WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

2 1ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับตัวลงรับผลวิกฤตค่าเงินตุรกี, ติดตามโค้งสุดท้ายประกาศงบฯ-ระวัง Sell on Fact
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลง รับผลวิกฤตค่าเงินตุรกีอ่อนค่าเร็ว ส่งผลตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียวานนี้ต่างปรับตัวลงทั่วหน้าเฉลี่ยเกือบ 2% แต่เช้านี้รีบาวด์กลับขึ้นมาได้บางตลาดฯ ทำให้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบคละกัน โดยยังต้องติดตามดูสถานการณ์ในตุรกีจะหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
ส่วนบ้านเราน่าจะปรับตัวลง โดยมีแนวรับ 1,690-1,695 จุด ส่วนแนวต้าน 1,715-1,720 จุด พร้อมให้ติดตามช่วงโค้งสุดท้ายของการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยให้ระวัง Sell on Fact
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (13 ส.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,187.70 จุด ร่วงลง 125.44 จุด (-0.50%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,819.71 จุด ลดลง 19.40 จุด (-0.25%) และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,821.93 จุด ลดลง 11.35 จุด (-0.40%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 195.64 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 5.13 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 1.75 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 49.03 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.41 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 2.07 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 3.55 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์  ลดลง 12.16 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (10 ส.ค.61) 1,705.96 จุด ลดลง 16.52 จุด (-0.96%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 235.67 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 ส.ค.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (13 ส.ค.61) ปิดที่ 67.20 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 43 เซนต์ หรือ 0.6%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (13 ส.ค.61)  ที่ 7.34 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.36 อ่อนค่าตามตลาดโลก หลังนลท.กังวลวิกฤตค่าเงินตุรกี มองกรอบวันนี้  33.20-33.45
- เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จะรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำไตรมาส 2/2561 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะออกมาไม่แตกต่างจากไตรมาสที่ผ่านมามากนัก โดยข้อมูลเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2-3 ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง
- ภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัลในขณะนี้สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากช่วงเวลาโฆษณาของแต่ละช่องมีสัดส่วนเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ประมาณ 30-70% เพราะจำนวนผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าของสินค้าก็มีช่องทางในการเลือกใช้สื่อมากขึ้น ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวในส่วนของบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เห็นได้จากช่วงเวลาของการขายโฆษณาที่ยังมีสัดส่วนเหลือมากถึง 70%
- TMB Analytics คาดว่าจากความพร้อมของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้เกินระดับศักยภาพทำให้เงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งการรักษา policy space เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต จะสนับสนุนให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยการรักษา policy space เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นในอนาคต
- 4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือวิกฤตราคาอ้อยฤดูการผลิตใหม่เสี่ยงตกต่ำสุดรอบ 10 ปี หวังใช้ ม.44 กู้แบงก์ดูแล ด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยกดดันปากีสถาน อินเดีย กลุ่มอียูเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออก
- "อนุสรณ์ ธรรมใจ"เผยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน อาจขยายวงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก ระบบการผลิตโลก และเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ขณะที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น โดยอาจจะขยายวงกว้างมากกว่าการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน ทั้งนี้ อาจเกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการค้าโลกและสันติภาพ สหรัฐอเมริกาอาจบีบจีนด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมมาตรการกำหนดโควต้า ในขณะที่จีนอาจลดค่าเงินหยวนและเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลก
*หุ้นเด่นวันนี้
- PTT (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) "ซื้อ"เป้า 58 บาท กำไรจากการดำเนินงาน H1/61 ที่ 71,657 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของคาดการณ์ คาดปันผล 0.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็นผลตอบแทน 1.7% และแนวโน้มผลประกอบการปกติ Q3/61 คาดทรงตัว QoQ  กำไรธุรกิจสำรวจและผลิตคาดปรับขึ้นจากทั้งด้านปริมาณขายและการปรับราคาก๊าซฯ ธุรกิจน้ำมันคาดฟื้นตัวจากการปรับราคาอากาศยานสะท้อนต้นทุนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากธุรกิจโรงกลั่นที่กำไรสต๊อกน้ำมันจำนวนมากไม่เกิดซ้ำ ขณะที่ธุรกิจก๊าซฯ คาดทรงตัว จากธุรกิจจัดหาที่ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นได้ ช่วยชดเชยผลกระทบจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีแผนหยุดซ่อมบำรุง
- ANAN (เอเอสแอล)"ซื้อ"เป้า 6.50 บาท กำลังกลับมาเป็นเจ้าคอนโดฯ ที่โดดเด่นอีกครั้งหลังจากสามารถโอนโครงการ Ashton Asoke ได้ หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวจากคอนโด Joint Venture ที่มียอดขายน่าพอใจ และรับรู้รายได้ในปีนี้ตลอดจนถึงปีหน้า พร้อมคาดการณ์กำไรปีนี้อยู่ที่ 2,298 ล้านบาทจากยอดขายและยอดโอนเกินคาดใน H2/61 จะมีการโอน 4 คอนโดฯ และในปี 62 จะมีการโอนคอนโนอีกจำนวน 11 โครงการ
- BDMS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 29 บาท ประกาศงบ Q2/61 วันนี้ คาดกำไรปกติ 2,098 ลบ. -28.1% Q-Q, +31.5% Y-Y มีโอกาสออกมามากกว่าคาดหากอิงจากโรงพยาบาลอื่นที่ประกาศออกมาก่อนหน้าส่วนใหญ่โตโดดเด่น พร้อมมองโมเมนตัมการเติบโตช่วง H2/61 ยังแกร่ง คาดกำไรทำจุดสูงสุดของปีใน Q3/61 จากอานิสงส์ High Season ด้านหุ้นกู้แปลงสภาพล่าสุดมีผู้ทยอยใช้สิทธิและเหลือยอดเงินต้น 6,114 ลบ.หรือราว 29.2 ล้านหุ้น (1.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) กระทบจำกัดต่อ Valuation
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าทั้งแดนบวกและลบ หลังจีนเผยข้อมูลเศรษฐกิจ-นลท.ยังจับตาตุรกี
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าวันนี้ทั้งในแดนบวกและลบ ภายหลังจากที่จีนได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่บ่งชี้ถึงการขยายตัว ในขณะที่นักลงทุนได้ซึมซับข่าวสถานการณ์ค่าเงินลีราของตุรกีไปแล้ว แต่ก็ยังคงติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหว
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 27,686.99 จุด ลดลง 249.58 จุด, -0.89% ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 22,112.09 จุด เพิ่มขึ้น 254.66 จุด, +1.17% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,783.64 จุด เพิ่มขึ้น 0.30 จุด, +0.02%
นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าสหรัฐหวังที่จะ "แทงตุรกีข้างหลัง" ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตร
ผู้นำตุรกีได้มีถ้อยแถลงดังกล่าวในที่ประชุมเอกอัครราชทูตตุรกี ณ กรุงอังการา โดยเขากล่าวว่า "เศรษฐกิจตุรกีน่าจะถูกโจมตีสักระยะหนึ่ง" แต่ตุรกีจะใช้มาตรการตอบโต้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เศรษฐกิจตุรกีถูกสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษรัฐบาลตุรกี ในกรณีควบคุมตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในปี 2559 โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี ซึ่งส่งผลให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และพวกเขาจะถูกห้ามทำธุรกรรมในสหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ได้มีการเปิดเผยหลายรายการในวันนี้ ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า  ยอดค้าปลีกประจำเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้น 8.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ที่มีการขยายตัว 6%
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนก.ค. ขยายตัว 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี
การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ที่มีการขยายตัวเพียง 9.7%
ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยในวันนี้ว่า ราคานำเข้าของเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากเงินวอนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
รายงานระบุว่า ดัชนีราคานำเข้าของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 89.91 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนมิ.ย. โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับแต่เดือนพ.ย. 2557 และปรับตัวเพิ่มติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยได้รับแรงหนุนจากเงินวอนที่อ่อนค่า ทำให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 24.56 จุด เหตุวิตกผลกระทบค่าเงินตุรกีทรุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) โดยปรับตัวตามทิศทางตลาดหุ้นอื่นๆในยุโรป เนื่องจากความกังวลว่าวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีจะส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มธนาคารของยูโรโซน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,642.45 จุด ลดลง 24.56 จุด หรือ -0.32%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส
หุ้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวร่วงลง โดย TUI AG ดิ่งลง 2.9% ขณะที่หุ้นโทมัส คุก ร่วงลง 2.5%
หุ้นแพดดี้ เพาเวอร์ เบทแฟร์ ซึ่งเป็นบริษัทพนันออนไลน์ ปรับตัวลง 1.9% หลังจากซิตี้กรุ๊ปได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแพดดี้ เพาเวอร์ เบทแฟร์ ภายหลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเติบโต 0.2% ในไตรมาส 1
เมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจอังกฤษมีการเติบโต 1.3% ในไตรมาส 2
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง หวั่นวิกฤตค่าเงินตุรกีกระทบภาคธนาคารยุโรป
ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 14 สิงหาคม 2561 07:44:56 น.
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของค่าเงินลีราของตุรกีว่าอาจจะส่งผลลุกลามไปยังเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอื่นๆ โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลว่าการร่วงลงของค่าเงินลีราจะกระทบต่อธนาคารยุโรป
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.3% ปิดที่ 384.91 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,358.74 จุด ลดลง 65.61 จุด หรือ -0.53% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดวันนี้ที่ 5,412.32 จุด ลดลง 2.36 จุด หรือ -0.04% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,642.45 จุด ลดลง 24.56 จุด, -0.32%
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ค่าเงินตุรกีส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้น โดยค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่วันศุกร์และอ่อนค่าลงเรื่อยมาจนถึงเมื่อวานนี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20%
ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลี และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส
การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
หุ้นไบเออร์ ร่วงลงกว่า 10% หลังจากคณะลูกขุนในรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไบเออร์ จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งรายหนึ่งจำนวน 289 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,600 ล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หุ้นแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ร่วงลง 4.1% หลังจากมีรายงานว่า สหภาพแรงงานนักบินจะทำการผละงานประท้วงอย่างต่อเนื่อง หากทางสหภาพและสายการบินแห่งนี้ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องค่าจ้าง
หุ้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวร่วงลง โดย TUI AG ดิ่งลง 2.9% ขณะที่หุ้นโทมัส คุก ร่วงลง 2.5%
หุ้นแพดดี้ เพาเวอร์ เบทแฟร์ ซึ่งเป็นบริษัทพนันออนไลน์ ปรับตัวลง 1.9% หลังจากซิตี้กรุ๊ปได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแพดดี้ เพาเวอร์ เบทแฟร์ ภายหลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 125.44 จุด นักลงทุนกังวลวิกฤตค่าเงินตุรกีลุกลาม
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของค่าเงินตุรกีและผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ โดยความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง และส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี S&P 500 ปิดตลาดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,187.70 จุด ร่วงลง 125.44 จุด หรือ -0.50% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,819.71 จุด ลดลง 19.40 จุด หรือ -0.25% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,821.93 จุด ลดลง 11.35 จุด หรือ -0.40%
กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ค่าเงินตุรกีส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่วันศุกร์และอ่อนค่าลงเรื่อยมาจนถึงเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ
สกุลเงินลีราร่วงลงหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลี และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินตุรกีได้ฉุดหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐร่วงลงเมื่อคืนนี้ หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ร่วงลง 1.6% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 1.2% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 2.1% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 2.3% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ปรับตัวลง 1.5% และหุ้นเวลส์ ฟาร์โก ปรับตัวลง 0.8%
หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 1.3% หลังจากมีรายงานว่า นายเดวิด เวลส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง
หุ้นฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ของสหรัฐ ดิ่งลง 4.3% หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความร่วมวงบอยคอตสินค้าของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ร่วมกับผู้บริโภคอเมริกันบางกลุ่มที่คัดค้านการย้ายฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ของผู้ผลิตเก่าแก่รายนี้ออกจากดินแดนสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม หุ้นบางตัวในกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้น โดยหุ้นแอปเปิล เพิ่มขึ้น 0.6% หุ้นอเมซอน เพิ่มขึ้น 0.5% หุ้น Nvidia เพิ่มขึ้น 0.5%
นักลงทุนจับตารัฐบาลตุรกีเตรียมใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาความวิตกกังวลของตลาดหลังค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนัก โดยสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า มาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง ยอดค้าปลีกเดือนก.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนส.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรม-การใช้กำลังการผลิตเดือนก.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิ.ย., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.ค.
 
--อินโฟเควสท์
OO12379

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!