- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 11 June 2023 19:31
- Hits: 1300
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้มีการค้ำประกัน‘บ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น’ ที่ ‘BBB+’แนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทที่ระดับ’BBB+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ’คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแรงของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Title Loan)
ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่มีความหลากหลาย และสภาพคล่องที่เพียงพอ แม้ว่าอันดับเครดิตจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท แต่ก็มีปัจจัยลดทอนจากฐานเงินทุนและความสามารถในการสร้างรายได้ที่มีทิศทางที่ลดลง ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดที่สำคัญจากความเสี่ยงด้านเครดิตของสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มตลาดสินเชื่อที่มีหลักประกันอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่แข็งแรงขึ้น
สถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชี่ยวชาญของบริษัทและการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเครือข่ายสาขาของบริษัทมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในบรรดาผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกันทั้งหมดด้วยจำนวนสาขาที่มีถึง 5,335 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566
การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (New Motorcycle Hire Purchase) ที่ดำเนินการโดย บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) (SCAP) ตั้งแต่ปีที่แล้วยังช่วยขยายตำแหน่งทางการตลาดโดยรวมของบริษัทให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วย
เฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ของ SCAP เพียงอย่างเดียวนั้นก็เติบโตอย่างแข็งแกร่งถึงประมาณ 300% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 23.6 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) และปัจจุบัน SCAP เป็นผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรายใหญ่อันดับสองในกลุ่มสินเชื่อประเภทนี้
โดยรวมแล้วสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.46 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 เพิ่มขึ้น 74% จาก ณ เวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าและที่ระดับ 17% จาก ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของบริษัทอื่นในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันและกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่
ทั้งนี้ ด้วยเป้าหมายการเติบโตในเชิงรุกของ SCAP ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่จะเป็นแรงผลักดันหลักสำหรับการขยายสินเชื่อของกลุ่มในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง มีข้อสังเกตว่าแม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งอาจช่วยรักษาตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่หากไม่มีการจัดการที่ดีก็อาจส่งผลให้ฐานะเงินทุนและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนแอลงได้ รวมทั้งอาจสร้างแรงกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
การรวมกิจการของบริษัทเงินสดทันใจเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตแต่อาจกระทบต่ออัตราผลตอบแทน
เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้ประกาศซื้อหุ้นใน บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด (FM) คืนกลับมา ซึ่ง FM เป็นบริษัทร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นในไตรมาส 1/2564 ระหว่างธนาคารออมสิน (GSB, อันดับเครดิต ‘AAA/Stable’) และบริษัท โดยบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์เป็นประกัน (Motorcycle and Car Title Loans)
ธุรกรรมในครั้งนี้ คาดว่า จะเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งจะส่งผลให้มีการรวม FM เข้ามาในงบการเงินรวมของบริษัทโดยจะเริ่มในไตรมาส 2/2566 ทั้งนี้ ณ ไตรมาส 1/2566 สินเชื่อคงค้างของ FM อยู่ที่ระดับ 1.44 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของสินเชื่อรวมของบริษัท จากการที่ FM ยังคงดำเนินงานต่อไปหลังการควบรวมกิจการ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการของ FM มีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนของสินเชื่อโดยรวมของบริษัทอยู่บ้างเนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากพอร์ตสินเชื่อของ FM มีอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทอื่นที่บริษัทให้บริการในปัจจุบัน
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่น้อยกว่าของ FM นั้นเกิดจากนโยบายด้านสังคมของธนาคารออมสินที่มีแนวทางในการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด ซึ่งในอนาคตนั้นสินเชื่อของ FM ที่ได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากธนาคารออมสินจะยังคงขยายตัวด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดต่อไป
สถานะเงินทุนยังคงแข็งแกร่งแต่ลดลงอย่างรวดเร็ว
ทริสเรทติ้ง ยังคงประเมินให้สถานะเงินทุนและภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่ “แข็งแกร่งมาก” โดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital (RAC) Ratio) อยู่ที่ระดับ 28.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 48.4% ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่ดำเนินงานโดย SCAP ในปี 2565 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 สัดส่วนของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวโดยอยู่ที่ระดับ 37% ของสินเชื่อทั้งหมดจากระดับ 16% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 26% ในระหว่างปี 2566-2568 จาก 29% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ภายใต้สมมติฐานที่การเติบโตของสินเชื่อใหม่โดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 20%-25% และอัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50% ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงอาจสร้างแรงกดดันต่อสถานะเงินทุนและอันดับเครดิตของบริษัทได้
อัตราผลตอบแทนที่ลดลงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยจำกัดความสามารถในการสร้างรายได้
ทริสเรทติ้ง ประเมินให้ความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ ‘เพียงพอ’ โดยคาดว่าความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงรวมถัวเฉลี่ย (Earnings before Taxes to Average Risk-adjusted Asset (EBT/ARWA) Ratio) จะลดลงเหลือ 5%-6% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจาก 8.6%
ในปี 2565 การคาดการณ์ของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างรายได้ที่ลดลงนั้นอยู่ภายใต้สมมติฐานที่อัตราผลตอบแทนจะลดลง ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นแม้ทริสเรทติ้งจะคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของสินเชื่อก็ตาม
ทั้งนี้ ปัจจัยบางประการที่คาดว่าจะส่งผลกดดันต่ออัตราผลตอบแทนของบริษัทมีดังต่อไปนี้ 1) กฎระเบียบใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งกำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้เพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่อยู่ที่ระดับ 23%
โดยต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่ระดับราวๆ 30% ที่ SCAP ทำได้ในช่วงปี 2565 อย่างมีนัยสำคัญ 2) การแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ที่รุกเข้าสู่ตลาดสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Asset-backed Title Loan)
โดยบริษัทเหล่านี้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าจากการได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ ซึ่งทำให้สามารถยอมรับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าได้ และ 3) การรวมพอร์ตสินเชื่อของ FM ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดในส่วนของสินเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากธนาคารออมสิน
สมมติฐานของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Cost-to-income Ratio) ของบริษัทที่สูงขึ้นนั้นเป็นการพิจารณาจากสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่สูงขึ้นซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่มีหลักประกันเนื่องจากมีค่าคอมมิชชั่นของตัวแทนจำหน่ายและผลขาดทุนรถยึดที่สูงกว่า และอีกประการหนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของบริษัทนั้นน่าจะส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลงแต่ยังสามารถบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้ง ประเมินให้สถานะความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับ ‘ปานกลาง’ซึ่งสอดคล้องกับผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกันรายอื่นๆ โดยส่วนใหญ่เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูง แม้ว่า คุณภาพสินทรัพย์จะเริ่มถดถอยลงเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเห็นได้จากการก่อตัวของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-performing Loan (NPL) Formation) ที่เพิ่มขึ้นและอัตราค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิต (Credit Cost) ต่อสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Ratio) ปรับลดลงอันเนื่องมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2.49% ลดลงจากระดับ 3.26% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565
แม้จะมีเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4% ในปี 2568 เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าการก่อตัวของของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากการสิ้นสุดลงของโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และการเข้าสู่ระยะการเติบโตที่ช้าลงของพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่านโยบายการให้สินเชื่อต่อมูลค่า (Loan-to-value (LTV) Policy) ของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำสำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกันตลอดจนการติดตามหนี้และการยึดทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพนั้นน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งสำรองได้ในระยะปานกลาง ส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Laon) ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 5% ของสินเชื่อทั้งหมดนั้นมีความเสี่ยงด้านเครดิตโดยรวมที่ทริสเรทติ้งถือว่ายังน้อยอยู่เนื่องจากบริษัทให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแก่กลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่
ในแง่ของการตั้งสำรองนั้น ทริสเรทติ้งยังมองว่านโยบายการตั้งสำรองของบริษัทค่อนข้างมีความระมัดระวังน้อยกว่าบริษัทอื่นโดยมีอัตราค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 47.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 เมื่อเทียบกับระดับในช่วง 105%-270% ของผู้ประกอบการสินเชื่อที่มีหลักประกันรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Expected Credit Loss (ECL) Provision) ให้เป็นไปตามการขยายพอร์ตสินเชื่อของบริษัท
การขยายตัวที่ช้าลงของสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเครดิต
ทริสเรทติ้ง ยังคงมีมุมมองว่าการขยายตัวอย่างมากของสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันอาจสร้างแรงกดดันต่อสถานะความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัท ถึงแม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันของบริษัทซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่ระดับ 40%-50% ของราคาประเมิน
แต่ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า การยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งมักใช้เวลานานนั้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้นได้หากพอร์ตสินเชื่อขยายตัวมากจนเกินไป
นอกจากนี้ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ยังเพิ่มความเสี่ยงในด้านการกระจุกตัวของสินเชื่ออีกด้วย
การเติบโตที่ช้าลงของสินเชื่อดังกล่าวในช่วงปี 2563-2564 ได้ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันลดลงเหลือ 29% ของสินเชื่อรวมของบริษัทจากระดับ 40% ในอดีต
นอกจากนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตยังปรับตัวลดลงเหลือ 2.2% จากจุดสูงสุดที่ระดับ 3.8% ณ สิ้นปี 2564 อีกด้วย แม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองกรณีดังกล่าวว่าเป็นพัฒนาการในเชิงบวก แต่การที่สินเชื่อประเภทนี้กลับมาเติบโตในเชิงรุกอีกครั้ง ก็อาจสร้างความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเครดิตให้แก่ทริสเรทติ้งได้อีก
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีสัดส่วนของสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันอยู่ที่จำนวน 1.89 หมื่นล้านบาท
สถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ฐานทุนที่แข็งแกร่งและแหล่งเงินทุนที่หลากหลายของบริษัทเป็นปัจจัยที่สนับสนุนทริสเรทติ้งในการประเมินสถานะเงินทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับที่ ‘เพียงพอ’ จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงการระดมเงินทุนทั้งในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวในสัดส่วน 49% และเงินกู้ยืมระยะสั้นในสัดส่วน 51%
ในขณะที่บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างจำนวน 2.55 หมื่นล้านบาทโดยจำนวน 8.3 พันล้านบาทจะครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทเป็นหุ้นกู้ที่ค้ำประกันในแบบที่ไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% และเป็นบริษัทลูกที่สร้างกำไรมากกว่า 30% ของกำไรรวมของกลุ่ม ในการนี้ การค้ำประกันดังกล่าวน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างของหุ้นกู้ดังกล่าวลงได้
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจำนวน 1.56 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินหลายแห่งโดยที่ 31% ของวงเงินสินเชื่อดังกล่าวสามารถเบิกใช้ได้ทันที
ผู้ประกอบการในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันยังคงมีความท้าทายและความเสี่ยงอยู่
การเติบโตในที่แข็งแกร่งของสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่น่าจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะปานกลางโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายเครือข่ายสาขา เป้าหมายการเติบโตในเชิงรุกของผู้ประกอบการรายเดิม การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ
รวมไปถึงอุปสงค์ด้านสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็สังเกตเห็นได้ถึงพัฒนาการและความท้าทายสำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งจำเป็นต้องคอยเฝ้าติดตามต่อไป โดยประการแรก การลดลงของส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของผู้ประกอบการอันเกิดจากการแข่งขันด้านราคาและเพดานดอกเบี้ย
ตลอดจนต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง ประการต่อมา ความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากกลยุทธ์การขยายสินเชื่อในเชิงรุกเมื่อผนวกกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่อ่อนแอลงได้ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ เป้าหมายในการขยายสินเชื่อในเชิงรุกก็ทำให้ฐานทุนเสื่อมถอยลงซึ่งหากยังคงดำเนินต่อไปก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
- ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 20%-35%
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 14%-15%
- อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5%
- อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 45%%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ’คงที่’สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะเงินทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไป และทริสเรทติ้ง ยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางการตลาดให้แข็งแรง อีกทั้งจะบริหารจัดการผลการดำเนินงานทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์เป็นอย่างดีโดยสอดคล้องกับสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะใกล้แต่อาจเป็นไปได้หากบริษัทยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแรงต่อไปได้โดยมีการกระจายตัวของส่วนผสมของสินทรัพย์เสี่ยงที่ดีในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์และสถานะเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลทำให้สถานะเงินทุน ตลอดจนภาระหนี้สินทางการเงินและความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทเสื่อมถอยลงจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% หรือ อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงรวมถัวเฉลี่ยลดต่ำกว่า 3.5% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB+ |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
SAWAD248B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,998 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
SAWAD253A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 657 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
SAWAD254A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,113 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
SAWAD258A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,882.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
SAWAD261A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,999.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
SAWAD265A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 5,009.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
SAWAD266A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,343 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
SAWAD271A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,002.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
SAWAD275A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,314.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
SAWAD285A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,844 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
BBB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html