- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Monday, 27 October 2014 09:57
- Hits: 2669
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าแกว่ง Sideway ไร้ปัจจัยใหม่-ลุ้นผลประกอบการบจ.
นายธีรวุฒิ กานต์นิภากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า มองดัชนี
ตลาดหุ้นไทยวันนี้ Sideway ในกรอบ 1,530-1,545 จุด โดยปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยบวกหรือลบใหม่ๆเข้ามากระทบดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยรับรู้ไปหมดแล้ว
สำหรับ ปัจจัยสัปดาห์นี้ที่ต้องติดตาม คือ การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่จะทยอยออกมา
ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียช่วงเช้านี้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวก และ แดนลบ
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :
- ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(24 ต.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 16,805.41 จุด เพิ่มขึ้น 127.51 จุด(+0.76%),ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,483.72 จุด เพิ่มขึ้น 30.92 จุด(+0.69%),ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,964.58 จุด เพิ่มขึ้น 13.76 จุด(+0.71%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 112.64 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ ลดลง 26.80 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 25.50 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 8.22 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 9.26 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 2.96 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(24 ต.ค.)1,539.91 จุด เพิ่มขึ้น 7.19 จุด(+0.47%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,719.05 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ต.ค.57
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(24 ต.ค.)ที่ 81.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 1.08 ดอลลาร์ หรือ 1.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(24 ต.ค.)ที่ 4.52 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.38/40 แนวโน้มแกว่งแคบ รอลุ้นผลประชุมเฟด-GDP สหรัฐฯ
- "แบงก์ชาติ" ยอมรับส่งออกไทยส่อติดลบฉุดเศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงโตต่ำ 1.5% แนะทำใจ ลุ้นปีหน้าโตได้ 4.8% หวังลงทุนรัฐปลุกลงทุน บริโภคเอกชนฟื้น พร้อมจี้วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนส่งออกระยะยาวหลังไทยตกขบวนผลิตสินค้าเทคโนโลยีใหม่ด้านนโยบายการเงินส่งสัญญาณ "คงดอกเบี้ยยาว"
- ภาคธุรกิจ เผยกำลังซื้อต่างจังหวัดยัง "ซบเซา" เหตุราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนระวังใช้จ่ายโหมแคมเปญ หวังยอดขายเข้าตามเป้า ลุ้นอานิสงส์ "มาตรการรัฐ" ปลุกความเชื่อมั่นกระตุ้นใช้จ่ายช่วงปลายปี พร้อมเป็นแรงส่งหนุนเศรษฐกิจปีหน้าฟื้นเต็มตัว
- พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 กรอบการลงทุน 6.2-7.9 หมื่นล้านบาท ในเดือน พ.ย.นี้แน่นอน
- กรมธุรกิจพลังงานเตรียมเชิญกระทรวงคมนาคม พาณิชย์ อุตฯ หารือปรับลดชนิดน้ำมัน กำหนดทิศทางเชื้อเพลิงภาคขนส่งทั้งหมด อ้างส่งผลดีให้กับประเทศ ช่วยลดต้นทุนทั้งด้านการผลิต คาดทำแผนเสร็จเร็วสุดปี 2557 นี้ ด้านสถาบันปิโตรเลียมฯ ชี้ อนาคตยกเลิกโซฮอล์ 91 เหลืออี 20 และอี 85 เป็นน้ำมันหลักประเทศ
*หุ้นเด่นวันนี้
- CPALL(เมย์แบงก์ กิมเอ็ง)"ซื้อ"เป้า 55 บาท คาดผลประกอบการ 3Q57 ฟื้นตัวน้อยกว่าที่เราเคยประเมิน เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและโปรโมชั่นแสตมป์ได้รับการตอบรับไม่ดีเหมือนปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ SSSG กลับไปติดลบ 2% อย่างไรก็ดี คาดกำไรยังเติบโต 19% QoQ และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นใน 4Q57 จากเศรษฐกิจที่ขยายตัว ประกอบกับเข้าสู่ช่วงเทศกาลซึ่งผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น อีกทั้งได้ประโยชน์จาก MAKRO ที่ยังเติบโตดีและมีการเปิดสาขาจำนวนมาก
- DTAC(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ"เป้าปี 2015 ที่ 113 บาท แม้กำไรใน 3Q14 จะต่ำกว่าที่คาด และทำให้ปรับกำไรปกติปีนี้ลง 5% เป็นหดตัว 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ราคาหุ้นที่ปรับลงมาทำให้ upside กว้างขึ้น และมีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่น่าสนใจ 6% ต่อปี
- TUF(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ"เป้าปี 2015 ที่ 84 บาท ศุกร์ที่ผ่านมามี Big lot 45 ล้านหุ้น ที่ราคา 69 บาทจากการขายของ Standard Charter Private Equity ที่ใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญ เป็นการปลดล็อกความกังวลของตลาด โดยกำไรปกติ 3Q14 ที่คาดว่าจะทำ new high +26% Q-Q, +94% Y-Y และปี 2015 ได้ประโยชน์เต็มปีจากการซื้อ MerAlliance และ King Oscar
- BCP(เคเคเทรด)"เก็งกำไร"มูลค่าเหมาะสม 36 บาท คาด 3Q57 มีกำไร 222 ล้านบาท
ตลาดหุ้นเอเชียพุ่งขึ้นเช้านี้ ขานรับอีซีบีเผยผลการทดสอบ stress test
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นเช้านี้ หลังธนาคารส่วนใหญ่ในยุโรปผ่านการทดสอบ stress test ซึ่งส่งสัญญาณว่าสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวดีขึ้น
ดัชนี MSCI Asia Pacific Index (MXAP) เพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 138.22 จุด เมื่อเวลา 9.01 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 15,404.28 จุด เพิ่มขึ้น 112.64 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,275.40 จุด ลดลง 26.80 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,671.51 จุด เพิ่มขึ้น 25.50 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,933.91 จุด เพิ่มขึ้น 8.22 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,231.81 จุด เพิ่มขึ้น 9.26 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,821.82 จุด เพิ่มขึ้น 2.96 จุด
ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ทั้งสิ้น 130 แห่ง ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า โดยผลปรากฏว่ามีธนาคารพาณิชย์เพียง 25 แห่งในยูโรโซนที่ไม่ผ่านการทดสอบ
อีซีบี ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 25 แห่งที่ไม่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤตนี้ มีฐานเงินทุนต่ำกว่าข้อกำหนดของอีซีบีที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านยูโร
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 30.42 จุด หลังจีดีพีชะลอตัว, หุ้นเพียร์สันร่วง
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วันเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีอังกฤษที่ขยายตัวช้าลงในไตรมาส 3
ดัชนี FTSE 100 ลบ 30.42 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 6,388.73 จุด อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีหุ้นลอนดอนดีดตัวขึ้น 1.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 2 เดือน หลังจากที่ปรับตัวลงติดต่อกันมาหลายสัปดาห์
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยวานนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอังกฤษขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 0.9%
ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาส 3 ขยายตัว 3.0% ซึ่งชะลอลงจากระดับ 3.2% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาส 2
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษอ่อนแอลงในไตรมาส 3 นั้น เป็นเพราะภาคบริการชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 0.7% จาก 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคบริการมีสัดส่วนถึงเกือบ 80% ของเศรษฐกิจอังกฤษ
เศรษฐกิจอังกฤษนั้นถือได้ว่าขยายตัวโดดเด่นที่สุดในบรรดาประเทศแถบตะวันตกในปีนี้ การชะลอตัวดังกล่าวจึงนับเป็นสัญญาณล่าสุดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกำลังอ่อนแรงลง
ขณะเดียวกันภาวะการซื้อขายยังถูกกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้ออีโบลา หลังมีรายงานว่าแพทย์ชาวนิวยอร์กที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกีนีในแอฟริกาตะวันตก กลายเป็นบุคคลรายที่ 4 ในสหรัฐที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว และเป็นรายแรกในนิวยอร์ก
นอกจากนี้ มีรายงานว่า อังกฤษจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้างบประมาณของสหภาพยุโรปเพิ่มอีก 2.1 พันล้านยูโร ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายต่อต้านอียู (Eurosceptic) ในประเทศ และอาจทำให้การคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึงเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน
ในส่วนของภาคธุรกิจ หุ้นเพียร์สันร่วง 2.57% เป็นแกนนำหุ้นลบ ภายหลังบริษัทเปิดเผยในวันศุกร์ว่า โรบิน ฟรีสโตน จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินก่อนสิ้นปีหน้า ขณะที่บริษัทยังคงคาดการณ์ยอดขายตลอดทั้งปีว่าจะเพิ่มขึ้น
หุ้นเทสโกลดลง 1.3% หลังมูดีส์เตือนว่าอาจปรับลดอันดับเครดิตของเทสโกลงสู่ระดับขยะ
ขณะที่หุ้นไชร์พุ่งขึ้น 3.98% สูงสุดในบรรดาหุ้นบลูชิป ภายหลังบริษัทผู้ผลิตยาได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรอีกเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจากที่ยอดขายโตขึ้นทำสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอนาคตที่สดใสของบริษัท หลังจากที่แอบบ์วีเพิ่งถอนข้อเสนอมูลค่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในการเข้าเทคโอเวอร์บริษัทเมื่อสัปดาห์ก่อน
สำหรับหุ้นตัวอื่นๆนั้น หุ้นโวดาโฟน กรุ๊ป บวก 1.85% สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด บวก 1.46% โอลด์ มิวชวล ปรับตัวขึ้น 0.65% และหุ้น 3ไอ กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 0.56%
หุ้นจี 4 เอส ลดลง 2.41% อังโกล อเมริกัน ปรับตัวลง 2.39% หุ้นทูลโลว์ ออยล์ ลดลง 2.16% หุ้นอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์ กรุ๊ป ลบ 1.90%
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ จับตาผล stress test แบงก์ยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) หลังจากเดินหน้าขึ้นมา 3 วันติดต่อกัน โดยภาวะการซื้อขายถูกกดดันจากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (stress test) ของธนาคารในยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มว่าธนาคารหลายแห่งมีแนวโน้มไม่ผ่านการทดสอบ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.3% ปิดที่ 327.17 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันลดลง 59.51 จุด หรือ 0.66% ปิดที่ 8,987.80 จุด ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดลบ 28.78 จุด หรือ 0.69% ที่ระดับ 4,128.90 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ลดลง 30.42 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 6,388.73 จุด
ดัชนีหุ้นยุโรปร่วงลงไปถึง 0.7% ในระหว่างวัน หลังมีการเผยแพร่ร่างหนังสือแถลงการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคาร 25 แห่งในอียูไม่ผ่านการทดสอบความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
ทั้งนี้ อีซีบีมีกำหนดการเปิดเผยผลการตรวจสอบคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร 130 แห่งในยุโรปในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งหากมีธนาคารที่ผ่านการประเมินจำนวนมากก็จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปมีความเชื่อมั่นในการเข้าซื้อสินทรัพย์สูงขึ้น อันจะส่งผลสืบเนื่องให้สภาพคล่องในระบบเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีธนาคารไม่ผ่านการทดสอบเป็นจำนวนมาก ก็จะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นในภาคธนาคารของยูโรโซน
ขณะเดียวกัน ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปส่วนหนึ่งยังถูกกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้ออีโบลา หลังมีรายงานว่าแพทย์ชาวนิวยอร์กที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกีนีในแอฟริกาตะวันตก กลายเป็นบุคคลรายที่ 4 ในสหรัฐที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว และเป็นรายแรกในนิวยอร์ก
โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้ออีโบลาแล้วอย่างน้อย 9,936 คน
นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการภาคเอกชนที่ไม่สู้ดีนักก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปอ่อนแรงลงในวันศุกร์เช่นกัน
บีเอเอสเอฟ ของเยอรมนี รายงานผลกำไรลดลง 4.8% ในไตรมาส 3 พร้อมปรับลดแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอุปสงค์ในยุโรปที่อ่อนแอลง
ด้านอเมซอนดอทคอม รายงานผลขาดทุนสุทธิ 437 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสาม
เทสโก ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ถูกมูดีส์ปรับลดอันดับเครดิตลงสู่ระดับ Baa 3 จาก Baa 2 ส่งผลให้บริษัทหมิ่นเหม่ที่จะร่วงลงไปสู่ระดับขยะ และส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วงลงในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวันศุกร์
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดบวก 127.51 จุด หนุนตลอดสัปดาห์ดีดตัวแข็งแกร่ง
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 ต.ค.) ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาผลประกอบการซึ่งบริษัทต่างๆได้ทยอยเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง ส่วนข่าวการยืนยันผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกในนิวยอร์กนั้นไม่ส่งผลต่อภาวะการซื้อขายมากนัก
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 127.51 จุด หรือ 0.76% ปิดที่ 16,805.41 ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 13.76 จุด หรือ 0.71% ปิดที่ 1,964.58 ดัชนี NASDAQ บวก 30.92 จุด หรือ 0.69% ปิดที่ to 4,483.72 จุด
ตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่ 2.6%, 4.1% และ 5.3% ตามลำดับ
การเปิดเผยผลประกอบการของหลายบริษัทที่ออกมาเป็นบวก อาทิ แคทเทอร์พิลลาร์ และ 3เอ็ม ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสัปดาห์นี้ โดยหลังจากที่ตลาดผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การระบาดของอีโบลา และความไม่สงบทางการเมืองในหลายภูมิภาคของโลก แต่ล่าสุดดูเหมือนว่านักลงทุนจะเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้นต่อปัจจัยพื้นฐานในตลาดหุ้นสหรัฐ อาทิ ผลประกอบการเอกชน ซึ่งเท่าที่หลายบริษัทได้รายงานกันมาจนถึงตอนนี้ เรียกได้ว่าออกมาเป็นที่น่าพอใจในสายตาของนักลงทุน
ดัชนีความผันผวน VIX ของตลาด CBOE ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความวิตกกังวลของตลาดหุ้น ลดลง 2.54% ปิดที่ 16.11 ในวันศุกร์
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทรายใหญ่ในวันศุกร์ ซึ่งมีทั้งที่น่าพอใจและน่าผิดหวัง โดยก่อนตลาดเปิดทำการ บริษัท ยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส ได้รายงานผลกำไรต่อหุ้นปรับลดที่ 1.32 ดอลลาร์ในไตรมาส 3 จากรายได้ 1.429 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) รายงายผลกำไรต่อหุ้นที่ 1.07 ดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2558 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่รายได้ต่ำกว่าประมาณการ
ฟอร์ด มอเตอร์ รายงานผลกำไรหลังหักภาษีในไตรมาส 3 ที่ 24 เซนต์/หุ้น ไม่รวมรายการพิเศษ ซึ่งออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี รายได้ของบริษัทน้อยกว่าคาด
ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์นั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่สำหรับครอบครัวเดี่ยวในเดือนก.ย. ปรับตัวขึ้น 0.2% สู่ระดับ 467,000 ยูนิต ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2551 แต่ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนส.ค.ถูกปรับทบทวนลงอย่างมาก
สำหรับ สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลานั้น ล่าสุดมีรายงานว่าแพทย์ชาวนิวยอร์กที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกีนีในแอฟริกาตะวันตก กลายเป็นบุคคลรายที่ 4 ในสหรัฐที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว และเป็นรายแรกในนิวยอร์ก ซึ่งข่าวดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกในบรรดาชาวเมืองนิวยอร์ก
อย่างไรก็ดี ความหวั่นวิตกดังกล่าวบรรเทาลงได้บ้าง หลังสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐยืนยันว่าพยาบาลชาวอเมริกันในเท็กซัสซึ่งติดเชื้ออีโบลาจากการดูแลผู้ป่วยที่มาจากไลบีเรียนั้น ปลอดจากเชื้อไวรัสแล้ว และกำลังจะออกจากโรงพยาบาล
อินโฟเควสท์