- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 28 May 2023 17:46
- Hits: 1624
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘สปป.ลาว’ ที่’BBB-‘เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น ‘Negative’ จาก’Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ สปป.ลาว ที่ระดับ ‘BBB-‘ พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ สปป.ลาว เป็น’Negative’ หรือ’ลบ’ จาก ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ด้วย เพื่อสะท้อนถึงสถานะของภาคการต่างประเทศและภาระหนี้สาธารณะที่ถดถอยลงกว่าคาดเนื่องจากเงินกีบลาวได้อ่อนค่าลงอย่างมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
พร้อมทั้งมีโอกาสเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้ ทริสเรทติ้งยังมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินนโยบายทางการเงินในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตประเทศของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีศักยภาพในการขยายตัวที่สูงรวมทั้งมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มีเสถียรภาพของรัฐบาล สปป.ลาว ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะสภาพคล่องทางการเงินที่มีจำกัดและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจซึ่งได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินกีบอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีแผนบริหารจัดการหนี้อย่างใกล้ชิด
ทริสเรทติ้ง คาดว่า สปป.ลาว จะสามารถชำระหนี้ทางการค้า (Commercial Debt Obligations) ระยะสั้นได้ตามกำหนด เนื่องจากรัฐบาลได้เตรียมการจัดหาแหล่งสภาพคล่องเพื่อการชำระหนี้ไว้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตในระดับปัจจุบันนั้นสะท้อนถึงสภาพคล่องทางการเงินของ สปป. ลาว ที่มีอยู่ไม่มากและความเสี่ยงจากการบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่ในระดับหนึ่ง
โดยทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินตราต่างประเทศสำคัญ ๆ ที่ สปป. ลาว จะนำมาใช้ชำระหนี้ต่างประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้านั้นจะมาจาก 1) รายรับของรัฐบาลในระหว่างปี 2) การสร้างรายได้จากทรัพย์สินของรัฐบางประเภท 3) รายรับจากการให้สัมปทานเหมืองแร่แก่เอกชน 4) การรับชำระหนี้จากการปล่อยกู้ของรัฐบาลแก่รัฐวิสาหกิจ (State-Own Enterprises -- SOEs) บางแห่ง 5) การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และ 6) การออกหลักทรัพย์รัฐบาลในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การเจรจาเพื่อปรับกำหนดการชำระคืน (Debt Rescheduling) เงินกู้ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Financing) กับเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างต่อเนื่องก็สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้กับประเทศได้
สปป.ลาว มีภาระหนี้ต่างประเทศที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 มูลค่ารวม 1.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากข้อมูลของกระทรวงการเงินลาว (Ministry of Finance of the Lao PDR -- MOFL) โดยจำนวน 884 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากจำนวนดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยและเงินต้นทางการค้า สปป.ลาว มีหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.0413 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564 โดย 60% เป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน 85% เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และ 88% เป็นเงินกู้ระยะยาว
หนี้สาธารณะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ GDP
สปป.ลาว มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 98% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้ที่ระดับประมาณ 70% เนื่องจากการอ่อนค่าลงอย่างมากของค่าเงินกีบ
โดยทริสเรทติ้งประเมินว่าตัวเลขดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงสู่ระดับ 80% ณ สิ้นปี 2567 จากการที่ GDP จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้สมมติฐานว่าค่าเงินกีบจะไม่อ่อนค่าลงมากนักจากระดับปัจจุบัน และมูลค่าของหนี้ในสกุลเงินเดิมจะค่อยๆ ลดลง จากมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation)
สำหรับ ในช่วงปี 2566-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่า สปป.ลาว จะสามารถเกินดุลทางการคลังเบื้องต้น (Primary Fiscal Surplus) ได้ที่ระดับประมาณ 1% ของ GDP ในขณะที่มีการขาดดุลการคลังโดยรวม (Fiscal Deficit) ที่ระดับประมาณ 1.4% ของ GDP โดยส่วนต่างดังกล่าวจะสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายในโครงการลงทุนของภาครัฐที่ได้รับแหล่งเงินจากการกู้ยืมแบบผ่อนปรนเป็นส่วนใหญ่
หนี้สาธารณะของประเทศได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 98% ของ GDP ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 76% ของ GDP ณ สิ้นปี 2564 จากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างมากถึง 54.7% ในปี 2565 ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนยังส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 21% ของรายได้รัฐบาลในปี 2565 จากระดับ 16% ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม มูลค่าของหนี้สาธารณะในสกุลเงินเดิมยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
ณ สิ้นปี 2565 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 จากข้อมูลของ MOFL มูลค่าของหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศอยู่ที่ระดับประมาณ 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับระดับ 1.0412 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564 ในขณะเดียวกัน ระดับหนี้สาธารณะในสกุลเงินกีบมีมูลค่าอยู่ที่ 24.9 ล้านล้านกีบ ณ สิ้นปี 2565 ใกล้เคียงกับระดับ 23.234 ล้านล้านกีบ ณ สิ้นปี 2564
ภาระผูกพันซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยการให้การค้ำประกันเงินกู้แก่ Électricité du Laos (EDL) มีมูลค่าคิดเป็นประมาณ 16% ของ GDP ณ สิ้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความเป็นไปได้ที่ภาระผูกพันดังกล่าวจะถูกแปลงมาเป็นภาระหนี้ของรัฐบาลโดยตรงนั้นมีค่อนข้างจำกัด
สถานะของภาคการต่างประเทศยังคงมีความเปราะบางสูง
ทริสเรทติ้ง คาดว่า สถานะของภาคการต่างประเทศที่เปราะบางจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของดุลการชำระเงิน (Balance of Payments -- BOP) และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ในระดับค่อนข้างน้อยจะยังคงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเปราะบางต่อปัจจัยภายนอก
ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งจึงประเมินว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มสู่ระดับ 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2567 หรือประมาณ 2 เดือนของการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ตาม ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้ลดลงสู่ระดับ 1.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ณ สิ้นปี 2565 ต่ำกว่าระดับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบเท่ากับ 2.6 เดือนของมูลค่าการนำเข้าสินค้า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 สปป.ลาว มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ระดับ 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การปรับตัวดีขึ้นของดุลการชำระเงินน่าจะเกิดขึ้นได้จากการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่ค่อย ๆ ปรับตัวลดลง และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment -- FDI) ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีปัจจัยกระตุ้นสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออกและการเปิดพรมแดนของประเทศจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางรถไฟเชื่อมลาว-จีน
รวมถึงในช่วงปี 2566-2567 ที่น่าจะมีการไหลเข้าของเงินลงทุนในโครงการ FDI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ มาตรการของธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of Lao – BOL) ที่มีการประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ก็น่าจะช่วยสนับสนุนการไหลเข้าของเงินทุนที่ยังค้างอยู่ในต่างประเทศ (Offshore Capital) เป็นไปอย่างทันการณ์มากยิ่งขึ้นและลดการไหลออกของเงินทุนภายในประเทศได้อีกในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม บัญชีเดินสะพัด (Current Account) ในปี 2565 นั้น ไม่สามารถคงพัฒนาการที่ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2564 โดยพบการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 0.1% ของ GDP จากที่เคยเกินดุลกว่า 2.7% ในปี 2564 ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในมูลค่าที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของการส่งออกพลังงานไฟฟ้า แร่ธาตุ สินค้าเกษตร และจำนวนนักท่องเที่ยว พัฒนาการที่ไม่เอื้ออำนวยอื่นๆ ยังได้แก่ การไหลเข้าของ FDI ที่อยู่ในระดับต่ำและการไหลออกของเงินทุนจากการชำระหนี้สุทธิและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวอีกด้วย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ภาระหนี้ต่างประเทศสุทธิของ สปป.ลาว จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 171% ของรายรับในบัญชีเดินสะพัด (Current-Account Receipts – CAR) ในปี 2565 โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภาระการชำระคืนหนี้ต่างประเทศต่อปีน่าจะมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทริสเรทติ้งยังประเมินว่ายอดหนี้ต่างประเทศของภาครัฐและเอกชนรวมกันจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565
เศรษฐกิจคาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
การประเมินทางเศรษฐกิจของทริสเรทติ้งสะท้อนถึงระดับรายได้ที่ค่อนข้างน้อยของ สปป.ลาว โดยมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 2,071 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปี 2565 ซึ่งลดลงจาก 2,305 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตของ GDP ที่แท้จริง (Real GDP) ในสกุลเงินกีบจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
จากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และการเปิดประเทศของจีน ทั้งนี้ การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงอยู่ที่ 4.4% ในปี 2565 ใกล้เคียงกับที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4.5%
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index -- CPI) แบบปีต่อปีจะมีแนวโน้มลดลงจาก 23% ในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าดัชนีของประเทศคู่ค้าหลักอยู่มาก ในขณะเดียวกัน ก็คาดว่าจะเห็นค่าเงินกีบมีเสถียรภาพมากขึ้นจากพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของดุลการชำระเงินและภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายลง
ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินน่าจะคงอยู่ในระดับจำกัดเนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีการใช้เงินดอลลาร์ในระดับสูง โดยบ่งชี้ได้จากเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศนั้นคิดเป็นสัดส่วน 67% ของเงินฝากทั้งหมดในระบบธนาคาร ณ สิ้นปี 2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงจะอยู่ที่ระดับ5% ในปี 2566-2567
- ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะอยู่ที่ระดับ2-1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566-2567
- ดุลการคลังจะอยู่ที่ระดับประมาณ -1.4% ของ GDP ในปี 2566-2567 (ดุลการคลังเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 0% ของ GDP ในปี 2566-2567)
- หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ระดับ 80%-90% ในปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้ม’Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงสถานะของภาคการต่างประเทศและภาระหนี้สาธารณะที่ถดถอยกว่าคาดเนื่องจากค่าเงินกีบลาวอ่อนค่าลงอย่างมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับมีโอกาสที่จะเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้
และยังสะท้อนถึงมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินนโยบายทางการเงินในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้ง อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตลง หากสถานะของภาคการต่างประเทศและภาระหนี้สาธารณะของ สปป.ลาว ไม่มีสัญญาณของการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตหากมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น หรือสถานะการคลังเสื่อมถอยลงอย่างมาก
ทริสเรทติ้ง อาจพิจารณาปรับแนวโน้มเป็น ‘คงที่’ หากสถานะของภาคการต่างประเทศและภาระหนี้สาธารณะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการมีสัญญาณจากการแข็งค่าของค่าเงินกีบ ดุลการชำระเงินที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่งนำไปสู่การสะสมของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ แนวโน้มเงินเฟ้อลดลงอย่างยั่งยืน และ/หรือการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคเศรษฐกิจ
ทริสเรทติ้ง อาจปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหากรัฐบาล สปป.ลาว แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจตลอดจนสถานะทางการคลังและภาคการต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งสามารถสร้างเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับภาระหนี้ในอนาคต
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตประเทศ (Sovereign Rating), 26 สิงหาคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
MOFL23NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,063.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB- |
MOFL23NB: พันธบัตรรัฐบาล 2,546.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB- |
MOFL24OA: พันธบัตรรัฐบาล 340.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB- |
MOFL253A: พันธบัตรรัฐบาล 1,119.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB- |
MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB- |
MOFL263A: พันธบัตรรัฐบาล 3,880.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB- |
MOFL26NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,371.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB- |
MOFL27OA: พันธบัตรรัฐบาล 2,967.00 ล้านบาท ไถ่ถอน 2570 |
BBB- |
MOFL28NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,891.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
BBB- |
MOFL28NB: พันธบัตรรัฐบาล 532.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
BBB- |
MOFL29OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,505.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2572 |
BBB- |
MOFL30NA: พันธบัตรรัฐบาล 2,153.20 ล้านบาท ไถ่ถอน 2573 |
BBB- |
MOFL32OA: พันธบัตรรัฐบาล 5,375.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2575 |
BBB- |
MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB- |
MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Negative |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html