- Details
- Category: บลจ.
- Published: Saturday, 06 April 2024 09:12
- Hits: 7205
สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเลือกตั้งนางชวินดา หาญรัตนกูล ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่อเนื่องวาระสอง
ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies-AIMC) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ได้เลือกตั้งนายกสมาคมใหม่ และมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นนายกสมาคม ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นวาระที่สอง โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567 เป็นต้น ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2569
นางชวินดา หาญรัตนกูล เป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจจัดการลงทุนมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มงานกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน
ในการเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนนั้น นางชวินดา หาญรัตนกูล ได้แถลงวิสัยทัศน์และแนวทางการบริหารงานของสมาคมในระยะต่อไปว่า พร้อมที่จะสานต่อการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องจากแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในคณะกรรมการชุดที่ผ่านมาที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมจัดการลงทุนให้เป็นกลไกหลักสำหรับการออมและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจไทย เพื่อคนไทยทุกคน และมีแนวคิดในการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะร่วมทำงานกับคณะกรรมการชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาพร้อมกันนี้ทั้ง 11 ท่าน ได้แก่
1.) กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม มีกรรมการจำนวน 6 ท่าน
2.) กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล มีกรรมการจำนวน 3 ท่าน
3.) กลุ่มธุรกิจกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีกรรมการจำนวน 2 ท่าน
สำหรับ การรับหน้าที่นายกสมาคมนั้น นางชวินดาเปิดเผยว่าหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญในการดำรงตำแหน่งในวาระแรกที่ผ่านมานั้นคือการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund :ThaiESG) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาโดยได้รับการตอบรับและแรงสนับสนุนจากภาครัฐโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่ลงทุน ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ลงทุนไทยที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทั้ง Carbon Neutrality, Net Zero และความเพียงพอของการออมเพื่อการเกษียณของตนเอง
โดยโครงการประสบความสำเร็จอย่างดีมีผู้ลงทุนกว่าหนึ่งแสนคนและยังช่วยขยายฐานให้เกิดผู้ลงทุนหน้าใหม่อีกด้วย ซึ่ง AIMC หวังว่าจะต่อยอดความสำเร็จนี้ได้ในปีนี้และต่อๆ ไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย
นอกจากนั้น AIMC จะมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการช่วยแก้ปัญหาความเพียงพอของการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพภายหลังการเกษียณอายุซึ่งเป็นปัญหาอย่างเร่งด่วนของประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aged Society) โดยสมบูรณ์ ซึ่งกลยุทธ์การขยายฐานผู้ลงทุนในกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในเรื่องดังกล่าวได้
นางชวินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันที่สูงขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ AIMC จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของสมาคมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงรุกมากขึ้น โดยการแสวงหาโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจรองรับนวัตกรรมการให้บริการและการเปลี่ยนแปลงของตัวกลาง
รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น Digital Assets, Complexed Products และแสวงหาตลาดใหม่เพื่อสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันได้ของบุคลากรในอุตสาหกรรม ทั้งทางด้านกฎระเบียบ (compliance) เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ให้บริการที่ดี มีกระบวนการปฏิบัติงาน (Operation) ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้งานปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องมือ (AI & Machine Learning) ที่ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้
นางชวินดา กล่าวทิ้งท้ายว่า AIMC จะมุ่งมั่นรักษามาตรฐานระดับสากลในการกำกับดูแลสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี ให้ความสำคัญกับความร่วมมือจากบริษัทสมาชิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและตลาดทุนไทย
รวมถึงกรณีที่เกิดความบกพร่องทุจริตผิดจริยธรรม AIMC จะใช้แนวทาง Collective engagement ของอุตสาหกรรมมี dialogue และ engagement กับผู้ประกอบธุรกิจอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เป็น market force ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการมีจริยธรรมการประกอบธุรกิจและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล และหากจำเป็นก็จะรวมตัวกันเพื่อแสวงหาความยุติธรรม รักษาและปกป้องสิทธิให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน
รายนามคณะกรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
วาระ 29 มีนาคม 2567 – 31 มีนาคม 2569
1. นายกสมาคม และประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนรวม
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2. ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
3. อุปนายกสมาคม และประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล
นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
4. อุปนายกสมาคม และเหรัญญิกและนายทะเบียนสมาคม และประธานกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
นางทิพาพรรณ ภัทรวิกรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ – กลุ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
5. เลขาธิการสมาคม นางสาวดวงกมล พิศาล สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
6. กรรมการสมาคม นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
7. กรรมการสมาคม นายวศิน วัฒนวรกิจกุล MD, Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
8. กรรมการสมาคม นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด
9. กรรมการสมาคม นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด
10. กรรมการสมาคม นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด
11. กรรมการสมาคม นายจักรกฤษณ์ เหมบัณดิษฐ์ Head of Legal บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด
12. กรรมการสมาคม นางสาวชนันท์ดา ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
13. กรรมการสมาคม ดร.ณัฐกวิน เจียมโชติพัฒนกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด