- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Tuesday, 05 March 2024 12:10
- Hits: 7038
ไทยเบฟ เปิดกลยุทธ์ความยั่งยืนทุกมิติ ตอกย้ำองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก
● โชว์วิสัยทัศน์ การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน
● กลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) กับเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า
● แนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับภายในองค์กร ความร่วมมือกับพันธมิตร การสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ
● โครงการที่ประสบความสำเร็จ สมุยโมเดล และแผนในการจัดทำโครงการต่อเนื่องบนเกาะสีชัง และเกาะอื่นๆ
● ครองคะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ประจำปี 2023 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
● ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นปีที่ 6 ด้วยคะแนน 91 จาก 100
● ได้รับคะแนนประเมินด้านความยั่งยืน S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) สูงสุดระดับ 1% ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
● ได้คะแนนสูงสุดในมิติการกำกับดูแลและเศรษฐกิจกับมิติสังคม และได้อันดับ 2 ในมิติสิ่งแวดล้อม
● ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 7 และ 8 ติดต่อกันตามลำดับ
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “บริษัท”) ตอกย้ำองค์กรต้นแบบ ด้าน ความยั่งยืนระดับโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนด้วยกลยุทธ์สำคัญด้าน ESG “สรรสร้างการเติบโตที่ยังยืน” (Enabling Sustainable Growth) กับเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยมี กลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ คือ ภายในองค์กร ความร่วมมือกับพันธมิตร และการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเบฟได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมมายาวนานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งทางตรงในขอบเขตที่ 1 และทางอ้อมในขอบเขตที่ 2 (Scope 1 และ 2) ภายในปี 2583 การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ การลดอัตราการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ และการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและสังคม (Water Replenishment) 100 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงเพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิล (rPET) ในขวดพลาสติก PET ในด้านของสังคม และธรรมาภิบาล มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มระดับความผูกพันของพนักงานให้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573 การเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็น 80% ภายในปี 2573 รวมถึงการกำหนดให้คู่ค้ากลุ่มกลยุทธ์มีการจัดทำและบังคับใช้จรรยาบรรณสําหรับคู่ค้าของตนเอง
นอกจากนี้ ไทยเบฟร่วมมือกับพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมกับองค์กรเอกชนอีก 8 องค์กรก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) ขึ้นในปี 2562 โดยได้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาคู่ค้า เช่น การจัดสัมมนาในหัวข้อด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการจัดอบรมการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกให้กับคู่ค้าที่เป็นสมาชิก
ในด้านความร่วมมือกับชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจรีไซเคิล จำกัด (Thai Beverage Recycle หรือ TBR) ร่วมมือกับเทศบาลท้องถิ่นและพันธมิตร ริเร่ม “โครงการสมุยโมเดล” ในปี 2562 โดยร่วมมือกับเทศบาลนครเกาะสมุยและร้านค้าของเก่าในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วหลังการบริโภค มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าและประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะบนเกาะ โดยใช้รถขนส่งเที่ยวกลับ (Backhaul Logistics) จากการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย ซึ่งมีการดำเนินงานต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และสามารถเก็บกลับขวดแก้วและเศษแก้วกลับมาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ไทยเบฟจำหน่ายบนเกาะสมุย สร้างรายได้ให้กับผู้ค้าขวดเก่าในท้องถิ่นถึง 10 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลโครงการสู่เกาะสีชัง โดยร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และการรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) และเทศบาลท้องถิ่น เริ่มดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์จากเกาะสีชังในปี 2566 และยังมีแผนในขยายต่อไปยังเกาะอื่นๆ ได้แก่ เกาะล้าน และเกาะเสม็ด
อีกหนึ่งโครงการหลัก ได้แก่ “ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 ได้แจกผ้าห่มจำนวน 200,000 ผืนต่อปี ให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในด้านความยั่งยืน ไทยเบฟได้ใช้ rPET เพื่อผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 และนำขวดพลาสติก PET กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นผ้าห่มได้แล้วทั้งสิ้น 30,400,000 ขวด นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการ “จากผู้รับ สู่ผู้ให้” เชิญชวนให้ชุมชนที่ได้รับแจกผ้าห่มนำขวดพลาสติก PET มาเพื่อนำไปผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับประสบภัยใน ปีถัดไป และโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนมุมมองของกลุ่มผู้บริโภคที่มีต่อผ้าขาวม้า สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมในการผลิต ให้แก่ชุมชน ตลอดจนสร้างรายได้ให้ชุมชน ปัจจุบัน มีชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือเข้าร่วมโครงการ 40 ชุมชน จาก 30 จังหวัด มีผู้ได้รับประโยชน์ 1,561 ราย สร้างรายได้รวมกว่า 235 ล้านบาท
ในด้านการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ ไทยเบฟ ยังเป็นผู้ริเริ่มและแกนหลักในการขับเคลื่อนการจัด งาน Sustainability Expo (SX) ประจำปีภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ซึ่งจัดเป็นปีที่ 4 จากการผสานความร่วมมือของเครือข่ายที่เป็นองค์กรด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เข้าร่วมกว่า 246 องค์กร ที่ประสบความสำเร็จและสร้างปรากฏการณ์แห่งการปลุกจิตสำนึกด้าน การพัฒนาที่ยั่งยืนมาแล้ว นอกจากนี้ Win Win WAR Thailand เป็นรายการที่บ่มเพาะทักษะของผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurs) โดยใช้กลไกด้านธุรกิจช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายการนี้ได้จัดทำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 มีจำนวนผู้ให้ความสนใจสมัครร่วมรายการกว่า 6,300 ทีม และใน 2 ปีที่ผ่านมา ยังได้ขยายผลไปสู่กลุ่มเยาวชนผ่านรายการ Win Win WAR OTOP Junior โดยเปิดโอกาส ให้นักเรียนอายุ 9-14 ปี พร้อมคุณครูที่ปรึกษา มาร่วมแข่งขันเพื่อเพิ่มทักษะการเป็นเจ้าของธุรกิจ ด้วยแนวคิดที่เอื้อประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับในต่างประเทศ ไทยเบฟก็เดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในประเทศเมียนมา เวียดนาม และสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน และในส่วนของการกำกับดูแลนั้น ไทยเบฟได้ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทย่อยทุกแห่งในทุกประเทศที่ไทยเบฟเข้าไปทำธุรกิจจะมีความเชี่ยวชาญเพียงพอ มีนโยบายที่สอดคล้อง และมีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
ในปีที่ผ่านมา ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมการรายงานด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการรายงานด้านน้ำ (Water Security) ของ Carbon Disclosure Project หรือ CDP ซึ่งเป็นการรายงานด้าน Climate Change ที่ได้รับการยอบรับมากที่สุดทั่วโลก โดยได้รับคะแนนประเมินในระดับ A- ในทั้ง 2 หมวด จากผลการประเมินล่าสุด
ทั้งหมดนี้ คือการตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องด้วยการได้รับคะแนนสูงสุด 91 คะแนนจาก 100 คะแนนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ประจำปี 2023 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน พร้อมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 7 และ 8 ติดต่อกันตามลำดับ และเป็นบริษัทเครื่องดื่มเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ในปี 2023
DJSI ได้ประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทที่เลือกมา โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) 30 ข้อ และในปีนี้ไทยเบฟได้รับคะแนนสูงสุดในมิติการกำกับดูแลและเศรษฐกิจ รวมถึงมิติสังคม และได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับสองในมิติสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังได้รับคะแนนเต็ม 100 คะแนนจากเกณฑ์การประเมิน 6 ข้อ และอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 100 จากเกณฑ์ 13 ข้อ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเพื่อความยั่งยืนของบริษัท สามารถดูได้ที่ 2023 Sustainability Report ส่วนวิธีการประเมินของ DJSI สามารถดูได้ที่ 2023 MSA Methodology Guidebook
3123