WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

8 ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์รอผลประชุมเฟด หวั่นเจอแรงกดดันหลังราคาน้ำมันร่วง ,เกาะติดบจ.ประกาศงบฯ Q1/61
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์ รอผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาพอควรเมื่อวานนี้อาจกดดันดัชนีฯได้ เนื่องจากการผลิตน้ำมันต่อวันของสหรัฐฯได้ปรับตัวขึ้นมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดความกังวล Supply จะมากและไปกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลง
นอกจากนี้ ก็จะต้องจับตาสหรัฐฯจะมีการคว่ำบาตรอิหร่านหรือไม่ ถ้าสหรัฐฯมีการคว่ำบาตร อิหร่านก็จะส่งออกน้ำมันไม่ได้ ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ
สำหรับบ้านเราให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/61 เป็นหลัก แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเมื่อวานนี้ประกาศออกมาจะสูง แต่ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะไทยคงจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
พร้อมให้แนวรับ 1,774 จุด ส่วนแนวต้าน 1,790 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (1 พ.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,099.05 จุด ลดลง 64.10 จุด (-0.27%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,654.80 จุด เพิ่มขึ้น 6.75 จุด (+0.25%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,130.70 จุด เพิ่มขึ้น 64.44 จุด (+0.91%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 60.16 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 5.18 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 26.24 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 7.64 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.37 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 10.27 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 10.91 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 27.62 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 4.76 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (30 เม.ย.61) 1,780.11 จุด เพิ่มขึ้น 2.09 จุด (+0.12%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,681.01 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (1 พ.ค.61) ปิดที่ระดับ 67.25 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.32 ดอลลาร์ หรือ 1.9%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 พ.ค.61) ที่ 7.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.68/70 แนวโน้มอ่อนค่า นลท.จับตาผลประชุมเฟด-ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ
- ตลาดจับตา"บอนด์ยีลด์" ระยะสั้นพุ่ง หลัง"แบงก์ชาติ"เพิ่มวงเงินประมูลพันธบัตร 2 รุ่น อายุ 3 และ 6 เดือน ด้าน"วิรไท"ส่งสัญญาณภาวะเจเคิร์ฟทยอยหายไป ลดการบิดเบือนตลาดบอนด์ ขณะ ไทยบีเอ็มเอ"ชี้เป็นเรื่องดี หนุนตลาดกลับสู่สมดุล เผยที่ผ่านมาผลตอบแทน ถูกกดต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย
- "พาณิชย์"เผยเงินเฟ้อเม.ย.พุ่งแตะ 1.07% สูงสุดรอบ 14 เดือน ผลจากราคาน้ำมัน ผักสด เร่งตัวขึ้น สะท้อนกำลังซื้อเริ่มฟื้น ยืนยันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่กระทบราคาสินค้า มั่นใจทั้งปียืนเหนือ 1% ด้านนักวิเคราะห์ประเมินแนวโน้มเร่งตัวขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง กดดัน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้
- เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา นายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้มาหารือถึงข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือทีพีพี เดิมที่ขณะนี้ญี่ปุ่นได้เข้ามาเป็นผู้นำการเจรจาแทนสหรัฐที่ถอนตัวออกไป ซึ่งรัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 อัตราเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,083.86 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. โดยให้หักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามสัดส่วน 70:30 ในอัตราตันละ 5 บาท เป็นส่วนของชาวไร่อ้อยที่ 3.50 บาท/ตันอ้อย และส่วนของโรงงานน้ำตาล 1.50 บาท/ตันอ้อย
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานการปรับพาร์ของ บริษัทจดทะเบียนจากต้นปี-20 เม.ย.2561 พบว่า มีบริษัทที่ปรับเปลี่ยนพาร์ 13 บริษัท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8 บริษัท ได้แก่บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป หรือ CPL ปรับราคาพาร์จาก 10 บาท มาอยู่ที่ 1 บาท บริษัท ปตท. หรือ PTT ปรับพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท บริษัท ศิครินทร์ หรือ SKR ปรับพาร์จาก 6.50 บาท เป็น 0.50 บาท
- บอร์ด ทอท.ไฟเขียวรับโอนย้าย 4 สนามบินจากท่าอากาศยานไทย เตรียมใช้งบลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ผุดสนามบินแห่งที่ 2 ที่เชียงใหม่ และภูเก็ต รองรับนโยบายเมืองรอง และจำนวนผู้โดยสาร 20 ล้านคน/ปี ลุ้นบอร์ดไฟเขียว 25 พ.ค.นี้
*หุ้นเด่นวันนี้
- HTC (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 35 บาท ราคาหุ้นลดลงแรงมากเกินไปกังวลงบ Q1/61 พลาดเป้า แต่เป็นแค่การเลื่อนรับรู้ผลบวกจากราคาน้ำตาลในประเทศที่ลดลงจาก Q1/61 ไปเป็น Q2/61 ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีกำไรยังคงเดิมโดยปีนี้คาดกำไรสุทธิประมาณ 384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% yoy
- CHG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 2.50 บาท ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มกำไรทั้งใน Q1/61 ที่คาดเติบโตดีจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตามโรคระบาด และทั้งปี 2561 ที่คาด +15% Y-Y เป็น 650 ล้านบาท จากรายได้ที่โตในอัตราเร่งและ Margin ที่จะขยายตัวหลังจากผ่านช่วงลงทุนใหญ่ไปแล้ว ด้านราคาหุ้น Outperform กลุ่มตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ยัง laggard เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปี โดย -7% YTD กลุ่ม +4% YTD
- AOT (เออีซี) "ซื้อ"เป้า 80 บาท ช่วง Q2/60-61 คาดกำไรโต 14.1%YoY จากแนวโน้มสดใสของตัวเลขสถิติการบินส่วนปี 60/61- ปี 61/62 คาดกำไรโตเฉลี่ยปีละ 23.7% จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ยังสดใสหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลมาไทยเพิ่มขึ้น และมี Upside 12.3% และคาดให้ Div.Yield เฉลี่ยปีละ 1.86%

ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนเช้านี้ ขณะนักลงทุนจับตาผลประชุมเฟด
ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบเช้านี้ ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,568.19 จุด เพิ่มขึ้น 60.16 จุด, +0.27% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,087.41 จุด เพิ่มขึ้น 5.18 จุด, +0.17% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 30,782.21 จุด ลดลง 26.24 จุด, -0.09% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,665.52 จุด เพิ่มขึ้น 7.64 จุด, +0.07% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,515.75 จุด เพิ่มขึ้น 0.37 จุด, +0.01%
ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,624.20 จุด เพิ่มขึ้น 10.27 จุด, +0.28% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,859.46 จุด ลดลง 10.91 จุด, -0.58% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,791.63 จุด ลดลง 27.62 จุด, -0.35% ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเปิดวันนี้ที่ 5,999.36 จุด เพิ่มขึ้น 4.76 จุด, +0.08%
นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมเฟดในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และจะปรับขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย.
นักวิเคราะห์มองว่า มีโอกาสสูงขึ้นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญนั้น พุ่งขึ้น 1.9% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟด
 
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 11.06 จุด รับเงินปอนด์อ่อน,ผลประกอบการบีพี
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (1 พ.ค.) เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทบีพี
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,520.36 จุด เพิ่มขึ้น 11.06 จุด หรือ +0.15%
ตลาดหุ้นลอนดอนได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในดัชนี FTSE 100 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงนั้น มาจากผลการสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิต/ซีไอพีเอส ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรปรับตัวลดลงแตะ 53.9 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 54.9 ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงของสหราชอาณาจักรส่งผลให้นักลงทุนมองว่า มีโอกาสน้อยลงที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
หุ้นบีพี ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ พุ่งขึ้น 1.8% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรรายไตรมาสพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันและการผลิตน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
หุ้นเจ เซนส์บูรี ดีดขึ้น 1.8% ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของเจ เซนส์บูรี ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 15% นับตั้งแต่ทางบริษัทบรรลุข้อตกลงควบกิจการกับ อัสด้า กรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกในเครือของวอลมาร์ท เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ส่วนหุ้นค้าปลีกรายอื่นๆปรับตัวลง โดยหุ้นดับเบิลยูเอ็ม มอร์ริสัน ร่วงลง 1.4% หุ้นเทสโก้ ขยับลง 0.4%
หุ้นบริติช อเมริกัน โทแบคโค ร่วงลง 2.5% หลังจากนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ไปเปอร์ แจฟเฟรย์ ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นบริติช อเมริกัน โทแบคโค ลงสู่ระดับ "neutral" จากระดับ "overweight"

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวก ขานรับข่าวควบรวมกิจการ
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (30 เม.ย.) ขานรับข่าวควบรวมกิจการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงการควบรวมกิจการระหว่าง เจ เซนส์บูรี พีแอลซี ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของอังกฤษ และอัสด้า ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกในเครือของวอลมาร์ท
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.2% ปิดที่ 385.32 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,612.11 จุด เพิ่มขึ้น 31.24 จุด หรือ +0.25% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ระดับ 5,520.50 จุด เพิ่มขึ้น 37.31 จุด หรือ +0.68% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,509.30 จุด เพิ่มขึ้น 7.09 จุด หรือ +0.09%
ตลาดหุ้นยุโรปดีดตัวขึ้นขานรับข่าวควบรวมกิจการของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัท เจ เซนส์บูรี ประกาศการบรรลุข้อตกลงควบกิจการกับ อัสด้า ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกในเครือของวอลมาร์ท โดยวอลมาร์ทจะเข้าถือหุ้น 42% ในบริษัทที่ผ่านมาควบรวมกิจการแล้ว ขณะที่ทีมผู้บริหารของเซนส์บูรีจะเป็นแกนนำในการบริหารบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ หุ้นเจ เซนส์บูรี ทะยานขึ้น 15%
ทางด้านสปรินท์ คอร์ป ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายในสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซอฟท์แบงค์ กรุ๊ป คอร์ป ได้บรรลุข้อตกลงควบรวมกิจการกับที-โมบาย ยูเอส อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดอยซ์ เทเลคอม เอจี เพื่อจัดตั้งบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานสมาชิกมากกว่า 120 ล้านราย
ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะมีชื่อว่า "ที-โมบาย" โดยดอยซ์ เทเลคอมจะถือหุ้นในอัตราส่วน 42% ขณะที่ซอฟท์แบงค์จะถือหุ้นในอัตราส่วน 27%
หุ้นดับเบิลยูพีพี พีแอลซี ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณารายใหญ่ พุ่งขึ้น 8.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาดในไตรมาสแรกปีนี้
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.ลดลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8%
ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีมีขึ้นหลังจาก GfK ได้เปิดเผยผลสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีลดลงในเดือนมี.ค. เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างรัสเซียและสหรัฐ รวมทั้งความกังวลที่ว่า มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 64.10 จุดก่อนรู้ผลประชุมเฟด ขณะ S&P500,Nasdaq ปิดบวกรับแรงซื้อหุ้นเทคโนฯ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (1 พ.ค.) จากการที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ พร้อมจับตาสถานการณ์ด้านการค้าอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก เพราะได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,099.05 จุด ลดลง 64.10 จุด หรือ -0.27% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,654.80 จุด เพิ่มขึ้น 6.75 จุด หรือ +0.25% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,130.70 จุด เพิ่มขึ้น 64.44 จุด หรือ +0.91%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดอ่อนแรงลง ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมเฟดในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และจะปรับขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย.
นักวิเคราะห์มองว่า มีโอกาสสูงขึ้นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญนั้น พุ่งขึ้น 1.9% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟด
หุ้นเมิร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ ปรับตัวลง 1.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่หุ้นไฟเซอร์ ดิ่งลง 3.3% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายที่ต่ำกว่าคาดเช่นกัน โดยการร่วงลงของหุ้นทั้งสองตัวนี้ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนลบ
หุ้นโบอิ้ง ปรับตัวลง 1.2% หลังจากโบอิ้งประกาศแผนซื้อกิจการบริษัทเคแอลเอ็กซ์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ขณะที่รายงานข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นเคแอลเอ็กซ์ ปิดตลาดร่วงลง 8.6%
อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ปิดตลาดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2.3% ก่อนที่ทางบริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาส ขณะที่หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล พุ่งขึ้น 2.2% หุ้น Nvidia ปรับตัวขึ้น 1% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ (AMD) พุ่งขึ้น 2.3% หุ้นเฟซบุ๊ก เพิ่มขึ้น 1.1% หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 1.6% หุ้นอเมซอนดอทคอม ปรับตัวขึ้น 1% และหุ้นเน็ตฟลิกซ์ ปรับตัวขึ้น 0.3%
ส่วนหุ้นบีพี ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของยุโรปที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดีดตัวขึ้น 0.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรรายไตรมาสพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันและการผลิตน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้และมีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นนิวยอร์กนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 1.7% ในเดือนมี.ค. หลังจากขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนก.พ. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค.
ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ลดลงสู่ระดับ 57.3 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 59.3 ในเดือนมี.ค. ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าดัชนีจะปรับตัวลงสู่ระดับ 58.4
นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดในวันนี้แล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.
--อินโฟเควสท์
OO8192

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!