- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Friday, 22 June 2018 13:04
- Hits: 3767
ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้อ่อนลงตามภูมิภาค เหตุเงินทุนไหลออกจาก EM-กังวลสงครามการค้า, จับตาประชุมกลุ่มโอเปควันนี้
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างก็อ่อนตัวลงกัน อันเนื่องมาจากกระแสเงินทุนไหลออกจาก Emerging Market และตลาดฯยังกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า โดยทางสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ส่วนทางอินเดียก็ได้มีการตอบโต้สหรัฐฯด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเช่นกัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงเล็กน้อยในช่วงกำลังรอดูการประชุมกลุ่มโอเปคที่จะมีขึ้นในวันนี้ ซึ่งต่างจับตาดูว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันหรือไม่ มาก/น้อยแค่ไหน
พร้อมให้แนวรับ 1,620-1,625 ถัดไป 1,610 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,640-1,645 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (21 มิ.ย.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,461.70 จุด ลดลง 196.10 จุด (-0.80%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,749.76 จุด ลดลง 17.56 จุด (-0.63%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,712.95 จุด ลดลง 68.56 จุด (-0.88%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 236.59 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 20.23 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 80.51 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 39.82 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 14.75 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 10.57 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 9.35 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (21 มิ.ย.61) 1,634.44 จุด ลดลง 29.82 จุด (-1.79%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,850.11 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (21 มิ.ย.61) ปิดที่ 65.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 17 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 65.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (21 มิ.ย.61) ที่ 4.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.90/96 แนวโน้มยังอ่อนค่า จากแรงซื้อดอลล์ มองกรอบวันนี้ 32.80-33.00
- "แบงก์ชาติ" เตรียมออกประกาศ 2 ฉบับคุมแบงก์เพิ่มทั้งด้าน "ซีจี-บริหารความเสี่ยง" ย้ำเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล รองรับการประเมินภาคการเงิน เผยเกณฑ์ซีจีต้องมีบอร์ดที่เชี่ยวชาญด้าน "ไอที" 1 คน พร้อมสั่งตรวจคุณสมบัติ "ซีอีโอ" ทุก 4 ปี ขณะด้านบริหารความเสี่ยง กำชับให้ดูแลทุกมิติ เน้นไซเบอร์ซีเคียวริตี้
- "พาณิชย์" เผยส่งออกไทยเดือนพ.ค. มีมูลค่า 22,256.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.44% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ส่วนยอดรวม 5 เดือน เพิ่ม 11.55% ระบุสงครามการค้ายังไม่ส่งผลกระทบ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ นัดภาครัฐและเอกชนประเมินสถานการณ์ 26 มิ.ย.นี้ เล็งประเมินเป้าส่งออกใหม่ หลังได้ตัวเลข 6 เดือน คาดโตขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 8% แน่
- ธปท.พร้อมผ่อนเกณฑ์ ห้ามแบงก์ยุ่งคริปโตเคอเรนซี่ ให้สอดคล้องกับประกาศการกำกับดูแลไอซีโอ ของก.ล.ต.ที่จะออกมาในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ด้านก.ล.ต.เผยภาคธุรกิจ สนใจออกไอซีโอหลายราย แต่ฝั่งนักลงทุนไม่แน่ใจว่ายังสนใจหรือไม่ หลังเจฟินคอยน์เปิดเทรดแล้วราคาร่วง
- "พาณิชย์" ถกเอกชนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ติวเข้มข้อมูลชี้แจงสหรัฐฯ หลังเปิดไต่สวนขึ้นภาษีนำเข้า ยันส่งออกไทยไม่กระทบอุตสาหกรรมภายใน ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม มีแต่ช่วยสนับสนุนการเติบโต คาดสหรัฐฯ สรุปผลการพิจารณา มี.ค.62 และส่งให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสิน เผยเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ ที่เจอมาตรการก่อนหน้า ได้รับผลกระทบ แล้ว ยอดส่งออกลดลง แต่เหล็กและ อะลูมิเนียม ยังขอยกเว้นภาษีได้
- ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยพื้นฐานแข็งแกร่ง เป็นกันชนรับเงินทุนไหลออก แนะจับตาสงครามการค้า หวั่นกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ยันเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ก.ล.ต.รับเทคโนโลยีส่งผลต่อวิถีการกำกับดูแล
*หุ้นเด่นวันนี้
- QH (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 4.2 บาท มี Upside ที่ตลาดจะปรับเพิ่มประมาณการณ์กำไรสุทธิในปีนี้ขึ้นหลัง GPM ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และยังเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลสูงให้ Dividend yield ประมาณ 6-8% ต่อปี
- BDMS (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 29 บาท โมเมนตัมการเติบโตของรายได้ 2QTD ยังดีต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้นและตลาดต่างชาติที่กลับมา รวมถึงกลุ่มประกันที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดย BDMS ได้จับมือกับพันธมิตรบริษัทประกันออกประกันสุขภาพที่ให้ใช้บริการในเครือ BDMS ซึ่งเป็นบวกต่อการเติบโตทั้งรายได้และ Margin พร้อมคาดกำไรปกติปีนี้ที่ 9,685 ลบ. +21% Y-Y ส่วนปีหน้าคาดโต 11% Y-Y อยู่ที่ 1.1 หมื่นลบ.
- HMPRO (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) "ซื้อ"เป้า 15.40 บาท แนวโน้มผลประกอบการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพซึ่งมาจากทั้ง SSSG เพิ่มขึ้นและการขยายสาขา รวมทั้งอัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและเพิ่มสัดส่วนสินค้า Private brand คาดกำไร Q2/61 เติบโตทั้ง QoQ และ YoY ด้านเทคนิคทดสอบบริเวณเส้น 200 วัน มีลุ้นการฟื้นตัว ต้าน 14.0/14.6 รับ 13.3 บาท
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าปรับตัวลง เหตุวิตกสงครามการค้า นักลงทุนจับตาประชุมโอเปก
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าปรับตัวลงในวันนี้ โดยได้รับปัจจัยลบจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 8 เมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ที่กรุงเวียนนา
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 22,500.45 จุด ลดลง 192.59 จุด, -0.85% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 29,217.28 จุด ลดลง 78.77 จุด, -0.27% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,689.87 จุด ลดลง 2.45 จุด, -0.14%
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้ายังคงสร้างกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยล่าสุดนายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจีนพร้อมที่จะใช้มาตรการหลายด้าน ซึ่งรวมถึงเครื่องมือทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เพื่อทำการตอบโต้ หากสหรัฐประกาศบัญชีรายการสินค้าจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษีครังใหม่
นักลงทุนจับตาการประชุมของ 14 ชาติสมาชิกกลุ่มโอเปกซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในวันนี้ ส่วนในวันพรุ่งนี้ จะเป็นการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งนำโดยรัสเซีย ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า โอเปกอาจจะปรับเพิ่มเพดานการผลิต หลังจากซาอุดิอาระเบียได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับเพิ่มเพดานการผลิตในการประชุมครั้งนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันนี้ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อนั้น ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 2%
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดร่วง 70.96 จุด หุ้นพลังงานดิ่ง,ปอนด์แข็งกดดันตลาด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (21 มิ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมทั้งเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นหลังจากที่ประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุว่า กรรมการบางคนของ BoE ได้สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,556.44 จุด ลดลง 70.96 จุด หรือ -0.93%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเนื่องจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในดัชนี FTSE 100 โดยรายได้ 75% ของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนนั้นอยู่ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ การแข็งค่าของเงินปอนด์จึงส่งผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทเหล่านี้
เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ลงมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียง 6-3 ซึ่ง 3 เสียงดังกล่าวมีความเห็นให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.75%
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเบรนท์เมื่อคืนนี้ หลังจากมีรายงานว่า รัสเซียและซาอุดิอาระเบียอาจสนับสนุนให้มีการปรับเพิ่มเพดานการผลิตในการประชุมกลุ่มโอเปกที่กรุงเวียนนาในวันนี้ โดยหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ร่วงลง 1.1% และหุ้นบีพี ลดลง 0.9%
นอกจากนี้ ภาวะการซื้อในตลาดหุ้นลอนดอนยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศต่างๆ โดยล่าสุดกระทรวงการคลังของอินเดียประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าถั่วอัลมอนด์จากสหรัฐในอัตรา 20% และเก็บภาษีนำเข้าวอลนัทจากสหรัฐในอัตราสูงถึง 120% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ส.ค. นอกจากนี้ อินเดียยังประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เหล็กของสหรัฐ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากอินเดียก่อนหน้านี้
ทางด้านสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตร, เหล็ก และอลูมิเนียมจากสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าราว 2.8 พันล้านยูโร หรือ 3.24 พันล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ เพื่อตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บภาษีเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% ที่นำเข้าจาก EU ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นรถยนต์,พลังงานร่วง ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (21 มิ.ย.) โดยได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มรถยนต์ หลังจากบริษัทเดมเลอร์ เอจี ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี ได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรในปีงบการเงิน 2561 ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ก่อนที่การประชุมกลุ่มโอเปกจะมีขึ้นที่กรุงเวียนนาในวันนี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 0.9% ปิดที่ 380.85 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.ปีนี้
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,511.91 จุด ลดลง 183.25 จุด หรือ -1.44% ส่วนดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,316.01 จุด ลดลง 56.30 จุด หรือ -1.05% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,556.44 จุด ลดลง 70.96 จุด หรือ -0.93%
หุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นเดมเลอร์ ร่วงลง 4.3% หุ้นโฟล์คสวาเกน ดิ่งลง 3.1% หุ้นบีเอ็มดับเบิลยู ร่วงลง 2.9% และหุ้นเฟียต ไคร์สเลอร์ ออโต้โมบิล ร่วงลง 4.2%
ปัจจัยที่ทำให้หุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงนั้น มาจากการที่เดมเลอร์ เอจี ได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2561 อีกทั้งแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า ขณะที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนีได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้สหภาพยุโรป (EU) ยุติมาตรการเรียกเก็บภาษี 10% ต่อรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐ
ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่นายริชาร์ด เกรเนลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเยอรมนี ได้จัดการเจรจากับผู้บริหารของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี ซึ่งได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู โฟล์คสวาเกน และเดมเลอร์ ซึ่งที่ประชุมได้มีแนวคิดในการยุติการตั้งกำแพงภาษีรถยนต์ระหว่างสหรัฐและ EU
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเบรนท์เมื่อคืนนี้ หลังจากมีรายงานว่า รัสเซียและซาอุดิอาระเบียอาจสนับสนุนให้มีการปรับเพิ่มเพดานการผลิตในการประชุมกลุ่มโอเปกที่กรุงเวียนนาในวันนี้ โดยหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ร่วงลง 1.1% และหุ้นบีพี ลดลง 0.9%
หุ้นไชร์ ดีดตัวขึ้น 2% หลังจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้อนุมัติให้มีการวางจำหน่ายยา "Cinryze" ที่ใช้รักษาอาการบวมที่เกิดจากกรรมพันธุ์ (hereditary angioedema)
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 196.10 จุด วิตกสงครามการค้า,หุ้นค้าปลีกออนไลน์ดิ่งหนัก
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 8 เมื่อคืนนี้ (21 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศต่างๆ โดยรายงานล่าสุดระบุว่า อินเดียได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพื่อตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากอินเดียก่อนหน้านี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงหุ้นอเมซอน หลังจากศาลฎีกาสหรัฐมีคำพิพากษาให้บริษัทค้าปลีกออนไลน์เรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้า
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,461.70 จุด ลดลง 196.10 จุด หรือ -0.80% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,749.76 จุด ลดลง 17.56 จุด หรือ -0.63% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,712.95 จุด ลดลง 68.56 จุด หรือ -0.88%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศต่างๆ โดยล่าสุดกระทรวงการคลังของอินเดียประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าถั่วอัลมอนด์จากสหรัฐในอัตรา 20% และเก็บภาษีนำเข้าวอลนัทจากสหรัฐในอัตราสูงถึง 120% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ส.ค. นอกจากนี้ อินเดียยังประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เหล็กของสหรัฐ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากอินเดียก่อนหน้านี้
ทางด้านสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตร, เหล็ก และอลูมิเนียมจากสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าราว 2.8 พันล้านยูโร หรือ 3.24 พันล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ เพื่อตอบโต้สหรัฐที่เรียกเก็บภาษีเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% ที่นำเข้าจาก EU ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ในอัตรา 10% วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลจีนก็เตือนว่าพร้อมจะตอบโต้อย่างรุนแรง หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% ตามที่ปธน.ทรัมป์ขู่ไว้
หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า โดยหุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 1.5% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ดิ่งลง 2.5% หุ้น 3M ปรับตัวลง 1.3% ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ ลดลง 1.5% หุ้นเอเมอร์สัน อิเล็กทริก ร่วงลง 1.7% และหุ้นอีตัน คอร์ป ร่วงลงกว่า 2%
หุ้นกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ร่วงลงอย่างหนัก หลังจากศาลฎีกาสหรัฐมีคำพิพากษาให้รัฐต่างๆในสหรัฐมีอำนาจในการบังคับให้บริษัทค้าปลีกออนไลน์เรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้า โดยหุ้นอเมซอน ร่วงลง 1.3% หุ้นเวย์แฟร์ ดิ่งลง 1.6% หุ้นอีเบย์ ร่วงลง 3.2% หุ้น Etsy ลดลง 1.4% หุ้นโอเวอร์สต็อก ดิ่งลง 7.1% และหุ้นช็อปปิฟาย ร่วงลง 4.4%
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังจากมีรายงานว่า รัสเซียและซาอุดิอาระเบียอาจสนับสนุนให้มีการปรับเพิ่มเพดานการผลิตในการประชุมกลุ่มโอเปกที่กรุงเวียนนาในวันนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 2.1% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ลดลง 1.3% หุ้นมาราธอน ออยล์ ร่วงลง 5.4% และหุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ลดลง 0.2%
หุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงเช่นกัน หลังจากบริษัทเดมเลอร์ได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรในปีงบการเงิน 2561 โดยหุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ร่วงลง 2% หุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ปรับตัวลง 1.4% หุ้นเฟียต ไคร์สเลอร์ ดิ่งลง 4.1%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 220,000 ราย ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ 19.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559 จากระดับ 34.4 ในเดือนพ.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต
--อินโฟเควสท์
OO10356