WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

6ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับขึ้นตามตลาดตปท. รอดูถ้อยแถลงของประธานเฟดคนใหม่พรุ่งนี้
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าลง เนื่องจากตลาดฯไม่ได้มีปัจจัยลบอะไร ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่อยู่ในแดนบวก เช่นเดียวกับดัชนีดาวโจนส์
ทั้งนี้ ตลาดบ้านเราขาดเพียงแค่ Fund Flow ที่จะเข้ามาช่วยหนุนเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้การปรับขึ้นของดัชนีฯอยู่ในกรอบจำกัด พร้อมให้ติดตามการแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) โดยจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งต้องรอดูทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
พร้อมให้แนวรับ 1,800 จุด ส่วนแนวต้าน 1,820 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (23 ก.พ.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,309.99 จุด พุ่งขึ้น 347.51 จุด (+1.39%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,747.30 จุด เพิ่มขึ้น 43.34 จุด (+1.60%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,337.39 จุด เพิ่มขึ้น 127.31 จุด (+1.77%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 241.86 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 18.28 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 261.12 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 33.43 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 13.83 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 10.05 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 2.71 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 17.41 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ลดลง 4.43 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (23 ก.พ.61) 1,808.06 จุด เพิ่มขึ้น 19.43 จุด (+1.09%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,785.63 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ก.พ.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (23 ก.พ.61) ปิดที่ระดับ 63.55
ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 78 เซนต์ หรือ 1.2%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 ก.พ.61) ที่ 7.37 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.39 แข็งค่า หลังตลาดคลายกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คาดกรอบ 31.35-31.45
- การประชุมบอร์ดอีอีซีวันนี้ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเสนอแผนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการลงทุนรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ทีโออาร์จะแล้วเสร็จ เพื่อนำไปสู่กระบวนการสรรหาผู้ร่วมทุน และเริ่มขั้นตอนการก่อสร้างให้ทันเปิดดำเนินการภายในปี 2566
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานฐานะทางการเงินของสถาบัน การเงินเฉพาะกิจ หรือ แบงก์รัฐ ณ สิ้นปี 2560 ว่า มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 4.92 ล้านล้านบาท
- ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เผยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวได้ดี แต่การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนยังคงล่าช้า ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบของการบังคับใช้พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ช่วงเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในปีนี้จะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากส่วนราชการเริ่มปรับตัวเข้ากับกฎหมายใหม่ได้แล้ว
- ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในช่วงระหว่างปี 2561-2565 จะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ขณะที่ในปีนี้ประเมินกันว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4% เนื่องจากรัฐบาลได้มีการผลักดันโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ ทั้งโครงการรถไฟไทย-จีน การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.79 ล้านล้านบาท

*หุ้นเด่นวันนี้

- MINT (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 48 บาท กำไร Q1/61 จะเป็นจุดสูงสุดของปี ยังคาดกำไรปีนี้ +20% Y-Y ราคาหุ้นที่ปรับลงเกือบ 10% ในกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสวนทางกับภาพที่เป็นบวกดังกล่าว ด้านผู้บริหารคาดว่าปี 2561 จะเป็นปีที่ดีทั้งรายได้และ Margins ที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะมี Rev Par โตทุกตลาดนำโดยไทยและโปรตุเกส ส่วนธุรกิจอาหารคาดเห็นการฟื้นตัวของ SSSG ชัดเจนโดยเฉพาะในไทย และยังใช้กลยุทธ์ปิดสาขาที่ไม่กำไรในตลาดที่มีปัญหา
- PSL (ไอร่า) เป้า 14.10 บาท (มีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการพร้อมเป้าหมาย) แนวโน้มปี 61 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาวะอุปสงค์และอุปทานที่เข้าใกล้จุดสมดุลมากขึ้นในปี 61 แนวโน้ม Q1/61 อ่อนตัวลง ผลจากฤดูกาลที่เรือใหม่มักเข้าสู่อุตสาหกรรมในช่วง ม.ค. รวมถึงวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน และผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหนักของจีนเพื่อควบคุมมลพิษที่จะจบมาตรการลงใน มี.ค. นี้ อย่างไรก็ตามคาด PSL จะกลับมาเติบโตได้ใน Q2/61 พร้อมมุมมอง
ที่ดีในระยะยาว จากกฏเกณฑ์ ได้แก่ ข้อตกลงการจัดการน้ำถ่วงเรือ และเกณฑ์การจำกัดค่ากำมะถันในเชื้อเพลิง ที่จะบังคับใช้ในปี 62-63 ทำให้เรืออายุมากปลดระวางเรือเร็วขึ้น ทำให้คาด Demand-Supply กำลังเข้าสู่สมดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- JUBILE (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) ผู้บริหารกลับมาเริ่มการขยายสาขาอีกครั้งในรอบ 2 ปี ส่งผลให้คาดกำไรจะทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง โดยปรับกำไรปี 61-62 ขึ้น 29% และ 42% ตามลำดับ ด้วยเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้มองว่า ราคาหุ้นควรกลับไปอยู่ระดับสูงสุดอีกครั้ง(เทียบเท่าปี 57) บน Lower PER band ที่ 28x ทำให้ได้ราคาเหมาะสมใหม่ที่ 35.50 บาท (Upside 40%)

ตลาดหุ้นเอเชียเพิ่มขึ้นเช้านี้ ขานรับดาวโจนส์ปิดพุ่งเมื่อวันศุกร์
          ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ ขานรับดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดเมื่อวันศุกร์ โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,134.64 จุด เพิ่มขึ้น 241.86 จุด, +1.10% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,307.30 จุด เพิ่มขึ้น 18.28 จุด, +0.56% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 31,528.29 จุด เพิ่มขึ้น 261.12 จุด, +0.84% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,827.98 จุด เพิ่มขึ้น 33.43 จุด, +0.31% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,465.35 จุด เพิ่มขึ้น 13.83 จุด, +0.56% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,543.27 จุด เพิ่มขึ้น 10.05 จุด, +0.28% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,864.21 จุด เพิ่มขึ้น 2.71 จุด, +0.15% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 8,450.15 จุด ลดลง 17.41 จุด, -0.21% ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเปิดวันนี้ที่ 6,615.37 จุด ลดลง 4.43 จุด, -0.07%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรับ (เฟด) ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันที่ 27 ก.พ. โดยจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกของเขาต่อรัฐสภาสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 7.98 จุด หลังเงินปอนด์แข็งค่า
        ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) โดยบรรยากาศการซื้อขายได้รับปัจจัยลบจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนลดลง 7.98 จุด หรือ 0.11% ปิดที่ 7,244.41 จุด
หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ ปรับตัวลง 4.82% หุ้นสเมอร์ฟิต คัปปา กรุ๊ป บริษัทบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกชั้นนำของยุโรป ลดลง 3.85% หุ้นอินเตอร์เนชั่นแนล คอนโซลิเดเต็ด แอร์ไลน์ส กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ร่วงลง 5.69%
การแข็งค่าของเงินปอนด์ได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในดัชนี FTSE 100 โดยรายได้ 75% ของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนนั้นอยู่ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ ดังนั้น การแข็งค่าของเงินปอนด์จึงส่งผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทเหล่านี้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับแรงกดดันหลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) ได้ปรับลดตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/2560 โดยระบุว่า GDP ในไตรมาส 4 มีการขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 0.5%
เมื่อเทียบรายปี GDP ในไตรมาส 4 มีการขยายตัว 1.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาทั้งปี 2560 เศรษฐกิจอังกฤษมีการขยายตัว 1.7% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวก ขานรับดาวโจนส์ปิดพุ่งกว่า 300 จุด
         ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุด โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ปิดที่ 381.16 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมัน เพิ่มขึ้น 21.88 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 12,483.79 จุด ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส เพิ่มขึ้น 8.14 จุด หรือ 0.15% ปิดที่ 5,317.37 จุด ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ลดลง 7.98 จุด หรือ 0.11% ปิดที่ 7,244.41 จุด
หุ้นดอยช์ เทเลคอม บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของเยอรมนี เพิ่มขึ้น 3.3% หุ้นบีที บริษัทสื่อสารรายใหญ่ของยุโรป ทะยานขึ้นกว่า 5% หุ้นสวิส รี บวก 2.5%
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.886% เมื่อคืนนี้ หลังจากพุ่งแตะ 2.950% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีในวันพุธ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.171%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนปรับตัวลง 0.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น และตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
หากไม่นับหมวดพลังงานและอาหาร ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญ ร่วงลง 1.3% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบรายปี
นอกจากนี้ หากไม่นับหมวดพลังงาน อาหาร แอลกอฮอล์ และบุหรี่ ดัชนี CPI ดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจ เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายปี
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของ ECB ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 347.51 จุด จากอานิสงส์บอนด์ยีลด์อ่อนตัว
       ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (23 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้น 347.51 จุด หรือ 1.39% ปิดที่ 25,309.99 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 43.34 จุด หรือ 1.60% ปิดที่ 2,747.30 จุด ดัชนี Nasdaq ทะยาน 127.31 จุด หรือ 1.77% ปิดที่ 7,337.39 จุด
ตลอดสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.4% ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.6% ดัชนี Nasdaq ทะยาน 1.4%
หุ้นฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอนเตอร์ไพรส์ ทะยาน 10.5% หลังบริษัทเผยผลประกอบการไตรมาสแรกแข็งแกร่ง หุ้นเอชพี เพิ่มขึ้น 3.5% หลังเผยผลประกอบการที่สูงกว่าคาดการณ์ พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการรายปี
ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ชะลอตัวลงเมื่อวันศุกร์ หลังจากนายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ แสดงความเห็นว่า เฟดจะต้องใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในปีนี้ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นายบุลลาร์ดยังกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟดต่อไปอีกหลายปี
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.886% เมื่อวันศุกร์ หลังจากพุ่งแตะ 2.950% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีในวันพุธ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.171%
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันศกร์ที่ผ่านมา โดยนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ โดยเป็นการโต้แย้งเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่ามาตรการดังกล่าวมีผลในระดับปานกลางเท่านั้น
นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายภายหลังในปีนี้ ซึ่งอาจหมายถึงการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2%
นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมุมมองที่เป็นบวก ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันที่ 27 ก.พ. โดยจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกของเขาต่อรัฐสภาสหรัฐ
--อินโฟเควสท์

OO5867

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!