- Details
- Category: บลจ.
- Published: Monday, 27 March 2017 17:26
- Hits: 6401
กบข. จัดงานประชุมนานาชาติเรื่องระบบบำนาญและการลงทุน International Conference เรื่อง 'Pensions & Investments : Lessons Learnt and Challenges Ahead' Challenges of Thai Pensions Systems: The Issues of Coverage, Adequacy and Sustainability
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. กำหนดจัดงาน International Conference เรื่อง 'Pensions & Investments : Lessons Learnt and Challenges Ahead' ในวันที่ 27 มีนาคม 2560 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้งกองทุนนับตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดงานดังกล่าว คือเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองที่หลากหลาย ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยท้าทายที่สำคัญในการบริหารกองทุนเงินออมขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนและเม็ดเงินที่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณของสมาชิก
ในการนี้ กบข. ได้รับเกียรติจาก ท่านปลัดกระทรวงการคลัง ดร. สมชัย สัจจพงษ์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Challenges of Thai Pensions Systems: The Issues of Coverage, Adequacy and Sustainability” ที่ให้แนวคิดในระดับนโยบายและการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ในการผลักดันให้ระบบบำนาญของไทยมีความครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน
นอกจากนี้ กบข. ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในระบบบำนาญจากทั่วทุกภูมิภาคของโลก มาบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ 1. Dr. Donghyun Park จาก ADB บรรยายเรื่อง “In searching for well-functioning pension system in Asia” 2. Dr. Pablo Antolín-Nicolás จาก OECD บรรยายเรื่อง “New Landscape of Pension System in OECD and Latin America” 3. คุณยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการ กบข. บรรยายเรื่อง 'Government Pension Fund, Thailand'4. Dr. Grégoire Haenni จาก Swiss Pension บรรยายเรื่อง “Pension investment : Challenges in Europe and USA and for Swiss pension funds” 5. Mr. Yohtaro Takahara จาก JITA บรรยายเรื่อง 'Pension investment : Challenges for Japanese pension funds'” และ 6. Mr. Seamus Collins จาก J.P. Morgan บรรยายเรื่อง 'Pension investment: Challenges in Asia ex-Japan' ปิดท้ายงานด้วยเสวนากลุ่ม ที่ ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ รองเลขาธิการ กบข. ทำหน้าที่ตั้งคำถาม พร้อมสรุปประเด็นสำคัญ ที่สะท้อนมุมมอง ความคิดของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่มีต่อระบบบำนาญในภาพรวม และปัจจัยท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับระบบและการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้
นายสมบัติ กล่าวว่าผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนจากภาคเอกชน สมาชิก กบข. และสื่อมวลชน ซึ่ง กบข. คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมงานทุกท่านจะได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบบำนาญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ก็จะได้ทราบถึงความท้าทายของระบบ โดยมีปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับผลตอบแทนจากการลงทุน ปัญหาสังคมสูงวัย การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นภาพระบบบำนาญของไทยและของโลก ตลอดจนปัญหาและความท้าทายที่ระบบต้องเผชิญในอนาคต ทั้งนี้ กบข. จะทำการสรุปสาระสำคัญเผื่อเผยแพร่ไปยังสมาชิกในวงกว้างต่อไป
ปลัดคลังเตรียมเสนอแก้กฎหมาย ให้กบข.บริหารกองทุนอื่นแข่งกับ บลจ. ส่วน กบช. คาดบังคับใช้ม.ค.61
ปลัดคลังเตรียมเสนอแก้กฎหมาย ให้กบข.บริหารกองทุนอื่นแข่งกับ บลจ. ชี้อยู่ในขั้นตอนสศค. พิจารณาในรายละเอียด ส่วน กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ คาดบังคับใช้ม.ค.61ช่วยลดงบประมาณภาครัฐอุดหนุนผู้สูงอายุ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการจัดงานประชุมนานาชาติ เรื่องระบบบำนาญและการลงทุน จัดโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย กบข. เพื่อให้กบข.สามารถไปรับ หรือ แข่งขันเพื่อบริหารกองทุนอื่นได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พิจารณาในรายละเอียด
“ในส่วนของการแก้ไขกฎหมาย กบข. นั้น มองว่า จะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะให้กบข. ไปแข่งขันกับที่อื่นๆในการบริหารกองทุนได้ เช่นเดียวกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. โดยกระบวนการต่างๆ อยู่ระหว่าง สศค. พิจารณา ซึ่งในเบื้องต้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เห็นด้วย”นายสมชัย กล่าว
ด้านความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงเดือนมกราคม 2561 ทั้งนี้ มองว่า กองทุนดังกล่าวนั้นจะช่วยลดภาระงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียญได้ ซึ่งปัจจุบัน ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุคิดเป็นเงิน 7.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2% ของจีดีพี และคิดเป็น 12% ของงบประมาณภาครัฐ และในปี 5 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14% ของงบประมาณของรัฐ หรือ 3% ของจีดีพี
ขณะเดียวกัน หากไม่มีการปฏิรูประบบบำนาญ หรือสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเงิน จะส่งผลให้ในอีก 15 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะมีภาระทางการคลังในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 600,000-700,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่า การสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กบช. ถือว่ามีส่วนสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายกองทุนประกันสังคม เพื่อเพิ่มเงินสมทบจาก 5% เป็น 10% เพื่อให้รายได้หลังการเกษียณอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียง 50% ซึ่งถือเป็นระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพนั้น รวมถึงเพิ่มช่วงอายุของผู้ออมจาก 55 เป็น 60 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย