- Details
- Category: บลจ.
- Published: Tuesday, 10 June 2014 16:14
- Hits: 3198
ผลสำรวจแมนูไลฟ์เผยความเชื่อมั่นนักลงทุนเอเชียกระเตื้องจากภาคตราสารทุนและกองทุนรวม
· ทัศนะเชิงบวกมีมากขึ้นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน
· ความเชื่อมั่นฮ่องกงและไต้หวันมากขึ้น แต่ยังติดลบ
· ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นจีน กระแสเลือกตั้งอินโดนีเซีย และอัตราบริโภคก่อนภาษีในมาเลเซีย
· ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงานเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนักลงทุน
· นักลงทุนควรพิจารณากระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นออกไปตลาดต่างประเทศเพื่อช่วยลดความไม่แน่นอนในตลาดไทย
ผลวิจัยใหม่จากแมนูไลฟ์ชี้ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วเอเชียสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคตราสารทุนและกองทุนรวม รวมทั้งทัศนะเชิงบวกนักลงทุนที่มีมากขึ้นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน
ดัชนี ความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์* ในภูมิภาคปรับตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 (เพิ่มขึ้น 2 จุดมาอยู่ที่ 24) โดยมีปัจจัยหลักจากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นมากในตราสารทุน (เพิ่มขึ้น 7 จุดมาอยู่ที่ 16) และกองทุนรวม (เพิ่มขึ้น 13 จุดมาอยู่ที่ 21) ซึ่งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นในภาคดังกล่าวช่วยหักลบกับความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อยในภาคอสังหาริมทรัพย์
ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากตลาดจีน อินโดนีเซีย และทัศนะเชิงบวกที่สูงขึ้นมากในมาเลเซีย โดยในมาเลเซียความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและความเชื่อว่าสภาวะตลาดจะดีขึ้น นักลงทุนมาเลเซียและฟิลิปปินส์มีทัศนะเชิงบวกในระดับสูงที่สุดของภูมิภาค
นักลงทุนในฮ่องกงและไต้หวันยังคงมีความเชื่อมั่นติดลบ แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว โดยฮ่องกงปรับขึ้น 2 จุดจาก -11 และไต้หวันปรับขึ้น 5 จุดจาก -6 มีเพียงสามตลาดที่ความเชื่อมั่นลดลง ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ แม้จะยังอยู่ในแดนบวกก็ตาม
“โดยทั่วไปแล้วมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับทัศนคตินักลงทุนรายย่อย โดยความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในตราสารทุนส่วนหนึ่งเกิดจากกำไรที่ดีในตลาดทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป’Mr Ronald Chan หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนเอเชีย Manulife Asset Management อธิบาย พร้อมกล่าวเสริมว่า ‘เมื่อมองไปข้างหน้า เราเห็นว่าตราสารทุนเอเชียน่าจะไปได้ดีในช่วงที่เหลือของปี 2557 ราคาค่อนข้างน่าจูงใจ และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นในหลายตลาดในภูมิภาคนี้
มาตรการกระตุ้นจีน กระแสเลือกตั้งอินโดนีเซียหนุนความเชื่อมั่น
Mr Chan กล่าวถึงตลาดจีน โดยระบุว่า ความเชื่อมั่นในตราสารทุนเพิ่มขึ้นแม้มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ‘เราเชื่อว่า ความเชื่อมั่นได้รับแรงกระตุ้นจากการนำโครงการ ‘mini-stimulus’มาใช้อย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 และจากการที่รัฐบาลจีนยังคงมุ่งมั่นปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตระยะยาวที่มีคุณภาพขึ้น จากนี้ไปความเชื่อมั่นอาจยังสูงขึ้นต่อไป เนื่องจากรัฐบาลจีนเพิ่งเรียกร้องให้ธนาคารต่าง ๆ เร่งปล่อยสินเชื่อจำนอง’Mr Chan กล่าว
‘ปัจจัยด้านนโยบายยังมีบทบาทสำคัญในตลาดอินโดนีเซีย โดยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม จะก่อให้เกิดทัศนะเชิงบวกเกี่ยวกับโอกาสเกิดการปฏิรูประบบ ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสลงทุนใหม่ๆ ตามมา’Mr Chan ระบุ
ในมาเลเซีย ทัศนคตินักลงทุนในเชิงบวกสะท้อนให้เห็นจากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในกองทุนรวม (เพิ่มขึ้น 16 จุดมาอยู่ที่ 54) และตราสารทุน (เพิ่มขึ้น 9 จุดมาอยู่ที่ 39) ความเชื่อมั่นต่ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน (เพิ่มขึ้น 10 จุดมาอยู่ที่ 62) ซึ่งสวนทางตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค
“หุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางในมาเลเซียสร้างกำไรดี และเราคิดว่าน่าจะยังดีต่อไปจนตลอดอีกสองไตรมาสหลังของปี 2557 จากการตัวเลขการบริโภคที่แข็งแกร่งอันมีปัจจัยที่ภาคธุรกิจเร่งซื้อสินค้าบริการก่อนรัฐบาลประกาศเริ่มจัดเก็บภาษีสินค้าบริการช่วงต้นปี 2558”Mr Chan กล่าว
มีเพียงมาเลเซียที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของนักลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (เพิ่มจากร้อยละ 9 มาอยู่ที่ร้อยละ 12) จากไตรมาสก่อน ส่วนตลาดอื่น เช่น ฮ่องกง จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ตัวเลขเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาก แม้นักลงทุนเอเชียถึงสองในสามระบุว่า ตนทบทวนกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนทุกหกเดือน และหนึ่งในสี่ระบุว่าทบทวนทุกสามเดือนก็ตาม
ครอบครัวกับเพื่อนฝูงเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน
การวิจัยมองไปที่ระดับความรู้ทางการเงิน แหล่งที่ปรึกษาของนักลงทุน และปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน
ผลวิจัยบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรู้ด้านทางเงินที่สูงขึ้นกับจำนวนประเภทที่มากขึ้นของสินทรัพย์ลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ความยาวนานของประสบการณ์ลงทุนดูมีผลน้อยต่อความรู้ทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความยาวนานของประสบการณ์ลงทุนหรือจำนวนประเภทสินทรัพย์ลงทุนจะอยู่ในระดับใด แต่นักลงทุนระบุว่า กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของตนมากที่สุด คือ ครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน โดยผลวิจัยบ่งชี้ว่า นักลงทุนลังเลที่จะขอรับบริการวางแผนลงทุนจากที่ปรึกษา โดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ระบุว่ารู้สึกไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นและยินดีบริหารจัดการสินทรัพย์ลงทุนด้วยตนเอง
‘เป็นธรรมดาที่คนเราจะขอรับคำปรึกษาทางการเงินจากครอบครัวและเพื่อนฝูง’Mr Robert A. Cook, President and CEO, Manulife Asia กล่าว พร้อมเสริมว่า “ถ้าคุณป่วย คุณต้องไปหาหมอฉันใด นักลงทุนก็ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฉันนั้น นอกจากนี้ การดำเนินการอย่างมีวินัยและใช้วิจารณญาณเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่นักลงทุนจะสามารถใช้สร้างผลการลงทุนที่ดี”
ความเห็นเกี่ยวกับหุ้นไทย
นางสาวจินตนา เมฆินทรางกูร หัวหน้าฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หุ้นไทยพุ่งขึ้นร้อยละ 6 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งชี้ให้เห็นความแข็งแกร่งแม้จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มช่วงที่เหลือของปี 2557 มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากกองทัพไทยได้เข้ายึดอำนาจและยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่เป็นไปในรูปแบบใดและเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่รายได้มวลรวมประเทศน่าจะเติบโตช้าลง และมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศและการไหลเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ตราสารทุนไทยมีประวัติพุ่งทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมือง แต่เรายังคงระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้น และเตือนให้นักลงทุนพิจารณากระจายการลงทุนออกนอกตลาดไทยด้วย”
สำหรับ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชีย กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.manulife-asia.com
บุคคลติดต่อสำหรับสื่อมวลชน:
David Norris
(852) 2202 1749
Queenie Yuen
(852) 2510 5097
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Manulife Asset Management ตรวจสอบได้ที่ ManulifeAM.com