- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Wednesday, 24 February 2016 10:13
- Hits: 1896
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าปรับลงตามตลาดต่างประเทศ-ราคาน้ำมันร่วงถ่วงตลาด
นักวิเคราะห์ฯคาดดัชนีหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลง ตามตลาดหุ้นต่างประเทศที่ลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงแรงวานนี้จะถ่วงการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่ยังเชื่อว่าเม็ดเงินไหลเข้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และการประกาศผลประกอบการและการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะช่วยประคองตลาดไม่ให้ปรับลดลงมากนัก ทำให้การแกว่งตัวของดัชนีจะอยู่ในกรอบแคบๆ โดยมองแนวรับบริเวณ 1,313/1,310 และแนวต้านที่ 1,332/1,340 จุด
นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในวันนี้น่าจะอยู่ในกรอบค่อนข้างแคบ ดัชนีอาจจะย่อตัวลงมากก่อน ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลง โดยตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปปรับตัวลง หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงกว่า 4% เมื่อคืนนี้ ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนลบ
สำหรับ ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงมากอาจจะกดดันต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานของตลาดหุ้นไทยด้วย แต่การที่ตลาดยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้ามาต่อเนื่อง และการทยอยประกาศผลประกอบการและการประกาศจ่ายปันผลของบจ. น่าจะช่วยประคองดัชนีไม่ให้ปรับลดลงมากนัก
พร้อมให้แนวรับบริเวณ 1,313/1,310 และแนวต้านที่ 1,332/1,340 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (23 ก.พ.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 16,431.78 จุด ร่วงลง 188.88 จุด (-1.14%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,503.58 จุด ลดลง 67.02 จุด (-1.47%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,921.27 จุด ลดลง 24.23 จุด (-1.25%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 200.92 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 13.44 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 132.44 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 1.98 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 5.51 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 17.42 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.85 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (23 ก.พ.59) 1,325.79 จุด เพิ่มขึ้น 5.60 จุด (+0.42%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 974.34 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ก.พ.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (23 ก.พ.59) ปิดที่ 31.87 ดอลลาร์/บาร์เรล ปิดร่วง 1.52 ดอลลาร์ หรือ 4.6%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 ก.พ.59) ที่ 6.12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 35.74 แนวโน้มแกว่งในกรอบ 35.70-35.80 รอปัจจัยใหม่
- ตลาดหลักทรัพย์สำรวจความเห็นกรณี ปรับปรุงเกณฑ์ไอพีโอใหม่ หลังพบว่า 2 ปี บจ.ใหม่ที่เข้ามาระดมทุนมีฐานะอ่อนแอ จนถึง"แบกขาดทุน"ประกาศคุมเข้มเพิ่ม เกณฑ์ทุนจดขั้นต่ำ เพิ่มจำนวนสภาพคล่องก่อนเข้าระดมทุน พร้อมกำหนดพาร์ไม่ต่ำกว่า 0.50 บาท ด้านโบรกเกอร์ประสานเสียงหนุน แต่อาจจะกระทบกับแผนระดมทุนแต่ไม่รุนแรง
- คณะรัฐมนตรีไฟเขียวงบกลาง-เงินกู้ผ่าน ธ.ก.ส.รวมกว่า 9 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งพร้อมยกระดับขีดความสามารถ แถมอนุมัติมาตรการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 5 ล้านบาท
- แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เสนอแผนปฏิรูปการคลังการเงินของกระทรวงในระยะ 5 ปีข้างหน้า เสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาและให้ความเห็นชอบ สาระสำคัญของแผนจะมี 12 ยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานให้รัฐบาลใช้ในการบริหารประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือการดำเนินนโยบายการคลังให้ประเทศไทยหลุดพ้นการติดกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดความเหลื่อมล้ำของรายได้คนในสังคม รวมทั้งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
- รมว.คมนาคม เผยว่ากระทรวงได้รายงานความคืบหน้าโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ (พีพีพี ฟาสต์แทร็ก) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้ดำเนินการแล้ว 7 โครงการ ในจำนวนนี้ 4 โครงการ เอกชนลงทุนทั้งโครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 5.66 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 5.46 หมื่นล้านบาท รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 9.46 หมื่นล้านบาท และกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท ส่วนอีก 3 โครงการรัฐลงทุนแล้วให้เอกชนเข้าบริหาร ได้แก่ 1.โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ 3.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยาย สาย 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา เปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการด่านและบำรุงรักษา
- ครม.รับทราบแผนแก้ไขปัญหาการบิน พร้อมปลดล็อกธงแดงสิ้นปี 59 นี้ กพท.รับหากไม่พร้อมจะไม่เรียก ICAO มาตรวจเพราะถ้าไม่ผ่านรอบนี้ถูกแบล็กลิสต์ยาว 5 ปี ขณะที่ "อาคม" รับนักบิน-ช่างซ่อมไทยขาดแคลนสั่ง สบพ.เร่งผลิตด่วน เผย กพท.สั่ง 50 สายการบินในไทย ต้องส่งงบการเงินให้ตรวจภายใน มี.ค.นี้ ใครไม่ส่งถูกยึดใบอนุญาตทันที ด้าน "พาที" มั่นใจ 1 มี.ค. สู่ภาวะปกติ ส่วนผลสอบนักบินป่วนไล่ออกอีก 2 กัปตัน
- แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานตัวเลขนำเข้าและส่งออกสินค้าไทยเดือน ม.ค. 2559 จากกรมศุลกากร เบื้องต้นพบว่าการส่งออกในเดือน ม.ค.ติดลบมากกว่า 8% แต่ไม่ถึง 9% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558
*หุ้นเด่นวันนี้
- PS (เคทีบีฯ) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 34 บาท มองแนวโน้มกำไรสุทธิ Q1/59 ยังคงโดดเด่น และจัดเป็นหุ้นปันผลสูงราว 7% ต่อปี โดยจ่ายเงินปันผลงวด H2/58 ที่ 1.25 บาท/หุ้น มองเชิงบวกการปรับเป็น Holding Company เพื่อขยายธุรกิจใหม่ๆ สร้าง recurring income แนะแลกเปลี่ยนหุ้น PS เป็นหุ้นโฮลดิ้ง คาดโฮลดิ้งเริ่มขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ตั้งแต่ปี 60 ตั้งงบลงทุน 1.5 พันล้านบาท ศึกษาธุรกิจ โรงพยาบาล, โรงแรม, ค้าปลีก หรือ โรงงาน/อาคารสำนักงานให้เช่า เป็นต้น คาดว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าโฮลดิ้งจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย 80% และธุรกิจอื่นๆ 20%
- BCP (โกลเบล็ก) แนะ"ซื้อ"แต่ปรับลดราคาเหมาะสมเหลือ 36 บาท จากเดิม 42 บาท ปรับประมาณการกำไรปี 59 ลดลง 15% สู่ 4,716 ล้านบาท จากค่าการกลั่นเริ่มอ่อนตัวลงหลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น คาดราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้บริษัทมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันดิบ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นตัวหนุนต่อกำไรเพิ่มเติมเนื่องจากจะมีกำลังการผลิตใหม่จากประเทศญี่ปุ่น
- DELTA (ซีไอเอ็มบีฯ) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 101 บาท ปัจจัยผลักดันการเติบโตในปี 59 คือการขยายธุรกิจในอินเดียและรุกขยายผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ ประกาศแผนขยายกิจการในอินเดียที่เมือง Bangalore และ Husor และคาดว่าโรงงานที่ Husor จะเปิดดำเนินงานได้ภายในต้นปี 2560 และปันผล 3.10 บาทต่อหุ้น เท่ากับอัตราผลตอบแทน 4%
- S11 (ทรีนีตี้) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 11 บาท แนวโน้มปี 59 การเติบโตเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่อาจยังไม่ดีนักจากปัจจัยกดดันหลายด้านทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภัยแล้งที่อาจรุนแรง แต่ด้วยความชำนาญของผู้บริหารที่เน้นปล่อยสินเชื่อในบางพื้นที่ที่กำลังซื้อยังดีจะทำให้ยังโตได้ต่อเนื่อง คาดสินเชื่อปี 59 โตราว 15% YoY คาดกำไรสุทธิที่ 454 ล้านบาท เติบโต 29 %YoY ได้แรงหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีสัดส่วนลดลง รวมถึงการขาดทุนรถยึดที่ลดลงหลังจากราคารถจักรยานยนต์มือสองเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
ตลาดหุ้นเอเชียเปิดร่วงเช้านี้ หลังดาวโจนส์ดิ่ง,ราคาน้ำมันอ่อนแรง
ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดร่วงลงเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตราคาพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงไปกว่า 4% เมื่อคืนนี้ อันเนื่องจากข่าวที่ว่าซาอุดิอาระเบียยืนยันว่ายังไม่มีแผนที่จะลดการผลิตน้ำมัน
เมื่อเวลา 10.03 น.ตามเวลาโตเกียว ดัชนี MSCI Asia Pacific Index ปรับตัวลง 0.7%
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 15,851.13 จุด ลดลง 200.92 จุด, -1.25% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,908.71 จุด ลดลง 5.51 จุด, -0.29% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,332.66 จุด ลดลง 1.98 จุด, -0.02% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,654.65 จุด ลดลง 17.42 จุด, -0.65% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,676.43 จุด ลดลง 0.85 จุด, -0.05%
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 19,282.34 จุด ลดลง 132.44 จุด, -0.68% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,889.89 จุด ลดลง 13.44 จุด, -0.46% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 6,812.41 จุด ลดลง 6.93 จุด, -0.10%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นเอเชียเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดตลาดร่วงลง 188.88 จุด หรือ -1.14% เมื่อคืนนี้ ภายหลังจากที่ราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงไปกว่า 4% อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่า นายอาลี อัล-ไนมี รมว.น้ำมันของซาอุดิอาระเบียยืนยันว่า ซาอุดิอาระเบียยังไม่มีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 75.42 จุด เหตุวิตกราคาน้ำมันร่วง
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) จากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มเมืองแร่ เนื่องจากมีแรงเทขายจำนวนมากในตลาดน้ำมัน
ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลดลง 75.42 จุด หรือ 1.25% ที่ 5,962.31 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงตามแรงเทขายในตลาดน้ำมัน หลังจากซาอุดิอาระเบียระบุว่ายังไม่มีแผนที่จะลดกำลังการผลิต และแรงกดดันจากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ
หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ลดลง 6.1% หลังบริษัทประกาศลดการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะปกป้องดุลการชำระเงินและอันดับความน่าเชื่อถือ หลังจากกำไรของบริษัททรุดฮวบลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากราคาโลหะปรับตัวลดลง ส่งผลให้หุ้นแองโกล อเมริกัน และหุ้นเกลนคอร์ ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันปรับตัวลดลงตามไปด้วย
หุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ร่วงลง 6.7% หลังจากธนาคารเปิดเผยตัวเลขขาดทุนสุทธิ 2.36 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015 จากการที่หนี้เสียพุ่งขึ้น นอกจากนี้ สแตนชาร์ดยังคาดการณ์ว่าผลประกอบการจะยังคงซบเซาในปีนี้
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดร่วง เหตุราคาน้ำมันซบฉุดหุ้นพลังงานดิ่ง
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า บีเอชพี บิลลิตัน ประกาศลดการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังจากกำไรของบริษัททรุดฮวบลงอย่างหนัก
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.2% ปิดที่ 327.78 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,238.42 จุด ลดลง 60.28 จุด หรือ -1.40% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,416.77 จุด ร่วงลง 156.82 จุด หรือ -1.64% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,962.31 จุด ลดลง 75.42 จุด หรือ -1.25%
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงกว่า 4% เมื่อคืนนี้ อันเนื่องจากข่าวที่ว่าซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณยังไม่ลดการผลิตน้ำมัน โดยหุ้นบีพีร่วงลง 3.2% และหุ้น Technip SA ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของฝรั่งเศส ดิ่งลง 3.8%
หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ดิ่งลง 6.1% และเป็นปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงด้วย หลังจากทางบริษัทประกาศลดการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะปกป้องดุลการชำระเงินและอันดับความน่าเชื่อถือ หลังจากกำไรของบริษัททรุดฮวบลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากราคาโลหะปรับตัวลดลง
บีเอชพี บิลลิตัน ระบุว่า ทางบริษัทได้ปรับลดการจ่ายเงินปันผลลงสู่ระดับ 16 เซนต์ในช่วงครึ่งปีแรก จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 62 เซนต์ หลังจากกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลงสู่ระดับ 412 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลา 6 เดือนซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2558
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของบีเอชพี บิลลิตัน บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ ลงสู่ระดับ A จากระดับ A+ เหตุราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ ปัญหาท้าทายในตลาด และความไม่แน่นอนของอุปสงค์
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 188.88 จุด วิตกราคาน้ำมันดิ่ง
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงไปกว่า 4% หลังจากซาอุดิอาระเบียได้ปฏิเสธที่จะลดกำลังการผลิต โดยข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าวิกฤตราคาน้ำมันอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานและภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ผันผวนของสหรัฐ
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,431.78 จุด ร่วงลง 188.88 จุด หรือ -1.14% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,503.58 จุด ลดลง 67.02 จุด หรือ -1.47% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,921.27 จุด ลดลง 24.23 จุด หรือ -1.25%
ดัชนี ดาวโจนส์อ่อนแรงลงตั้งแต่ตลาดเปิดทำการ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยเมื่อคืนนี้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงไปกว่า 4% หลังจากนายอาลี อัล-ไนมี รมว.น้ำมันของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียยังไม่มีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน
นายอัล-ไนมีกล่าวว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อกระตุ้นราคานั้น จะไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับกล่าวว่า ควรให้ราคาปรับตัวตามกลไกตลาด ถึงแม้สิ่งนี้จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมันบางรายต้องปิดกิจการก็ตาม
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากความผันผวนของข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองในเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2015 สู่ระดับ 5.47 ล้านยูนิต
แต่ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในปัจจุบันของภาคการผลิตร่วงลงสู่ระดับ -4 ในเดือนก.พ. หลังจากอยู่ที่ระดับ 2 ในเดือนม.ค. เพราะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอุปสงค์ที่อ่อนแอ รวมทั้งการดิ่งลงของราคาพลังงาน
ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลงสู่ระดับ 92.2 ในเดือนก.พ. เนื่องจากผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ, สถานะการเงินส่วนบุคคล และแนวโน้มตลาดแรงงาน
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงานร่วงลงตามราคาน้ำมัน โดยหุ้นเชฟรอน คอร์ป ดิ่งลง 4.4% หุ้นอัลโค อิงค์ ร่วงลง 4.3% หุ้นฟรีพอร์ท แมคมอแรน ร่วงลง 8.7%
หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงเช่นกัน นำโดยหุ้นเจพี มอร์แกน ร่วงลง 4.2% และหุ้นซิตี้กรุ๊ป ปรับตัวลงอย่างน้อย 3.2%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอ่อนแรงลง โดยหุ้นแอปเปิล อิงค์ และไมโครซอฟท์ คอร์ป ต่างก็ร่วงลงกว่า 2.2%
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันนี้ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนก.พ., ยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ซึ่งรายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)
อินโฟเควสท์