WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าปรับลงตามต่างประเทศ กังวลศก.จีน-ราคาน้ำมันลดยังกดดัน

     นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสปรับลดลงมาจิตวิทยาแถว 1,506 และ 1,500 จุด ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศการซื้อขายของตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก ภาพโดยรวมของตลาดสหรัฐปรับลง ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงอยู่ เมื่อคืนวันศุกร์ตลาดหุ้นยุโรปก็อ่อนตัวลง

     เปิดตลาดช่วงเช้านี้หุ้นเอเชียก็ค่อยๆปรับลดลงมา แม้กระทั่งตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ประกาศเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วก็ลดลงเช่นกัน เพื่อ Conservative ตลาดหุ้นบ้านเราเรื่องการไล่ราคาคงไม่มี น่าจะเป็นกรอบของการตั้งรับมากกว่า

พร้อมให้กรอบแนวรับ 1,506 และ 1,500 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :

    ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(12 ธ.ค.)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,280.83 จุด ร่วงลง 315.51 จุด(-1.79%),ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,653.60 จุด ลดลง 54.57 จุด(-1.16%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,002.33 จุด ลดลง 33 จุด(-1.62%)

   - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI ลดลง 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด ลดลง 260.09 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิด ลดลง 271.36 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิด ลดลง 39.38 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิด ลดลง 18.59 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิด ลดลง 11.65 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิด ลดลง17.12 จุด

    - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(12 ธ.ค.) 1,514.95 จุด ลดลง 11.86 จุด(-0.78%)

    - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,894.02 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.57

     - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(12 ธ.ค.)ที่ 57.81 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 2.14 ดอลลาร์ หรือ 3.6%

    - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(12 ธ.ค.)ที่ 3.64 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

    - เงินบาทเปิด 32.80/81 คาดแนวโน้มแกว่งแคบรอ FOMC-กนง.ครั้งสุดท้ายของปี

    - นักวิเคราะห์เสียงแตก ประเมินกนง."ลด-คง" ดอกเบี้ยนโยบาย ฝ่ายหนุน "ลดดอกเบี้ย" ประเมินเศรษฐกิจอ่อนแรงเกินคาด เงินเฟ้อต่ำ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะฝ่าย "คงดอกเบี้ย" ชี้ไม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เหตุปัญหาหลักจากเศรษฐกิจโลก กดส่งออกและท่องเที่ยวชะลอ หวั่นเป็นตัวเร่งความเสี่ยงหนี้ครัวเรือน

    - ภาคธุรกิจ รับอัตราขึ้นเงินเดือน-โบนัส ปีนี้ "ต่ำกว่า" หรือ "เท่ากับ" ปีที่ผ่านมา หลังเผชิญปัจจัยลบสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจในประเทศ ฉุดยอดขายพลาดเป้า ตัวแปรกดกำลังซื้อในปีหน้าฟื้นตัวช้า ด้านผลสำรวจสมาคมจัดการบุคคลแห่งประเทศ พบปีนี้ขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยทุกกลุ่มธุรกิจอยู่ที่ 5.82% ลดลงจาก 5.92% ในปีที่ผ่านมา

    - "ปลิว" เผยส่งหนังสือถึงรัฐบาลพร้อมเข้าร่วมประมูลเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ยันพร้อมเข้าประมูลโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลวงเงิน 5 แสนล้าน ตั้งเป้าส่วนแบ่งไว้ 25% เดินหน้าธุรกิจก่อสร้าง-ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานทางเลือกประเทศเพื่อนบ้านปีหน้า พร้อมศึกษาข้อกฎหมายหาหุ้นส่วนทำธุรกิจในพม่า

    - นักลงทุนแห่ "ชอร์ตหุ้น" กลุ่มพลังงานเผยปตท.มูลขายชอร์ตสัปดาห์เดียวกว่า 645 ล้านบาท โบรกเกอร์ ชี้สัญญาณ "ยืมหุ้นขาย" เริ่มหนักในช่วงน้ำมันผันผวนมองระยะสั้นหวังนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อยากแต่ระยะยาวยังน่าสนใจ ด้านบล.เอเซียพลัสประเมินราคาน้ำมันเผชิญจุดต่ำสุด เหมาะถือลงทุนยาว

*หุ้นเด่นวันนี้

  - CK,STEC(เคเคเทรด)"ซื้อ"คาดการประมูลของรถไฟทางคู่สายแรกคือ ฉะเชิงเท่า-คลองสิบเก้า-แก่งคอย มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท จะเป็นสายแรกที่เริ่มต้นในปี 2558 โดยทาง รฟท. มีแผนเตรียมเปิด ประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 2 เส้นทาง คือ 1) ชุมทางจิระ-ขอนแก่น มูลค่าก่อสร้าง 2.6 หมื่นล้านบาท และ 2) ประจวบฯ-ชุมพร มูลค่าก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้านบาท ภายในต้นปี 2558 และอีก 4 เส้นทาง คาดว่าจะประกวดราคาก่อสร้างได้ปลายปี 58 เราคาดว่าโอกาสรับงานจากภาครัฐของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเปิดซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เกิดขึ้น เราคาดว่าจะเห็นการเร่งการประมูลเกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดงานในมือของกลุ่มที่เติบโต

   -IFEC(เคจีไอ)"ซื้อ"เป้าพื้นฐาน12.8 บาท Best Case 18.9 บาท) จากการเข้าพบผู้บริหารมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนของ IFEC ประเมินธุรกิจพลังงานลมเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยประเมินโครงการที่ ปากพนัง กำลังการผลิตไฟฟ้า 10MW จะเริ่ม COD ในเดือน พ.ค. 58 และจะเริ่มพัฒนาโครงการขนาดโครงการละ 90MW ที่ เกาะใหญ่และ จ. ยะลา (รวม 180MW) ต่อจากโครงการที่ปากพนัง (ทำการศึกษาวัดลม และทำประชาพิจารณ์พร้อมแล้ว) โครงการโซลาร์ฟาร์มที่กัมพูชา คาดจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มต้นการก่อสร้างในต้นปี 2558 คาดมีโอกาสที่กำลังการผลิตไฟฟ้าที่กัมพูชาจะเท่ากับ 20MW มากกว่าสมมติฐานเดิมที่ 15MW

   -AAV(เมย์แบงก์กิมเอ็ง)"ซื้อ"เป้า4.90บาท คาดหุ้นกลุ่มสายการบินจะได้รับ Sentiment บวกต่อเนื่อง จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเหลือ US$57.81/barrel ทำระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี คาดผลประกอบการ 4Q57 จะพลิกเป็นกำไรสุทธิ เนื่องจากเป็น High Season ของธุรกิจท่องเที่ยว จึงส่งผลบวกโดยตรงต่อ Loading Factor ของ AAV ทั้งเส้นทางในประเทศ และเส้นทางต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของบริษัท และราคาน้ำมันดิบ NYMEX ที่ปรับตัวลงมากถึง -36.6% QTD ใน 4Q57 เหลือ US$57.81/barrel (สิ้นสุดวันที่ 12 ธ.ค.) ย่อมส่งผลบวกโดยตรงต่อต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนหลักให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญใน 4Q57 – 1Q58 และมีโอกาสที่จะเป็น Positive Surprise ให้กับตลาด

ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงเช้านี้ เหตุวิตกตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งหนัก

    ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ โดยได้รับปัจจัยถ่วงจากตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดิ่งลงเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

   ดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วงลง 0.8% เมื่อเวลา 10.01 น.ตามตลาดหุ้นโตเกียว

   ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 17,111.49 จุด ลดลง 260.09 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 22,977.84 จุด ลดลง 271.36 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,987.95 จุด ลดลง 39.38 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,903.12 จุด ลดลง 18.59 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,312.48 จุด ลดลง 11.65 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,715.87 จุด ลดลง 17.12 จุด

  ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนม.ค. ลดลงต่ำกว่า 58 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันศุกร์ หลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดี ราคาได้ลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2552 ซึ่งการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันได้จุดกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก   

   นอกจากนี้ ในรายงานตลาดน้ำมันประจำเดือนธ.ค.ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2558 ลงอีก 230,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 900,000 บาร์เรล/วัน

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปร่วงหนัก หลังหุ้นพลังงานถูกกระหน่ำขาย

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (12 ธ.ค.) เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องได้กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานทั่วโลก

   ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 2.6% ปิดที่ 330.42 จุด โดยเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน

    ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดลดลง 116.93 จุด หรือ 2.77% ที่ 4,108.93 จุด ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดลดลง 267.80 จุด หรือ 2.72% ที่ 9,594.73 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนลดลง 161.07 จุด หรือ 2.49% ปิดที่ 6,300.63 จุด

    การร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ ส่งผลให้ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนี Stoxx Europe 600 ดิ่งลงไปถึง 5.8% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบกว่า 3 ปี

    โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นบริษัทพลังงานยุโรปลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ก็ร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2555 หลังจากที่ราคาน้ำมันร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายยังถูกกดดันจากสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองในกรีซ

   ดัชนี หุ้นกรีซปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนก.ค.2556 ในวันศุกร์ นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารอย่าง พิแรอุส แบงก์ และเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ กรีซ ที่ร่วงลงกว่า 27% ในสัปดาห์นี้ ติดกลุ่มหุ้นที่ร่วงลงหนักสุดในบรรดาหุ้นที่คำนวณในดัชนี Stoxx 600

   รัฐบาลกรีซประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่าจะเริ่มกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เร็วขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่านายกรัฐมนตรี แอนโทนิส ซามาราส จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลไม่เพียงเฉพาะในกรีซ แต่ยังลามไปทั่วภูมิภาค เพราะมีความเป็นไปได้ที่พรรคไซรีซา ซึ่งต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด จะคว้าชัยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น อันจะสร้างความเสี่ยงต่อยูโรโซนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

   หุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซถูกเทขาย หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอีกวานนี้ ต่อเนื่องจากวันก่อน และแตะระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงสุดเมื่อปี 2552 เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด และอุปสงค์ที่อ่อนแอ

   โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 62 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบสหรัฐลดลงต่ำกว่า 58 ดอลลาร์

   ด้านหุ้นบริษัทเหมืองแร่ดิ่งลง 8.5% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว โดยหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ลบ 10% และริโอ ทินโต ลบ 7.4%

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 161.07 จุด หลังราคาน้ำมันยังร่วงไม่หยุด

    ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (12 ธ.ค.) โดยเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เนื่องจากการร่วงลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันได้ถ่วงภาวะการซื้อขาย นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอกว่าคาดการณ์

   ดัชนี FTSE 100 ลดลง 161.07 จุด หรือ 2.49% ปิดที่ 6,300.63 จุด และตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีร่วงลงถึง 6.6% ซึ่งลดลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2554

    หุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซถูกเทขาย หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอีกวานนี้ ต่อเนื่องจากวันก่อน และแตะระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงสุดเมื่อปี 2552 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก ภายหลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 2.9% แตะที่ 61.83 ดอลลาร์/บาร์เรล ในวันศุกร์

  นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ทั้งในยูโรโซน และในอียู

  ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยว่า ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างของอังกฤษในเดือนต.ค. ร่วงลงถึง 2.2% เทียบกับในเดือนก.ย.

  หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลง 2.5% โดยบีเอชพี บิลลิตัน และริโอ ทินโต สองบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ของโลก ต่างปรับตัวลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน ด้านเบลเวย์ บริษัทรับสร้างบ้าน ปรับตัวลง หลังจากที่ถูกปรับลดอันดับความน่าลงทุน

    ขณะที่หุ้นเซเวิร์น เทรนท์ และยูไนเต็ด ยูทิลิตีส์ กรุ๊ป ปรับตัวขึ้น หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการประปาของอังกฤษออกรายงานค่าน้ำ

    ทั้งนี้ หุ้นบวกนำโดยยูไนเต็ด ยูทิลิตีส์ กรุ๊ป พุ่งขึ้น 3.56% หุ้นเซเวิร์น เทรนท์ ดีดขึ้น 1.15% หุ้นเซนส์บิวรี บวก 0.53% และเวียร์ กรุ๊ป ขยับขึ้น 0.24%

   สำหรับ หุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปิโตรแฟค 6.35% โคคา-โคล่า เอชบีซี 5.42% อาวีว่า 3.92% เซนต์ เจมส์ เพลซ 3.79% และโวดาโฟน กรุ๊ป 3.43%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 315.51 จุด เหตุน้ำมันร่วงจุดกระแสวิตกศก.โลก

     ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดิ่งลงเมื่อคืนนี้ (12 ธ.ค.) ส่งผลให้ตลอดทั้งสัปดาห์ดัชนีร่วงลงหนักสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากภาวะการซื้อขายถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้จุดกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

     ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 315.51 จุด หรือ 1.79% ปิดที่ 17,280.83 จุด ดัชนี S&P 500 ลบ 33.00 จุด หรือ 1.62% ปิดที่ 2,002.33 จุด ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 54.57 จุด หรือ 1.16% ปิดที่ 4,653.60 จุด

    สำหรับ ตลอดสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 3.8% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 และดัชนี S&P ร่วง 3.5% หนักสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2555 หรือในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ดัชนี Nasdaq ลดลง 2.7% ในรอบสัปดาห์

   หุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากราคาน้ำมันร่วงลงจนฉุดไม่อยู่ โดยสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนม.ค. ลดลงต่ำกว่า 58 ดอลลาร์/บาร์เรล ในวันศุกร์ หลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดี ราคาได้ลดลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2552

   วานนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 2.14 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 57.81 ดอลลาร์/บาร์เรล

    การปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันได้จุดกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถูกตอกย้ำด้วยรายงานตลาดน้ำมันประจำเดือนธ.ค.ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่เผยแพร่วานนี้ โดย IEA ได้ปรับลดแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2558 ลงอีก 230,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 900,000 บาร์เรล/วัน จากการคาดการณ์ว่าการบริโภคเชื้อเพลิงจะลดต่ำลงในรัสเซีย และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ

    การขยายตัวในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ กำลังชะลอตัวลง นอกจากนี้ IEA ชี้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงจะสร้างความเสี่ยงต่อยุโรปและญี่ปุ่น เนื่องจากทั้งยุโรปและญี่ปุ่นต่างเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อต่ำที่ต่ำมากอยู่แล้ว

   ความวิตกกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะลุกลามมาถึงสหรัฐ ได้กระตุ้นให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น เพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เช่น พันธบัตร

   รายงานของ IEA มีขึ้นหลังจากที่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบในปีหน้าเช่นกัน

   ทั้งนี้ แม้ดัชนีหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี เพราะได้แรงหนุนจากรายงานยอดค้าปลีกเดือนพ.ย.ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ จำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐซึ่งปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว ยังช่วยหนุนมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับตลาดแรงงานของสหรัฐด้วย

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ออกมาสดใส ไม่สามารถช่วยหนุนให้ตลาดปิดแดนบวกได้ในวันศุกร์ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนธ.ค.ของทอมสัน รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน แตะที่ 93.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 8 ปี และดีกว่าการคาดการณ์ของตลาด

   ขณะที่กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 0.2% ในเดือนพ.ย. นำโดยการปรับตัวลงของราคาพลังงาน

   นอกจากการร่วงลงของราคาน้ำมันแล้ว ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีน โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบรายปีในเดือนพ.ย. ลดลงจากที่เพิ่มขึ้น 7.7% ในเดือนต.ค. และ 8% ในเดือนก.ย.

    อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!