- Details
- Category: บลจ.
- Published: Tuesday, 21 May 2024 18:40
- Hits: 4656
KTAM มองภาพรวมตลาดครึ่งปีหลัง 67 แกร่งขึ้น แนะจัดพอร์ตที่มีความสมดุล และกระจายตัว
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกในครึ่งปีหลังว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคจากปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายการเงินตึงตัว ผลกระทบจากการคงดอกเบี้ยในระดับสูง และการเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่คาดว่าหลังจาก พรบ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้เม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจได้ดีขึ้น
โดยตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก มองว่า มีความผันผวนไปตามกระแสคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยคาดว่าธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลกอาจจะมีการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศมีความน่าสนใจขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาลง ในส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น มีความผันผวนไปตามกระแสคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณที่ได้รับหลังการประชุมล่าสุด นักลงทุนต่างเริ่มปรับลดความหวังต่อการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่า กนง. จะไม่มีการลดดอกเบี้ย แต่ด้วยระดับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.50% ก็นับว่าเป็นระดับปานกลาง ซึ่งยังไม่สร้างความน่าสนใจในตราสารหนี้ไทยมากนัก เราจึงได้แนะนำ
กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้นพลัส (KTSTPLUS) (ความเสี่ยงระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก และ/หรือตราสารทางการเงินซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยเฉลี่ยอายุตราสารไม่เกิน 1 ปี โดยกองทุนมุ่งเน้นลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่มากกว่าเงินฝาก เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่าในระยะ 3 เดือน – 1 ปี ดังนั้นกองทุนนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ พลัส (KTFIXPLUS) (ความเสี่ยงระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยกองทุนอาจพิจารณานำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนมุ่งเน้นลงทุนเพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจากตลาดตราสารหนี้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป
สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศ มองว่าหลายตลาดปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงปีก่อนหน้าซึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น ผลประกอบการออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าภาพในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากการที่เศรษฐกิจได้ส่งสัญญาณชะลอลงในบางประเทศ อาทิ นโยบายการเงินตึงตัวในหลายประเทศ การที่ Fed อาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ รวมถึงผลประกอบการอาจจะไม่ได้เหนือคาดการณ์มากตามที่เกิดขึ้นในปีก่อน ถึงแม้ว่า มูลค่าของหลายตลาดที่ปรับตัวขึ้นมาดีก็ยังนับว่าราคาค่อนข้างแพง ทำให้ตลาดค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบ ซึ่งอาจมาจากตัวเลขเศรษฐกิจ การประกาศผลประกอบการ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการกระจายการลงทุนจึงเป็นตัวช่วยที่จะสร้างให้พอร์ตมีโอกาสเติบโตได้ จึงได้แนะนำ
กลุ่มกองทุน KTMUNG, KTMEE, KTSRI และ KTSUK (ความเสี่ยงระดับ 5) เน้นการลงทุนโดยการจัดสรรเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก โดยลงทุนแบบ Fund of Funds ภายใต้บริษัทจัดการกองทุน และจะลงทุนในกองทุนใดกองทุนหนึ่งไม่เกินร้อยละ 79 ของ NAV มีทั้งหมด 4 กองแบ่งตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ (ไม่ใช่ระดับความเสี่ยงตามผลประเมิน Suitability Test) นอกจากนี้ กองทุนเปิดกรุงไทยมั่งคั่ง (ชนิดสะสมมูลค่า) (KTMUNG-A) ยังได้รับรางวัลกองทุนผสมยอดเยี่ยมปี 2024 จาก บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) อีกด้วย (ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต) อีกทั้งยังได้แนะนำ KTWC Series (ความเสี่ยงระดับ 5) ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนผสมที่มี 3 กองทุนให้เลือกลงทุนตามเป้าหมายการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่รับได้ (ไม่ใช่ระดับความเสี่ยงตามผลประเมิน Suitability Test) เน้นลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และ/หรือหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่กฎหมาย ก.ล.ต.กําหนดในต่างประเทศอย่างน้อยตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไปโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV โดยมี FIL Investment Management (Hong Kong) Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Fidelity International เป็นผู้จัดการลงทุน โดยไม่รวมในส่วนการลงทุนเพื่อสภาพคล่อง
ส่วนเศรษฐกิจของจีนนั้น ในระยะสั้นยังคงได้เปรียบจากการส่งออกสินค้าราคาถูก ทำให้ยอดการส่งออกขยายตัว รวมถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์คลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอาจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการการเปลี่ยนแปลงในโมเมนตั้มของตลาด ที่เริ่มส่งสัญญาณการกลับตัวจากหุ้นขาลงชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างตลาดทุนให้มีคุณภาพสูงขึ้น โปร่งใสมากขึ้น และเอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติมากขึ้น จึงมองว่าการลงทุนในครึ่งปีแรกนี้ ตลาดหุ้นจีนยังคงมีความน่าสนใจอยู่ จึงได้แนะนำ กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (KT-CHINA) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF China Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีภูมิลำเนาหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน
และในครึ่งปีหลังมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น จากที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับลดลงจนราคาที่ซื้อขายกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับ Fed มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องคอยติดตามผลกระทบจากการคงดอกเบี้ยในระดับสูงมายาวนานต่อเนื่อง รวมถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี โดยแนะนำ กองทุนเปิดเคแทม ยูเอส โกรท อิควิตี้ ฟันด์ (KT-US) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน AB American Growth Portfolio (กองทุนหลัก)ซึ่งลงทุนในหุ้นของบริษัทในสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่ มีแนวโน้มการเติบโตดี มีคุณภาพสูง
สำหรับตลาดหุ้นไทย ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีอัตราการเติบโตในระดับที่ต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงความล่าช้าของ พรบ.งบประมาณปี 2567 แต่หลังจากที่ พรบ. มีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ อีกทั้ง มาตรการกระตุ้นทางภาครัฐที่จะเข้ามามีส่วนเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจดียิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เห็นอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะเดียวกัน ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.50% ตามภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่อไป จึงได้แนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นทุนปันผล (KTSF) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนใน SET ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีมีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่ดี และกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap (KTMSEQ) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นงบริษัทขนาดกลาง และ/หรีอ ขนาดเล็กที่จดทะเบียนใน SET หรือ mai ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และ/หรือ มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ
ในส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมองว่ามีความโดดเด่นมากขึ้น จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางซึ่งยังคงจะทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงได้ ดังนั้นการถือหุ้นกลุ่มพลังงานจะช่วยป้องกันความเสี่ยงภูมิศาสตร์ให้กับพอร์ตการลงทุนได้ และในส่วนทองคำนั้นยังคงได้ประโยชน์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาตร์ ประกอบกับความต้องการการถือครองทองคำของธนาคารกลางหลายแห่งเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการลงทุนในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอาจจะให้ผลตอบแทนในระดับ “ปานกลาง” และอาจจะไม่ได้ดีเหมือนในปีก่อน ในทางตรงกันข้ามสินทรัพย์ปลอดภัยอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าในปีที่ผ่านๆ มา ถึงแม้ว่าความผันผวนยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนที่มีความ “สมดุล” และ “กระจายตัว” ดีเพียงพอ จึงจะเป็นตัวช่วยในการลงทุนในครึ่งปีหลังนี้ได้อย่างดี
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการได้ที่ บลจ.กรุงไทย โทร. 0-2686-6100 กด 9 หรือธนาคารกรุงไทยและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) หรือศึกษารายละเอียดได้ที่ www.ktam.co.th สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade ได้ที่ https://bit.ly/KTSTSignIn
ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนที่สำคัญ : ความเสี่ยงทางตลาด ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงในเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ความเสี่ยงที่เกิดจากการย้ายการลงทุนไปกองทุนอื่น ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน และความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ
คำเตือน กองทุนมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (ยกเว้นกองทุน KTFIXPLUS KTSF และ KTMSEQ) ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงโดยดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ในกรณีที่กองทุนไม่ได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือจะได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
5713