- Details
- Category: บลจ.
- Published: Wednesday, 21 August 2019 22:07
- Hits: 2682
กลุ่มพรินซิเพิล หนุนนักลงทุนสถาบันใช้ ESG วางกลยุทธ์บริหารสินทรัพย์
แนะเลือกหุ้นและตราสารหนี้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล
ช่วยยกระดับตลาดหุ้นไทย มั่นใจตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บลจ. พรินซิเพิล จัดงาน The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 5 : Empowering Investment of Retirement Fund with ESG เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มพรินซิเพิลหนุนนักลงทุนสถาบันนำปัจจัย ESG หรือการคำนึงสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาลมาใช้บริหารสินทรัพย์เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวและบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ด้านสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมหนุน ชู Investment Governance Code (I Code) เป็นหลักปฏิบัติสำหรับนักลงทุนสถาบัน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมร่วมส่งเสริม เผยสถิติปี 2561 มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) แล้ว 19 บริษัท มากที่สุดในอาเซียน ขณะที่ กบข. นำร่องใช้ ESG บริหารกองทุนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พร้อมร่วมมือนักลงทุนสถาบันรวม 32 แห่ง ลงนามใน Negative List Guideline ทำข้อตกลงร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงในบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้าน กคช. นำ ESG มาใช้วางยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้อยู่อาศัย
มิสเตอร์แพททริค ฮาวเตอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรินซิเพิล โกลบอล อินเวสท์เตอร์ส (Mr. Patrick Halter – Chief Executive Officer & President – Principal Global Investors) เปิดเผยว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบันได้ปรับปรุงกลยุทธ์และแนวทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ โดยนำปัจจัยด้าน ESG (Environmental Social Governance) หรือปัจจัยด้านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนเพื่อคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุนที่จะสร้างความยั่งยืนในระยะยาวและยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนล้วนมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มพรินซิเพิลได้ให้บริการรับบริหารเงินลงทุนโดยเน้นปัจจัยด้าน ESG และยึดมั่นแนวทางลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบมาโดยตลอด สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญด้าน ESG และกลุ่มพรินซิเพิลได้นำปัจจัยดังกล่าวไปใช้กับการบริหารสินทรัพย์ทุกประเภท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าวางแผนการลงทุนเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ข้อคือ การปกป้องทรัพย์สินหรือเงินลงทุนของลูกค้า พร้อมกับมอบอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ลูกค้าทุกราย
กลุ่มพรินซิเพิล ซึ่งปัจจุบันรับบริหารเงินลงทุนให้แก่ลูกค้ากว่า 21 ล้านคนทั่วโลก ได้ลงนามเข้าร่วมภาคีเครือข่าย United Nations-sponsored Principles for Responsible Investing (UNPRI) และได้รับการจัดอันดับ A+ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของการประเมินผลด้าน ESG โดยการนำปัจจัย ESG มาใช้ในการลงทุน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ 1.Screening (การคัดกรอง) ได้แก่ Negative Screening หรือการคัดกรองเชิงลบ เช่น การกำหนดว่าจะไม่ลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบเชิงลบกับสังคมหรือเป็นบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล Positive Screening หรือการคัดกรองเชิงบวก เช่น เลือกลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ Norm-Base Screening หรือการคัดกรองโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำเป็นบรรทัดฐาน 2. Full ESG Integration หรือการนำปัจจัย ESG ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล มาใช้บูรณาอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างทางการเงิน ฯลฯ 3. Impact/ Thematic หรือการกำหนดธีมหรือเซกเตอร์ธุรกิจที่จะเข้าลงทุน และ 4. Engagement/ Stewardship หรือการเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่จะเข้าลงทุนเพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของ ESG
“ข้อมูลจาก Global Sustainable Investment Review ณ ปีที่ผ่านมาระบุว่า ทั่วโลกมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความยั่งยืนและคำนึงถึงปัจจัย ESG รวมมูลค่า 31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาตลอดนับจากปี 2016 – 2018 (2559 – 2561) ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและญี่ปุ่น มีการเพิ่มสัดส่วนลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ ESG อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2557 – 2561โดยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าประมาณ 2 ใน 3 ของกองทุนแถบยุโรปที่ใช้กลยุทธ์ ESG มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนทั่วไป” มิสเตอร์แพททริค กล่าว
นายกสิน สุตันติวรคุณ FCAS, FSAT, Wealth Solutions Leader and Consulting Actuary บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดที่ปรึกษาด้านการลงทุนชั้นนำ กล่าวว่า มีเหตุผลหลัก 3 ข้อที่ผู้จัดการกองทุนควรนำปัจจัย ESG มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้แก่ Risk Management หรือการบริหารเสี่ยงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น Return หรือช่วยเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และ Reputationหรือความมีชื่อเสียง โดยบริษัทฯ แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอนคือ 1.Belief โดยเริ่มต้นจากการกำหนดความเชื่อ เช่น เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) 2.Policy หรือการนำความเชื่อมากำหนดเป็นนโยบายการลงทุน เช่น ประเภทธุรกิจที่จะลงทุนหรือไม่เลือกลงทุน 3.Process การกำหนดกระบวนและกลยุทธ์การลงทุน และ 4.Porfolio หรือการสร้างพอร์ตลงทุน
ด้านนางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวว่า บทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต. กับ ESG มุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกต่อการนำ ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการดำเนินธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการผลักดันจากภาคสังคมเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยในปี 2560 ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนหรือ Corporate Governance Code (CG Code) 8 ข้อที่เปรียบเสมือนศีล 8 ในภาคการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดหลักธรรมาภิบาลการลงทุน 7 ข้อสำหรับนักลงทุนสถาบันหรือ Investment Governance Code (I Code) จึงทำให้นักลงทุนสถาบันสนใจด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันที่ปฏิบัติตามหลักการ I Code รวม 60 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 22 แห่ง บริษัทหลักทรัพย์ 24 แห่ง และบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย 14 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับบริหารรวมกัน 9.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 61% ของจีดีพีประเทศไทย
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2561 มีบริษัทจดทะเบียนที่เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) จำนวน 19 บริษัท ถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และได้รับการประเมินคะแนน ASEAN CG Scorecard ในปี 2560 อยู่ที่ 85% เพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ที่ 67% โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้นำปัจจัยดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจและ Value Chain (ห่วงโซคุณค่า) ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการปล่อยน้ำเสีย กำจัดขยะ ฯลฯ และมีการมอบรางวัล SET Awards และ SD Awards เพื่อส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กบข.นำปัจจัย ESG เข้ามาใช้บริหารและจัดพอร์ตการลงทุน โดยร่วมกับผู้จัดการกองทุนปรับหลักเกณฑ์การลงทุน เช่น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึง ESG ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นและให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สม่ำเสมอ ล่าสุด กบข.ร่วมกับนักลงทุนสถาบันทั้งหมด 32 ราย ซึ่งมีพอร์ตสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นประมาณ 10.88 ล้านล้านบาท ลงนามใน Negative List Guideline เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงในบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงไม่มีธรรมาภิบาล ตลอดจนสนับสนุนการเข้าลงทุนในบริษัทที่มี ESG อีกด้วย
ดร.ชัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และนายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า กคช.ได้นำปัจจัย ESG มาใช้กำหนดยุทธศาสตร์องค์กร ส่งผลให้ผลประกอบการขององค์กรดีขึ้น ซึ่ง กคช. จะเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเน้นธรรมภิบาลที่ดี โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของ กคช. จะต้องผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สวล.) การวางแผนบริหารจัดการชุมชนที่ดีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน และการยึดหลักธรรมาภิบาลรวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน อาทิ การจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง การขายโครงการที่อยู่อาศัย ฯลฯ นอกจากนี้ กคช.ยังจัดให้มีการมอบรางวัลแก่โครงการที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในโครงการ
AO08404
Click Donate Support Web