- Details
- Category: บลจ.
- Published: Friday, 02 November 2018 12:45
- Hits: 4011
บลจ.ทิสโก้คว้ารางวัล Best Provident Fund Provider Thailand 2018 เดินหน้าให้บริการเข้าถึงลูกค้าทุกราย เสริมความรู้การออม - ใช้เงินรับเกษียณ
บลจ.ทิสโก้คว้ารางวัล Best Provident Fund Provider Thailand 2018 จากสื่อการเงินระดับโลก เดินหน้าให้บริการที่เข้าถึงลูกค้าทุกรายอย่างมีคุณภาพ เผยทั้งปีจีบลูกค้าใหม่ได้ตามเป้าหมาย ครองมาร์เก็ตแชร์ด้านจำนวนลูกค้าสูงสุดในอุตสาหกรรม แย้มเตรียมออกทางเลือกการลงทุน Smart Life-path แบบที่ไม่ใช่แค่เหมาะกับอายุ แต่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายเกษียณของแต่ละบุคคล
นางแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Mrs. Kaekwan Rojwattanakul Head of Marketing - Provident Fund TISCO Asset Management Co., Ltd.) กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ของกลุ่มทิสโก้ในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาตั้งแต่พ.ศ. 2512 ส่งผลให้สามารถสร้างสรรค์ทางเลือกในการลงทุนเพื่อการเกษียณที่หลากหลาย พร้อมกับสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับสมาชิก ทำให้ล่าสุด บลจ.ทิสโก้ได้รับรางวัล Best Provident Fund Provider Thailand 2018 ในงาน Global Banking and Finance Review Awards 2018 จาก Global Banking and Finance Review สื่อการเงินชั้นนำระดับโลก ถือเป็นการตอกย้ำการทำงานอย่างมืออาชีพ ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาชิกกองทุน
“บลจ.ทิสโก้ให้ความสำคัญเรื่องการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับสมาชิกด้วยการปรับปรุงการบริการอยู่เสมอ ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ด้านการออมและการจัดการทางการเงินให้เข้าถึงสมาชิกแต่ละรายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การจัดงานสัมมนา เว็บไซต์ โมบายแอพพลิเคชัน My PVD My TISCO ไลน์ @TISCO Asset และเฟซบุ๊ก TISCO ภายใต้โครงการ “TISCO Smart Retirement สุขทุกวันยันเกษียณ” โดยปัจจุบันบลจ.ทิสโก้มีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 5.5 แสนรายแล้ว” นางแขขวัญกล่าว
ปัจจุบันธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ บลจ.ทิสโก้ มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในด้านจำนวนบริษัทนายจ้างมากที่สุดในอุตสาหกรรม โดยข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุนพบว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2561 บลจ.ทิสโก้มีจำนวนบริษัทนายจ้างที่มอบหมายให้บริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 4,200 บริษัท หรือคิดเป็น 22.11% ของจำนวนบริษัทนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 19,000 บริษัท ขณะที่มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท เติบโต 2.75% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2561 ถือเป็นระดับการขยายตัวที่มากกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโต 1.6% โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทนายจ้างที่เคยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว และบริษัทนายจ้างใหม่ที่ไม่เคยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาก่อน รวมแล้วกว่า 300 บริษัท ซึ่งถือเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี 2561
นางแขขวัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยของอัตราการจ่ายเงินสมทบนายจ้างอยู่ที่ประมาณ 3-5 % ของเงินเดือนลูกจ้าง ซึ่งบลจ.ทิสโก้ได้เข้าไปให้ความรู้และผลักดันให้สมาชิกกองทุนและนายจ้างเห็นความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทนายจ้างที่เป็นลูกค้าของบลจ.ทิสโก้กว่า 1,000 บริษัทนั้น ปลดล็อกเงินสมทบให้ลูกจ้างสามารถออมเงินเพิ่มเติมได้สูงสุดที่ 15% ของเงินเดือน นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกจ้างที่ลาออกจากบริษัทรวมถึงลูกจ้างที่เกษียณอายุ มีแนวโน้มคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ.ทิสโก้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากระดับ 1,500 ล้านบาท ในปี 2555 เพิ่มเป็นประมาณ 8,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
“การมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมาชิกยังคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะในส่วนของ Master Pooled Fund (กองทุนร่วมที่มีหลายนายจ้างและหลากหลายนโยบายการลงทุน) ที่มีนโยบายการลงทุนถึง 9 นโยบาย เช่น นโยบายตราสารหนี้ระยะสั้น นโยบายตราสารหนี้มั่นคง นโยบายผสม (ตราสารหนี้+หุ้น) นโยบายหุ้น นโยบายหน่วยลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) เป็นต้น และมีรูปแบบทางเลือกมาตรฐาน (Standard Option) มากถึง 15 ทางเลือก อีกทั้งสมาชิกสามารถเลือกจัดสรรเงินลงทุนไปยังนโยบายการลงทุนต่างๆ ได้อย่างอิสระ (Free Style)” นางแขขวัญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย บลจ.ทิสโก้อยู่ระหว่างการออกแบบทางเลือกการลงทุน "Smart Life-path" ที่ไม่เพียงแค่เป็นการปรับสัดส่วนการลงทุนตามอายุ แต่สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนตามระดับความเสี่ยงและเป้าหมายเกษียณของสมาชิกแต่ละราย เนื่องจากมองว่าการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุแต่เพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะสมาชิกแต่ละรายแม้มีอายุเท่ากัน แต่สามารถรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน และมีเป้าหมายการเกษียณอายุที่ต่างกัน
นอกจากนี้ ยังเตรียมเพิ่มบริการให้คำแนะนำการลงทุนแบบรายปีสำหรับสมาชิกรายบุคคล ซึ่งเป็นตัวช่วยของลูกค้าในการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้าทราบว่าการออมที่ผ่านมาในแต่ละช่วงเวลานั้นทำได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการแนะนำนี้จะทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ผ่านงานสัมมนาและสื่ออื่นๆ ที่บลจ.ทิสโก้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเน้นการให้คำแนะนำตามช่วงวัย ตัวอย่างเช่น กลุ่มวัยทำงานจะให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน ครอบคลุมใน 4 ด้าน ได้แก่ Smart Saving, Smart Spending, Smart Living และ Smart Insured กลุ่มใกล้เกษียณจะให้ความรู้ผ่านงานสัมมนา “ชีวิตดี๊ดี แฮปปี้ 55+” เน้นเรื่องการจัดการเงินหลังเกษียณ เงินประกันสังคม และการดูแลตัวเองหลังเกษียณ โดยผู้เชี่ยวชาญจากทิสโก้ และผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญ ทั้งหมดนี้จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้สมาชิกมีเงินเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้สนใจลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน
Click Donate Support Web