุล อุปนายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า เดือนนี้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 21,500 บาทต่อบาททองคำสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ เพราะยังเผชิญความเสี่ยงเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และหากปรับขึ้นอาจเสียเสถียรภาพทางการค้า ส่งผลให้สินทรัพย์ปลอดภัยยังน่าลงทุนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
*หุ้นเด่นวันนี้
- THCOM (ยูโอบี เคย์เฮียน) คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 59 หนุนจากการรับรู้รายได้จากดาวเทียม Thaicom 7 ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงและการเปิดให้บริการดาวเทียม Thaicom 8 นอกจากนี้ โดยคาดว่า dividend yield ในปี 59 จะอยู่ที่ 6.2%
- ROBINS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 56 บาท มีมุมมองเป็นบวกต่อแผนการเติบโตในปี 2016 – 2020 แม้จะปรับลดการเปิดสาขาใหม่เป็นปีละ 2-3 แห่ง จากอดีตปีละ 4-5 แห่ง โดยจะหันมา Renovate สาขาเก่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับสินค้า Private Brand และ International Brand ที่มีอัตรากำไรสูงและยังมีฐานต่ำ รวมถึงได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทำให้แนวโน้ม Same Store Sales Growth ใน 1Q16 ยังฟื้นตัวเป็นบวกต่อเนื่อง พร้อมปรับกำไรปีนี้ขึ้น 4.5% เป็นโต 19.6% Y-Y และยังเป็น Top Pick ของกลุ่มร่วมกับ HMPRO
- PT (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 13.50 บาท มั่นใจต่อการฟื้นตัวของกำไรในปีนี้มากขึ้นโดยยังคาดเติบโต 21 % Y-Y โดยผู้บริหารคาดว่าจะเห็นการเติบโต Y-Y ตั้งแต่ 1Q16 จากการเร่งลงทุนด้าน IT ของภาคเอกชนที่อั้นมาตั้งแต่ 1H15 และการเปิดตลาดใหม่ในภาคเหนือรวมถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ในภาคการผลิต ราคาหุ้นมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของกำไรรายไตรมาสแบบ Y-Y ซึ่งหมายถึง Downside ของราคาหุ้นที่จำกัด ปัจจุบันราคาหุ้นซื้อที่ PE เพียง 9 เท่า ต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ 13 เท่า
- KCE (โกลเบล็ก) เป้า 91 บาท ปี 59 คาดกำไรก้าวกระโดดเป็น 2,792 ล้านบาท +26%YoY จากการเปิดใช้โรงงานใหม่เฟส 2 ตั้งแต่ 1Q59 ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและสามารถผลิตสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ประโยชน์จาก PCB ที่ใช้ในอุตฯยานยนต์มีการเติบโตและ Demand สูง เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ระบบ Electronic แทนระดับ Mechanic ทั้งนี้KCE มีลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ราว 70% ส่วนปันผล 1 บาท/หุ้น XD 30 มี.ค. 2559
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงเช้านี้ ขณะจับตาผลประชุมเฟด
ตลาดหุ้นเอเชียอ่อนตัวลงในช่วงเช้าวันนี้ นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ร่วงลงหลังเงินเยนแข็งค่า ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆบวกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ
ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.4% สู่ระดับ 126.42 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,981.36 จุด ลดลง 135.71 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,858.71 จุด ลดลง 5.66 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,339.90 จุด เพิ่มขึ้น 51.13 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,637.63 จุด เพิ่มขึ้น 26.45 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,971.58 จุด เพิ่มขึ้น 1.61 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,845.09 จุด เพิ่มขึ้น 5.65 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,692.16 จุด เพิ่มขึ้น 1.24 จุด
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : หุ้นเหมืองร่วง ฉุดฟุตซี่ปิดลบ 34.60 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ในขณะที่ตลาดขาดปัจจัยชี้นำเนื่องจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับการผ่อนคลายทางการเงิน
ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลดลง 34.60 จุด หรือ 0.56% ที่ 6,139.97 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ โดยหุ้นแองโกล อเมริกัน หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน และหุ้นเกลนคอร์ ซึ่งนำตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันก่อนต่างก็ปิดลดลงมากกว่า 5.1%
หุ้นลีกัล แอนด์ เจเนอรัล กรุ๊ป ร่วงลง 4.3% ขณะที่หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ เพิ่มขึ้น 1.4% หลังจากบริษัทโกลด์แมน แซค แนะนำให้ซื้อหุ้นของธนาคาร
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดร่วง จากแรงขายหุ้นพลังงาน,เหมืองแร่
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.1% ปิดที่ 340.86 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,472.63 จุด ลดลง 33.96 จุด หรือ -0.75% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,933.85 จุด ลดลง 56.41 จุด หรือ -0.56% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,139.97 จุด ลดลง 34.60 จุด หรือ -0.56%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดตลาดอ่อนแรงลง เพราะได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ตลาดลอนดอนร่วงลง 2% เมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากรายงานของสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐ (API) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง นำโดยหุ้นแองโกล อเมริกัน ดิ่งลง 11% หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ร่วงลง 6.5% หุ้นอันโตฟากัสต้า ร่วงลง 4.5%
หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง โดยหุ้นทุลโลว์ ออยล์ ร่วงลง 11% หุ้นสแตท ออยล์ ดิ่งลง 2% หุ้นจอห์น วู๊ด กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานของยุโรป ร่วงลง 5.1% และหุ้นเทคนิป เอสเอ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของฝรั่งเศส ดิ่งลง 2.1%
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดบวก 22.40 จุด ขณะตลาดจับตาประชุมเฟด
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน โดยแม้ว่าดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก แต่ดัชนี NASDAQ และ S&P 500 ปิดอ่อนแรงลง เพราะตลาดได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,251.53 จุด เพิ่มขึ้น 22.40 จุด หรือ +0.13% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,728.67 จุด ลดลง
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อคืนนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 2.3% หลังจากสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐ (API) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. โดยยอดค้าปลีกที่อ่อนแอลงในเดือนก.พ.บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงซบเซาในไตรมาสแรก
ขณะที่สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค. แต่ยอดขายภาคธุรกิจร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้ผลิตของสหรัฐเผชิญกับยอดขายจากการส่งออกที่ร่วงลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากภาวะอ่อนแอทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ และดอลลาร์ที่แข็งค่า
นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมเฟดในวันพุธที่ 16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
หุ้นเอวอน โพรดักซ์ ดิ่งลง 8.2% หลังจากบริษัทประกาศแผนลดจำนวนพนักงาน 2,500 ตำแหน่ง และจะย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทไปยังประเทศอังกฤษ
หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ร่วงลง โดยหุ้นไฟเซอร์ และหุ้นเมอร์ก แอนด์ โค ต่างก็ปรับตัวลงอย่างน้อย 1.2% หุ้นเอนโด อินเตอร์เนชันแนล ร่วงลง 23%
หุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2% หลังจากมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ไอโฟนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันนี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน-การอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.พ. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)
อินโฟเควสท์