- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Friday, 24 February 2023 08:11
- Hits: 1859
CPALL ซีพี ออลล์ ปี 2565 รายได้ 852,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% กำไร 13,272 ล้านบาท
บริษัท ชีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 13,272 ล้านบาท เปิด 7-Eleven อีก 700 สาขา ลงทุน 12,000-13,000 ล้านบาท
โดยรายได้รวมในรอบปี 2565 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 852,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 45.1 ทั้งนี้ รายได้จากการขายสินค้าและบริการ มีจำนวน 829,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 จากปีก่อนหน้า จากการที่บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าและบริการ รวมถึงกลยุทธ์ 020 ของแต่ละหน่วยธุรกิจ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตใหม่ รวมถึงความได้เปรียบจากฐานรายได้ที่ต่ำจากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ รายได้รวมในปีนี้โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวจากทั้งนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในปี 2565 นอกจากนี้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งธุรกิจแม็คโคร และโลตัสส์ มีการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน รายได้รวมก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตาม 3 ธุรกิจหลัก
ได้แก่ 1.รายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วนร้อยละ รายได้จากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 52 และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทยมีสัดส่วนร้อยละ 6 โดยสัดส่วนรายได้ของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการรวมธุรกิจของแม็คโครและโลตัสส์เข้ามา
ในส่วนของต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารมี จำนวน 103,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,876 ล้านบาท หรือ 14.2% สาเหตุหลักมาจากเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน รวมถึงค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศปรับขึ้นค่าไฟในปีนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในอัตรา 15.9% มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 76,582 บาท มียอดซื้อต่อบิสโดยประมาณ 84 บาท ขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 916 คน
ในปีที่ผ่านมาสภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าวธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้ปรับแผนกลยุทธ์โดยคำนึงถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ นำเสนอสินค้าใหม่ๆ พร้อมกับโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า
และเพิ่มรูปแบบของช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการด้วยความสะดวก ในการซื้อผ่านทั้งรูปแบบร้านสาขา ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) แพลตฟอร์มบนช่องทางออนไลน์ ได้แก่ 7-delivery และ ALL Online ซุปเปอร์ใกล้บ้าน รวมถึงเว็บไซต์ ShopAt24 ที่เพิ่มทางเลือกให้บริการสั่งและส่งสินค้าถึงปลายทาง ซึ่งได้รับการตอบรับในระดับดีอย่าง ต่อเนื่องจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
สำหรับ ปี 2566 ในส่วนธุรกิจร้านสะดวกซื้อวางแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยจะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขา ในปี 2566
ด้านประมาณการรายได้จากการขาย อัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากขายและบริการร้านสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึงยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7-Delivery, All Online และ VendingMachine คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และ การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ
ส่วนประมาณการอัตรากำไรขั้นต้น ตั้งเป้าขยายอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเน้นการพัฒนาระบบในการคัดสรรสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และผลักดันให้มีสัดส่วนของสินค้าที่กำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น ทั้งจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
และสินค้าอุปโภค คาดว่า จะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท สำหรับการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท โครงการใหม่ บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท