WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET42ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าซึมลง นลท.ชะลอลงทุนรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯคืนนี้

   นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะซึมตัวลง และปริมาณการซื้อขายจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนอยู่ระหว้างรอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในคืนนี้ ในขณะที่วานนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีการประกาศออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ส่งผลให้มีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัว

    สำหรับ ปัจจุยภายในประเทศเอง ยังต้องติมตามตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 3/58 จะออกมาต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท จากระดับปกติที่ ราว 2 แสนล้านบาท เนื่องจากกลุ่มพลังงาน ที่จะมีขาดทุนสต็อกน้ำมัน และกลุ่มธนาคารที่จะมีกำไรลดลงจากการตั้งสำรอง

พร้อมให้แนวรับ 1,340 จุด ส่วนแนวต้าน 1,360 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน

     - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด(1 ต.ค.58) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 16,272.01 จุด ลดลง 12.69 จุด หรือ -0.08% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,627.08 จุด เพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ +0.15% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,923.82 จุด เพิ่มขึ้น 3.79 จุด หรือ +0.20%

     - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 158.03 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 326.64 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 5.51 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.09 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 5.49 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.40 จุด

    ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการเนื่องในวันหยุดเฉลิมฉลองวันชาติ

   - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(1 ต.ค.58) 1,349.00 จุด เพิ่มขึ้น 0.16 จุด(+0.01%)

    - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,345.15 จุด ลดลง 3.85 จุด, -0.29%

   - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(1 ต.ค.58) ปิดที่ 44.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 35 เซนต์ หรือ 0.8%

      - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(1 ต.ค.58)ที่ 8.11 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

      - เงินบาทเปิดวันนี้ 36.48/50 แนวโน้มยังอ่อนค่า ติดตามตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯคืนนี้

   - "ฟิทช์เรทติ้งส์" ชี้เสถียรภาพการเมืองกลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยง ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ อาจส่งผลปรับลดแนวโน้มเครดิตไทย แม้มองเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ด้าน "สมคิด" มั่นใจไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกฟื้นตัวชัด ขณะคลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้น ด้านพาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อปีนี้ติดลบครั้งแรกรอบ 6 ปี ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด

   - นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาโครงการซิงเกิ้ลเกตเวย์ และไม่มีแม้แต่นิยามคำว่าซิงเกิ้ลเกตเวย์ เพียงแต่นายกรัฐมนตรีได้เปรยว่าเป็นห่วงเด็กและเยาวชนจะเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

      - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนทันทีและไม่ต้องรอปีหน้า เพราะนักลงทุนบางส่วนอาจจะรอดูสถานการณ์ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนใน 6 เดือน หรือในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ถึงไตรมาสแรกของปีหน้า

     - นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือนตุลาคมนี้ ขณะเดียวกันจะเร่งรัดประกวดราคาโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวม 3 เส้นทาง ที่ ครม.ได้อนุมัติไปแล้ว คือ บางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 8.46 หมื่นล้านบาท, พัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 2.02 หมื่นล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 5.56 หมื่นล้านบาท

*หุ้นเด่นวันนี้

     - ERW(เคทีบี)แนะ"ซื้อ"เป้าหมาย 4.32 จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทำ New High ที่ 8 แสนคนในเดือนส.ค. ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มลูกค้า TOP 3 ของบริษัทจึงมองว่าจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงสุด นอกจากนี้ราคาปัจจุบันมีการปรับตัวลงมามากหลังเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเรามองว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ราคาปัจจุบันยังมี Upside 17%

ตลาดหุ้นเอเชียอ่อนตัวลงเช้านี้ ขณะจับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

    ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย. ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง เทียบกับระดับ 173,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี

      ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.5% แตะ 125.22 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.15 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 17,564.39 จุด ลดลง 158.03 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,172.94 จุด เพิ่มขึ้น 326.64 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,290.43 จุด ลดลง 5.51 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,979.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.09 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,796.36 จุด ลดลง 5.49 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,634.33 จุด เพิ่มขึ้น 0.40 จุด ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการเนื่องในวันหยุดเฉลิมฉลองวันชาติ

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดบวก 10.86 จุด หลังคลายวิตกเศรษฐกิจจีน

   ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนไปได้บ้าง หลังมีการเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น

    ดัชนี FTSE 100 ปิดเพิ่มขึ้น 10.86 จุด หรือ 0.18% ที่ 6,072.47 จุด

     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนบวก หลังจากสหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนก.ย.ขยับขึ้นแตะ 49.8 จาก 49.7 ในเดือนส.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในภาคการผลิตจีนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในเดือนที่แล้ว แม้ว่ายังคงอยู่ในภาวะหดตัว

       การที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับจีน ได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเหมือง เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติรายใหญ่

      หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน พุ่งขึ้น 2.4% ขณะที่แองโกล อเมริกัน ปรับขึ้น 0.7% และหุ้นริโอ ทินโต เพิ่มขึ้น 0.5%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ เหตุวิตกภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) หลังจากมีรายงานระบุว่า ภาคการผลิตของสหรัฐขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.ย. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

    ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.4% ปิดที่ 346.23 จุด

    ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,426.54 จุด ลดลง 28.75 จุด หรือ -0.65% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,509.25 จุด ร่วงลง 151.19 จุด หรือ -1.57% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,072.47 จุด เพิ่มขึ้น 10.86 จุด หรือ +0.18%

    ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันหลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของภาคการผลิตสหรัฐ โดยมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 53.0 ในเดือนส.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์, อุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดโลก, ภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน รวมทั้งการลดการลงทุนในภาคธุรกิจ

      นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของมาร์กิตที่ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนก.ย.ขยับลงมาอยู่ที่ 52.0 จาก 52.3 ในเดือนส.ค. แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อมูลเบื้องต้น

      ทั้งนี้ ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัวไม่มากนักในช่วงท้ายไตรมาส 3 ขณะที่การผลิตและธุรกิจใหม่ๆต่างขยายตัวเล็กน้อย ด้านหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมาร์กิต กล่าวว่า แม้ธนาคารกลางยุโรปได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมาก แต่ภาคการผลิตของยูโรโซนก็ยังไม่มีแนวโน้มขยายตัวมากนัก และมีความเสี่ยงที่จะชะงักงันอีกครั้ง

    หุ้นกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมร่วงลง โดยหุ้นดอยช์ เทเลคอม ดิ่งลง 5.2% หุ้น Scout24 Holding ร่วงลง 3.5% และหุ้นอัลไทซ์ เอ็นวี ร่วงลง 9.3%

     อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้น โดยหุ้นทุลโลว์ ออยล์ พุ่งขึ้น 9.6% และหุ้นเรพซอล ปรับขึ้น 3.7% ขณะที่หุ้นกลุมเหมืองแร่ขยับลงเล็กน้อย รวมถึงหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน และหุ้นแรนโกลด์ รีซอส

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 12.69 จุด เหตุข้อมูลศก.สหรัฐไร้ทิศทาง

    ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทาง โดยในขณะที่ข้อมูลด้านแรงงานยังคงแข็งแกร่งนั้น ข้อมูลภาคการผลิตกลับอ่อนแรงลง นอกจากนี้ ตลาดยังปรับตัวลงหลังจากผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปีนี้

      ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,272.01 จุด ลดลง 12.69 จุด หรือ -0.08% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,627.08 จุด เพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ +0.15% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,923.82 จุด เพิ่มขึ้น 3.79 จุด หรือ +0.20%

     ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาไร้ทิศทาง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 277,000 ราย แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง

    ขณะที่มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 53.0 ในเดือนส.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์, อุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดโลก, ภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน รวมทั้งการลดการลงทุนในภาคธุรกิจ

     ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีในเดือนส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยพุ่งขึ้น 0.7% สู่ระดับ 1.09 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2008

    นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปีนี้ โดยระบุว่า ศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับปัญหามากมาย ซึ่งรวมถึงวิกฤตผู้อพยพในยุโรป, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ

  ทั้งนี้ นางลาการ์ดคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นจะมีการขยายตัวปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่จะมีการขยายตัวในระดับต่ำเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

    หุ้นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงอย่างแอปเปิล และเอ็กซอนโมบิล ต่างก็ปรับตัวลงอย่างน้อย 0.4% ขณะที่หุ้นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบดีดตัวขึ้น โดยหุ้นมาร์ติน มาเทเรียลส์ และหุ้นวัลแคน มาเทเรียลส์ ปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 3.1%

   นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 173,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!