- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Tuesday, 02 December 2014 10:33
- Hits: 2956
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าลุ้นฟื้นตัว-แต่ภาพรวมแกว่งแคบ เล็งกลุ่มพลังงานรีบาวน์
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเชียพลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ก็คงจะบวกเพียงเล็กน้อย ภาพโดยรวมยังเป็นลักษณะของการแกว่งตัวแคบ เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลงไปค่อนข้างแรงเมื่อวานนี้หลังราคาน้ำมันโลกลดลง แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาราคาน้ำมันมีการรีบาวน์ขึ้นมาได้บ้างดังนั้นมองว่ากลุ่มพลังงานก็น่าจะรีบาวน์ได้บ้างเช่นกัน
นอกจากนี้ มองว่า หุ้นในกลุ่มอื่นน่าจะยังช่วยประคองตลาดฯไว้ได้ด้วย ส่วนหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนมีโอกาสที่จะปรับตัวลงต่อจากแรงขายทำกำไร เนื่องจากกลุ่มนี้ให้ return เกิน 200% อยู่
ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้มีการเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ โดยนอกประเทศยังไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ คงรอดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB)ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ แต่เชื่อว่าจะไม่มีอะไร เพราะขณะนี้สัญญาณเศรษฐกิจทั้งจากฝรั่งเศส และเยอรมัน ก็ดีขึ้น
พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,582-1,602 จุด
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :
- ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(1 ธ.ค.)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,776.80 จุด ลดลง 51.44 จุด(-0.29%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,727.35 จุด ลดลง 64.28 จุด(-1.34%),ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,053.44 จุด ลดลง 14.12 จุด(-0.68%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ ลดลง 109.04 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ ลดลง 12.34 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 32.66 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ ลดลง 19.35 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ ลดลง 5.82 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 19.30 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 1.27 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(1 ธ.ค.)1,593.82 จุด ลดลง 0.09 จุด(-0.01%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6.81 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(1 ธ.ค.)ที่ 69 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.85 ดอลลาร์
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(1 ธ.ค.)ที่ 8.11 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.77/79 กลับมาแข็งค่า แต่ปริมาณซื้อขายเบาบาง
- สรท.ประเมินส่งออกปี 2558 โตระดับต่ำ 2.5% เหตุตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัว-อียูตัดจีเอสพี ชี้ศักยภาพส่งออกไทยร่วงต่ำสุดในอาเซียน จี้รัฐเร่งปรับยุทธศาสตร์เป็นเทรดดิ้งเนชั่น เพิ่มยอดส่งออก ด้านพาณิชย์ยังมั่นใจตามเป้า 4% ขณะ "กอบศักดิ์" มองปีหน้าเศรษฐกิจโลกผันผวน เหตุสหรัฐเตรียมดูดสภาพคล่องกลับ เชื่อ 2 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยขยับปีละ 2%
- อุตสาหกรรมยานยนต์ มั่นใจ พ้นจุดถดถอย "จักรมณฑ์" ชี้ชัดการเมืองนิ่ง โครงการรถคันแรกจบถาวร ดันตลาดปรับตัวดีขึ้น เชื่อปีหน้ายอดผลิต 2.2 ล้านคันระบุปี 59 โครงสร้างภาษีใหม่ "จุดเปลี่ยน" อุตสาหกรรมยานยนต์ ดันการพัฒนาเทคโนโลยีผลิต เผยเตรียมเปิดระบบข้อมูลรถยนต์ภายใน 1 ปี หวังผู้บริโภคได้รับเป็นธรรม ค่ายรถเพิ่มขีดแข่งขัน ลุ้น "ไฮบริด" โปรดักท์ แชมเปี้ยนใหม่ ด้านเอกชนมั่นใจปีหน้ายอดขายโต เล็งใช้ประโยชน์ เออีซี ขับเคลื่อนธุรกิจ
- นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ย. 2557 เท่ากับ 107.19 สูงขึ้น 1.26% เทียบกับเดือน พ.ย. 2556 ถือว่าขยายตัวต่ำสุดในรอบ 60 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.4% และลดลง 0.12% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2557 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 11 เดือน ปรับตัวสูงขึ้นแค่ 2.02%
- นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมจะมาหารือกับ ก.ล.ต. เพื่อหาแนวทางให้หน่วยงาน เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง บริษัท ท่าอากาศยานไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ได้
*หุ้นเด่นวันนี้
- GFPT(ดีบีเอส วิคเคอร์ส)"ซื้อ"เป้า 23 บาท หนึ่งในหุ้น Top Pick ในกลุ่มธุรกิจเกษตร จุดเด่น คือ 1) ดำเนินธุรกิจไก่ครบวงจร (ฟาร์ม-อาหารสัตว์-แปรรูป) และมีการขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง, 2) อุปสงค์ไก่ในประเทศและตลาดส่งออกเติบโตสม่ำเสมอ เพราะเนื้อไก่เป็นแหล่งโปรตีนราคาต่ำเมื่อเทียบกับเนื้อสุกร, เนื้อโค, เนื้อแกะ &แพะ, กุ้ง, 3) บริหารงานอย่างระมัดระวังและโปร่งใส ทั้งนี้ แนวโน้ม 4Q57 และปี 58 ยังไปได้ดี คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสสุดท้ายของปี 57 จะอยู่ในระดับ 450-500 ล้านบาทได้ โดยส่วนแบ่งกำไรจาก GFN และ McKey ยังอยู่ในระดับสูง
- SINGER(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ"เป้าปี 2015 ที่ 19 บาท ปรับกำไรสุทธิปีนี้ลง 20% เหลือ 278 ล้านบาท ลดลง 13% Y-Y จากกำลังซื้อของลูกค้าในกลุ่มรากหญ้าและเกษตรกรที่ฟื้นตัวช้า และใน 3Q14 บริษัทยังตั้งสำรองสินค้าที่เคลื่อนไหวช้าและมีการยึดคืนสินค้าที่ค้างกำหนดชำระต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่เชื่อว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำที่สุดไปแล้วใน 3Q14 และค่อยๆฟื้นใน 4Q14 แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติจนกว่าจะปีหน้า (คาดกำไรใน 4Q14 +30% Q-Q, +39% Y-Y) จึงปรับกำไรปี 2015 ลงเล็กน้อย 12% เป็นเติบโต 29% Y-Y ยังไม่รวมโอกาสในการซื้อกิจการในอนาคต ราคาหุ้นที่ปรับลงกว่า 30% ตั้งแต่กลางปีตามกำไรที่ลดลงใน 2Q-3Q14 ทำให้มี PE ปีหน้าเพียง 10.4 เท่า
- DEMCO (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง)"ซื้อเก็งกำไร"เป้า 17 บาท มองว่าข่าวเชิงลบของผู้บริหารของ WEH ที่สร้างความกังวลไปถึง DEMCO นั้น ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจกดดันต่อราคาเหมาะสมของ DEMCO ได้ถึง 38% แต่ตราบที่หน้างานก่อสร้างของ WEH ยังเดินได้ และ แผนการ IPO ของ WEH ยังคงอยู่ ราคาปิดวานนี้เริ่มสร้าง upside แล้ว 4% ขอให้นักลงทุนติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางการลงทุน โดยประเด็นนี้ยังถือเป็นประเด็นส่วนตัวของผู้บริหาร WEH เท่านั้น
ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ลดลงเช้านี้ หลังหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหดตัว
ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ โดยได้รับปัจจัยถ่วงจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่อ่อนตัวลง หลังหุ้นแอปเปิล อิงค์ ร่วงลงอย่างหนักในตลาดหุ้นนิวยอร์ก
ดัชนี MSCI Asia Pacific Index (MXAP) เคลื่อนไหวเล็กน้อยที่ระดับ 139.67 จุด เมื่อเวลา 9.13 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 17,481.06 จุด ลดลง 109.04 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,667.82 จุด ลดลง 12.34 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,400.11 จุด เพิ่มขึ้น 32.66 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,098.36 จุด ลดลง 19.35 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,959.40 จุด ลดลง 5.82 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,324.94 จุด เพิ่มขึ้น 19.30 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,779.54 จุด เพิ่มขึ้น 1.27 จุด
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดร่วง 66.25 จุด เหตุกังวลภาคการผลิตจีน,สหรัฐ
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมือง เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับข้อมูลภาคการผลิตจีนที่ชะลอตัวลงในเดือนพ.ย. ขณะที่สหรัฐก็รายงานถึงภาคการผลิตที่ขยายตัวลดลงเช่นกัน
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 66.25 จุด หรือ 0.99% ปิดที่ 6,656.37 จุด
สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนพ.ย.ลดลงแตะ 50.3 จาก 50.8 ในเดือนต.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรยากาศทางธุรกิจยังคงซบเซา ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซา โดยเมื่อคืนนี้ มาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนพ.ย.ลดลงแตะ 54.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จาก 55.9 ในเดือนต.ค.
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย.ลดลงสู่ระดับ 58.7 จาก 59.0 ในเดือนต.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของสหรัฐขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย
หุ้นทูลโลว์ ออยล์ ดิ่งลง 6% ขณะที่หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน และหุ้นริโอ ทินโต ต่างปรับตัวลงกว่า 1%
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากกลุ่มโอเปคมีมติคงเพดานการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลสำรวจของมาร์กิตที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนชะลอตัวลงในเดือนพ.ย.
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.5% ปิดที่ 345.64 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,377.33 จุด ลดลง 12.85 จุด หรือ -0.29% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,963.51 จุด ลดลง 17.34 จุด หรือ -0.17% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,656.37 จุด ลดลง 66.25 จุด หรือ -0.99%
ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงหลังจากผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนพ.ย.ปรับตัวลงแตะ 50.1 ในเดือนพ.ย. จากระดับ 50.6 ในเดือนต.ค. และลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นเดือนพ.ย.ที่ระดับ 50.4 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนเข้าสู่ภาวะชะงักงัน
หุ้นกลุ่มพลังงานยังคงร่วงลงหลังจากกลุ่มโอเปคมีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันในการประชุมล่าสุด ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าการร่วงลงของราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทพลังงาน โดยหุ้นทุลโลว์ ออยล์ ร่วงลง 6% และหุ้นบีพี ปรับตัวลง 1.4%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลงเช่นกัน นำโดยหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ซึ่งร่วงลง 2.2% และหุ้นริโอทินโต ปรับตัวลง 1.1%
ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง โดยหุ้นเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ และหุ้นบีเอ็นพี พาริบาส์ ต่างก็ปรับตัวลงกว่า 1.5%
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ข้อมูลศก.สหรัฐซบเซา ฉุดดาวโจนส์ปิดลบ 51.44 จุด
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) หลังจากผลสำรวจของสหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ (NRF) ระบุว่า ยอดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าซบเซาลง และสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย.ของสหรัฐชะลอตัวลง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,776.80 จุด ลดลง 51.44 จุด หรือ -0.29% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,727.35 จุด ลดลง 64.28 จุด หรือ -1.34% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,053.44 จุด ลดลง 14.12 จุด หรือ -0.68%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา หลังจาก NRF รายงานว่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าปรับตัวลงเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากโปรโมชั่นส่งเสริมการขายล่วงหน้า การซื้อของออนไลน์ และเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น ได้เปลี่ยนรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นช่วงสุดสัปดาห์ที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดของปี
ผลสำรวจประเมินว่ายอดการใช้จ่ายทั้งหมดในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า ตั้งแต่วันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 5.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าระดับ 5.74 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากมาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนพ.ย.ลดลงแตะ 54.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน และสถาบัน ISM ของสหรัฐรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย.ลดลงสู่ระดับ 58.7 จาก 59.0 ในเดือนต.ค.
หุ้นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ร่วงลง รวมถึงหุ้นวอล-มาร์ทซึ่งปรับตัวลง 1.51% และหุ้นเมซี ดิ่งลง 2.65%
หุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 3.26% หลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักถึง 6.4% ในระหว่างวัน
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์ก โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล และหุ้นเชฟรอน ปรับตัวขึ้นกว่า 2% ขณะที่หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม คอร์ป พุ่งขึ้น 3.8% และหุ้นโคโนโคฟิลิปส์ ทะยานขึ้น 2.6%
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ย.จาก ADP , ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพ.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธ
ส่วนในวันพฤหัสบดี สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ และในวันศุกร์จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพ.ย.
อินโฟเควสท์