- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Friday, 17 May 2024 21:13
- Hits: 9499
LTS ปาฏิหาริย์มีจริง...ปิดตลาดเย็น ทำสถิตินิวไฮ mai ปี 2567 หุ้นตัวแรก 9.05+6.05 (+201.67%) IPO 3.00 บาท
LTS เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เปิดเทรดวันแรกที่ 5.90 บาท เพิ่มขึ้น 2.90 บาท +96.67% จากราคา IPO ที่ 3.00 บาท ปิดตลาดเย็น ทำสถิติ mai นิวไฮของปี 2567 ตัวแรก 9.05+6.05 (+201.67%) ทั้งที่เงียบเชียบ ไม่มีข่าวคราวให้นักลงทุนเข้าใจที่มาที่ไป และทีมงานพีอาร์-ไออาร์ไม่มี พบสาเหตุหุ้นน้อย 65 ล้านหุ้นเข้าตาเจ้ามือ....
แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ภัฎ ตรัสโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น ร่วมพิธีเปิดการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ของ บมจ. ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น ผู้จัดจำหน่าย ออกแบบและติดตั้งผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าส่องสว่าง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 619.80 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า LTS
บมจ.ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น (LTS) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 65,000,000 หุ้น คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมี บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์การใช้เงินนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และลงทุนในตึกออฟฟิศและโกดังสินค้า
LTS เดิมชื่อบริษัท ไลท์อัพ ดีไซน์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดย นายภัฏ ตรัสโฆษิต เพื่อประกอบกิจการค้า จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ดวงไฟ โคมไฟ และให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาของสินค้าดังกล่าว ภายหลังการดำเนินธุรกิจไประยะแรก ทางบริษัทได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำเสนอการบริการออกแบบแสงสว่างให้กับลูกค้าเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและโอกาสในการขายสินค้าให้กับบริษัทได้มากขึ้นจึงได้จัดตั้งแผนกออกแบบแสงสว่างให้กับลูกค้าตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
โดยในปัจจุบันได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) จึงมีการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านดังกล่าว เข้ามาร่วมงานโดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบการจัดการระบบไฟและควบคุมอุปกรณ์ IoT ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของบริษัทในยุคปัจจุบันและอนาคต
นายภัฎ ตรัสโฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LTS เปิดเผยว่า บริษัทมีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจมากว่า 14 ปี โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและตอบโจทย์ให้กับทุกกลุ่มลูกค้าของบริษัท สำหรับ เงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทจะนำไปลงทุนในตึกออฟฟิศ Showroom โกดังสินค้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ สวนสาธารณะอัจฉริยะ โครงการ smart pole โครงการ smart city และ โครงการ smart street light เป็นต้น
LTS มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ นายภัฎ ตรัสโฆษิต ถือหุ้น 38.52% นายกิตติพงษ์ วิมลโนช ถือหุ้น 22.38% และนางสาวสุวิมล เชาวนโยธิน ถือหุ้น 6.60% บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินบริษัทภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย
ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการการขายอุปกรณ์ส่องสว่างและอุปกรณ์เสริมสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่าง เช่น โคมไฟฟ้า ไฟสปอตไลท์ ไฟเพื่อการตกแต่ง แก่ลูกค้า 3 กลุ่มหลักคือ 1) ลูกค้าสถาปนิกหรือผู้รับเหมา 2) ลูกค้าโครงการรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและเอกชนขนาดใหญ่ และ 3) ลูกค้าค้าส่งและค้าปลีก ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางร้านค้าของทางบริษัทฯเอง ร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พนักงานขายและ ช่องทางออนไลน์
บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มรายได้และผลกำไรของบริษัท โดยบริษัทอยู่ในระหว่างการพัฒนาแผนธุรกิจเกี่ยวเนื่องคือบริการทางด้าน IT Solution ที่จะมุ่งเน้นไปที่การนำความสามารถของบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ความสามารถและประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กล่าวโดยเฉพาะ คือ การพัฒนาอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการบูรณาการเพื่อใช้เก็บข้อมูลและตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ อาทิเช่น การพัฒนาอุปกรณ์ RFID Tag เพื่อลูกค้าที่ประกอบธุรกิจรับซักผ้าอุตสาหกรรมในการช่วย ควบคุมคุณภาพ จำนวนครั้ง และผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละจุดผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
ทั้งนี้ ข้อดีของประเภทธุรกิจดังกล่าวคือการที่ไม่มีเงินลงทุนในทรัพย์สินถาวรที่มีมูลค่าที่มีนัยสำคัญ เน้นความสามารถของบุคลากรเป็นหลักซึ่งบริษัทมีความพร้อมดังกล่าวสำหรับการริเริ่มธุรกิจนี้อยู่แล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือการที่โครงสร้างรายได้ของธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะที่มีความต่อเนื่อง (recurring income) ซึ่งหากธุรกิจดังกล่าวสามารถขยายตัวได้ในอนาคตจะช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ของบริษัท และช่วยเพิ่มเสถียรภาพของโครงสร้างรายได้และการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ธุรกิจดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มมีรายได้อย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566
โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 ได้แก่ นายภัฎ ตรัสโฆษิต สัดส่วนถือหุ้น 52.50% หลังขาย IPO สัดส่วนลดลงเป็น 36.7% , นายกิตติพงษ์ วิมลโนช ถือหุ้น 30.50% ลดลงเหลือ 21.30% ,นางสาว สุวิมล เชาวนโยธิน ถือหุ้น 9.00% ลดลงเหลือ 6.3% , นายอวิรุทธ์ งามศิลปเสถียร ถือหุ้น 3.00% ลดลงเหลือ 2.1% ,นางสาว พรทิพย์ ตันสิริธเนศ ถือหุ้น 3.00% ลดลงเหลือ 2.1% และ นายรัฐวงษ์ พสวงศ์ ถือหุ้น 2.00% ลดลงเหลือ 1.4%
รายได้จากการขายและการให้บริการในช่วงปี 2563 ถึงปี 2565 และงวดหกเดือน ของปี 2565 และ 2566 เท่ากับ 291.20 ล้านบาท 163.61 ล้านบาท 232.11 ล้านบาท 67.35 ล้านบาท และ 95.86 ล้านบาท ตามลำดับ โดยที่มาของรายได้ของทางบริษัทจะมาจากการบริการให้คำปรึกษาและออกแบบ การขายและจัดหา การติดตั้ง และการดูแลหลังการขายอุปกรณ์ส่องสว่างแก่กลุ่มลูกค้าหลักของทางบริษัท
ส่วนปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจเท่ากับ 6.74 ล้านบาท ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4.74 ล้านบาท และในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 13.59 ล้านบาท สำหรับงวดหกเดือน ของปี 2565 และ 2566 ขาดทุนสุทธิ 1.02 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9.25 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท