- Details
- Category: บลจ.
- Published: Saturday, 09 August 2014 22:27
- Hits: 2795
บลจ.กสิกรไทย จ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศ 5 กองทุน กว่า 410 ล้านบาท ตอกย้ำผู้นำกองทุนต่างประเทศอันดับ 1 ชี้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ร้อนแรง ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป ยังเติบโตต่อเนื่อง
นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย เตรียมจ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศจำนวน 5 กองทุน คิดเป็นมูลค่าการจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้นกว่า 410 ล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุน (K-EUROPE) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2556 - 31 กรกฎาคม 2557 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.15 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดเค โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ออพพอร์ทูนนิตี้ (K-GEMO) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 - 31 กรกฎาคม 2557 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดเค เอเชียน สมอลเลอร์ หุ้นทุน (K-ASIA) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 - 31 กรกฎาคม 2557 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดเค อินเดีย หุ้นทุน (K-INDIA) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 - 31 กรกฎาคม 2557 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดเค ยูเอสเอ หุ้นทุน (K-USA) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 - 31 กรกฎาคม 2557 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.55 บาทต่อหน่วย โดยทั้ง 5 กองทุนจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวพร้อมกันในวันที่ 14 สิงหาคม 2557 นี้
ด้านผลการดำเนินงานของกองทุนต่างประเทศที่มีการจ่ายปันผลครั้งนี้ นายนาวินกล่าวว่า กองทุนส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกองทุนที่ผลการดำเนินงานโดดเด่น ได้แก่ กองทุน K-INDIA ซึ่งตั้งแต่ต้นปีกองทุนให้ผลตอบแทนกว่า 30% สามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 25% ทั้งนี้เนื่องมาจากกองทุนหลักมีการเน้นลงทุนในหุ้นอินเดียทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีการปรับพอร์ตการลงทุนโดยเพิ่มน้ำหนักในหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟื่อย รวมถึงกลุ่มสุขภาพ เนื่องจากมองว่าจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น รวมถึงมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้กองทุนมีผลการดำเนินงานเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้านกองทุน K-ASIA ในระยะยาวกองทุนหลักสามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีกองทุนให้ผลตอบแทบเกือบ 8% โดยได้รับอานิสงส์หลักมาจากหุ้นอินเดียที่มีสัดส่วนอยู่เป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วนประมาณ 25% ของกองทุน โดยอินเดียถือเป็นตลาดที่มีการปรับตัวขึ้นสูงเหนือตลาดของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับกองทุนหลักของ K-ASIA มีการเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงมีแนวโน้มและโอกาสเติบโตได้สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ สำหรับกองทุน K-EUROPE กองทุน K-USA และ กองทุน K-GEMO ยังคงให้ผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกองทุน K-EUROPE ซึ่งให้ผลการดำเนินงานที่เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานได้อย่างสม่ำเสมอทุกช่วงระยะเวลา ด้านกองทุน K-USA ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาให้ผลการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย แต่ในระยะเวลา 1 ปีให้ผลดำเนินงานที่ 18.27% ซึ่งดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 16.42%
นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวว่า “สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญานเชิงบวกและยังคงมีทิศทางที่เติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย อาทิ อินเดีย จีน ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขเศรษฐกิจ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของจีนขยายตัวได้ 7.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และออกมาดีกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 7.4% นอกจากนี้ดัชนีภาคการผลิต HSBC PMI ของจีนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถทำระดับสูงสุดได้ในรอบ 18 เดือน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจอินเดีย ดัชนี PMI ในเดือนมิถุนายน ขยายตัวมากสุดในรอบ 17 เดือนอยู่ที่ 54.4 จุด เติบโตจาก 50.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งยังคงได้รับปัจจัยบวกมาจากความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สำหรับทิศทางการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง บลจ.กสิกรไทยประเมินว่า แม้จะมีความกังวลต่อการปรับลดมาตรการ QE ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าสหรัฐฯ แต่การที่ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน จะทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกยังสูงอยู่ ซึ่งช่วยเอื้อให้เม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่เอง นอกจากนี้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ยังช่วยหนุนการส่งออกในประเทศเอเชีย บวกกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจเอเชียที่ยังแข็งแกร่ง เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดเอเชียยังคงมีความน่าสนใจ ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือความชัดเจนเป็นรูปธรรมของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนและอินเดียในอนาคต รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก หรือสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมได้”
นายพงศ์พิเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯและยุโรป ตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปยังเติบโตได้ในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลข GDP ไตรมาสแรกเติบโตได้ 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้าและเติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งได้รับปัจจัยบวกมาจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรป ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ เติบโตอยู่ที่ 4 % ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3% และเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้าที่ -2.1% ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยคาดว่ามาตรการ QE จะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมของปีนี้ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องติดตามคือ แนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า อาจจะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงมา หลังจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐ ได้ปรับตัวขึ้นสูง โดยบลจ.กสิกรไทยแนะนำให้ชะลอการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอาจอาศัยจังหวะในช่วงที่ดัชนีมีการปรับฐานลงมาทยอยเข้าสะสมเพิ่มเติมได้ ด้านตลาดหุ้นยุโรปในระยะยาวยังคงแนะนำให้เข้าลงทุนเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ผลกระทบจากสถานการณ์ต่างประเทศ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เหตุการณ์รุนแรงในฉนวนกาซา และกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปได้
ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุน K-EUROPE กองทุน K-ASIA กองทุน K-INDIA กองทุน K-USA และกองทุน K-GEMO สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือติดต่อ KAsset Contact Center 02673 3888
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน กองทุน K-EUROPE กองทุน K-ASIA กองทุน K-INDIA กองทุน K-USA และกองทุน K-GEMO มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินของหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน โดยกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต