- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Monday, 14 November 2022 09:57
- Hits: 1300
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ไทยโพลีคอนส์’ ที่’BBB-‘แนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความมั่นคงของกระแสเงินสดที่บริษัทได้รับจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความเป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจก่อสร้างลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงจากความไม่แน่นอนของปริมาณและความผันผวนของราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิงที่ใช้ป้อนโรงไฟฟ้า ตลอดจนการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทรวมถึงอัตรากำไรที่เบาบางในธุรกิจก่อสร้างอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
อันดับเครดิตของบริษัทมีพื้นฐานหลักมาจากกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นสร้างกำไรในสัดส่วนมากกว่า 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัท ธุรกิจผลิตไฟฟ้าบริหารงานโดย บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท ณ ปัจจุบันบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการแล้วจำนวน 10 แห่งและมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ดำเนินการแล้วอีก 1 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมกัน 106.5 เมกะวัตต์
ความมั่นคงของกระแสเงินสดในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเกิดจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่น่าเชื่อถือ โดยผลกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทริสเรทติ้งในการพิจารณาสถานะเครดิตของบริษัทซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความผันผวนของผลกำไรที่มาจากธุรกิจก่อสร้าง
ความเสี่ยงจากปริมาณและความผันผวนของราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิง
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทเผชิญกับความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบเชื้อเพลิง โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ไม้สับ แกลบ กะลามะพร้าว และพืชโตเร็วอื่นๆ ในการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ความเพียงพอของวัตถุดิบเชื้อเพลิงนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ฤดูกาล การใช้ชีวมวลในอุตสาหกรรมอื่นๆ และจำนวนของโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น
เพื่อให้มีวัตถุดิบเชื้อเพลิงที่เพียงพอ บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จึงได้ทำสัญญาจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผลกำไรของโรงไฟฟ้าของบริษัทยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิงอีกด้วย โดยราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นอาจแกว่งตัวขึ้น และลงเป็นอย่างมากอีกทั้งยังแปรเปลี่ยนไปตามความชื้นและค่าความร้อนอีกด้วย
ในส่วนของพลังงานจากขยะนั้น ชนิดของขยะที่ต่างกันก็ให้ค่าความร้อนที่แตกต่างกันในขณะที่สิ่งเจือปนก็อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในการดำเนินงานได้ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งแรกของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งนั้นยังจำเป็นต้องรอการพิสูจน์ต่อไปเนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2564
ผลการดำเนินงานของธุรกิจผลิตไฟฟ้าอ่อนแอลง
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางแห่งผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ โดยโรงไฟฟ้าใหม่ๆ มีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเกณฑ์และต้องใช้เวลาในการปรับปรุงที่ยาวนานขึ้น
ในขณะที่โรงไฟฟ้าเดิมอีก 2 แห่งก็มีปัญหาเครื่องจักรชำรุด ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของบริษัทลดต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 70% ซึ่งต่ำกว่าในอดีตที่ประมาณ 90% อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคและค่อยๆ ฟื้นฟูประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าในภาพรวมให้กลับสู่ระดับปกติได้
การแข่งขันในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
ทริสเรทติ้ง มองเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเนื่องจากรัฐบาลจะเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นโดยคาดว่าจะมีการเปิดโควต้าการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ในไม่ช้า
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันในธุรกิจผลิตไฟฟ้าภายในประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ได้
โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ๆ ของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งนั้นมีราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ลดต่ำลงจากการประมูลแข่งขันที่รุนแรง ทำให้จำเป็นจะต้องเพิ่มความรัดกุมในการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่การลงทุนใหม่ๆ
ทั้งในโครงการที่เริ่มใหม่ (Greenfield Projects) หรือโครงการที่มีอยู่แล้ว (Brownfield Projects) ก็อาจให้ผลตอบแทนที่ลดต่ำลงอันเนื่องมาจากราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ต่ำหรือต้นทุนในการซื้อโครงการที่สูง ซึ่งน่าจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งลดต่ำลงในระยะยาว
โดยในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทดังกล่าว จะหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแทนเมื่อพิจารณาถึงราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่น่าสนใจกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากนี้ บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ก็อาจจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โครงการภายในประเทศ น่าจะยังคงเป็นสินทรัพย์และผลการดำเนินงานหลักของบริษัทต่อไป
ธุรกิจก่อสร้างมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก
ทริสเรทติ้ง เห็นว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจก่อสร้างที่ไม่สูงนักเมื่อพิจารณาจากขนาดของธุรกิจและผลงานในอดีตของบริษัท โดยมูลค่าสัญญาก่อสร้างของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อสัญญา ซึ่งทำให้ฐานรายได้จากการก่อสร้างมีขนาดค่อนข้างเล็กที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทยังมีขอบเขตงานก่อสร้างที่ค่อนข้างแคบโดยเน้นเฉพาะงานก่อสร้างอาคาร เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงแรม และศูนย์การค้า
ความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐในการเร่งพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทำให้ทริสเรทติ้งมีมุมมองในด้านบวกต่อธุรกิจก่อสร้างภายในประเทศในระยะปานกลาง โดยการก่อสร้างภาครัฐน่าจะมีแนวโน้มที่สดใสกว่าการก่อสร้างภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของการเปิดประมูลโครงการภาครัฐและการแข่งขันที่เข้มข้นก็เป็นปัจจัยที่จำกัดอัตรากำไรของผู้รับเหมาและสร้างอุปสรรคในการเข้ามาแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับเหมารายเล็กๆ ซึ่งทำให้บริษัทยังคงมุ่งเน้นงานก่อสร้างในภาคเอกชนต่อไปในระยะ 3 ปีข้างหน้า
ขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ
บริษัทมีความพยายามในการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท วาย. เอส. เอส. พี. แอกกริเกต จำกัด ในสัดส่วน 20% ซึ่งบริษัทดังกล่าวถือสัมปทานจัดจำหน่ายน้ำดิบระยะยาวเพื่อให้บริการแก่โรงงานอุตสาหกรรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง
นอกจากนั้น บริษัทยังเพิ่งขยายไปสู่ธุรกิจระบบจอดรถอัตโนมัติและธุรกิจกำจัดมลภาวะทางอากาศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่ได้คาดหวังว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้แก่บริษัทเนื่องจากยังอยู๋ในช่วงเริ่มต้น
อัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำของธุรกิจก่อสร้าง
เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของบริษัท ธุรกิจดังกล่าวจึงจะยังมีส่วนสำคัญต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของบริษัทอยู่ ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าวมีผลการดำเนินงานอ่อนแอลงจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
โดยต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในธุรกิจก่อสร้างลดต่ำลงจนติดลบ 9.1% ในปี 2564 และติดลบ 3.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะสามารถฟื้นฟูอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างได้สำเร็จตามแผนการที่วางไว้ โดยบริษัทได้ขยายไปสู่งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นและทำระบบจัดซื้อวัสดุแบบรวมศูนย์เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับผู้ค้าวัสดุ
อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างในมือจำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำนั้นน่าจะยังทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 6% และเมื่อรวมธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีกำไรสูงเข้ามาด้วยแล้ว อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็น่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 11%-17% ในช่วงปี 2565-2567
คาดหมายว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น
การคงอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นทั้งในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจก่อสร้าง ทั้งนี้ ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่า รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 5.2-6.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 โดยรายได้จากธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจใหม่ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3-2.7 พันล้านบาทต่อปี
ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 2.8-3.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าบริษัทจะได้รับงานก่อสร้างมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2565 และ 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 โดยที่บริษัทยังไม่มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ในช่วงดังกล่าว
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตรากำไรของธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะฟื้นตัวซึ่งจะทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 จาก 0.6 พันล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 จาก 0.3 พันล้านบาทในปี 2565
ทั้งนี้ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 11% ในปี 2565 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 17% ในช่วงปี 2566-2567
ระดับการก่อหนี้น่าจะลดต่ำลง
บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทไทยโพลีคอนส์ ทริสเรทติ้ง จึงได้รวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทไทยโพลีคอนส์ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย
สถานะทางการเงินของบริษัทไทยโพลีคอนส์อ่อนแอลงในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 13.6 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของกำไรจะช่วยลดอัตราส่วนดังกล่าวให้ลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าได้ในช่วงปี 2566-2567
ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 12% ในช่วงปี 2566-2567 จากประมาณ 5% ในปี 2565 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง 60%-65% ในช่วงเวลาประมาณการ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนต่อปีของบริษัทน่าจะอยู่ที่ 0.3-0.9 พันล้านบาท
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และบริษัทน่าจะบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของระดับการก่อหนี้
โครงสร้างหนี้
ในการวิเคราะห์ระดับหนี้ ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ของบริษัทไทยโพลีคอนส์นั้น ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมหนี้ของกิจการร่วมค้าที่บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งให้การค้ำประกันเข้ามาด้วย ดังนั้น หนี้เงินกู้รวมของบริษัทไทยโพลีคอนส์จึงมีจำนวนทั้งสิ้น 6.3 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจำนวน 5.5 พันล้านบาท ถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน
ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทเองและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 87% ซึ่งส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สภาพคล่องสามารถจัดการได้
บริษัทมีหนี้ระยะสั้นและหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้ารวมกันทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการหนี้ระยะสั้นซึ่งใช้สำหรับกิจกรรมก่อสร้างเป็นหลักได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันที่จำนวน 1.2 พันล้านบาทอีกด้วย ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 530 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทจึงมีแหล่งสภาพคล่องจำนวนรวมกันประมาณ 1.7 พันล้านบาทซึ่งน่าจะเพียงพอ สำหรับใช้ชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้ทั้งจำนวน
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 2.5 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.7 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ บริษัทย่อยของบริษัทซึ่งประกอบด้วยบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งและบริษัทย่อยรวมถึงกิจการร่วมค้าของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง
ยังมีข้อกำหนดในการดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่า และ 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ไม่เกิน 1.2 เท่า 1.5 เท่า และ 2.5 เท่าอีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าแต่ละบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงเวลา 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 112 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
- อัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจะอยู่ในช่วง 75%-90% ในช่วงปี 2565-2567
- มูลค่าสัญญางานก่อสร้างใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2565 และ 2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
- อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะอยู่ที่ระดับ 0% ในปี 2565 ที่ระดับ 4% ในปี 2566 และที่ระดับ 8% ในปี 2567
- EBITDA Margin จะอยู่ที่ประมาณ 11% ในปี 2565 และ 17% ในช่วงปี 2566-2567
- เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 3-0.9 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทต่อไป นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของทั้งธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาและทำให้ระดับการก่อหนี้รวมถึงกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและ/หรือธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งอย่างมีนัยสำคัญ หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมากจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้ในระดับสูง ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีค่อนข้างจำกัด แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565 |
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564 |
บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) (TPOLY)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html