WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

FITCH12 2ฟิทช์ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ของ AIS ‘AA+(tha)’

ฟิทช์ เรทติ้งส์- กรุงเทพฯ- 20 มีนาคม 2566: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ จำนวนไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่ ‘AA+(tha)’ เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนเงินกู้

และใช้สำหรับเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและค่าใช้จ่ายในการลงทุน หุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ AIS และได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทที่ ‘AA+(tha)’

อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง จากการที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์ คาดว่า AIS จะยังคงมีกำไรที่แข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ได้อย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อันดับเครดิตของ AIS เท่ากับ AWN: อันดับเครดิต สะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) จาก AIS แก่บริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในระดับสูง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) 

แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับสูง มาจากสัดส่วนรายได้และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจาก AWN ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 96 และร้อยละ 76 ตามลำดับ ในปี 2564

ฟิทช์ มองว่า โครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกัน (Management and Brand Overlap) อยู่ในระดับสูง โดย AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงินและการลงทุน    

นอกจากนี้ AWN มีการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกันภายใต้แบรนด์ ‘AIS’ สำหรับสินค้าและบริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และคอนเทนต์

 

การฟื้นตัวของรายได้ : ฟิทช์ คาดว่า AIS จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสภาวะเศรษฐกิจไทย จากที่ค่อนข้างอ่อนแอในปี 2563-2565  ฟิทช์ คาดว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทยจะเติบโตร้อยละ 4.5 ในปี 2566  

กิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวน่าจะสนับสนุนให้รายได้ของ AIS เติบโตในปี 2566  ฟิทช์ คาดว่ารายได้ของ AIS จะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 3-4 ในปี 2566 (ปี 2565 เติบโตร้อยละ 1.6)

อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ลดลง: รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่ลดลง น่าจะกดดันกำไรของ AIS ในปี 2566  

ฟิทช์ คาดว่า รายได้ของ AIS จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 แต่ EBITDA จะยังคงอยู่ที่ประมาณ 7.4-7.5 หมื่นล้านบาท (ปี 2566 อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่นที่น่าจะยังคงเสนอแพ็คเกจที่มีราคาถูก สำหรับผู้ใช้บริการแบบชำระเงินล่วงหน้า (Prepaid) อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2566 แม้ว่าจะมีการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)   

ฟิทช์ คาดว่าผู้ให้บริการจะพิจารณาการปรับเพิ่มราคาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การขยายธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง: ฟิทช์มองว่า การเข้าซื้อกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ท่ามกลางธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเติบโตต่ำ  

      ฟิทช์ คาดว่า สัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 8  การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น

      และกลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 35 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 16 ในปี 2565 ซึ่งจะใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ TRUE ที่ประมาณร้อยละ 38

      ความสามารถในการรองรับการลงทุน: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS จะยังคงเป็นบวกในปี 2566 ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะยังคงเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อชำระค่าคลื่นความถี่จำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และเงินปันผลจำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท 

      ฟิทช์ เชื่อว่า อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำโดยมี อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ที่ 1 เท่า ณ สิ้นปี 2565  จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับการลงทุน และค่าใช้จ่ายเพื่อจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม ที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตได้

แผนการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งจะใช้การกู้ยืมเงินเป็นแหล่งเงินทุน จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 เท่า โดยที่ยังไม่ได้พิจารณารวมกำไรจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ   

ฟิทช์ คาดว่า EBITDA Net Leverage จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.5 เท่าหลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 จาก 1 เท่า ณ สิ้นปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ถึงแม้ว่า ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง

ผู้นำตลาด: AIS เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่า AIS จะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 45-50 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 47)

นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจาก ขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ชื่อเสียงทางการค้าที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด   

AIS ได้ขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยรายได้จากการให้บริการดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงมีสัดส่วนที่ต่ำที่ประมาณร้อยละ 8 ของรายได้จากการให้บริการทั้งหมดของ AIS ในปี 2565

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์     

AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่  AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับเนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 เนื่องจาก AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS  ปตท. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติในขั้นกลางและขั้นปลายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียม รวมทั้งยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทย    

AIS และ ปตท. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ที่ระดับประมาณ 1 เท่า สำหรับ AIS และ 2 เท่าสำหรับ ปตท.

 

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- รายได้เติบโตประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2566 เนื่องจากเศรฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

- EBITDA margin ที่ร้อยละ 39-40 ในปี 2566 (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 40.2)

- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2566 (2565 อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท)

- จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 80 ของกำไร

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

- อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ลดลงต่ำกว่า 1.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้การให้บริการ

 

ปัจจัยลบ

- การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน EBITDA Net Leverage สูงกว่า 1.8 เท่าอย่างต่อเนื่อง

- การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท

 

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: AIS มีหนี้จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ที่ถึงกำหนดชำระในปี 2566 ฟิทช์เชื่อว่าสภาพคล่องของ AIS อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1 หมื่นล้านบาท และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ภายในประเทศเนื่องจากสถานะทางเครดิตที่ดี นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่า AIS จะมีกระแสเงินสดเป็นบวกที่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2566

เกี่ยวกับบริษัท : AIS เป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการร้อยละ 48 และเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ โดยมีลูกค้าจำนวน 2.2 ล้านราย

บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณร้อยละ 16 บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) และ Singapore Telecommunication Limited เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 40 และ 23 ตามลำดับ

 

ติดต่อ

Primary Analyst

โอบบุญ ถิรจิต

Director

+662 108 0159

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

 

Secondary Analyst

ชาลี ฉัตรเสถียรพงศ์

Associate Director

+662 108 0162

 

Committee Chairperson

Steve Durose

Managing Director

 

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!