- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Thursday, 23 March 2023 09:02
- Hits: 1557
DITTO จากผู้นำ ‘Soft Tech’ ...สยายปีกสู่ Green Tech
ก่อนที่ DITTO จะก้าวมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปราวๆ 20กว่าปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากเซลแมนหนุ่ม’มังกร’ ธีระชัย รัตนกมลพร ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มองเห็นโอกาสจากการติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ เมื่อพบว่าเครื่องถ่ายเอกสารมักเสียบ่อย ๆ ช่างไม่มาซ่อม ทำให้เสียเวลา ทำงานไม่สะดวก
‘ธีระชัย’ ปิ๊งไอเดีย ธุรกิจให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารมือสอง จึงเริ่มทำธุรกิจในปี 2544 โดยนำเครื่องถ่ายเอกสารจากต่างประเทศเข้ามาแล้วมาปรับปรุงสภาพก่อนให้ภาครัฐเช่าพร้อมมีทีมช่างพร้อมเซอร์วิสตลอดเวลา และเปลี่ยนมาเป็นDITTO ในปี 2550 โดยมี ‘ฐกร รัตนกมลพร’ ผู้เป็นน้องชาย รับหน้าที่บริหารในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ฐกรเล่า ให้ฟังว่า “การให้บริการให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารในยุคนั้น ถือเป็นการตอบโจทย์ธุรกิจได้อย่างดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคราชการและเอกชน จากเดิมที่เคยซื้อเครื่องมาใช้ก็เปลี่ยนมาเช่า แต่หลังๆ ชักเริ่มไม่ราบรื่น ตอนเริ่มขยายธุรกิจเห็นว่าการให้เช่าเหมือนจะดี แต่กลายเป็นดีสำหรับยูสเซอร์ แต่ผู้ลงทุนไม่ได้อะไร จึงมีหนี้กว่า 400 ล้านบาท
ขณะที่รายได้แค่ 20 ล้านต่อเดือน จึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ลงทุนเพิ่ม และแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ โดยทำการดิสรัปต์ตัวเองก่อนเลย ด้วยการนำซอฟต์แวร์จัดการเอกสารเข้ามาเสนอให้กับลูกค้าเพิ่มเติม โดยเอารายได้ทั้งหมดมาตัดหนี้”
ในขณะที่ธุรกิจให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ในช่วงขาลง DITTO เริ่มเห็นความสำคัญด้านการจัดการเอกสารภายในองค์กรที่มีมากขึ้น เช่นจะจัดการไฟล์ข้อมูลอย่างไร จึงเริ่มพัฒนาและนำซอฟต์แวร์ไปให้ลูกค้าใช้ ประกอบกับเป็นจังหวะที่ เทคโนโลยีเข้ามาพอดี อย่างโมบายแบงก์กิ้ง ธนาคารเริ่มทำข้อมูลทุกอย่างเป็นดิจิทัล
ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งลูกค้ารายแรกคือ SCB ที่ต้องการนำข้อมูลที่เป็นกระดาษทั้งหมด 300 ล้านแผ่นเข้าไปอยู่ในระบบดิจิทัล โดยเราพัฒนาซอฟต์แวร์เชื่อมต่อเอาข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นในการให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของดิทโต้
ฐกร ได้กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ DITTO มี 4 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มแรก ระบบบริหารจัดการเอกสารและข้อมูล (Document and Data Management Solutions) เป็นการแปลงเอกสารและข้อมูลให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ ลดต้นทุน สะดวกในการค้นหา ลูกค้าสำคัญๆ เช่น ศาลอาญา 293 แห่งทั่วประเทศ กรมที่ดิน และกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนลูกค้าเอกชน เช่น เซ็นทรัล เอสซีจี บริษัทประกัน บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ
ในปี 2566 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานราชการต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากกระดาษมาเป็นแบบดิจิทัล โดยเฉพาะหน่วยงานพื้นฐานที่ต้องเก็บข้อมูลหรือให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข มหาดไทย การศึกษา รัฐสภา หรือหน่วยงานท้องถิ่น อบต. อบจ. ซึ่งกลุ่มนี้ยังขยายไปได้อีกมาก
มีผลวิจัยจากบริษัทฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ระบุว่า ในปี 2563 - 2568 ภาพรวมตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัล จะเติบโตจาก 739.1 ล้านบาท เป็น 11,886.6 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 74.77% ต่อปี
“ในกลุ่มธุรกิจนี้ ยังมีงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ โดยทำงานให้กับธนาคารกรุงไทย คาดว่าอีกไม่เกิน 3 ปี จากนี้ไซเบอร์ซีเคียวริตี้จะมีบทบาทเพิ่มขึ้น บริษัทใหญ่เริ่มระวังตัวในเรื่องถูกแฮก จึงมองหาระบบการป้องกัน“ฐกรกล่าว
กลุ่มที่ 2 นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัดเป็นบริษัทย่อยเครือดิทโต้ รองรับงานโครงการภาครัฐ เช่น โครงการท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์ อควาเรียม ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ โครงการบริหารจัดการน้ำ และบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เน้นงานโครงการภาครัฐทั้งหมด
กลุ่มที่ 3 กรีนเทค (Green Tech) เป็นกลุ่มใหม่ โดยบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ได้รับอนุญาตให้ดูแลโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จาก ‘คาร์บอนเครดิต’ พื้นที่ 21,658.19ไร่ นอกจากนี้ร่วมกับ 14 ชุมชนอีก 26,508 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา รวมทั้งสิ้น 48,166.75 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี คาดว่า จะได้คาร์บอนเครดิตรวม 5 แสนตันต่อปี จากเป้าหมาย 1 แสนไร่ โครงการนี้นอกจากจะได้ทั้งประโยชน์เรื่องคาร์บอนเครดิตแล้ว ชุมชนจะได้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศอีกด้วย
กลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มแรกของบริษัท คือ ธุรกิจให้เช่าและจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ ให้บริการบำรุงรักษาเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์และบริการอื่นๆ รวมทั้งเป็นตัวแทนธุรกิจระบบไดรฟ์ทรู (drive-thru) ให้บริการระบบจำหน่ายสินค้าหน้าร้าน (Point of Sale หรือ POS) กับกลุ่มลูกค้าฟู้ดรีเทล
ร่วมลงทุนเสริมความแข็งแกร่ง
ที่ผ่านมาบริษัทมีนโยบายร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจทั้งการร่วมลงทุนหรือการเข้าไปถือหุ้น บริษัทร่วมลงทุนล่าสุดคือ ดี ที เอ็กซ์ (D T X) ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท DITTO และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วน 50% เท่ากัน โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นคอนซัลต์ออกแบบอาคาร ควบคุมอาคาร ถนน รถไฟฟ้า สนามบิน นิคมอุตสาหกรรม สมาร์ทซิตี้ และดูแลระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งเป็น data engineering อยู่ในแพลตฟอร์มสามารถเรียกดูได้ 24 ชม.โดยใช้เทคโนโลยี digital twin
นอกจากนี้ บอร์ดบริษัทได้อนุมัติให้ DITTO ร่วมทุนระหว่าง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัทพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาคาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
ล่าสุด บอร์ดได้อนุมัติ DITTO ลงทุนในบริษัท โสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SIT’ สัดส่วน 18%ของทุนจดทะเบียน เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของ SIT ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์ และเป็นผู้ให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS)
รวมถึงประมวลผลรายการข้อมูลสำหรับฐานข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร(PNR) รายเดียวในประเทศไทยและเป็นเพียง 1ใน 3 บริษัทของโลกเท่านั้น
อีกทั้ง ในปัจจุบัน SIT มีสัญญากับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ทั้ง 6 แห่ง ยาวไปจนถึงปี พ.ศ. 2571 นอกจากนี้ ยังมีประเทศลาว และเตรียมบุกไปต่างประเทศ อีกกว่า 20 ประเทศ
“DITTO ยังมีดีลกับบริษัทพันธมิตรธุรกิจทางอีกหลายดีล คาดว่าภายในปีนี้จะได้เห็นธุรกิจใหม่ ๆ และโครงการขนาดใหญ่เพื่อขยายไลน์ธุรกิจและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ DITTO มากขึ้น”ฐกร กล่าวทิ้งท้าย