WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

2 1ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้พักตัวเช่นเดียวกับภูมิภาค เล็งชะลอลงทุนเพื่อรอผลหลายการประชุมตปท.ในสัปดาห์หน้า
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะพักฐาน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่จะติดลบเล็กน้อยราว 0.1-0.2% เนื่องจากนักลงทุนน่าจะชะลอการลงทุน เพื่อรอผลการประชุมกลุ่ม G7 ในสุดสัปดาห์นี้ และอีกหลายการประชุมในสัปดาห์หน้า ไม่ว่าจะเป็นการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้, การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีขึ้นใน 14 มิ.ย., การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีขึ้นใน 14-15 มิ.ย. และยังจะมีการพบปะระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับผู้นำเกาหลีเหนือที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ดัชนีฯขึ้นมาทดสอบระดับ 1,745 จุด แล้วถูกขายทำกำไรออกมาในระยะสั้น ทำให้ตลาดฯมีโมเมนตัมพักตัว พร้อมให้แนวรับ 1,725-1,730 จุด ส่วนแนวต้าน 1,740-1,745 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (7 มิ.ย.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,241.41 จุด เพิ่มขึ้น 95.02 จุด (+0.38%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,770.37 จุด ลดลง 1.98 จุด (-0.07%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,635.07 จุด ลดลง 54.17 จุด (-0.70%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 23.88 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 2.70 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 8.00 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 77.37 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 8.90 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 12.82 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 0.04 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 2.09 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (7 มิ.ย.61) 1,733.05 จุด ลดลง 5.65 จุด (-0.32%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,440.91 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (7 มิ.ย.61) ปิดที่ 65.95 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.22 ดอลลาร์ หรือ 1.9%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (7 มิ.ย.61) ที่ 4.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.98/32.00 ทิศทางทรงตัวรอปัจจัยใหม่จากต่างประเทศ มองกรอบวันนี้ 31.90-32.10
- "ธีระชัย" อดีต รมว.คลังซัด "บิ๊กโรงกลั่น" แก้ตัวไม่ขึ้น อ้างสารพัดขายน้ำมันให้คนไทยแพงกว่าส่งออก ยันต้นทุนกลั่นของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ไม่จริง อ้างการแข่งขันเหมือนอุตสาหกรรมอื่นไม่ได้ ชี้น้ำมันส่งออกไม่ใช่น้ำมันตกเกรด ตอกแค่เล่ห์บวก "ค่าใช้จ่ายเทียม" เท่านั้น ด้านคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เตรียมยื่นหนังสือข้อเสนอในการปฏิรูปราคาพลังงาน "น้ำมัน-LPG" ที่เป็นธรรม ต่อประชาชนให้กระทรวงพลังงาน 13 มิ.ย.นี้
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 จะประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยจะใช้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ 4 แสนล้านบาท และช่วยเศรษฐกิจรากหญ้า 4 แสนล้านบาท ให้เกิดการกระจายรายได้
- เลขาธิการ กสทช.เผยได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้ง 20 ช่อง สามารถพักชำระหนี้ได้ตามกรอบระยะเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องชำระอัตราดอกเบี้ย ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับการพักหนี้ในปีที่ 1 ภายใน 30 วัน จึงจะถือว่าการพักชำระหนี้มีผลสมบูรณ์ โดยนับจากวันที่ได้รับหนังสือของ กสทช.
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกไทยปี 2561 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5-8% เป็น 7-9% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 7 ปี พร้อมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าการค้าโลกจากเดิมที่ขยายตัว 4.6% เป็น 5.1%
- ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ ชู 4 กลยุทธ์ดันดัชนีหุ้นไทยโตขั้นต่ำ 10% ต่อปี ตั้งเป้า 5 ปี เพิ่มมาร์เก็ตแค็ปเท่าตลาดหุ้นสิงคโปร์ มองหุ้นไทยครึ่งปีหลังยังแกร่ง
*หุ้นเด่นวันนี้
- ITEL-W1 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ของบมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL)) เทรดวันนี้วันแรก มีจำนวน 249,992,175 หน่วย อายุ 3 ปี ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.00 บาท/หน่วย มีอัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 5 บาท กำหนดใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 30 มิ.ย.63 และใช้สิทธิครั้งสุดท้าย วันที่ 22 พ.ค.64
- BANPU (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 28 บาท ผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ราคาถ่านหินยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ล่าสุดราคาถ่านหินเพิ่มแตะระดับ 114.1 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงสุดในรอบ 18 เดือน) ไม่มีปัจจัยลบจากการควบคุมของภาครัฐ ขณะที่ Valuation ค่อนข้างถูกมี PE Ratio ต่ำเพียง 8 เท่า
- BEM (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 10 บาท การเลื่อนปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน 3 เดือน เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ ไม่กระทบประมาณการ คาดกำไรปีนี้ +18% Y-Y เป็น 3.7 พันล้านบาท จากต้นทุนที่ลดลงตามการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า และการเชื่อมต่อสถานีเตาปูน-บางซื่อเต็มปี ขณะที่ Q2/61 จะมีปัจจัยบวกจากการบันทึกกำไรขายหุ้น XPCL ให้ CKP ราว 240 ลบ. ส่วนตัวเปิด Upside ระยะยาว ทั้งการเปิดประมูลทางด่วน 2 สาย และรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ คาดว่าจะมีความชัดเจนใน H2/61 จากการเร่งอนุมัติงบก่อนเลือกตั้ง
- BJC (เออีซี) "ซื้อ"เป้า 65 บาท ปี 61 คาดกำไรโต 28.6%YoY จากการเติบโตใน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (บิ๊กซี) ซึ่งมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง 2) ธุรกิจบรรจุภัฑณ์ที่จะรับรู้การผลิตของเตาหลอมใหม่ที่สระบุรีซึ่งเปิดช่วง Q3/60 และช่วง Q3/61 3) ธุรกิจเวชภัณฑ์ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ช่วง Q2/61 และ 4) ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้อานิสงส์กำลังซื้อดีขึ้นและเข้าสู่เทศกาลฟุตบอลโลก และราคาหุ้นยังมี Upside 16%

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ เหตุตลาดวอลล์สตรีทผันผวน ขณะนักลงทุนจับตาประชุม G7
ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ในวันนี้ หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปิดผันผวนเมื่อคืนนี้ โดยแม้ว่าดัชนีดาวโจนส์ปิดขยับขึ้น แต่ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ต่างก็ปิดในแดนลบ อันเนื่องจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะเดียวนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่การประชุมกลุ่ม G7 จะเปิดฉากขึ้นในวันนี้
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,799.38 จุด ลดลง 23.88 จุด หรือ -0.10% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,467.88 จุด ลดลง 2.70 จุด หรือ -0.11% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 11,243.59 จุด ลดลง 8.00 จุด หรือ -0.07% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 31,435.26 จุด ลดลง 77.37 จุด หรือ -0.25% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,100.60 จุด ลดลง 8.90 จุด, -0.29% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,460.26 จุด ลดลง 12.82 จุด, -0.37%
ขณะที่ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,803.35 จุด เพิ่มขึ้น 0.04 จุด หรือ +0.00% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,787.90 จุด เพิ่มขึ้น 2.09 จุด หรือ +0.12%
นักลงทุนจับตาการประชุม G7 ซึ่งจะจัดขึ้นที่แคนาดาในวันนี้และจะเสร็จสิ้นในวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่าที่ประชุมจะหารือในประเด็นการค้า รวมถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนรอดูการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 12-13 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ พร้อมกับจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. โดยมีการคาดการณ์ว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในช่วงเช้านี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยการประมาณการครั้งสุดท้ายของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 โดยระบุว่า GDP หดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นผลมาจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 7.97 จุด เหตุหุ้นค้าปลีกร่วง,ปอนด์แข็งกดดันตลาด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มค้าปลีก และเงินปอนด์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นลอนดอนขยับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานช่วยหนุนตลาดในระหว่างวัน
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,704.40 จุด ลดลง 7.97 จุด หรือ -0.10%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบ เนื่องจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในดัชนี FTSE 100 โดยรายได้ 75% ของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนนั้นอยู่ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ การแข็งค่าของเงินปอนด์จึงส่งผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทเหล่านี้
หุ้นกลุ่มค้าปลีกร่วงลงจากข่าวที่ว่า บริษัทเฮาส์ ออฟ เฟรเซอร์ ประกาศปิดร้านค้าลง 31 แห่ง จากทั้งหมด 59 แห่ง โดยหุ้นมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ร่วงลง 1.1% หุ้นเน็กซ์ ปรับตัวลง 0.4% หุ้นเบอร์เบอร์รี กรุ๊ป ดิ่งลง 2.8%
อย่างไรก็ตาม การพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานได้ช่วยหนุนตลาดในระหว่างวัน โดยหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ดีดขึ้น 1.4% หุ้นบีพี พุ่งขึ้น 2.2% หลังจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานขึ้นเมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่า ปริมาณการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตร และวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ
หุ้นกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านดีดตัวขึ้นหลังจากฮาลิแฟกซ์รายงานว่า ดัชนีราคาบ้านของอังกฤษในช่วงไตรมาส 2 ปรับตัวขึ้น 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยหุ้นเพอร์ซิมมอน หุ้นบาร์แรทท์ ดิเวลลอปเมนท์ และหุ้นเทเลอร์ วิมพีย์ ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 0.7%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบหลังหุ้นธุรกิจท่องเที่ยวร่วง นักลงทุนจับตาประชุม G7,ECB
ตลาดหุ้นยุโรปปิดอ่อนแรงลงเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่การประชุมกลุ่ม G7 จะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ พร้อมกับจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์หน้าอย่างใกล้ชิด
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.24% ปิดที่ 385.94 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,811.05 จุด ลดลง 19.02 จุด หรือ -0.15% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,448.36 จุด ลดลง 9.20 จุด หรือ -0.17% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,704.40 จุด ลดลง 7.97 จุด หรือ -0.10%
ดัชนีหุ้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ ร่วงลง 1.7% โดยหุ้นอิเลียร์ กรุ๊ป ดิ่งลงกว่า 4%
หุ้นกลุ่มค้าปลีกร่วงลง หลังจากมีรายงานว่า บริษัทเฮาส์ ออฟ เฟรเซอร์ ประกาศปิดร้านค้าลง 31 แห่ง จากทั้งหมด 59 แห่ง โดยหุ้นมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ร่วงลง 1.1% หุ้นเน็กซ์ ปรับตัวลง 0.4% หุ้นเบอร์เบอร์รี กรุ๊ป ดิ่งลง 2.8%
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หลังจากมีรายงานว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตร และวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ดีดขึ้น 1.4% หุ้นบีพี พุ่งขึ้น 2.2%
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้อย่างใกล้ชิด หลังจากนายปีเตอร์ แพรท สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ ECB กล่าวว่า ECB จะหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในการประชุมครั้งนี้
ทางด้านเจ้าหน้าที่คนอื่นๆของ ECB ได้ออกมาส่งสัญญาณในทิศทางเดียวกัน โดยนายคลาสส์ นอท ประธานธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการของ ECB ด้วยนั้น กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ ECB เดินหน้าใช้มาตรการ QE ต่อไป ส่วนนายเจนส์ ไวด์แมน ประธานธนาคารกลางเยอรมนีกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ ECB จะปรับลดวงเงิน QE ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุม G7 ซึ่งจะจัดขึ้นที่แคนาดาในวันศุกร์และวันเสาร์ที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าที่ประชุมจะหารือในประเด็นการค้า รวมถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 95.02 จุด รับหุ้นแมคโดนัลด์พุ่งแรง ขณะนักลงทุนจับตาประชุม G7
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่สองเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของหุ้นแมคโดนัลด์ หลังจากบริษัทประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งรวมถึงการลดจำนวนพนักงาน อย่างไรก็ตาม การร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ฉุดดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่ม G7 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในวันนี้ รวมทั้งการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์หน้า
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,241.41 จุด เพิ่มขึ้น 95.02 จุด หรือ +0.38% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,770.37 จุด ลดลง 1.98 จุด หรือ -0.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,635.07 จุด ลดลง 54.17 จุด หรือ -0.70%
หุ้นแมคโดนัลด์ พุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 4.4% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก หลังจากทางบริษัทประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงการลดจำนวนพนักงาน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดการใช้จ่ายลงประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2562 โดยนายคริส เคมพ์ซินสกี ประธานบริษัทแมคโดนัลด์ ยูเอสเอ กล่าวว่า ทางบริษัทจะเปิดเผยตัวเลขการปรับลดพนักงานในการประชุมวันที่ 12 มิ.ย.นี้
หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ WTI ที่พุ่งขึ้นเกือบ 2% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 1% หุ้นเชฟรอน พุ่งขึ้น 2.9% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ทะยานขึ้น 7.5% หุ้นเดวอน เอนเนอร์จี ดีดขึ้น 1.07% และหุ้นมาราธอน ออยล์ พุ่งขึ้น 1.9%
หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ปรับตัวขึ้น 0.4% หลังจากมีรายงานว่า บริษัทฟอร์ทีฟ คอร์ป ได้ตกลงเข้าซื้อธุรกิจ "Advanced Sterilization Products" จากจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ในวงเงิน 2.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นฟอร์ทีฟ พุ่งขึ้น 4%
ข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 225,000 ราย โดยตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 170 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2512
อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปิดตลาดในแดนลบ โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 1.7% หุ้นไมโครซอฟท์ ดิ่งลง 1.6% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ดิ่งลง 1.2% หุ้นอินเทล ร่วงลง 2% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ปรับตัวลง 1.6% หุ้นอเมซอนดอทคอม ปรับตัวลง 0.4% และหุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 1%
นักลงทุนจับตาการประชุม G7 ซึ่งจะจัดขึ้นที่แคนาดาในวันศุกร์และวันเสาร์ที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าที่ประชุมจะหารือในประเด็นการค้า รวมถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 12-13 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ ส่วนการประชุม ECB จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. โดยมีการคาดการณ์ว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
--อินโฟเควสท์
OO9799

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!