- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 18 September 2022 16:08
- Hits: 1562
BTSC บีทีเอส เสนอราคาประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เทียบกับเอกชนอีก 2 ราย พบว่ามีราคาถูกกว่าหลายหมื่นล้านบาท
ตามที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) (บริษัทฯ) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของบริษัทและพันธมิตรที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อช่วงปี 2563 โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธา คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เป็นจำนวนรวม 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม. คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เป็นจำนวนรวม 70,144.98 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทฯ และพันธมิตรจึงขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จำนวนรวมเพียง 9,676 ล้านบาท
ต่อมา รฟม. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ฉบับที่ 59/2565 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยระบุว่า แม้ BTSC จะนำข้อมูลด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เพราะไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิค จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่
รวมทั้งมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน และยังตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม. นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก เพราะผลการศึกษาก็ได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. อีกทั้ง ยังยืนยันว่าการประมูลโครงการนี้มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วม
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า เหตุที่ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพราะเห็นว่าการประมูลนี้ไม่สุจริต ชี้ให้เห็นพฤติการณ์ต่างๆ ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่โปร่งใส และกีดกัน โดยบริษัทฯ ต้องการเห็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการประมูลที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. เคยจัดการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มาแล้วในปี 2563 ต่อมาเมื่อเอกชนได้ซื้อซองข้อเสนอแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน จนทำให้บริษัทฯ ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีแรก และเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้เอกสารการคัดเลือกเอกชนที่แก้ไขดังกล่าว
แทนที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะปฏิบัติตามคำสั่งศาล กลับมีมติยกเลิกการประมูลในครั้งดังกล่าว และเปิดประมูลโครงการครั้งใหม่เมื่อกลางปี 2565 โดยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้มีสิทธิเข้ายื่นข้อเสนอให้แตกต่างไปจากเดิม จนทำให้บริษัทฯ และพันธมิตร ซึ่งเป็นเอกชนที่เคยมีคุณสมบัติ และสามารถเข้าประมูลได้ในครั้งที่ผ่านมา กลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้
ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และคำพิพากษาศาลปกครอง บริษัทฯ จึงฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชนฉบับใหม่ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนจนปราศจากข้อสงสัยว่า ข้อเสนอของบริษัทฯ และพันธมิตรเป็นข้อเสนอที่ ทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดเงินลงทุนและไม่เป็นภาระทางการคลังของประเทศเกินจำเป็น และ/หรือ ได้รับประโยชน์สูงสุด
ในขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก และเป็นข้อเสนอที่ทำให้ ภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐในภาพรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสม และช่วยลดผลกระทบต่อการจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ซึ่งบริษัทฯ และพันธมิตร ขอยืนยันว่า
'ตัวเลขตามข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ทำได้จริง' เนื่องจากบริษัทฯ และพันธมิตรมีประสบการณ์ยาวนานและประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการให้บริการเดินรถไฟฟ้ามาโดยตลอด และมั่นใจว่าผลประโยชน์ที่ภาครัฐได้รับจะสูงกว่าของเอกชนที่ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย จำนวนหลายหมื่นล้านบาท
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แท้จริงแล้วไม่ได้มีการเปิดกว้างแบบที่ รฟม. กล่าวอ้าง เนื่องจากเอกชนที่ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 รายนั้น มีเอกชน 1 รายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้เข้าร่วมและ/หรือได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนได้ ในขณะที่เอกชนที่เหลืออยู่อีก 1 รายก็คือ เอกชนที่ รฟม. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 นั่นเอง แต่แม้กระนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม. ก็ยังเดินหน้าพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคของเอกชนที่ขาดคุณสมบัติดังกล่าว
และหลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาเพียงประมาณ 1 สัปดาห์ (ซึ่งน่าจะเป็นการพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การประมูลโครงการร่วมลงทุนที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้) คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ก็ยังให้เอกชนรายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิคโดยไม่สนใจข้อทักท้วงใดๆ อันเป็นการกระทำที่ผิดปกติอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาพฤติกรรมที่ผ่านมาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ไม่ว่า จะเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก (ซึ่งไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) การยกเลิกการประมูล การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นประมูลครั้งใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม การเปิดเผยตัวเลขข้อเสนอของบริษัทฯ จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องมีเจตนาที่ไม่สุจริตอย่างชัดเจน
เพราะหากไม่กำหนดเงื่อนไขที่เป็นการกีดกัน บริษัทฯ และพันธมิตรผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ จะสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้หลายหมื่นล้านบาท จึงเป็นคำถามว่า หาก รฟม.ประกาศให้ผู้ชนะการประมูลเป็นไปตามตัวเลขที่ปรากฎ วงเงินงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทที่รัฐบาลต้องสูญเสีย ‘ใครจะรับผิดชอบ…
ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และ ITD Group โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 นั้น
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญ ผู้ผ่านการประเมินสูงสุดดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
ข้อเท็จจริงกรณี BTSC ให้ข้อมูลข้อเสนอทางด้านการลงทุน และผลตอบแทน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามที่ ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน โดยสรุปว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทน ที่ใช้ในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2563 โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธารวม 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. รวม 70,144.98 ล้านบาท รวมยอดเงินขอสนับสนุนจากภาครัฐ รวม 9,676 ล้านบาท นั้น
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนว่า แม้ว่าข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้น จะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค เพื่อให้ รฟม. มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้จริง ซึ่งมิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น
ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวที่ได้เผยแพร่ทางสื่อมวลชน
ทั้งนี้ รฟม. มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม. นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการศึกษาก็ได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และ สายสีเหลืองฯ ที่เอกชนรายดังกล่าวก็ได้ยื่นข้อเสนอโดยเสนอขอรับการสนับสนุนสุทธิเป็นไปตามผลการศึกษา จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานด้วย
นอกจากนี้ รฟม. ขอเรียนเพิ่มเติมว่าการคัดเลือกเอกชนในปัจจุบันตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น มิได้มีลักษณะกีดกันเอกชนรายใด ตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ซึ่งการที่เอกชนบางรายไม่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอการคัดเลือกนั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการเข้าร่วมดำเนินการโครงการฯ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)