- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 26 May 2024 21:10
- Hits: 4872
BAM ครบรอบ 25 ปี กับบทบาทผู้นำด้านบริหารสินทรัพย์ แก้ไขปัญหาหนี้เสียกลับคืนระบบเศรษฐกิจกว่า 4.8 แสนล้านบาท
BAM ปลื้ม ผลงาน 25 ปี บรรลุเป้าหมายภารกิจพลิกฟื้นสินทรัพย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ช่วยลูกหนี้กลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติ คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 484,649 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายไปแล้ว 122,866 ล้านบาท ขณะที่ผลเรียกเก็บไตรมาส 1 ปี 67 ปรับตัวดีขึ้น 9.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และมีกำไร 423 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าบรรลุตามเป้าหมายในการเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ
โดยสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 155,683 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 484,649 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ NPA ไปแล้ว จำนวน 52,258 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 122,866 ล้านบาท ขณะที่ผลเรียกเก็บไตรมาส 1 ปี 67 สามารถทำได้ 3,535 ล้านบาท มีอัตราเติบโตที่ 9.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่จำนวน 3,230 ล้าน
ซึ่งช่วยทำให้สามารถสร้างผลกำไรได้ 423 ล้านบาท มีการเติบโตสูงถึง 58.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีผลกำไร 267 ล้านบาท ส่งผลทำให้ตลอดช่วง 25 ปี BAM มีกำไรสะสมรวม 77,593 ล้านบาท โดยปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแลจำนวน 87,371 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 496,002 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบสถาบันการเงินคิดเป็น 98.06% ขณะที่ NPA มีจำนวน 24,378 รายการ มูลค่าราคาประเมิน 72,958 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบสถาบันการเงินคิดเป็น 47.19%
สำหรับ แนวทางการบริหารจัดการ NPL ได้ดำเนินการผ่านโครงการ/มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการโอนตีทรัพย์ชำระหนี้ มาตรการซื้อคืนทรัพย์หลักประกัน (First Buyers Option) มาตรการปรับลดหนี้ และมาตรการแปลงหนี้เป็นทุน
โดยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของ BAM จะเน้นการเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ นอกจากมาตรการเหล่านี้แล้วยังมีโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคืนทรัพย์ให้คุณ โครงการสุขใจได้บ้านคืน ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญหรือปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ BAM ที่ต้องการคืนทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินให้ลูกหนี้
ด้านบริหารจัดการ NPA เน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตาม Target Segment มีการทำโครงการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายตลอดช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา เช่น โครงการที่นำเสนอขายคอนโดราคาประหยัดให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือมีงบประมาณจำกัด เช่น คอนโดราคามหาชน คอนโดโดนใจสบายกระเป๋า เป็นต้น
ส่วนโครงการขายทรัพย์แบบผ่อนชำระกับ BAM เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินสามารถยื่นขอเข้าร่วมโครงการซื้อทรัพย์แบบผ่อนชำระกับ BAM ได้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่ดินเปล่า ซึ่ง BAM สร้างแปลงสาธิตบนทรัพย์ประเภทที่ดินเปล่าของ BAM เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าเห็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้แก่ โครงการ ปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อผลิตพลังงานทดแทน โครงการ พออยู่ พอกิน กับที่ดิน บสก. โครงการ ชีวิตที่ดี มีได้จริง (เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง) โครงการ ทำกิน 1 ไร่ ทำได้ 1 แสน และโครงการ บ้านสวนสุขใจ เพื่อตอบโจทย์ผู้สนใจลงทุนในที่ดินของ BAM
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จมาจากการที่ BAM มีเครือข่ายสำนักงานสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ โดยสำนักงานภูมิภาคช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
อีกทั้ง พนักงานในสำนักงานสาขาส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ทำให้มีความเข้าใจสภาวะตลาดในพื้นที่นั้นๆ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ต่อ BAM ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายการทำตลาดและยังทำให้สามารถประเมินราคาของทรัพย์สินในกระบวนการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากความสำเร็จด้วยปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวทำให้ BAM มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านการเงินและการดำเนินงาน โดย BAM มีจุดแข็งในการบริหารจัดการ NPL และ NPA เนื่องจากมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ รวมทั้ง BAM ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดจาก NPL และ NPA ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด
ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายมาอย่างยาวนาน และยังร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรในการช่วยพิจารณาสินเชื่อให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ NPA ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดและยอดขายทรัพย์ ลดภาระค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการถือครองทรัพย์อีกด้วย
นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า BAM ได้กำหนดแผนกลยุทธ์ประจำปี 2567 ประกอบด้วย กลยุทธ์การขยายธุรกิจ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ และการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium)
โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมถึงกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ การพัฒนา Pricing Model ในการกำหนดราคาซื้อ และเน้นการลงทุนแบบ Selective และการลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น
ในส่วนของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การสร้างระบบการให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Online โดยมีระบบการชำระเงิน ตรวจสอบภาระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการซื้อทรัพย์ผ่าน BAM Mobile Application การบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลองค์กรและการจัดทำรายงานทั้งหมด
โดยมีข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) ซึ่งเป็นเครื่องมือการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา และเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป
มองไปข้างหน้า 3-5 ปี BAM ได้วางแนวทางการเป็น Digital Enterprise ซึ่งมีการปรับกระบวนการทำงานหลักสำหรับ NPL NPA LAW และบัญชีการเงิน รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้เชิงธุรกิจ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบงานและข้อมูลสารสนเทศ
ในขณะที่ระยะ 3-5 ปี มุ่งสู่การเป็นศูนย์การสร้างมูลค่าทรัพย์ (Asset market maker) ด้วยการดำเนินการเป็น Non-Financial Debt Management (NFD), Secured P2P Facilitator และRegional AMC Expansion
ส่วนระยะมากกว่า 5 ปี สร้างโอกาสในระยะยาวด้วยการเพิ่มพอร์ตไปยัง Non-RE (Alternative assets), ปล่อยกู้ลูกหนี้ที่ชำระอย่างสม่ำเสมอ (Recovery credit) การเป็น Regional NPLs marketplace การจัดทำธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private equity) การ Distressed PE broker
และการพัฒนาธุรกิจด้านข้อมูลการลงทุนอสังหาฯ (RE Data intelligence) รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต Capability Development พร้อมทั้งการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability เช่น งาน AO : NPL /NPA และงานประเมินราคาทรัพย์สิน