- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Monday, 03 April 2023 07:13
- Hits: 1656
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)’ ที่ ‘BB-‘ แนวโน้ม ‘Negative’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BB-‘ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางเครดิตของ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND)
เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นที่มีส่วนควบคุมและเป็นแหล่งกระแสเงินสดหลักของบริษัทในการปฏิบัติตามภาระผูกพันในการซื้อคืนสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานชิ้นเดียวของบริษัทซึ่งคือโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์สจาก ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ รอยัล ออคิด โฮสพีทาลิตี้ ที่มีข้อตกลงในการซื้อคืน (GROREIT) ในปี 2569 ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงคุณภาพที่ดีของโรงแรมของบริษัทซึ่งมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพโดยเครือข่ายโรงแรมระดับโลกและผลประกอบการของโรงแรมที่ฟื้นตัว
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความเสี่ยงของบริษัทจากคู่สัญญาหรือ GRAND เนื่องจากความสามารถของบริษัทในการชำระค่าเช่าและการปฏิบัติตามข้อตกลงในการซื้อคืนนั้น พึ่งพาดอกเบี้ยรับและการชำระคืนเงินกู้ยืมจาก GRAND เป็นหลัก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กิจการโรงแรมจะฟื้นตัวต่อเนื่อง
ผลประกอบการของบริษัทฟื้นตัวในปี 2565 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 จากการผ่อนคลายข้อกำหนดในการเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในปี 2565 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 35% จาก 6% ในปี 2564
และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ต่ำกว่าระดับในปี 2562 ที่ 58% ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 94% ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2564 โดยหากเปรียบเทียบกับโรงแรมอื่นๆ ที่ GRAND เป็นเจ้าของ โรงแรมของบริษัทมีอัตราการฟื้นตัวที่ช้ากว่าเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทซึ่งเป็นลูกค้าชาวต่างชาติโดยเน้นที่กลุ่มการจัดประชุมและงานแสดงสินค้า (MICE)
รวมถึงลูกค้าจากบริษัทต่างๆ นั้นกลับเข้าสู่ตลาดช้ากว่ากลุ่มการเดินทางเพื่อธุรกิจและกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตนเอง (FIT) อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะฟื้นตัวต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากการเปิดประเทศจีนในช่วงต้นปี 2566 และจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและกิจกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของบริษัทในปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 85% ของปี 2562 ก่อนที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2567
รายได้ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว
โรงแรมของบริษัทได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โดยบริษัทได้ว่าจ้าง Marriott International Inc. ให้เป็นผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ ‘เชอราตัน’ ทั้งนี้ เครือข่ายโรงแรมระดับสากลนั้นมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการโรงแรมที่ดีและมีช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการดำเนินงานจากการมีสินทรัพย์เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการมีโรงแรมหลายแห่งที่มีความหลากหลายกระจายตัวในทำเลที่ตั้งแตกต่างกันไปโดยให้บริการลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มนั้นมักจะมีความผันผวนต่อความเสี่ยงในเหตุการณ์ต่างๆ ในระดับที่ต่ำกว่า
ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงจากข้อตกลงในการซื้อคืนสินทรัพย์จากกองทรัสต์ฯ
จากการขายทรัพย์สิน ‘โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส’ ให้แก่ทรัสต์ฯ ในปี 2564 ที่มีเงื่อนไขในการซื้อคืนส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 4.5 พันล้านบาทในปี 2565
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทที่รวมรายได้ดอกเบี้ยจาก GRAND จะอยู่ที่ระดับประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปีในปี 2566-2568 เนื่องจากผลประกอบการของโรงแรมที่คาดว่าจะฟื้นตัว ดังนั้น ภาระหนี้ของบริษัทซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6-8 เท่าในช่วงปีประมาณการ
บริษัทได้ขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสต์ฯ โดยมีมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านบาทและได้รับเงินจากการขายสุทธิจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนประมาณ 4.3 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทได้เช่าโรงแรมกลับมาด้วยสัญญาอายุ 3 ปีในเบื้องต้นโดยสามารถต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 1 ปีอีก 2 ครั้งซึ่งจะทำให้สัญญาเช่าอาจมีอายุสูงสุดได้ถึง 5 ปี โดยจ่ายค่าเช่า 272 ล้านบาทต่อปี
บริษัทมีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อสินทรัพย์คืนกลับมาจากทรัสต์ฯ ณ สิ้นปีที่ 5 ที่ราคาขายครั้งแรกรวมกับส่วนเพิ่มบางส่วนรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 4.9 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีสิทธิในการซื้อสินทรัพย์คืน ณ สิ้นปีที่ 3 หรือสิ้นปีที่ 4 ตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้อีกด้วย บริษัทได้นำเงินจากการขายเกือบทั้งหมดจำนวน 3.9 พันล้านบาทปล่อยกู้ให้แก่บริษัทแม่ (GRAND) โดยมีระยะเวลาให้กู้ 5 ปีเริ่มต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ณ เดือนธันวาคม 2565
บริษัทมีเงินให้กู้ยืมแก่ GRAND อยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาทที่อัตราดอกเบี้ย 8.9% โดยบริษัทพึ่งพารายได้ดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้ยืมจาก GRAND ในการชำระค่าเช่าและซื้อคืนทรัพย์สินจากทรัสต์ฯ
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทมีสภาพคล่องที่บริหารจัดการได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 127 ล้านบาท และมีเงินดอกเบี้ยที่คาดว่าจะได้รับจาก GRAND จำนวน 355 ล้านบาทในปี 2566
และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิที่ประมาณ 180 ล้านบาท แหล่งใช้ไปของเงินทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้าของบริษัทประกอบไปด้วยค่าเช่าจ่ายให้ทรัสต์ฯ จำนวน 272 ล้านบาทและมีแผนในการลงทุนอีกประมาณ 25 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทไม่มีภาระหนี้ที่จะต้องชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.8-1.0 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2568
- EBITDA Margin (ไม่รวมดอกเบี้ยรับจาก GRAND) จะอยู่ที่ประมาณ 22%-27% ในปี 2566-2568
- เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความเสี่ยงของบริษัทจากคู่สัญญาหรือ GRAND เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยของ GRAND และความสามารถในการชำระค่าเช่าและการซื้อคืนทรัพย์สินจากทรัสต์ฯ ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยรับและการรับชำระคืนเงินต้นจากบริษัทแม่เป็นหลัก อันดับเครดิตของบริษัทจึงถูกจำกัดจากอันดับเครดิตของ GRAND
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ หากผลประกอบการและสถานะทางเครดิตของ GRAND ปรับตัวดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทถดถอยลงไปมากกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้หรือหากสถานะทางเครดิตของ GRAND ถดถอยลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ROH)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Negative |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html