- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 11 March 2023 18:49
- Hits: 1614
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน’บ.บีอีซี เวิลด์’ ที่ ‘BBB’เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น’Stable’ จาก ‘Positive’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB’ ในขณะเดียวกัน ยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตให้เป็น ‘Stable’หรือ ‘คงที่’ จาก ‘Positive’ หรือ ‘บวก’ด้วย
การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งว่าบริษัทอาจไม่สามารถพลิกฟื้นรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องได้อย่างที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า มาตรการลดต้นทุนในหลายๆ ด้านทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังคงสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้งแต่รายได้นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาด โดยลดลงมาอีกที่ระดับ 10% จากปี 2564
ทั้งนี้ รายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้หรือไม่ในระยะที่ยาวนานกว่านี้
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมทีวี ตลอดจนขีดความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในขณะที่แรงกดดันในเชิงลบที่มีต่อรายได้ค่าโฆษณาทางทีวีจากการที่ผู้ชมหันไปบริโภคสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงจากสื่อทุกๆ ประเภท และภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่ออันดับเครดิตต่อไป
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
แรงกดดันที่มีอย่างต่อเนื่องต่อรายได้ค่าโฆษณา
สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมในการรับชมสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการใช้จ่ายด้านโฆษณาและทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่ารายได้ค่าโฆษณาของบริษัทอาจลดลงต่อไปอีกในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
ในขณะที่ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวอย่างมากของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่สถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยที่อ่อนแอจากผลของภาวะเงินเฟื้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้โฆษณายังคงระมัดระวังและเลือกที่จะใช้จ่ายงบประมาณทางการตลาดมากขึ้น
นอกจากนี้ แม้ทีวีจะยังคงเป็นสื่อหลักที่สินค้าต่างๆ จะใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้บริโภค แต่ความนิยมในการรับชมสื่อผ่านทางทีวีก็ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัลและพฤติกรรมในการรับชมสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
ความนิยมในการชมผ่านช่องทางการให้บริการคอนเทนต์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over-the-top -- OTT) และปริมาณคอนเทนต์จำนวนมหาศาลจากช่องทางสตรีมมิ่ง (Streaming Platform) กำลังทำให้การใช้จ่ายด้านโฆษณาทางทีวีและอำนาจการต่อรองของผู้ประกอบการทีวีลดลง
ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับรายได้จากค่าโฆษณาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าโฆษณาของบริษัทลดลงโดยเฉลี่ยปีละ 13% โดยในปี 2565 บริษัทรายงานรายได้จากค่าโฆษณาที่ระดับ 4.4 พันล้านบาท ซึ่งลดลง 8% จากปีก่อนหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากค่าโฆษณาของบริษัทจะไม่เติบโตหรือจะลดลงที่ระดับ 1%-6% ในระยะ 2 ปีข้างหน้า
พัฒนาการในเชิงบวกที่อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้จากค่าโฆษณาของบริษัทคือการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งการวัดเรตติ้งระบบใหม่นี้จะครอบคลุมทั้งการรับชมรายการสดและรายการย้อนหลังผ่านช่องทางทีวีและผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งวิธีดังกล่าวจะสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับชมสื่อที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผ่านทางทีวีแบบเดิมอีกต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการสดที่หากข้อมูลเรตติ้งแสดงว่าคอนเทนต์สามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้นผ่านทางช่องทางการรับชมที่แตกต่างกัน ผู้โฆษณาก็จะสามารถปรับใช้งบโฆษณาให้เหมาะสมและอาจส่งผลให้การโยกย้ายงบโฆษณาจากช่องทางทีวีไปยังช่องทางอื่นๆ ช้าลง
ธุรกิจขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางออนไลน์จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่สำคัญ
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ธุรกิจขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางออนไลน์จะเป็นแหล่งสนับสนุนการเติบโตในด้านรายได้ของบริษัท ความนิยมในช่องทาง OTT ที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้จากคอนเทนต์และชดเชยรายได้จากค่าโฆษณาที่ลดลงได้บางส่วน
นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางออนไลน์ก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทได้หากบริษัทสามารถทำให้รายได้ในส่วนนี้เติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ในปี 2565 รายได้จากธุรกิจขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางออนไลน์ของบริษัทลดลง 21% มาอยู่ที่ 666 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ให้บริการ OTT หลายรายลดงบประมาณในการซื้อคอนเทนต์ลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ
ในอนาคตทริสเรทติ้ง ประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางออนไลน์ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 750-950 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 นอกเหนือจากการคาดการณ์ว่าบริษัทจะขายคอนเทนต์ไปในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องแล้ว
ประมาณการดังกล่าวยังสะท้อนถึงมุมมองของ ทริสเรทติ้งว่าความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นจากผู้ให้บริการ OTT ระดับโลกจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะทริสเรทติ้งมองว่าคอนเทนต์ท้องถิ่นนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้ให้บริการใช้ในการดึงดูดหรือรักษาสมาชิกเอาไว้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของแพลทฟอร์ม “CH3Plus” จากการที่บริษัทจะสามารถจัดอีเวนท์และกิจกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ได้มากขึ้น
ความพยายามในการขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ
กลยุทธ์หลักของบริษัทในอนาคตคือการขยายไปในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรของบริษัทเกิดมูลค่าสูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินต่าง ๆ ของบริษัท โดยธุรกิจใหม่ที่สำคัญคือ ‘ธุรกิจบีอีซี สตูดิโอ’ซึ่งครอบคลุมถึงกระบวนการหลังการถ่ายทำ (Post-production) การผลิตเสมือนจริง (Virtual-production) และการผลิตคอนเทนต์
โดยในส่วนของ Post-production และ Virtual-production นั้นมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้การผลิตคอนเทนต์ของบริษัทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านของเวลาและงบประมาณ โดย Virtual Studio เป็นแผนการลงทุนในระยะกลางซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา
สำหรับ การผลิตคอนเทนต์ภายใต้บีอีซี สตูดิโอ นั้นจะเน้นกลุ่มเป้าหมายนานาชาติโดยมีวิธีการนำเสนอเนื้อหาและรูปแบบการผลิตที่มีความเป็นสากลมากขึ้น บีอีซี สตูดิโอยังมีแผนจะผลิตและร่วมผลิตคอนเทนต์กับพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับช่องทางสตรีมมิ่งระดับโลกโดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต และสามารถขยายตลาดการขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศได้อีกด้วย
ส่วนธุรกิจใหม่อื่นๆ ยังประกอบด้วย ภาพยนตร์ เพลง และการบริหารศิลปิน โดยธุรกิจเหล่านี้จะทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้จากคุณค่าของศิลปินของบริษัทและส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจบันเทิงของบริษัท ปัจจุบันธุรกิจใหม่ ๆ ดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี หากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ก็จะช่วยให้สถานะทางธุรกิจและความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทเข้มแข็งยิ่งขึ้นในภาวะที่คุณค่าของธุรกิจทีวีเผชิญกับความเสี่ยงในขาลงอย่างต่อเนื่อง
ยังคงเน้นการลดต้นทุน
เนื่องจากบริษัทได้เสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างองค์กรและลดต้นทุนในด้านต่างๆ ลง จึงทำให้ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาการลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้วยการลดต้นทุนรายการโดยการนำละครที่เคยออกอากาศไปแล้วมาออกอากาศใหม่ (Rerun)
ส่วนในปี 2566 นั้น วิธีการลดต้นทุนที่สำคัญที่บริษัทใช้คือการลดเวลาออกอากาศละครในช่วงเวลาไพรมไทม์ (Prime Time) จาก 2 ชั่วโมงมาเป็น 1.5 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้สอดรับกับการที่ค่าใช้จ่ายโฆษณาอ่อนตัวลง วิธีการดังกล่าวจะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนของละครที่มีราคาแพง
เนื่องจากบริษัทคาดว่าอุปสงค์ต่อการโฆษณาจะยังคงอ่อนแอในอนาคตอันใกล้ ละครในช่วงเวลาไพรมไทม์นั้นถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่สำคัญของบริษัทและมีราคาค่าโฆษณาสูงกว่ารายการอื่นๆ มาก และบริษัทก็พร้อมที่จะเพิ่มเวลาออกอากาศหากสถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ดี หากอุปสงค์ต่อช่วงเวลาที่มีมูลค่าสูงดังกล่าวยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องก็อาจจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรในระยะยาว
ในปี 2565 บริษัทรายงานรายได้ที่ลดลง 10% จากปีก่อนหน้าโดยมาอยู่ที่ระดับ 5.1 พันล้านบาท อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 21.1% จาก 26.2% ในปีก่อนหน้าจากการที่อัตราการลดลงของรายได้มีมากกว่าการลดลงของต้นทุน
ซึ่งทริสเรทติ้ง คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทั้งนี้ สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 5-5.3 พันล้านบาทต่อปีและคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะถูกกดดันจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของรายได้จากค่าโฆษณาในขณะที่การลดลงของต้นทุนดำเนินงานจะเป็นไปในอัตราที่ช้ากว่า
ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 14%-16% โดยอัตรากำไรดังกล่าวจะทำให้บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 700-800 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ของทริสเรทติ้งจัดให้ค่าตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการเป็นต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทและไม่ได้ถูกบวกกลับในการคำนวณ EBITDA
สถานะการเงินที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้ง มองว่า งบการเงินที่แข็งแกร่งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวังจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงและจะสนับสนุนสถานะเครดิตของบริษัทในอนาคตอันใกล้ได้ โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4 พันล้านบาท
ในขณะที่มีหนี้สินทางการเงินจำนวน 2.2 พันล้านบาท สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดยจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 0.5 เท่าในช่วงระหว่างปี 2566-2568
โดยสมมติฐานดังกล่าวได้รวมนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระดับไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิของบริษัทและแผนลงทุนรวมที่จำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 เอาไว้ด้วยโดยที่แผนการใช้จ่ายจะเป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจบีอีซี สตูดิโอ เป็นหลัก
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 และคาดว่า จะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 615 ล้านบาท ในขณะที่แผนการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 0.9-1 พันล้านบาทและการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่จำนวน 320 ล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- บริษัทจะมีรายที่ระดับ 5-5.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568
- EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 14%-16% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
- งบลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’หรือ’คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมทีวีรวมทั้งคงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีรายได้อย่างต่อเนื่องจากการขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศและช่องทางดิจิทัลซึ่งน่าจะช่วยชดเชยการหายไปของรายได้จากโฆษณาทางทีวีได้บางส่วน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์อย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของรายได้และกำไรโดยมี EBITDA อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 1 พันล้านบาทต่อปีได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอ่อนแอต่อไปโดยสาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้จากค่าโฆษณาในขณะที่รายได้จากช่องทางอื่นๆ ยังเติบโตไม่เร็วพอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลงได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565 |
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564 |
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) (BEC)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
BEC255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,245.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB |
BEC275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 754.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html