- Details
- Category: บลจ.
- Published: Thursday, 02 July 2015 09:21
- Hits: 4083
ทิสโก้ มั่นใจวิกฤติ 'กรีซ' ไม่กระทบหุ้นโลก แนะผันผวนสั้น เป็นจังหวะเข้าลงทุนหุ้นเยอรมัน -จีน - ญี่ปุ่น
ทิสโก้ มั่นใจวิกฤติ 'กรีซ'ไม่กระทบหุ้นโลก มองตลาดหุ้นทั่วโลกแกว่งตัวผันผวนระยะสั้น แนะเป็นจังหวะเข้าลงทุน ยังเชียร์ "หุ้นเยอรมัน –จีน – ญี่ปุ่น" ที่พื้นฐานยังแกร่ง และมีเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า เปิดเผยว่าจากกรณีตลาดหุ้นทั่วโลกแกว่งตัวผันผวนจากประเด็นกรีซในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีความคืบหน้า 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เจ้าหนี้ปฏิเสธการขอยืดเวลามาตรการช่วยเหลือและยืนยันว่ามาตรการปัจจุบันหมดอายุลงในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา 2. กรีซจะจัดประชามติในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.ว่าประชาชนชาวกรีซจะยอมรับข้อเสนอของเจ้าหนี้ที่จะให้รัดเข็มขัดทางการคลังต่อหรือไม่ และ 3. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่เพิ่มเพดานเงินกู้ Emergency Liquidity Assistance (ELA) ให้กรีซ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันภาคธนาคารในช่วงที่มีประชาชนถอนเงินฝากออกจากธนาคารเป็นจำนวนมาก ทำให้กรีซประกาศให้ธนาคารและตลาดหุ้นหยุดทำการอย่างน้อยจนกว่าจะถึงการทำประชามตินั้น
โดยแม้ความกังวลเรื่องกรีซจะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน โดย ณ วันที่ 29 มิ.ย. ดัชนีSTOXX600 ปรับตัวลดลง -2.7%, ดัชนี DAX ปรับตัวลดลง -3.6% ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นฝั่งเอเชียก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยดัชนี HSCEI ปรับตัวลดลง -3% และดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวลดลง -2.9% แต่คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าประเด็นกรีซไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นมากนัก จึงแนะนำให้ใช้โอกาสช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงจากความกังวลดังกล่าวเป็นจังหวะเข้าลงทุน โดยยังคงมุมมองให้ Overweight ตลาดหุ้นเยอรมัน จีน และ ญี่ปุ่น ที่ยังคงมีความน่าสนใจมากที่สุดในครึ่งปีหลังนี้
"เรามองว่า ผลกระทบจากประเด็นกรีซต่อประเทศอื่นจะน้อยกว่าในปี 2011-2012 มาก เนื่องจากครั้งนี้หนี้ของกรีซส่วนใหญ่ไม่ได้ถือครองโดยเอกชนและนักลงทุนต่างชาติเช่นคราวก่อน โดยหนี้ของรัฐบาลกรีซทั้งหมดจำนวน 3.25 แสนล้านยูโรนั้นนับเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเพียงไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ในภาคธนาคารของยุโรปที่ 33 ล้านล้านยูโร และยิ่งไปกว่านั้นราว 80% ของยอดหนี้ดังกล่าวยังอยู่ในมือของเจ้าหนี้ที่เป็นองค์กรภาครัฐ เช่น IMF, EFSF และ ECB โดยมีเพียง 23% หรือ 7.4 หมื่นล้านยูโรเท่านั้นที่อยู่ในมือของเจ้าหนี้ภาคเอกชน เราจึงมองว่าประเทศอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นกรีซมากนัก และเชื่อว่าผลการทำประชามติจะทำให้กรีซกลับไปเจรจาตกลงรับข้อเสนอของเจ้าหนี้ และทำให้ประเด็นความเสี่ยงของกรีซคลี่คลายลงในสัปดาห์หน้า"
นายคมศรกล่าวต่อไปว่า แนะนำให้ใช้โอกาสช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงจากความกังวลดังกล่าวเป็นจังหวะเข้าลงทุน โดยยังคงมุมมองให้ Overweight ตลาดหุ้นเยอรมัน จีน และ ญี่ปุ่น ที่ยังคงมีความน่าสนใจมากที่สุดในครึ่งปีหลังนี้
"ทั้งเยอรมัน จีน และ ญี่ปุ่น ต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก และมีเครื่องมือมากมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตนเอง โดยเรามองว่าตลาดหุ้นเยอรมันจะให้ผลตอบแทนดีที่สุดในยุโรป เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และ Valuation ที่ถูกกว่าตลาดหุ้นยุโรปโดยเฉลี่ย ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ยังมีผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่ง มีการเพิ่มอัตราการจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืนตามมาตรการปฏิรูปธรรมมาภิบาล ขณะที่ประเทศจีนเองก็มีความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจ และธนาคารกลางจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับ Valuation ของตลาดหุ้นจีนเช่นกัน
โดยหากดูผลตอบแทนของทั้ง 3 ตลาด ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) ตลาดหุ้นเยอรมันให้ผลตอบแทนที่ 13%, ตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนที่ 5.9% และตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนที่ 15.6% ขณะที่หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเพียง 0.9% (ณ 29 มิ.ย.)"