- Details
- Category: บลจ.
- Published: Wednesday, 11 November 2015 19:37
- Hits: 2104
บลจ.วรรณ เชื่อมั่น ศก.ญี่ปุ่น เสนอขายกองทุนเปิด ONE-NIPPON ระหว่าง 11-17 พ.ย.นี้
บลจ.วรรณ มั่นใจ ทางการญี่ปุ่นยังคงสานต่อมาตรการการสนับสนุนเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายลูกศร 3 ดอก ทั้งนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายการคลัง และการปฎิรูปเศรษฐกิจระยาว จับจังหวะเหมาะเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ นิปปอน ฟันด์ (ONE-NIPPON) เน้นลงทุนในกองทุนเปิด Next Fund JPX-Nikkei 400 ETF มีนโยบายลงทุนที่สร้างผลตอบแทนเลียนแบบดัชนีใหม่ JPX-Nikkei 400 Index IPO ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายนนี้
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมุมมองเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยมองว่ายังมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง จากทิศทางของค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแตะระดับ 126 เยนต่อดอลลาร์ในปีนี้ และมีโอกาสอ่อนค่าลงแตะระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ในปีหน้าจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐ
"การเริ่มใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เป็นความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดอัตราภาษี ได้แก่ การลดภาษีนิติบุคคลมาอยู่ที่ 35% ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดอีก 3.3% ในปี 2559 ซึ่งจะเพิ่มรายได้บริษัทจดทะเบียน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้อัดฉีดสภาพคล่อง (QQE) จำนวน 3 ล้านล้านเยน เพื่อเข้าลงทุนใน ETF ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ทำให้คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น" ดร.วิน กล่าว
สำหรับ การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น บริษัทมองว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะเป็นส่วนผลักดันโอกาสการเติบโตของตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่น โดยภาครัฐมีแผนเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นในประเทศมากขึ้น จากการสนับสนุนของทางการญี่ปุ่นให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของญี่ปุ่น(GPIF) มีการขยายวงเงินลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เป็น 25% จากเดิมอยู่ที่ 12% รวมถึงสนับสนุนให้กองทุนบำเหน็จบำนาญอื่นๆ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเช่นกัน อาทิ กองทุน Pension Fund Association for local Government officials เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น 25% จากเดิม 22% รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่อื่นๆเช่น Japan Post Holdings ที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินขนาดใหญ่เช่นกัน
“แม้ว่าในการประชุมบีโอเจที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่มีแผนอัดฉีด QQE เข้าระบบ แต่บริษัทมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังเติบโตได้ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะมาตรการขยายเพดานลงทุนของกองทุน GPIF ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 1.1 ล้านล้านเยน ให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนในดัชนี JPX NIKKEI 400 จากสิ้นเดือน ม.ค. 57 ที่ระดับ 0.15 ล้านล้านเยน เป็น 1.7 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือนม.ค.ของปีนี้” ดร.วินกล่าว
ดร.วิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากทิศทางปริมาณเงินที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นผ่านดัชนี JPX NIKKEI 400 ประกอบกับพิจารณาด้านมูลค่าหุ้นของดัชนี Nikkei 400 ณ ระดับปัจจุบัน บริษัทมองว่ายังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เนื่องจากมูลค่าหุ้นต่อกำไร(PE) อยู่ในระดับต่ำ โดยคาดการณ์ PE ปีหน้าอยู่ที่ระดับ 12.7 เท่า ซึ่งสะท้อนมูลค่าหุ้นที่ยังไม่แพง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาที่ระดับ 14.8 เท่า และยุโรปตะวันตกที่ระดับ 12.9 เท่า อีกทั้งแนวโน้มของดัชนียังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% จากจุดสูงสุดเดิมของดัชนี
ดังนั้น บริษัทเล็งเห็นโอกาสการลงทุน โดยระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายนนี้ บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ นิปปอน ฟันด์(ONE-NIPPON) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในกองทุนเปิด Next Fund JPX-Nikkei 400 ETF เพียงกองทุนเดียว โดยกองทุนเปิด Next Fund JPX-Nikkei 400 ETF มีนโยบายลงทุนที่สร้างผลตอบแทนเลียนแบบดัชนีใหม่ JPX – Nikkei 400 Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการสนับสนุนของภาครัฐบาล และเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของลูกดอกที่ 3 โดยเน้นการปฎิรูปเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนีนี้เน้นการลงทุนในบริษัทที่มีธรรมธิบาลที่ดีซึ่งสะท้อนความโปร่งใสและการเพิ่มสัดส่วนของการซื้อหุ้นคืนของกองทุนต่างๆ รวมทั้งมีรายได้บริษัทที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
“สำหรับ ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงเดือนธ.ค.จะกระทบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นหรือไม่นั้น ในแง่ของราคาหุ้นมองว่าไม่น่าส่งผลอย่างมีนัย เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวตลาดเริ่มรับรู้แล้ว ซึ่งหากดัชนีต่ำกว่า 20,000 จุดก็ยังเป็นโอกาสเข้าลงทุน อีกทั้ง หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทส่งออก” ดร.วินกล่าว
อย่างไรก็ดี กองทุน ONE-NIPPON มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ทำให้กองทุนมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะสถานการณ์แต่ละขณะ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย