WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

21ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ซึมลงคล้ายตลาดภูมิภาค เล็งขายทำกำไรก่อนรู้ผลประชุมเฟด
นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะซึมลงสู่บริเวณ 1,815-1,820 จุด แต่อาจจะฟื้นตัวได้ระหว่างทาง ซึ่งมองว่าการปรับตัวลงเป็นจังหวะในการซื้อ โดยที่ผ่านมาตลาดฯมีแรงขายทำกำไรออกมาก่อนรู้ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนนี้ ซึ่งก็คาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในงวดนี้
หลังทราบผลประชุมเฟดก็คาดว่าตลาดฯน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ (Bond Yield) คลายตัวลงด้วยหลังจากที่ขึ้นสูง ส่วนตลาดหุ้นทั่วโลกก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ซึ่งก็คาดหวังการฟื้นตัวได้ในวันพรุ่งนี้
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่จะปรับตัวลงราว 0.3% ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่ลักษณะแค่การชะลอลง พร้อมให้แนวรับ 1,815-1,820 จุด ส่วนแนวต้าน 1,830 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
-ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (30 ม.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,076.89 จุด ดิ่งลง 362.59 จุด (-1.37%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,822.43 จุด ลดลง 31.10 จุด (-1.09%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,402.48 จุด ลดลง 64.02 จุด (-0.86%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 86.74 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 10.37 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 17.50 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 171.53 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 22.42 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 17.27 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 78.65 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ลดลง 27.50 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (30 ม.ค.61) 1,826.61 จุด ลดลง 10.88 จุด (-0.59%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,545.21 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ม.ค.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (30 ม.ค.61) ปิดที่ระดับ 64.50ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 1.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (30 ม.ค.61) ที่ 6.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.41 แข็งค่าจากวานนี้ หลังมีแรงขายดอลล์-ตลาดจับตาสัญญาณเศรษฐกิจจาก FED
- แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ จ่อปรับคาดการณ์ "จีดีพี" ปีนี้เพิ่ม หลังส่งออก-ท่องเที่ยวเติบโตดีเกินคาด ด้าน ธปท. ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยยาว เหตุ กนง. อยากเห็นเศรษฐกิจกระจายตัวมากกว่านี้ ด้าน สศช. มอง "จีดีพี" ปีนี้แนวโน้มโต 4.1% สูงสุดรอบ 6 ปี
- นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เผยจากการประเมินตัวเลขการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ปี 2561 คาดว่าจะเติบโตราว 10-15% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราเติบโต 14.89% โดยมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจ ปี 2018 ว่าขณะนี้มีความเป็นห่วง แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นสูงสุดในบรรดาสินเชื่อรายย่อยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2560 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.26% ทั้งนี้สินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีความปลอดภัยมากที่สุด เมื่อกลายเป็นเอ็นพีแอลระดับสูงจึงไม่สบายใจ ต้องรอดูตัวเลขไตรมาส 4 อีกครั้ง แต่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
- นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้จัดสรรงบกลาง ในงบประมาณปี 60 ในรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ วงเงิน 2,105.96 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับ 7 หน่วยงาน รวม 7 โครงการ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับการจัดสรรมากที่สุด รวม 641.53 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการหมู่บ้านโอทอป เพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง โดยในเอกสารการประชุมระบุว่าจะมีการปรับขึ้น 5-22 บาท/วัน ในทุกจังหวัดมาที่ 308-330 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.61 พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป

*หุ้นเด่นวันนี้

- MGT (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 3.00 บาท คาดกำไรสุทธิ Q4/60 ทำสถิติใหม่ที่ 13 ล้านบาท +7% Q-Q, +76% Y-Y รวมทั้งปี 2560 คาด +44% Y-Y อยู่ที่ 47 ล้านบาท จากรายได้ที่โตและการบริหารต้นทุนรวมถึงค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพ โดยประทับใจกลยุทธ์ใหม่ของ MGT ที่เข้าประมูลงานใหญ่ผ่านโครงข่ายของ Megachem ซึ่งล่าสุดได้คำสั่งซื้อในระดับเกือบ 20% ของรายได้รวมที่ทำได้แต่ละปี และยังมีอีก 2-3 ดีลที่รอปิดการขาย เมื่อรวมผลบวกจากบาทแข็ง ที่ทุก 1% จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่ม 3% ทำให้กำไรปี 2561 ที่ทำไว้ 60 ล้านบาท +28% Y-Y อาจต่ำเกินไป นอกจากนี้เป็นหุ้นที่ชอบขึ้นสวนตลาด ขณะที่ปันผลคาดจ่ายมากกว่าเดิมเพราะเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้และดีล M&A ยังไม่เกิดขึ้นเร็ว โดยคาด Yield เฉพาะ H2/60 ราว 2%
- SAT (เคทีบี) "ซื้อ"เป้า 22 บาท แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2561 อาจยังเติบโตไม่มาก อย่างไรก็ตาม คาดว่า SAT ยังได้ผลบวกจากธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้โดดเด่น รวมถึงคาดว่าระยะสั้นจะมีปัจจัยหนุนจากกำไรสุทธิ Q4/60 เพิ่มขึ้นโดดเด่น ประเมินกำไรปกติ Q4/60 ที่ 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% YoY แต่ลดลง 19% QoQ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ส่วนกำไรสุทธิ Q4/60 จะโดดเด่น เนื่องจากจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการโอนธุรกิจสปริงไปเป็นบริษัทร่วม
- COM7 (กสิกรไทย) "ซื้อ"เป้า 17.50 บาท คาดกำไรสุทธิงวด Q4/60 ที่ 188 ล้านบาท เติบโต 24.7% QoQ และ 28.4% ถือเป็นกำไรที่สูงที่สุดในประวิติการณ์อีกครั้ง โดยได้ผลักดันมาจากรายได้การขาย iPhone ทั้ง 3 รุ่น (iPhone 8, iPhone 8 Plus,และ iPhone X) รวมถึงด้านอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการเปิดเบอร์ใหม่และการย้ายค่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทพาร์ทเนอร์อย่าง TRUE ได้ออกโปรโมชั่นส่วนลด 4,000-9,000 ให้กับผู้ที่เปิดเบอร์ใหม่หรือย้ายค่าย
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าส่วนใหญ่ปรับตัวลง ขณะนลท.ซึมซับข้อมูลศก.จีน
         ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าส่วนใหญ่ปรับตัวลงในวันนี้ ภายหลังจากที่มีแรงขายในตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังคงปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลง ส่วนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้แถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาคองเกรสในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 23,267.22 จุด ลดลง 24.75 จุด, -0.11% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 32,745.19 จุด เพิ่มขึ้น 137.90 จุด, +0.42%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้แถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาคองเกรสในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะนำการจ้างงานกลับสู่ชาวอเมริกันอีกครั้ง ขณะเดียวกันทรัมป์ได้กล่าวถึงประเด็นการค้าว่า รัฐบาลสหรัฐจะพลิกสถานการณ์ด้านการค้าของประเทศให้กลับมาสดใสอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐถูกเอาเปรียบจากข้อตกลงการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ทรัมป์กล่าวว่า ยุคสมัยของการยอมศิโรราบทางเศรษฐกิจนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมกับกล่าวว่า สหรัฐคาดหวังว่าความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ จะเป็นไปอย่างยุติธรรม
ทรัมป์ยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยนักสร้าง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะลงทุนในการพัฒนาและฝึกฝนบุคลากร นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้เรียกร้องให้มีการใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นวงเงินอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านดอลลาร์
ข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้มีการเปิดเผยแล้วในวันนี้ ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานเบื้องต้นวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนธ.ค. ปรับตัวขึ้น 2.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยได้ปัจจัยหนุนจากความแข็งแกร่งของการผลิตอุปกรณ์ด้านการขนส่ง
ส่วนดัชนีการขนส่งในภาคการผลิตปรับตัวขึ้น 2.7% สู่ระดับ 103.9 และดัชนีสต็อกสินค้าคงคลังในภาคการผลิต ลดลง 0.4% สู่ระดับ 109.4
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค. ขยายตัวที่ระดับ 51.3 ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนธ.ค.ที่ขยายตัว 51.6
อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัว หากดัชนี PMI เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต
ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนม.ค. ขยายตัวที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.ซึ่งขยายตัวที่ระดับ 55
สำนักงานสถิติเกาหลีใต้รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เดือนธ.ค.ขยายตัวขึ้น และขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือนธ.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย.
นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการประชุมระยะเวลา 2 วันของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเสร็จสิ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
ถ้อยแถลงครั้งสุดท้ายของนางเจเน็ต เยลเลน ในฐานะประธานเฟดเป็นประเด็นที่ถูกจับตา ก่อนที่นางเยลเลนจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟดในวันที่ 3 ก.พ.นี้ และนายเจอโรม พาวเวล จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดร่วง 83.55 จุดตามตลาดหุ้นสหรัฐ เหตุวิตกบอนด์ยีลด์พุ่ง
        ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (30 ม.ค.) โดยดัชนี FTSE 100 ปิดในแดนลบเป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,587.98 จุด ลดลง 83.55 จุด หรือ -1.09%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนได้รับปัจจัยลบจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยนักลงทุนจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหลังจากหน่วยงานด้านการกำกับดูแลการเงินของรัฐบาลอังกฤษได้เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ของลูกค้าธนาคาร โดยหุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ร่วงลง 2.9% หุ้นบาร์เคลย์ส ดิ่งลง 2.8% และหุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ ร่วงลง 2.7%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง นำโดยหุ้นแองโกล อเมริกัน ดิ่งลง 2.3% หลังจากมีรายงานว่า หนึ่งในภูมิภาคที่ผลิตถ่านหินมากที่สุดในประเทศจีนได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินยกเลิกวันหยุด เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานในช่วงเทศกาลตรุษจีน
หุ้นไรอันแอร์ ปรับตัวลง 2.2% แม้มีรายงานว่าสายการบินไรอันแอร์และสมาคมนักบินอังกฤษได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักบินก็ตาม

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง นักลงทุนกังวลบอนด์ยีลด์พุ่งหนุนเฟดขึ้นดบ.เร็วกว่าคาด
         ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืม และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 0.9% ปิดที่ 396.12 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,197.71 จุด ร่วงลง 126.77 จุด หรือ -0.95% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,473.78 จุด ลดลง 47.81 จุด หรือ -0.87% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,587.98 จุด ลดลง 83.55 จุด หรือ -1.09%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด โดยนักลงทุนจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดสหรัฐเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นสแตทออยล์ ดิ่งลง 2.2% หุ้นโททาล เอสเอ ร่วงลง 1.7% และหุ้นบีพี ดิ่งลง 1.5%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง นำโดยหุ้นแองโกล อเมริกัน ดิ่งลง 2.3% หลังจากมีรายงานว่า หนึ่งในภูมิภาคที่ผลิตถ่านหินมากที่สุดในประเทศจีนได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินยกเลิกวันหยุด เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานในช่วงเทศกาลตรุษจีน
หุ้นไรอันแอร์ ปรับตัวลง 2.2% แม้มีรายงานว่าสายการบินไรอันแอร์และสมาคมนักบินอังกฤษได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักบินก็ตาม
ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารของอังกฤษร่วงลง หลังจากหน่วยงานด้านการกำกับดูแลการเงินของรัฐบาลอังกฤษได้เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ของลูกค้าธนาคาร โดยหุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ร่วงลง 2.9% หุ้นบาร์เคลย์ส ดิ่งลง 2.8% และหุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ ร่วงลง 2.7%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 362.59 จุด วิตกบอนด์ยีลด์พุ่ง,หุ้นเฮลธ์แคร์ดิ่งหนัก
        ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (30 ม.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพ และกลุ่มพลังงาน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,076.89 จุด ดิ่งลง 362.59 จุด หรือ -1.37% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,822.43 จุด ลดลง 31.10 จุด หรือ -1.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,402.48 จุด ลดลง 64.02 จุด หรือ -0.86%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.712% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.974%
ทั้งนี้ การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรส่งผลให้นักลงทุนวิตกว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยปัจจัยล่าสุดที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ มาจากรายงานของ Conference Board ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทะยานขึ้นสู่ระดับ 125.4 ในเดือนม.ค. จากระดับ 122.1 ในเดือนธ.ค. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จะลดลงสู่ระดับ 123.1
ตลาดการเงินได้เพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดย CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 26% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 23% ในวันศุกร์ และจากระดับ 10% ในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพ หรือกลุ่มเฮลธ์แคร์ หลังจากหลังจากมีรายงานว่า บริษัทอเมซอน, เจพีมอร์แกน เชส และเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ประกาศแผนจับมือกันตั้งบริษัทแห่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะไม่มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไร แต่จะส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน ด้วยการลดรายจ่ายด้านการรักษาสุขภาพ โดยอเมซอน, เจพีมอร์แกน และเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ มีพนักงานรวมกันทั่วโลกมากกว่า 1.1 ล้านคน
ดัชนีหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ร่วงลง 2% ขณะที่หุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ ร่วงลง 4.4% หุ้นซิกนา คอร์ป ดิ่งลง 7.2% หุ้นแอนเธม อิงค์ ร่วงลง 5.3% และหุ้นเอ็ทนา อิงค์ ร่วงลง 3%
หุ้นแมคโดนัลด์ ร่วงลง 3% แม้บริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 4/2560 ที่ระดับ 5.34 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.22 พันล้านดอลลาร์
หุ้นไฟเซอร์ ร่วงลง 3.1% แม้ว่าไฟเซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 62 เซนต์/หุ้นในไตรมาส 4/2560 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 56 เซนต์/หุ้น
หุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 0.6% หลังจากวอลล์สตรีท เจอร์นัล และหนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นรายงานว่า แอปเปิลเตรียมปรับลดเป้าการผลิต iPhone X สำหรับไตรมาสแรกในปีนี้ลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากยอดขายที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในยุโรป สหรัฐ และจีน
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์ก เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในสหรัฐ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1.4% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 5.3% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ร่วงลง 6.4% และหุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ปรับตัวลง 1.2%
นักลงทุนจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีกำหนดแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาคองเกรสในวันนี้ เวลา 09.00 น.ตามเวลาไทย ในหัวข้อ "การสร้างอเมริกาที่ปลอดภัย แข็งแกร่ง และน่าภาคภูมิใจ" โดยจะเน้นหนักใน 5 ประเด็นหลัก ซึ่งได้แก่ การจ้างงานและเศรษฐกิจ, การก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคของประเทศ, นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ, การค้า และความมั่นคงแห่งชาติ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่นักลงทุนจับตาในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนม.ค.จาก ADP, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค.
--อินโฟเควสท์

OO5051

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!