- Details
- Category: บลจ.
- Published: Friday, 20 March 2015 20:40
- Hits: 2291
บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ตั้งเป้าปี 58 AUM โต 18% มาที่ 8.8 หมื่นลบ.
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(AUM)ในปี 58 เติบโต 18% มาที่ 88,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 57 อยู่ที่ 75,000 ล้านบาท (หลังควบรวมกิจการกับ บลจ.ฟินันซ่า) ซึ่งจะเป็นการเติบโตจากกองทุนรวม 70% เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 25% ที่เหลือเป็นกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนอสังหาริมทรัพย์
บริษัทคาดจะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาใน AUM เพิ่มขึ้นราว 13,000 ล้านบาท และจะมีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ขยับขึ้นเป็นอันดับ 12 จากปีก่อนอยู่ในอันดับ 17 ซึ่งในปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนใหม่ 7 กองทุน ซึ่งในเดือน ก.พ.เปิดขายไปแล้ว 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี แดลี่ พลัส เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ มูลค่า 3,600 ล้านบาท และวันนี้ออกกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลโกลบอล บาลานซ์ อีก 1 กอง มูลค่า 3,000 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะออกกองทุนเพิ่มอีก 4-5 กองทุน มูลค่ารวมราว 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกองตราสารหนี้และตราสารทุน โดยมองโอกาสการลงทุนในอาเซียนและแถบยุโรป
"ส่วนใหญ่เราจะออกกองตราสารหนี้และตราสารทุน เราอยู่ในช่วง conservative ขณะที่การออกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้ยังไม่มีแผน ส่วนกอง Trigger Fund ก็เป็น product ที่ดีจับจังหวะการลงทุนระยะสั้นแต่เรายังไม่สนใจ"นายจุมพล กล่าว
นายจุมพล กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET Index)ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีโอกาสแตะ 1,600-1,700 จุดช่วงครึ่งหลัง ภายใต้คาดการณ์ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต (EPS growth) ที่ 15-16% ขณะที่มองกรอบล่างของดัชนีปีนี้ 1,500 จุด ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนดัชนีหลักๆ มาจากการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐที่คาดจะเร่งตัวมากขึ้นในครึ่งหลัง ส่วน QE ยุโรปคงยังไม่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ เพราะค่า P/E สูงไปถึง 15-16 เท่า เทียบกับภูมิภาคที่อยู่ในระดับ 12 เท่า
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับฐาน แต่จะกระเตื้องในครึ่งปีหลัง ขณะที่ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 3.3-3.5% ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูงยังกดดัน จึงแนะนำลงทุนในไทยน้อยกว่าต่างประเทศ ในประเทศแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะเติบโตตามโครงการลงทุนของภาครัฐ กลุ่มโทรคมนาคมที่จะได้รับผลดีจากการประมูล 4G ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มองเป็นกลาง เพราะอัตราดอกเบี้ยปรัลบลดลง ส่วนกลุ่มที่น่ากังวล คือ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มน้ำมัน
"หุ้นไทยระยะนี้ก้ำกึ่ง Potential growth ไม่ชัด ดัชนีไม่น่ากระดก คงปรับขึ้น-ปรับลงตามภาวะ ปัจจัยภายนอกการส่งออกก็ยังไม่ดีเท่าไร กรอบล่างที่มอง 1,500 จุด ส่วนหนึ่งมองว่านักลงทุนยังเข้าใจว่าปีนี้จะมีเลือกตั้ง ถ้าเลื่อนออกไปอีกไตรมาส หรือถ้าไม่เลือกตั้ง หรือไม่ชัดเจน ก็คงผิดหวังกัน ขณะที่ Fundamental ไม่ถูกแล้ว การใช้จ่ายของภาครัฐก็ยังไม่ชัด ช่วงนี้ตลาดหุ้นจึงเป็นลักษณะการรอ ถ้าขึ้นก็ขาย-ลงก็ซื้อ มองจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่เรื่องเลือกตั้งและการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ"นายจุมพล กล่าว
บลจ.ซีไอเอ็มบีฯออกโกลบอล บาลานซ์ลงหุ้น-ตราสารหนี้โลก,ผลตอบแทน 8-10%
บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มองโอกาสเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว สภาพคล่องในระบบการเงินสูง ออกกองทุนใหม่ "ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล บาลานซ์" (CIMB-PRINCIPAL Global Balanced Fund) กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลักทั้งหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก ปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนในแต่ละสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน แนะนักลงทุนถือเป็นพอร์ตลงทุนหลัก คาดผลตอบแทน 8-10% ต่อปี
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า บริษัทเปิดเสนอขาย "กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล บาลานซ์" ช่วงระหว่างวันที่ 23-27 มี.ค.58 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการมองหาโอกาสการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกในระยะยาว โดยกลยุทธ์ของกองทุนจะเน้นจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ในแต่ละสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่เหมาะสมอย่างลงตัว
"เราเชื่อว่า หากนักลงทุนจะเลือกกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกแบบระยะยาวเพียงกองทุนเดียว พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมคือ ส่วนผสมระหว่างสินทรัพย์หลักได้แก่หุ้นและตราสารหนี้ โดยสัดส่วนการลงทุนจะต้องมีความสมดุล ยืดหยุ่นและบริหารจัดการคล่องตัว เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะการลงทุนจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงหรือที่เรียกว่ากลยุทธ์ Dynamic Strategy เพื่อมองโอกาสลงทุนในภูมิภาคหรือสินทรัพย์ที่สร้างกำไรในขณะที่ลดความผันผวนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นในตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย กลยุทธ์นี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมอย่างลงตัวให้กับนักลงทุน"นายจุมพล กล่าว
นายจุมพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมการลงทุนในช่วงระยะสองเดือนกว่ามีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร โดยปัจจัยบวกคือ การประกาศนโยบายและมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ที่ออกโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) และญี่ปุ่น และการประกาศมินิคิวอีของจีน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่จะเอื้อต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งส่งผลต่อประเทศรัสเซียและบริษัทในกลุ่มพลังงาน
รวมถึงความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักลงทุนทั่วโลกคาดการณ์ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเพียงสองเดือนที่ผ่านมามีความผันผวนอย่างมาก โดยยังคงเชื่อว่าตลอดปีนี้ การลงทุนโดยรวมยังมีแนวโน้มที่ดี แต่อาจจะมีการปรับตัวลงหรือผันผวนเป็นบางขณะตลอดทั้งปีเช่นกัน
ดั้งนั้น การลงทุนในกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล บาลานซ์ จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์หลักทั่วโลก โดยกองทุนจะลงทุนผ่านกองทุน UBS (Lux) Key Selection SICAV-Global Allocation (EUR) ซึ่งเป็นกองทุนหลักบริหารจัดการโดยกลุ่ม UBS Global Asset Management ที่เป็นบริษัทจัดการลงทุนชั้นนำในยุโรปและมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ จุดเด่นของกองทุนคือ พอร์ตการลงทุนที่กระจายการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก หลากหลายประเภทและกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยการจัดสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสมในแต่ละสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนและภาวะการลงทุนที่มีความผันผวน
ทั้งนี้ ตลอดการลงทุนตลอด 33 ปีภายใต้การบริหาร Global Asset Allocation Strategy สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีทั้งภาวะการลงทุนขาขึ้นและซบเซา กองทุนนี้บริหารโดย 89 ผู้เชี่ยวชาญ Investment Specialist Team ที่ประจำการอยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งบริหารสินทรัพย์กว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 195,417 ล้านบาท ณ เดือนม.ค.58
นายจุมพล กล่าวว่า กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล บาลานซ์ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพอร์ตการลงทุนเดียวที่กระจายการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก จัดสัดส่วนการลงทุนโดยผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญ และไม่มีเวลาที่จะปรับพอร์ตการลงทุนด้วยตนเอง แต่ต้องการผลตอบแทนที่ดี ภายใต้ความเสี่ยงปานกลาง โดยกองทุนตั้งเป้าผลตอบแทนประมาณ 8-10% ต่อปี
อินโฟเควสท์