- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Friday, 27 October 2023 16:40
- Hits: 3415
SCG Q3 มีรายได้ 125,649 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 กำไร 2,441 ล้านบาท รัดเข็มขัด ลดต้นทุนพลังงาน ทบทวนการลงทุน
เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัวจากเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ฟื้น ปรับตัวเดินหน้าต่อด้วย 3 กลยุทธ์รับมือเศรษฐกิจผันผวน รัดเข็มขัด ลดต้นทุนพลังงาน - ทบทวนการลงทุน เน้นธุรกิจเติบโตสูง - เร่งเครื่องนวัตกรรมกรีนสู่ตลาดโลก
ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัวจากตลาดภูมิภาคยังไม่ฟื้น วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง ส่งออกหดตัว ดอกเบี้ยสูง เอสซีจีเร่งปรับตัวฉับไว ยกระดับการบริหารธุรกิจ พร้อมรับมือผลกระทบที่อาจรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่จบ
โดยเดินหน้า 3 กลยุทธ์เข้มข้นขึ้น 1) รัดเข็มขัด ลดต้นทุนพลังงาน 2) ทบทวนแผนงาน เน้นลงทุนธุรกิจเติบโตสูง 3) เร่งเครื่องนวัตกรรมกรีน ขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและพลาสติกรักษ์โลก เร่งส่งออกปูนคาร์บอนต่ำ เชื่อมั่นธุรกิจเติบโตมั่นคงระยะยาว ขณะที่เสถียรภาพการเงินแข็งแกร่ง
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ผลประกอบการเอสซีจีไตรมาส 3 ปี 2566 ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ฟื้นตัว มีรายได้ 125,649 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่ลดลงของทุกกลุ่มธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจเคมิคอลส์อยู่ในช่วงขาลง และสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคยังไม่ฟื้นตัว
ขณะที่กำไรสำหรับงวด 2,441 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 3,019 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีเงินสดคงเหลือแข็งแกร่ง 99,756 ล้านบาท เนื่องจากเอสซีจีได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และดำเนินงานด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง จึงยังรักษาเสถียรภาพการเงินได้มั่นคง สำหรับไตรมาส 4 เศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มดีขึ้น
โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่จะมีการลงทุน และการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ ‘นูซันตารา’ ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลอาจปรับตัวลง ทำให้ควบคุมต้นทุนพลังงานได้ดีขึ้น”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากต้นทุนพลังงานผันผวน ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง ตลาดจีนชะลอตัว ธุรกิจปิโตรเคมียังไม่ฟื้นตัวดี ผนวกกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อสูง ตลอดจนความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังดำเนินอยู่ เอสซีจีจึงเร่งเดินหน้า 3 กลยุทธ์เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้ต่อเนื่อง ได้แก่
1. รัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม มุ่งลดต้นทุนพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งราคาผันผวน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีการใช้ 220 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานปูนซีเมนต์ในไทย มีสัดส่วนการใช้ร้อยละ 40 พร้อมทั้งเร่งหาแหล่งพลังงานสะอาดอื่นๆ อาทิ ปลูกหญ้าเนเปียร์ พืชให้พลังงานสูง 1,000 ไร่ ที่สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย มุ่งเป้าปลูก 30,000 ไร่ในปี 2571
2. ทบทวนแผนงาน ชะลอโครงการที่ไม่เร่งด่วน เน้นลงทุนธุรกิจเติบโตสูง อาทิ ร่วมมือกับ Denka ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ลงทุนร่วมกับ Braskem ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals - LSP) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมทดสอบเครื่องจักร เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงป้อนตลาดโลก
3. รุกนวัตกรรมกรีน ที่มีความต้องการสูง ตอบเมกะเทรนด์โลก โดยสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice เติบโตโดดเด่น 9 เดือนของปีมียอดขายร้อยละ 54 จากการขายสินค้าทั้งหมด พร้อมเดินเครื่องเต็มที่เพิ่มยอดขายให้ได้ 2 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดในปี 2573 ขณะที่ SCG Cleanergy ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร ให้บริการระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) กับเครือเซ็นทารา พัฒนาเป็น Smart Hotel ควบคู่กับการเร่งส่งออกปูนคาร์บอนต่ำ และผลักดันนวัตกรรมกรีนอื่นๆ อาทิ พลาสติกรักษ์โลก ธุรกิจรีไซเคิล”
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC มียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณขายเพิ่มขึ้น พร้อมเร่งปรับตัวสู่ธุรกิจพลาสติกรักษ์โลกครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบัน SCGC GREEN POLYMERTM มียอดขาย 170,000 ตัน สอดคล้องกับเป้าหมายผลิต 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 ล่าสุดจัดตั้งบริษัท บราสเคม สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท Braskem ประเทศบราซิล
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและศึกษาโครงการโดยละเอียดก่อนทำการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย เพื่อก่อสร้างโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง สำหรับผลิตวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ (Green-PE) ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี ขณะเดียวกัน บริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ประเทศโปรตุเกส ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรใหม่สำเร็จตามแผน ทำให้มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงรวม 45,000 ตันต่อปี
โดยจะเร่งเดินหน้าผลิตสินค้าในกลุ่มเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น (High Quality Odorless HDPE PCR Resin) รองรับความต้องการในยุโรปที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านโครงการ ปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเตรียมทดสอบเครื่องจักร เพื่อผลิตโอเลฟินส์และเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงป้อนตลาดโลก”
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “นวัตกรรมโซลูชันก่อสร้างและอยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะปูนคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Cement) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69 เอสซีจีจึงได้เร่งปรับการผลิตและขยายการส่งออก ส่วน SCG Solar Roof Solutions มียอดขายเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งยังร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา จัดทำโครงการต้นแบบศูนย์การค้า Net Zero เริ่มแห่งแรกที่เซ็นทรัล อยุธยา โดยติดตั้ง SCG Air Scrubber โซลูชันเพื่ออาคารอากาศดี ประหยัดพลังงานสูงสุดร้อยละ 30 นอกจากนี้ได้ออกสินค้าใหม่ หลังคาเอสซีจี เมทัลรูฟ (Stone Coat) ช่วยลดเสียงฝนกระทบหลังคาสูงสุดถึง 12 เดซิเบลเมื่อเทียบกับแผ่นเมทัลชีททั่วไป ผลิตจากเม็ดหินควอตซ์เคลือบด้วยสีเซรามิก
ในขณะที่ SCG HOME เปิดศูนย์กระจายสินค้าหลัก (National Distribution Center) ที่รังสิต มีระบบเชื่อมต่อศูนย์กระจายสินค้าย่อยในภาคต่าง ๆ เพื่อส่งมอบสินค้าให้ร้าน SCG HOME ทั่วประเทศได้รวดเร็ว แม่นยำ สำหรับความคืบหน้า SCG Decor สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งแล้ว เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 439.1 ล้านหุ้น พร้อมคว้าโอกาสเป็นผู้นำอาเซียนธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจร”
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “SCGP มุ่งดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะตลาด เน้นเพิ่มยอดขายบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโตได้ดี พร้อมกับเดินหน้ากลยุทธ์ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ล่าสุดลงทุนใน Law Print & Packaging Management Limited ผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรชั้นนำในสหราชอาณาจักร ที่เชี่ยวชาญและเข้าถึงลูกค้า
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงที่เติบโตสูง ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งให้ SCGP มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์เพิ่มขึ้นและขยายธุรกิจไปยังตลาดระดับโลก นอกจากนี้ยังลงทุนใน Bicappa Lab S.r.L.ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการรายใหญ่ในอิตาลีและเป็นรายใหญ่ในยุโรป เพื่อขยายสู่ตลาดอุปกรณ์ ‘ปิเปตต์ทิป’ และเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี
รวมถึงการขยายฐานลูกค้าและทำให้สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ของ SCGP ในอาเซียน และการเติบโตของธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในอนาคตได้ นอกจากนี้ SCGP ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และการจัดการพลังงาน รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 15 ในปี 2566 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายแรกที่กำหนดไว้ตาม Science Based Target Initiative: SBTi ที่ร้อยละ 25 ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2563”
งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ไตรมาส 3 ประจำปี 2566 มีดังนี้
เอสซีจี มีรายได้จากการขาย 125,649 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายในทุกธุรกิจลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics (เปลี่ยนสถานะจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม จากการรวมธุรกิจ SCGJWD Logistics) ขณะที่กำไรสำหรับงวด 2,441 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงาน 3,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว กำไรสำหรับงวดลดลงร้อยละ 70 เนื่องจากไตรมาสก่อนมีกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนและเงินปันผล ประกอบกับไตรมาสนี้มีรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค กำไรจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 42 จากไตรมาสก่อน
ผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2566 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 379,028 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่ลดลงของทุกกลุ่มธุรกิจจากสถานการณ์ตลาดในภูมิภาค มีกำไรสำหรับงวด 27,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงาน 12,805 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปิโตรเคมียังอยู่ในวัฏจักรขาลง ตลาดอาเซียนอ่อนตัว
สำหรับ สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) ในช่วง 9 เดือนของปี 2566 มีรายได้ 129,125 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม ยอดขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice 206,048 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของรายได้จากการขายรวม
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในช่วง 9 เดือนของปี 2566 ทั้งสิ้น 163,505 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของรายได้จากการขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีมูลค่า 960,058 ล้านบาท โดยร้อยละ 44 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (ไม่รวมไทย)
ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2566 และ 9 เดือนของปี 2566 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 49,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาสินค้าที่ปรับตัวลง กำไรสำหรับงวด 1,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 311 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1,391 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือและปริมาณขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น
สำหรับ ผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2566 ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 145,223 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าและปริมาณขายสินค้าลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 3,149 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและส่วนต่างราคาขายลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 47,015 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics ประกอบกับได้รับผลกระทบจากตลาดภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะที่เวียดนามและกัมพูชา โดยมีการขาดทุนสำหรับงวด 176 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากความท้าทายในตลาดภูมิภาคอาเซียน รวมถึงรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค กำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ ผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2566 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 144,247 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 14,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 179 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสาเหตุหลักจากกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics ในไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งนี้ หากหักรายการพิเศษ กำไรสำหรับงวด 3,159 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง (SCGP) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 31,572 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าในประเทศจีนและยุโรป ขณะที่ภาคการส่งออกจากอาเซียนโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง และลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเฉพาะจากกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย
โดยมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนน้อยลงและการแข่งขันด้านราคาในประเทศที่รุนแรง ประกอบกับปริมาณและราคาขายของเยื่อกระดาษหดตัวตามอุปสงค์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอที่อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,325 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายของผลิตภัณฑ์เยื่อลดลง ประกอบกับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรประจำปี
สำหรับ ผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2566 ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขายรวม 97,517 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เยื่อ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคฟื้นตัวล่าช้า
โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,030 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เยื่อ ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับรายได้จากการขาย
“การก้าวข้ามความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังร่วมกัน หากภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง มีมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ปรับระเบียบขั้นตอนให้สะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ประเมินภาษีที่ดินใหม่ ทำมาตรการ Green Building ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นห่วงโซ่สำคัญของทุกธุรกิจ
พร้อมทั้งขับเคลื่อนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน ปัจจุบันมีต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกที่สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นจังหวัดนำร่องความสำเร็จสู่การขยายผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เอสซีจีให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจเติบโตควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG 4 Plus และพร้อมขยายผลความสำเร็จของ ESG Symposium 2023 ในไทยสู่อาเซียน โดยมีกำหนดจัดงานที่อินโดนีเซียและเวียดนามในเดือนพฤศจิกายนนี้”นายธรรมศักดิ์กล่าว