- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 26 March 2023 15:06
- Hits: 1572
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.มัด แอนด์ ฮาวด์’ ที่’BBB-‘ แนวโน้ม ‘Negative’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวมาจากสถานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก (Core Subsidiary) ของ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘BBB-/Negative’) และอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ที่ระดับ ‘bb+’
โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารบริการด่วนของบริษัทซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงและมีผู้ประกอบการหลากหลาย อันดับเครดิตถูกลดทอนโดยระดับหนี้สินของบริษัทซึ่งอยู่ในระดับสูงจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มอันดับเครดิต’Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนความกังวลจากแผนการขยายธุรกิจร้านอาหารทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้ภาระหนี้สินและระดับหนี้สินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติและปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านบาทในปี 2566 และ 4.1-4.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2568
โดยคาดว่ารายได้ของแบรนด์ ‘ดังกิ้นโดนัท’ (Dunkin’ Donuts) จะเพิ่มโตขึ้นจากการขยายร้านขนาดเล็ก (Kiosk) และรายได้จากแบรนด์ ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่’ (Greyhound Café -- GHC) และ ‘โอ บอง แปง’ (Au Bon Pain -- ABP) จะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงถูกกดดันต่อไปอีกในปี 2566 จากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค และค่าขนส่งที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมร้านอาหาร
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นในการจัดกิจกรรมทางการตลาดและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ในช่วงปี 2566-2568
ผลการดำเนินงานธุรกิจร้านอาหารของบริษัทเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 จากการที่สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ดีขึ้น
โดยบริษัทมีรายได้เติบโตขึ้น 41% เมื่อเทียบกับปีก่อนมาอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาทในปี 2565 รายได้จากร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ฟื้นตัวขึ้น 64% ในปี 2565 เนื่องจากการรับประทานอาหารในร้านเริ่มฟื้นตัวกลับมาหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปีก่อนหน้า และร้านโอ บอง แปงก็มีรายได้ฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน
โดยรายได้เพิ่มขึ้น 31% ในปี 2565 จากการที่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น และพนักงานเริ่มกลับไปทำงานที่สำนักงานมากขึ้น ในขณะที่รายได้จากร้านดังกิ้นโตขึ้น 30% ในปี 2565 จากกลยุทธ์ของบริษัทที่ขยายสาขาในรูปแบบร้านขนาดเล็ก (Kiosk) ในสถานีบริการน้ำมัน ศูนย์การค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และตามตลาดท้องถิ่น
โดยการเปิดร้านขนาดเล็กดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น ในขณะที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการเปิดร้านในรูปแบบเดิมและมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายสาขามากกว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีอัตรากำไรที่อ่อนตัวลงแต่ยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง จากต้นทุนวัตถุดิบและสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย EBITDA Margin ลดลงเป็น 15.9% ในปี 2565 จาก 18.3% ในปี 2564
แผนการขยายธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศยังคงมีความท้าทาย
บริษัทเริ่มขยายธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศในปี 2560 โดยซื้อกิจการร้านอาหาร ‘Le Grand Vefour’ ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันบริษัทยังได้เปิดร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่ที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเองแห่งแรกในต่างประเทศด้วย
ต่อมาบริษัทได้เปิดร้านอาหารเพิ่มเติมอีก 4 แห่งในประเทศฝรั่งเศสได้แก่ ‘Pasco’ ‘Augustin’ และ ‘A-Noste’ ซึ่งเปิดในปี 2563 และ ‘La Mere Lachaise’ ที่เปิดในช่วงต้นปี 2565 โดยผลการดำเนินงานของร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษปรับตัวดีขึ้นในปี 2565
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของร้านอาหารในต่างประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดไว้ และร้านอาหารส่วนใหญ่ในต่างประเทศของบริษัทยังคงมี EBITDA ติดลบในปี 2565 แม้ว่า สถานการณ์ของโรคโควิด 19 จะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม
โดยบริษัทมองว่าผลการดำเนินงานที่ยังคงอ่อนแอของร้านอาหารในต่างประเทศเป็นผลจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและความยากลำบากในการดำเนินงานร้านอาหารซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะปรับปรุงการดำเนินงานของร้านอาหารในต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีแผนจะซื้อกิจการร้านอาหารเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศสโดยอาจจะปรับเปลี่ยนเป็นร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของบริษัทที่ต้องการเจาะตลาดในทวีปยุโรปด้วยแบรนด์เกรฮาวด์ คาเฟ่
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง มองว่า สภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้น
ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทยังคงมีระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงในปี 2565 จากการที่บริษัทลงทุนเพื่อขยายสาขาร้านอาหารอย่างต่อเนื่องแม้ว่าผลการดำเนินงานจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA อยู่ที่ 4.5 เท่าในปี 2565 ซึ่งใกล้เคียงกับในปีก่อน แต่ยังสูงกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2-3 เท่า
ภายใต้ประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะมีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 370 ล้านบาทในปี 2566 ประมาณ 210 ล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 170 ล้านบาทในปี 2568 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อขยายสาขาโดยเฉพาะสาขาของร้านดังกิ้น และเกรฮาวด์ คาเฟ่และการลงทุนในร้านอาหารในต่างประเทศ
คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 4.1-4.2 เท่าในช่วงปี 2566-2568 เนื่องจากรายได้เติบโตขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีภาระหนี้อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวภาระหนี้ประมาณ 900 ล้านบาทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้และหุ้นกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและเงินกู้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันของบริษัทลูก
ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมเท่ากับ 64% ซึ่งสูงกว่า 50% ตาม ‘เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้’ ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกินกว่า 3 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.59 เท่า นอกจากนี้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารยังมีเงื่อนไขสำคัญให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า
รวมทั้งอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ไม่เกิน 3 เท่าด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.47 เท่า 0.64 เท่า และ 4.86 เท่าตามลำดับ
บริษัทได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขทางการเงินทั้งในส่วนของอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA จากธนาคารสำหรับปี 2565 แล้ว แต่บริษัทอาจจะผิดเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวได้และคงต้องขอรับการผ่อนผันจากธนาคารอีกครั้งในปี 2566 หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวสอดคล้องหรือต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้
สภาพคล่องตึงตัว
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2565 ประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 220 ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 420 ล้านบาทในปี 2566 และวงเงินกู้ที่สามารถเบิกได้ 30 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 880 ล้านบาท ภาระค่าเช่าจ่ายจำนวน 330 ล้านบาท และเงินลงทุนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 370 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทอาจจะต้องหาแหล่งเงินกู้ทดแทนเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระหรือหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการลงทุนด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 3.8-4.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
- EBITDA จะอยู่ที่ 620-690 ล้านบาทต่อปีในปี 2566-2568
- เงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 370 ล้านบาทในปี 2566 ประมาณ 210 ล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 170 ล้านบาทในปี 2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งต่อแผนการลงทุนเพื่อขยายสาขาในธุรกิจร้านอาหารของบริษัทซึ่งอาจทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินและระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตของบริษัททรัพย์ศรีไทยหรือการเปลี่ยนแปลงในสถานะของบริษัทในฐานะบริษัทย่อยหลักของบริษัททรัพย์ศรีไทยอาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ หรือจากการที่บริษัทมีการลงทุนเป็นจำนวนมากโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ในขณะที่ทริสเรทติ้งอาจปรับอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีกว่าที่คาดเป็นอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีสัดส่วนกำไรที่สูงในบริษัททรัพย์ศรีไทย การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัททรัพย์ศรีไทย ซึ่งจะทำอันดับเครดิตของบริษัทเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565 |
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564 |
บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) (MUD)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Negative |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html